แพทองธารกับโจทย์ภูมิภาค : เมียนมา

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

หลายคนอาจบอกว่า เพียง 1 เดือน เร็วเกินไปที่จะวิจารณ์ในทางแย้ง ตำหนิหรือแง่ลบต่อการบริหารงานของรัฐบาลที่นำโดย แพทองธาร ชินวัตร

แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลของเธอและตัวเธอเองได้ผลักดันงานและนโยบายสำคัญต่อไทยและภูมิภาคไม่น้อย

ดังนั้น จึงอยากหยิบยกผลงานและนโยบายบางด้านของรัฐบาลนี้ขึ้นมา

 

แพทองธารกับโจทย์ภูมิภาค

ในฐานะผู้ติดตามประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและบทบาทของไทยมาพอสมควร พอสรุปบทบาทของแพทองธาร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทยทางด้านกิจการต่างประเทศจากผู้รู้บางท่านได้ว่า ท่านแสดงบทบาทด้านกิจการต่างประเทศได้ดีและโดดเด่น ได้แก่

ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา การแสดงท่าทีที่ สปป.ลาว ในการประชุมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ข้อความที่นายกรัฐมนตรีแพทองธารส่งสารต่อนายแอนโทนี่ บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา คือ ไทยพร้อมเป็นสะพานเชื่อมสหรัฐอเมริกากับอาเซียน พร้อมๆ กับที่บอกกับ หลี่ เฉียง (Li Qiang) นายกรัฐมนตรีของจีน ว่า ปี 2568 ซึ่งจะครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน น่าจะเป็นปีทองของทั้งสองประเทศ

คำพูดและสารการทูตที่ส่งให้สหรัฐอเมริกาและจีน มีนัยสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ เพราะจีนพยายามขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นานแล้ว มีแต่ไทยเท่านั้นที่ยังไม่ติดกับ ดักหนี้ (Debt Trap) หรือมีข้อพิพาททางดินแดนในทะเลจีนใต้กับจีน

หมายความว่า ไทยยังไม่มีปัญหาขัดแย้งรุนแรงเหมือนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

พร้อมกันนั้น ไทยก็ยังเป็นฐานที่มั่นสำคัญที่สุดในทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคสงครามเย็น

สหรัฐอเมริการู้ดีว่า หากอยากสร้างความเป็นมิตรกับประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้น ก็ควรดำเนินการผ่านไทย

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคหลังสงครามเย็น (Post Cold War) ผู้เขียนเห็นว่า ใช่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาจะคงสถานภาพเดิม (status quo) เหมือนเช่นในยุคสงครามเย็นคือ การเปิดประตูการค้าและสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน เป็นการทูตที่แตกต่างจากเดิมของไทยมาก

จนบางครั้งถูกวิจารณ์ว่า ไผ่ลู่ลมของไทยเอียงไปทางจีนกว่าเดิมมาก ซึ่งแนวโน้มนี้เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างสำคัญด้วย

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ เมียนมา โจทย์ยากสำคัญไทยและรัฐบาลแพทองธาร สารที่เธอส่งคือ “…อาเซียนควรเป็นหนึ่งเดียว ในการส่งสารถึงทุกฝ่ายในเมียนมา การใช้กำลังทางทหาร ไม่ใช่ทางออก เป็นเวลาที่ต้องเริ่มพูดคุยกัน ไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือ…”1

ที่สำคัญ ไทยพร้อมเดินงานจัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการเรื่องเมียนมา ในเดือนธันวาคมนี้ ตรงนี้เอง เราควรเพ่งดูสถานภาพของไทยในสงครามกลางเมืองในเมียนมาให้มาก

ผู้เขียนจึงนำข้อมูลจากหน่วยงานด้านการพัฒนาและรัฐสภาของไทยมานำเสนอดังนี้เพื่อเป็นตัวอย่างสำคัญ

 

โปรดพิจารณา
ไทยบาท-ก๊าซเมียนมา

จากรายงานสัมมนาจัดโดย เสมสิขาลัย (SEM) ร่วมกับเครือข่ายคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) จัดสัมมนา ไทยบาท-ก๊าซเมียนมา : บทสนทนาของคนข้างบ้าน 29 กันยายน 2024 SEA Junction หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ2

พบว่าหนึ่งในภาคธุรกิจสำคัญคือ ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับเมียนมามหาศาล

ซึ่ง ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ปตท.สผ. ของไทย และกลุ่มบริษัทในเครือก็เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนใหญ่

เช่น โครงการสำรวจ M3 และโครงการผลิต ได้แก่ โครงการ ซอติก้า โครงการเยตากุน โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับซื้อก๊าซหลักและชำระค่าก๊าซให้บริษัท Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) รัฐวิสาหกิจเมียนมา

หลังรัฐประหาร (2564-2021) รายได้ส่วนนี้ถูกควบคุมโดยสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council-SAC) รายได้เอาไปก่ออาชญกรรมสงคราม

 

