บทบาท ภาพลักษณ์ จังหวะ ราชกิจจานุเบกษา เพื่อเพ่ง ดู ‘ราชกิจ’

น่ายินดีที่บริษัท สำนักพิมพ์ต้นฉบับ จำกัด ได้นำเอาหนังสือ “ราชกิจจานุเบกษา” ตั้งแต่ฉบับที่ตีพิมพ์เป็นฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ.2401 มาตีพิมพ์อย่างสมบูรณ์

พร้อมคำยืนยันของ “สำนักพิมพ์” อย่างหนักแน่น จริงจัง

หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า หนังสือ “ราชกิจจานุเบกษา” เป็นหนังสือสำคัญของประเทศ เต็มไปด้วยเรื่องราวสำคัญทางประวัติศาสตร์ เทคโนโลยีการแพทย์ กฎหมาย การเกษตร ประเพณี และอีกหลายด้าน

ไม่มีห้องสมุดใดมีครบ แม้แต่ในห้องสมุดระดับชาติ

“ราชกิจจานุเบกษา” เป็นหนังสือประกาศข่าวของทางการที่ถือกำเนิดเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ.2401 และยังคงออกตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

นับเป็นนิตยสารที่มีอายุยาวนานที่สุดของประเทศ

น่ายินดีอีกเหมือนกันที่ในการตีพิมพ์ “ราชกิจจานุเบกษา” ของสำนักพิมพ์ต้นฉบับเมื่อปี พ.ศ.2540 พล.ต. ม.ร.ว.ศุภวัฒน์ เกษมศรี ประธานคณะบรรณาธิการฝ่ายวิชาการและจัดพิมพ์ ได้เรียบเรียง “คำชี้แจง” ออกมาอย่างสมบูรณ์ ครบถ้วน

 

ต้องอ่าน
หนังสือ เป็นที่เพ่ง
เพื่อดู “ราชกิจ”

“ราชกิจจานุเบกษา” เขียนด้วยอักษรโรมันภาษาไทยว่า The RachakitchanuBeksah และแปลความหมายว่า Siamese Government Gazette หรือ Royal Gazette

สำหรับความหมายในภาษาไทยมีที่มาจากภาษาสันสกฤตอีกทอดหนึ่ง แปลว่า “หนังสือเป็นที่เพ่งดูราชกิจ”

ถือเป็นสิ่งพิมพ์ประเภทวารสาร

เริ่มออกฉบับแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2401 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้น

ทั้งนี้ โดยมีพระราชประสงค์จะให้ข้าราชการและอาณาประชาราษฎร์ได้รับรู้ข่าวสารของบ้านเมืองโดยทั่วถึงกัน

การประกาศข่าวสารในสมัยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่อาลักษณ์จะเป็นผู้เรียบเรียงพระราชดำรัสสำหรับออกประกาศ และกรมสุรัสวดีจะทำการคัดสำเนาแจกจ่ายไปตามกรมต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง

ทำให้การกระจายข่าวสารล่าช้าและไม่กว้างขวางทั่วถึงราษฎร ซ้ำยังคัดลอกผิดพลาดตกหล่น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการและพระเกียรติยศขึ้นได้

จึงทรงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในพระบรมมหาราชวังเรียกว่า “โรงอักษรพิมพการ” สำหรับเป็นสถานที่พิมพ์ข่าวสารของราชการ อีกทั้งสามารถพิมพ์ได้จำนวนมากเพื่อแจกจ่ายไปตามที่ต่างๆ

รวมทั้งราษฎรโดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใด

 

สิ่ง ยังประโยชน์
แก่ บ้านเมือง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า ประกาศต่างๆ ใน “ราชกิจจานุเบกษา” ที่พิมพ์ในครั้งนั้นจะเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 เสียส่วนมาก

หนังสือนี้พิมพ์อยู่ 1 ปี 7 เดือน ในช่วง พ.ศ.2401-2402 แล้วก็หยุดกิจการไป

อย่างไรก็ดี ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2433 โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ “ราชกิจจานุเบกษา” รัชกาลที่ 4 อีกครั้งหนึ่งเพื่อรักษาฉบับเดิมมิให้สูญหาย และในรัชกาลที่ 9 ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์อีกครั้งใน พ.ศ.2537

ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระบรมราชาภิเษกเถลิงสิริราชสมบัติเป็นครั้งที่ 2 ทำให้ทรงมีพระราชอำนาจในการบริหารและการปกครองอย่างเต็มที่ ได้ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของหนังสือ “ราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระราชดำริเริ่มไว้ว่า

“เป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างยิ่ง”

จึงทรงพระกรุณาโปรเกล้าฯ ให้ออกหนังสือ “ราชกิจจานุเบกษา” ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2417 และโปรดให้ พระยาศรีสุนทรโวหาร พระสารสาส์นพลขันธ์ และ หลวงสารประเสริฐ ซึ่งทั้ง 3 ท่านนี้ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในยุคนั้น และเป็นที่ยอมรับนับถือของชาวไทยและชาวต่างประเทศโดยทั่วไปอีกด้วย

เป็นผู้เรียบเรียงเหตุในราชกิจต่างๆ ถวาย กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งผู้ทรงเป็นทั้งผู้กำกับโรงพิมพ์หลวงและบรรณาธิการหนังสือ “ราชกิจจานุเบกษา” เพื่อให้จัดพิมพ์ออกเผยแพร่ต่อไป

โดยปรับปรุงเนื้อหาและประเภทข่าวราชการให้หลากหลายยิ่งขึ้น ใกล้เคียงกับมาตรฐานหนังสือข่าวราชการของประเทศทางตะวันตก เช่น London Gazette

