33 ปี ชีวิตสีกากี (95) | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

รอดถูกสอบ-ถูกโยกย้าย

ในช่วงตอนปลายของผมที่อยู่ระนอง มีข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรในสังกัด กก.ภ.จ.ระนอง ดังนี้

1.พ.ต.อ.กิตติพงษ์ มิ่งโมฬี 2.พ.ต.ท.หวล กลิ่นหอม 3.พ.ต.ท.ไกรสร อมรไกรสีห์ 4.พ.ต.ท.สมพล จันทรวัฒน์ 5.พ.ต.ต.สุเทพ โพธิ์ทอง 6.ร.ต.อ.สมบูรณ์ เอี้ยวสุวรรณ 7.ร.ต.อ.กิตติ ยืนชนม์ 8.ร.ต.อ.ธำรง จันทร์นอก 9.ร.ต.ท.สุนทร ขอเหล็ก 10.ร.ต.ท.ประเสริฐ เล็กคง

ส่วนข้าราชการตำรวจชั้นประทวนในสังกัด กก.ภ.จ.ระนอง มีบัญชีรายชื่อ ดังนี้

1.ด.ต.สมจิตร รัตนจรัญ 2.ด.ต.อารมณ์ ห่วงจริง 3.ด.ต.สมบุญ คงกัณฑ์ 4.ด.ต.นิคม ธนบัตร 5.ด.ต.สมศึก พัวพันธ์ 6.ด.ต.สมปอง ลิ่มกุลอนันต์ 7.ด.ต.วิเชียร ศรีมณี 8.ด.ต.ไพรัช อุปการดี 9.ด.ต.ปราโมทย์ เกื้อกาญจน์ 10.ด.ต.สุวิทย์ นาคชื่น 11.ด.ต.โสภณ เทพไพฑูรย์ 12.ด.ต.จรินทร์ รุ่งเรือง 13.ด.ต.มงคล ศรียาภัย 14.ด.ต.เฉวียง เพชรรัตน์ 15.ด.ต.สุภาพ ชุมขุน 16.ด.ต.ประสิทธิ์ มณีสง 17.จ.ส.ต.นอง แสงสุริยันต์ 18.ด.ต.วิมล ณ แก้ว 19.จ.ส.ต.เจริญ ฤกษ์ดี 20.ด.ต.วิเชียร หวานแก้ว 21.จ.ส.ต.มณี หนูม่วง 22.จ.ส.ต.ชฎิล บัณฑรวรรณ 23.จ.ส.ต.อาทิตย์ ไชยวงศ์ 24.จ.ส.ต.สันหเวช วิทยารัฐ 25.จ.ส.ต.สุรัตน์ จารย์อุปการะ 26.ส.ต.อ.เอนก จักขุจันทร์ 27.ส.ต.ท.ไพริน จันทเวช 28.ส.ต.ท.รังสรรค์ วงศ์บุญมี ช่วยราชการ กก.ฯ 29.ส.ต.อ.ชัยยุทธ์ บัณฑรวรรณ ช่วยราชการ กก.ฯ 30.ส.ต.อ.ทักษิณ วิทิพย์รอด ช่วยราชการ กก.ฯ

31.ส.ต.ต.ประสิทธิ์ แก้วพิมล ช่วยราชการ กก.ฯ

 

ตํารวจจำนวนเหล่านี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับผมตลอดเวลาที่ผมอยู่ระนอง เมื่อมาอ่านรายชื่อ ก็ยังรู้สึกความคุ้นเคยไม่จางหาย

รอง สวส.สภ.อ.เมืองระนอง ทุกคนจะหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันเข้าเวร เป็นร้อยเวรสอบสวนคดีอาญา ผลัดละ 24 ชั่วโมง เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด

และทุกวัน สิบเวรจะเบิกตัวผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับ ประมาณ 3-4 คน ออกมาทำความสะอาดภายในและรอบบริเวณโรงพัก หรือมีภารกิจในการขนอาหารนำมาเลี้ยงผู้ต้องหา

ผู้ต้องกักขังจำนวนมากที่อยู่ในห้องขัง ประมาณ 40-50 คน บางเวลาก็มากกว่านั้น

การเอาตัวผู้ต้องกักขังออกมาทุกวันจึงเป็นเรื่องปกติ และส่วนใหญ่จะนำคนเดิมออกมา จนเกิดความคุ้นเคยกันไว้วางใจกัน และยิ่งถูกกักขังนาน ก็ยิ่งคุ้นเคย