ตัวแทน Blood Money Campaign กลุ่มประชาสังคมเมียนมาที่มีเป้าหมายการรณรงค์หลัก ในการตัดแหล่งรายได้ของกองทัพเมียนมา โดยเฉพาะธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ระบุว่า ปัจจุบันรายได้จากโครงการก๊าซ ภาคประชาสังคมนอกชายฝั่ง ที่ลงทุนโดย ปตท. เป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพเมียนมา

มีการโจมตีทางอากาศไปมากกว่า 6,000 ครั้งโดยมุ่งเป้าไปยังเขตพลเรือน ทำให้คนกว่า 3.4 ล้านคนต้องกลายเป็น ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ กว่า 27,000 คนถูกคุมขัง

จึงเป็นที่มาของข้อร้องเรียนที่ทาง Blood Money Campaign พยายามรณรงค์มาโดยตลอดคือ

การให้ผู้ลงทุนและรัฐบาลไทยจ่ายเงินค่าก๊าซไปยังบัญชีดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow Account) แทนที่จะจ่ายตรงไปยังกองทัพเมียนมา เพื่อหยุดยั้งปฏิบัติการอันโหดร้ายที่กองทัพเมียนมาทำต่อประชาชน

 

ในเวลาเดียวกัน ปี 2565 Total Energies และปี 2567 บริษัทในเครือ Cheron ตัดสินใจถอนการลงทุน โครงการยานาดา การถอนทุนดังกล่าว ส่งผลให้บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล (PTTEPI) กลายมาเป็นผู้ดำเนินโครงการหลัก สัดส่วนเปลี่ยนเป็น PTTEPI 62.963 % และ MOGE 37.037%

นอกจากนี้ ทาง Norwegian Wealth Fund หรือกองทุนมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ถอนหุ้นออกจากบริษัท ปตท. และบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR) ที่ลงทุนในเมียนมา โดยให้เหตุผลเรื่องความเสี่ยงอันยอมรับไม่ได้ที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับ Rebeco บริษัทจัดการสินทรัพย์ของเนเธอร์แลนด์ ได้ถอนหุ้นออกจาก ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม-PTTEP แม้หุ้นไม่มากก็ตาม

ยังให้ข้อมูลว่า การที่ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาคว่ำบาตร บริษัท MOGE ส่งผลให้ บริษัท ปตท.ไม่สามารถจ่ายเงินดอลลาร์สหรัฐให้ MOGE ได้ จึงเปลี่ยนมาจ่ายค่าก๊าซเป็นเงินบาทผ่านธนาคารพาณิชย์ไทยแทน

ปี 2564 เป็นต้นมา ETOs Watch เรียกร้องให้รัฐบาลไทย รัฐวิสาหกิจและภาคธุรกิจ ธนาคาร ระงับการลงทุน และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา

ในส่วนของ เบญจา แสงจันทร์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และกองทุน คณะที่ 1 มีความเห็นว่า ต้องหยิบยกการลงทุนในน้ำมันและก๊าซมาคุย

เพราะจากสัดส่วนรายได้กว่า 2 ใน 3 ของเมียนมานั้นมาจากผลผลิตก๊าซธรรมชาติที่ขายให้ไทย เบญจาชี้ว่า บริษัท ปตท.สผ. เข้าไปลงทุนในเมียนมา ตั้งแต่ปี 2532 กว่า 35 ปี

เบญจา แสงจันทร์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การที่ทางเครือ ปตท. และรัฐบาลไทยยังมีการทำธุรกิจร่วมกับ MOGE อาจทำให้ถูกตีความได้ว่า เรามีส่วนสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในเมียนมา

ประชาสังคมและมีการประณามจากต่างประเทศ ไทยมีจุดยืนอย่างไรต่อปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์กับเมียนมา เราสนับสนุนรัฐประหาร และการใช้ความรุนแรงหรือไม่ รัฐบาลไม่อาจปฏิเสธการมีส่วนร่วมความรับผิดชอบปัญหาเมียนมา

เพราะรัฐบาลไทยถือหุ้นเกินครึ่งหนึ่งใน ปตท. และเส้นทางการเงินที่บริษัทจ่ายค่าก๊าซเป็นเงินบาท ผ่านธนาคารพาณิชย์ไทย เพื่อเลี่ยงการคว่ำบาตรเงินดอลลาร์

ในเมื่อบาทไทยเป็นส่วนหนึ่งของ Blood Money ในสงครามกลางเมืองเมียนมา ไทยโดยเฉพาะรัฐบาล เอกชนรายใหญ่และธนาคารจะล้างมันออกอย่างไรครับ

เมียนมา โจทย์ยากของไทย

 


1“ความท้าทายบทบาทใหม่ของนายกฯ แพทองธาร บนเวทีอาเซียน” The Standard, 11 ตุลาคม 2024

2“ไทยบาท-ก๊าซเมียนมา : บทสนทนาของคนข้างบ้าน” Semasia.org. 29 ตุลาคม 2567