เมื่อพิมพ์ออกสู่ตลาดแล้วชาวต่างประเทศกล่าวชมเชยว่า เป็นวารสารที่พิมพ์ได้สะอาด งดงามกว่าสิ่งพิมพ์อื่นทั้งหมด

สิ่งพิมพ์ที่พิมพ์จากโรงพิมพ์หลวงแห่งนี้ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งตลอดมา

 

3 ยุค 3 สมัย
ราชกิจจานุเบกษา

การพิมพ์สมัยนั้นจัดจำหน่ายแก่ผู้บอกรับเป็นสมาชิกในราคาปีละ 8 บาท โดยผู้รับต้องมารับหนังสือด้วยตนเอง ณ โรงพิมพ์หลวง

ถ้าต้องการให้ส่งถึงบ้านต้องเพิ่มค่าส่งอีก 2 บาท

“ราชกิจจานุเบกษา” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พิมพ์อยู่ได้เพียง 6 ปี ก็เลิกพิมพ์ โดยเริ่มเล่มที่ 1 ใน จ.ศ.1239 (พ.ศ.2417) ถึง จ.ศ.1241 (พ.ศ.2422) ซึ่งเป็นเล่มที่ 6 ก็เลิกพิมพ์

อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ.2425 คราวฉลองพระนครครบ 100 ปี ได้มีการออก “ราชกิจจานุเบกษา” อีกเพียงฉบับเดียว

ต่อมา ได้มีการพิมพ์ “ราชกิจจานุเบกษา” เป็นครั้งที่ 3 ขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2427 โดยเริ่มนับเป็นเล่มที่ 1 อีกครั้งหนึ่ง และดำเนินการสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้

ในด้านเนื้อหา “ราชกิจจานุเบกษา” ในรัชกาลที่ 5 จะลงเรื่องราวต่างๆ ละเอียดกว่าฉบับพิมพ์ออกครั้งแรกในรัชกาลที่ 4 อาทิ ประกาศทั่วไปของทางราชการ พระบรมราชโองการ พระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ข่าวเสด็จพระราชดำเนิน พระราชพิธี การพระศาสนา การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อิสริยยศ ข่าวสิ้นพระชนม์ ราคาข้าวเปลือก

ซึ่งทำให้ประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ผู้ซึ่งต้องติดต่อกับเมืองไทยได้ทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวของบ้านเมืองและความเป็นไปในสังคมไทยด้วย

สำหรับปีศักราชประกอบเรื่องราวนั้นเริ่มใช้จุลศักราชตลอดมาจนถึง “ราชกิจจานุเบกษา”เล่มที่ 5 จ.ศ.1250 (พ.ศ.2431) ตั้งแต่เล่มที่ 6 ร.ศ.108 (พ.ศ.2432) จึงใช้ “รัตนโกสินทร์ศก” (ร.ศ.) ตลอดมา

จนถึงรัชกาลที่ 6 จึงได้เปลี่ยนมาใช้ “พระพุทธศักราช” จนถึงปัจจุบันนี้

กำหนดเวลาออก ในสมัยรัชกาลที่ 4 กำหนดออกถือความสะดวกเป็นเกณฑ์ ไม่แน่นอน ออกรวมทั้งสิ้น 19 ฉบับ

ส่วนในรัชกาลที่ 5 กำหนดออกทุกวันอาทิตย์ สัปดาห์ละครั้ง เดือนละ 4 ครั้ง ปีหนึ่งมี 48 ฉบับ

การออกครั้งที่ 2 และ 3 นี้ เริ่มนับเล่มที่ 1 ใหม่ ไม่นับต่อเนื่องจากการพิมพ์สมัยรัชกาลที่ 4 และปัจจุบันนี้ “ราชกิจจานุเบกษา” ทั้ง 4 ประเภทมีกำหนดออกแตกต่างกันออกไปแล้วแต่กรณีความเร่งด่วน

ส่วนลักษณะรูปเล่มนั้น “ราชกิจจานุเบกษา” ขนาด 8 หน้ายก 24 คูณ 30 ซม. และขนาดความหนาเพิ่มขึ้นตามปี จนถึงยุครัชกาลที่ 6 มีขนาดรูปเล่ม 16 หน้ายก หรือขนาด 14.5 คูณ 21.5 ซม.

ในปัจจุบัน “ราชกิจจานุเบกษา” ประเภทกฤษฎีกา มีขนาดรูปเล่ม เอ 4

ประเภททะเบียนฐานันดร ทะเบียนการค้าและประกาศทั่วไป มีขนาดรูปเล่ม เอ 5

 

คุณค่า ความหมาย
ราชกิจจานุเบกษา

ในด้านคุณค่าของหนังสือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้หนังสือ “ราชกิจจานุเบกษา” เป็นสื่อที่สำคัญอย่างหนึ่งในการแจ้งวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาและปฏิรูปราชการบ้านเมืองของพระองค์

ตลอดจนรายงานการปฏิบัติของทางราชการให้ประชาชนและชาวต่างประเทศได้รับรู้เพื่อที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่แก่ทางราชการ

ในขณะนั้นมีเจ้านาย ขุนนางและข้าราชการทั้งชาวไทยและต่างประเทศนิยมบอกรับเป็นสมาชิกหนังสือ “ราชกิจจานุเบกษา” เป็นอันมากทำให้ข่าวสารเกี่ยวกับเมืองไทยแพร่หลายไปยังต่างประเทศ

ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ถูกต้องแก่ประเทศไทย กับมีความเข้าใจในพระองค์ท่านมากยิ่งขึ้น