ตลกหน้าม่าน : ความหรรษาของคนไทย ในช่วงสงคราม (จบ)

ณัฐพล ใจจริง

ในช่วงรอยต่อระหว่างระบอบเก่า-ใหม่ คณะสี่สมิง คือคณะจำอวดที่มีชื่อเสียง ในยุคแรกประกอบด้วย สนิท เกษธนัง “แจ๋ว ดอกจิก” (เฉลิม บุญยเกียรติ), “ผล ขาตะเกียบ” (ผล วรศริน) เริ่ม เรียนรอบกิจ, นายล้อม, นายพร้อม

โดยคณะได้รับการตั้งชื่อโดย กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, 2519, 109)

สนิท เกษธนัง และ คณะสี่สมิง จำอวดแห่งยุคสมัย เครดิตภาพ : เอนก นาวิกมูล

คณะสี่สมิง

สนิท เกษธนัง (2454-2515) เป็นสมาชิกคณะสี่สมิง ที่สามารถสืบค้นประวัติได้ละเอียด คือ เขาเป็นชาวบางกอกน้อย จบจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

สมัยหนุ่มใช้ชีวิตเป็นศิลปินจำอวด หลังจากสี่สมิงสลายตัวแล้ว เขาเข้าทำงานที่กระทรวงสาธารณสุขและธนาคารออมสินตามลำดับ เขาสนใจการแสดงตลกมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนจนกลายเป็นอาชีพและเป็นผู้ขอให้เปลี่ยนชื่อจาก “คณะจำอวด” เป็น “คณะละครย่อย” เพื่อสร้างการยอมรับจากสังคม (นายสนิธ เกษธนัง, 2515)

ขวัญ สุวรรณะ สมาชิกอีกคนหนึ่งของคณะสี่สมิงในสมัยต่อมาและเป็นนักแสดงภาพยนตร์เล่าความเป็นมาของสนิทไว้ว่า ครั้งเขาเป็นนักเรียนพณิชยการแก้วฟ้าล่างนั้น เขาเคยชมการแสดงของสนิทเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนสวนกุหลาบฯ การแสดงมีการพูดภาษาอังกฤษ พร้อมการแสดงการเปลี่ยนเพศที่ได้รับการตอบรับจากผู้ชมกว้างขวาง (นายสนิท, 2515)

ส.อาสนจินดาเล่าอีกว่า คณะสี่สมิงของสนิทเป็น “คณะจำอวดหรือคณะละครย่อยที่ทันสมัยของวงการบันเทิงเมืองไทย…ใช้เวทีเฉลิมกรุงเป็นที่แสดง ในขณะที่ ทิ้ง มาฬมงคล, ฟ้อน ทิ้งเดช กำลังดังอยู่ตามงานวัดและท้องสนามหลวง เขาเปลี่ยนการแสดงที่คนส่วนมากเรียกจำอวดเป็นละครย่อย เปลี่ยนจากคนอื่นและคณะอื่นที่นุ่งผ้าม่วงแสดง เป็นแต่งสากลผูกเน็กไท พระเอกชื่อดังในวงการภาพยนตร์ไทยอันเป็นภาพยนตร์เสียงในขณะนั้น คือ จำรัส สุวคนธ์ ก็เป็นลูกวงของเขามาก่อน” (นายสนิท, 2515)

สำหรับสไตล์การแสดงจำอวดครั้งนั้นเป็น “การแสดงตลกหรือจำอวดของไทยเรามีความสำคัญอยู่คือว่า ต้องแสดงหนักไปในทางหยาบโลนเป็นพื้น อย่างการใช้คำพูดที่เรียกว่า สองง่าม ต่อมาสมัยนี้ มีจำอวดบางคนชอบใช้วาทะโวหารให้ไพเราะ เรียกกันว่า คำคม อยู่บ้างแต่ก็ไม่วายมีหยาบโลนแกมอยู่นั่นเอง” (อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, 2511, 112-113)

ขวัญ สุวรรณะ สมาชิกคณะสี่สมิงและหนังสือความทรงจำที่โรงเรียนพณิชยการแก้วฟ้าล่างของสกล เรืองสุข

เปิดเบื้องหลังการเปลี่ยนชื่อ
จาก “คณะจำอวด” เป็น “คณะละครย่อย”

จํารูญ หนวดจิ๋ม เล่าเหตุของการเปลี่ยนชื่อเรียกคณะจำอวดไปเป็นคณะละครย่อย เกิดจากค่านิยมของสังคมครั้งนั้นมองว่า อาชีพจำอวดเป็นการเต้นกินรำกิน มีการแบ่งชั้นวรรณะระหว่างกันของพวกละคร พวกโขน พวกลิเก พวกรำตัด พวกดนตรี (นายสนิท, 2515)