มีผู้ต้องกักขังรายหนึ่ง เป็นคนไทยมุสลิม ถูกศาลจังหวัดระนอง สั่งกักขังตาม พ.ร.บ.แร่ นานถึง 2 ปี ยิ่งเป็นคนไทย พูดภาษาไทยสื่อสารกันรู้เรื่องกว่าคนพม่า จึงทำให้สิบเวรนำตัวออกมาทุกวัน

และนานขึ้นก็เสมือนหัวหน้าของคนที่ถูกเรียกออกมาทำความสะอาดหรือขนอาหาร ทำเช่นนี้ทุกๆ วัน หลายเดือนก็มีอภิสิทธิ์มากขึ้น

นายตำรวจต่างมีภารกิจในงานคดีของตัวเองที่ต้องรับผิดชอบมากมาย จึงไม่ได้ลงมาดูรายละเอียดเรื่องการเอาตัวผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับออกจากห้องขังเพื่อทำภารกิจ ปล่อยให้สิบเวรดำเนินการไป

ยิ่งนานวัน คนไทยที่เป็นผู้ต้องกักขังคนนี้ก็เหมือนอยู่บ้านตัวเอง มีญาติพี่น้องมาเยี่ยมได้ทุกเวลา รวมทั้งภรรยาและลูกๆ ก็มาเยี่ยมตลอด

หนักข้อขึ้น ขนาดสิบเวรเริ่มใช้ให้ออกไปซื้อของนอกโรงพักได้ แต่ยังคงกลับมาทุกครั้งไม่ได้เบี้ยวหรือหลบหนีไปไหน

ยิ่งวันเสาร์วันอาทิตย์ มีการเปิดโทรทัศน์ดูการถ่ายทอดการชกมวยไทยจากช่อง 7 สี ตำรวจและชาวบ้านที่มาติดต่อที่โรงพัก ก็นั่งดูกันหลายคน

สิบเวรได้อนุญาตผู้ต้องกักขังคนนี้ ออกไปส่งภรรยาและลูกที่มาเยี่ยม ที่สถานีขนส่งเพื่อส่งภรรยาและลูกนั่งรถโดยสารกลับบ้าน

 

วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ผมเข้าร้อยเวรสอบสวนคดีอาญา จนตกค่ำ สิบเวรตรวจยอดจำนวนผู้ต้องหา ผู้ต้องกักขัง แต่ยอดไม่ครบ คนที่หายไปกลับเป็นผู้ต้องกักขังที่ออกไปส่งภรรยา แล้วไม่ยอมกลับโรงพัก จึงเป็นเรื่องใหญ่

ตำรวจหลายคนต้องออกติดตามตัวกันทันที และคนที่รับผิดชอบคนแรกคือ สิบเวร

แต่คนที่ตกทุกข์หนักไม่พ้นผมที่เหตุเกิดในเวลาที่ผมเข้าร้อยเวรสอบสวนคดีอาญาพอดี และจะต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยพร้อมกับสิบเวร ที่ก่อให้เกิดความบกพร่อง

ถือเป็นครั้งที่สองของผมแล้วที่มีผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับหลบหนีออกจากห้องขัง

ในใจผมกังวลและไม่รู้โชคชะตาอะไรทำให้ผมต้องเผชิญปัญหาแบบนี้ซ้ำๆ อีก

ผมยังเชื่อและมั่นใจว่าจะสามารถติดตามตัวได้ เพราะคนที่หลบหนีไปมีพื้นเพภูมิลำเนาเป็นคนจังหวัดระนอง ญาติพี่น้องและภรรยาอยู่ที่ อ.กะเปอร์

ดังนั้น เมื่อผมออกเวรแล้ว จะออกติดตามทันที มี ด.ต.โสภณ หนูแก้ว ช่วยขับรถพาไป ผมพร้อมกับตำรวจอีกหลายคนได้ให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่

โดยเฉพาะ ด.ต.เฉวียง เพชรรัตน์ ติดตามไปกับผมทุกหนทุกแห่ง ทั้งบ้านภรรยาของผู้ต้องกักขัง พ่อแม่ญาติพี่น้อง คนรู้จัก ได้แหล่งข่าวหรือเบาะแสที่ไหนก็ตามไปที่นั่น ทั้งหมู่บ้านชาวมุสลิม ตามเกาะต่างๆ ในเขต อ.กะเปอร์ หรือเตาถ่านก็ไปทั้งนั้น ทั้งบ้านบางหิน, เชี่ยวเหลียง, กำพวน หรือบ้านนา