จมื่นมานิตยนเรศเล่าเบื้องหลังไว้ว่า นายสนิทขอร้องว่า “ขอให้เขาคิดหาคำให้ใหม่ เพราะไม่ปรารถนาจะแสดงอย่างจำอวด เพราะจะถูกเหยียดหยามได้ จึงคิดตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ละครย่อย ซึ่งเคยได้เรียกชื่อทางวิทยุกระจายเสียงเป็นเริ่มต้น จำอวดจึงกลายสภาพมาเป็นละครย่อยมาจนถึงทุกวันนี้” (อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, 2511, 112)

ต่อมา การแสดงจําอวดเริ่มมีการเพิ่มผู้แสดงมากขึ้นจนสามารถเล่นเป็นเรื่องสั้นๆ ได้ และมีการนําผู้หญิงมาร่วมแสดงด้วยนั้นถือเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งจนมีการเรียกการแสดงนี้ว่าละครย่อย

ดังที่จมื่นมานิตยนเรศได้เขียนอธิบายถึงการเพิ่มนักแสดงหญิงเข้ามาไว้ว่า “คณะจําอวดมีผู้หญิงแสดงรวมเพิ่มขึ้นอีก และผู้แสดงก็ไม่จํากัดจํานวน อาจเป็นถึงขนาดละครโรงเล็กๆ เล่นเรื่องสั้นๆ ก็ได้” (อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, 112)

แก้ว อัจฉริยะกุล เล่าว่า จากนั้น คำว่าคณะจำอวด เริ่มเรียกว่า ละครย่อย เปิดฉากใหม่บนเวทีก่อนการฉายภาพยนตร์ (ปฏิพัทธ์ สถาพร, 2560, 76)

ในช่วงสงคราม การแสดงที่เคยเล่นเพียงละครตลก หรือละครชุดสั้นๆ สลับฉาก ต่อมาก็พัฒนาเป็นละครย่อยเล่นเรื่องยาวจนสามารถขึ้นเวทีทดแทนการชมภาพยนตร์ได้ (ม.ล.รุจิราภา, 20)

“ท้วม ทระนง” ได้เล่าพัฒนาการของจําอวดว่า “ในช่วงสมัยของท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้เปลี่ยนเป็นหัสนาฏกรรม” ก็มาจากละครย่อยนั่นเอง แต่มันเรียกยากจึงเรียกว่าละครย่อยมาตลอดจนทุกวันนี้ ทีนี้มารุ่นล่าสุด ตอนละครชายจริง หญิงแท้ พวกละครย่อยก็เข้ามารวมกับคณะละคร คือ เล่นรวมไปกับละคร ละครย่อยก็ค่อยๆ หายไป แต่ก็มีแสดงอยู่เฉพาะไม่เป็นล่ำเป็นสัน” (ไอยเรศ, 1322)

นายเริ่ม เรียนรอบกิจ และนายล้อม สมาชิกคณะสี่สมิง

คณะจำอวดสมัยสงคราม

สุพรรณ บูรณะพิมพ์ ดาราละครเวทีครั้งนั้นเล่าว่า พลันสงครามที่ระเบิดขึ้นมีผลให้วงการบันเทิงครั้งนั้นเปลี่ยนโฉมไป ตามโรงภาพยนตร์ฉายแต่หนังญี่ปุ่นเต็มไปหมด ด้วยไทยประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร โรงภาพยนตร์เริ่มซบเซา เกิดละครเวทีขึ้นแสดงตามโรงภาพยนตร์ เช่น เฉลิมไทย เฉลิมนคร ศรีอยุธยา เฉลิมกรุง มีการแสดงวันละ 2 รอบ คือ รอบกลางวันช่วงบ่ายและและรอบค่ำ (สุพรรณ บูรณะพิมพ์, 2528, 93)

สง่า อารัมภีร และใหญ่ นภายน เล่าว่า ในช่วงสงคราม มีคณะละครผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาแสดงที่เฉลิมกรุงหลายคณะ และยังมีการจัดประชันพากย์หนังและการแสดงระหว่างคณะจำอวดของคณะลูกไทยกับคณะเสมาทองทำให้ผู้ชมล้นหลาม แม้กระทั่งเกิดไฟฟ้าดับจากการถูกโจมตีทางอากาศก็ยังมีการแสดงต่อไป ขนาดพระนครอยู่ในระหว่างการโจมตีทางอากาศ คนดูก็ยังเนืองแน่น เมื่อเสียงหวอดัง นักแสดงและผู้ชมต่างวิ่งหนีเอาชีวิตรอดไปยังวัดสุทัศน์ เมื่อเหตุการณ์โจมตีผ่านพ้นไปแล้ว ทุกคนต่างหัวเราะใส่กันอย่างครื้นเครง และที่สำคัญผู้ชมขบขำที่นักแสดงตลกเองยังกลัวเลย (สง่า อารัมภีร, 2509, 111; ใหญ่ นภายน, 2548, 146)