พยายามทุกวิถีทาง เสียทั้งเวลา เสียทั้งเงินที่ต้องเป็นค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมันรถ นอนกลางดินกินกลางทรายก็มี บางแห่งมีงานศพ ถึงกับนอนบ้านงานศพเพื่อพักค้างแรม แล้วติดตามกันต่อในวันรุ่งขึ้น เมื่อไม่พบก็กลับมาเข้าเวร

มีบางคนบอกว่า ทำไมไม่เอาเงินไปจ่ายค่าปรับ แค่นี้ก็จบเรื่องแล้ว แต่ศาลจังหวัดระนองสั่งปรับถึง 2 แสนบาท และกักขังแทนค่าปรับได้สูงสุดไม่เกิน 2 ปี ผมไม่มีปัญญาหาเงินมาจ่ายค่าปรับแทนได้

ผมมีความทุกข์ใจมากในเวลานั้น แต่ไม่ยอมแพ้เด็ดขาด นานถึง 13 วันที่ผมได้ออกสืบเพื่อค้นหา แล้วผมก็ได้รับความช่วยเหลือจาก สวญ.สภ.อ.กะเปอร์ ที่ลงแรงติดต่อกลุ่มของญาติพี่น้อง และยังมี ร.ต.ท.ชัยสิทธิ์ สิทธิชัย คอยให้กำลังใจผมเสมอ

จนกระทั่งมีข่าวดีจากญาติพร้อมกับยื่นเงื่อนไขว่า จะต้องไม่ซ้อมทำร้ายร่างกายหรือทรมาน และสามารถออกมาจากห้องขังได้เหมือนเดิม จึงจะยอมกลับโรงพัก

ในเวลานั้นผมขอให้ได้รับตัวกลับคืนมา อะไรที่เป็นเงื่อนไข ผมรับทั้งนั้น

และในที่สุด ญาติก็นำตัวกลับมาส่งให้ที่ สภ.อ.เมืองระนอง ทำให้ผมพ้นทุกข์พ้นโศก และพ้นความผิดใดๆ ทั้งสิ้น เพราะสามารถติดตามกลับมาได้ภายในกำหนด ตามกฎหมาย

และผมไม่ได้เจอตัวผู้ต้องกักขังคนนี้อีกเลย เพราะว่าในเวลาเดียวกันนั้น ในขณะที่ผมยังสาละวนอยู่กับการสืบค้นหาผู้ต้องกักขัง โดยไม่มีปี่ไม่มีขลุย เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2529 ได้มีคำสั่ง กองบัญชาการตำรวจภูธร 4 ที่ 289/2529 แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับรองสารวัตร

และผมถูกโยกย้ายให้ไปเป็นรองสารวัตรจราจร สถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยย้ายสลับกับ นรต.รุ่นพี่ ร.ต.ท.สนั่น คงทอง จาก รอง สว.จร.สภ.อ.หาดใหญ่ มาเป็น รอง สวส.สภ.อ.เมืองระนอง แทนผม

เป็นคำสั่งที่ผมไม่รู้ตัวมาก่อนเลย เมื่อได้เห็นคำสั่ง มีอาการตัวชา ไม่ได้รู้สึกดีใจใดๆ ทั้งสิ้น แต่กลับใจหาย ที่ต้องจากระนอง เพราะผมมีพรรคพวกเพื่อนฝูง ในหมู่ข้าราชการก็รู้จักกันเกือบหมด

เมื่อก่อนเพื่อนๆ หรือใครย้ายถ้าสนิทสนมกันจะรู้สึกอาลัย แต่ผมถูกย้ายเองเป็นครั้งแรก จึงเป็นอารมณ์ที่แตกต่างมากมาย

ในระหว่างนั้น พ.ต.ท.ไกรสร อมรไกรสีห์ รอง ผกก.ภ.จว.ระนอง ได้พูดแซะผมว่า “ปวีณ คุณไปวิ่งยังไง ถึงได้ไปอยู่หาดใหญ่” ผมพูดตอบกลับไปบ้างว่า “ผมไปวิ่งเสียรองเท้าอาดิดาสไป 1 คู่ครับ” แล้วผมก็หัวเราะกลบเกลื่อน ที่ผ่านมาผมมัวแต่ติดตามค้นหาผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับ จนแทบไม่มีเวลาได้เห็นเดือนเห็นตะวัน จะเอาเวลาที่ไหนไปวิ่งเต้น และแทบจะไม่รู้จักใครเลย

หากผมได้ไปดี ผู้บังคับบัญชาที่ดีควรแสดงความยินดี