ต่อมา คณะเสมาทองก็แตกแยกเลิกรากันไป เช่นเดียวกับคณะสี่สมิงไปตามแนวทางของตน เฉลิม บุญยเกียรติ (แจ๋ว ดอกจิก) ผล ขาตะเกียบ ผล สุวรรณะ ไปรวมกับคณะละครแม่เลื่อน จากนั้น คณะสี่สมิงก็ถึงคราอวสาน สนิทก็เงียบหายไปและรับราชการที่แผนกโฆษณา กรมสาธารณสุข แม้จะเลิกการแสดงจำอวด แต่สนิทหันไปเอาดีทางละครวิทยุ เขาตั้งคณะชื่อ “เกษธนนาฏ” ขึ้น (นายสนิท เกษธนัง, 2515)

สนิท เกษธนัง และการรับบทผู้ดีอังกฤษในการแสดงจำอวดของเขา

ในช่วงเวลาก่อนสงครามไม่นาน เกิดคณะจำอวดหรือคณะละครย่อยขึ้นหลายคณะ และคณะหนึ่งชื่อ คณะเมฆดำ ที่มี “ล้อต๊อก” (แสวง ทรัพย์สำรวย, 2457-2545) นักแสดงจำอวดที่ก้าวขึ้นมาบนเวทีที่สร้างความหรรษาภายหลังการปฏิวัติ 2475

ชีวิตเขาล้มลุกคลุกคลาน ต่อมาร่วมแสดงตลกกับหลายคณะ จนถึงคณะเมฆดำที่รับงานเล่นจำอวดแถวท่าพระ ตลาดพลู ย่านฝั่งธนบุรี ในช่วงสงคราม คณะเมฆดำเล่นตลกสลับฉากที่โอเดียนและเฉลิมกรุง ต่อมา เขาได้ร่วมกับ “จอก ดอกจันทร์”, ทองต่อ จตุรงค์กุล, สมพงษ์ พงษ์มิตร, ชุมพล ปัทมินทร์, “สมบุญ แว่นตาโต” และเสน่ห์ โกมารชุน ตั้งคณะลูกไทยขึ้น (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายแสวง ทรัพย์สำรวย, 2545, 21, 27, 78) คณะลูกไทยขึ้นรับงานเล่นตามเวทีละครในช่วงสงคราม สง่าเล่าว่า ในช่วงสงคราม เขาเคยเห็นล้อต๊อกในชุดละครชาวเกาะฮาวายวิ่งหนีลูกระเบิดหนีตายไปหลบที่วัดสุทัศน์ด้วย (สง่า อารัมภีร, 2509, 111)

คณะลูกไทยเป็นคณะละครย่อยที่มาจากนักแสดงนักเรียนของโรงเรียนนาฏศิลปสากลที่มักไปแสดงต้อนรับทหารญี่ปุ่นในยามสงคราม โดยต่อมาได้ร่วมแสดงกับคณะลูกไทยที่เป็นดาวตลกที่ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งมี “จอก ดอกจันทร์” (จ.ท.ศักดิ์ สาริกบุตร) มือกลองแห่งวงดนตรีทหารอากาศเป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งทำให้คณะลูกไทยสามารถทั้งแสดงตลก นาฏศิลป์และละครไปพร้อมกันได้ (สง่า อารัมภีร, 2509, 109)

สอดคล้องกับล้อต๊อกเล่าว่า ละครย่อยเรื่องแรกของคณะลูกไทย ชื่อ “วันสร้างชาติ” เปิดการแสดงที่เฉลิมบุรี เขาแสดงเป็นเจ๊ก เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ชมมาก หนึ่งในผู้ชม คือ อบ บุญติด ได้ทาบทามให้ล้อต๊อกมาร่วมเล่นกับคณะนาฏศิลป์สากลของกองทัพอากาศนับแต่นั้น เขาก็ได้ฉายาว่า ล้อต๊อก ในที่สุด (อนุสรณ์ฯ นายแสวง, 28)

จำรัส สุวคนธ์ และจันตรี สาริกบุตร
“จำรูญ หนวดจิ๋ม” กับล้อต๊อก และสมพงษ์ พงษ์มิตร
โปสเตอร์โฆษณาการแสดงจำอวดในช่วงทศวรรษ 2480 เครดิตภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม