ปริศนาโบราณคดี : เงื่อนงำแห่งอมตะวาจาครูบาเจ้าศรีวิชัย “หากน้ำปิงไม่ไหลย้อน จักไม่ขอเหยียบนครเชียงใหม่” (2)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตอน 1 ตอน 2 ตอนจบ

หลังจากที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกนำตัวไปสอบสวนดำเนินคดี อยู่ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ ในการต้องอธิกรณ์ครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยมูลเหตุคือ แยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง นั้น

ครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องถูกกักบริเวณที่กุฏิสมเด็จ วัดเบญฯ นานถึง 6 เดือนเศษ ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2478 – 4 พฤษภาคม 2479 กว่าจะได้รับการปล่อยตัวให้กลับเมืองเหนือโดยไร้มลทิน

ชัยชนะที่ได้มา ด้วยการที่ท่านยืนกรานต่อสู้ชูธงในประเด็นที่ว่า

“หากจะต้องให้เลือกระหว่างการรักษาศีลกับการรักษากฎหมาย อาตมภาพขอเลือกเอาการรักษาศีลเป็นสรณะ”

เมื่อชาวเชียงใหม่ทราบข่าวว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยกำลังจะเดินทางกลับมา ได้พากันไปแห่แหนรอรับอยู่ที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2479

แต่ทว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ลั่นอมตะวาจาไว้แล้วว่า “ตราบใดน้ำปิงไม่ไหลย้อนขึ้นเหนือ จักไม่ขอเหยียบนครเชียงใหม่อีก”

ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงได้ลงที่สถานีรถไฟนครลำพูนแทน โดยมีชาวลำพูนมาเฝ้ารอการกลับมาของ “ต๋นบุญผู้ยิ่งใหญ่” ของคนลำพูนอย่างเนืองแน่น

เหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้แก่ชาวเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง

 

และหลังจากที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ลั่นวาจาไว้เช่นนั้นแล้ว ท่านก็ไม่ได้หวนกลับไปเหยียบแผ่นดินเชียงใหมอีกเลยด้วยความสัตย์จริง จนกระทั่งท่านถึงแก่มรณภาพ

ก่อนที่จะละสังขาร ครูบาเจ้าศรีวิชัยอาพาธอย่างหนัก ท่านพำนักรักษาตัวอยู่ที่วัดจามเทวี วัดสุดท้ายที่ท่านได้ทำการสร้างวิหารและอุโบสถฝากไว้ จากนั้นท่านมีความประสงค์จะกลับไปยังวัดบ้านปาง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดเมืองนอน

แต่ต่อมาทางคณะสงฆ์จังหวัดลำพูน และเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน ได้ประชุมเห็นพ้องกันว่าควรนำท่านย้ายออกมาจากวัดบ้านปางเพื่อกลับมารักษาตัวที่เมืองลำพูนอีกครั้ง เพราะยังมีโอกาสหาหมอดีๆ มาช่วยรักษาเนื่องจากวัดบ้านปางนั้นทุรกันดารอยู่ในป่าดงดอย

มีการระดมหมอหลากหลายสรรพคุณ ทั้งสายล้านนาพื้นเมือง ไทลื้อ ยอง ม่าน (พม่า) เงี้ยว (ไทใหญ่) ไทย-สยาม จีน แขก ฝรั่ง มาช่วยกันรักษาเยียวยาอย่างสุดความสามารถ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเชียงใหม่ เมื่อทราบข่าวก็พากันมาเยี่ยม เอารถมารับเพื่อนิมนต์ครูบาเจ้าศรีวิชัยไปรักษาตัวที่เชียงใหม่ เนื่องจากที่นั่นมีโรงพยาบาลทันสมัยของบาทหลวงคริสเตียนคือแมคคอมิค

แต่ครูบาเจ้าศรีวิชัยยืนยันว่าจะไม่ไปเหยียบเชียงใหม่อีกอย่างแน่นอน สุดท้ายแล้ว ชาวเชียงใหม่ก็ต้องยอมอ่อนใจ และใช้วิธีนำเอาหมอจากโรงพยาบาลชั้นนำในเชียงใหม่มารักษาครูบาเจ้าศรีวิชัยถึงที่ลำพูนแทน แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น

อาการอาพาธของครูบาเจ้าศรีวิชัยเกิดจากโรคริดสีดวงทวาร เนื่องจากตลอดชีวิตนานกว่า 4 ทศวรรษภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ของท่านนั้น ท่านกรำงานหนัก ทุ่มเทเดินธุดงค์โปรดญาติโยมศรัทธาตามย่านต่างๆ ทั่วภูมิภาค ทุกแห่งที่ท่านไปช่วยบูรณะพัฒนาฟื้นฟูวัดขึ้นมานั้น ท่านจำเป็นจะต้องนั่งขัดสมาธิบริกรรมภาวนา เป็นประธานในการขอรับบริจาคปัจจัยเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งทางล้านนาเรียกว่า “นั่งหนัก” โดยหลายแห่งเป็นการนั่งบนโขดหิน พื้นดิน หรือไม้กระดาน แทบไม่มีอาสนะบุนวมมารองรับ

ครูบาเจ้าศรีวิชัยขอกลับไปใช้วาระสุดท้ายของชีวิตที่วัดบ้านปาง เมื่อ “เดือน 6 เหนือ ขึ้น 2 ค่ำ ปี พ.ศ.2481” ซึ่งเดือน 6 เหนือนั้นตรงกับเดือนมีนาคม แต่ก็มีตำราหลายเล่มไปกำหนดเอาเป็นเดือนกุมภาพันธ์

อนึ่ง คนล้านนานับเดือนเร็วกว่าทางภาคกลางล่วงหน้าไปสองเดือน

ส่วนขึ้นสองค่ำ จะตรงกับวันพุธที่ 22 ของเดือนมีนาคม แต่จะตรงกับวันจันทร์ที่ 20 หรือ 21 หากกำหนดให้เดือน 6 เป็นเดือนกุมภาพันธ์

สำหรับปี 2481 เป็นการนับแบบโบราณเพราะยังไม่ขึ้นปีใหม่ไทยซึ่งถือเอาเดือนเมษายนเป็นจุดตัด แต่หากนับแบบสากลเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ก็ถือว่าเป็นปี พ.ศ.2482 แล้ว

ซึ่งประเด็นการตีความว่าวันมรณภาพของครูบาเจ้าศรีวิชัยควรเป็นวันใดกันแน่ ณ ปัจจุบันยังเกิดความสับสนถกเถียงกันอยู่มาก

คือมีทั้งวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2481

บ้างระบุวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2481 เนื่องจากนับอย่างละเอียดว่าครูบาสิ้นลมเป็นเวลาเที่ยงคืนเศษแล้ว ดังนั้น จึงต้องเขยิบมาเป็นวันใหม่อีกวัน กับวันที่ 22 มีนาคม 2481 บ้าง 22 มีนาคม 2482 ก็มี

ขึ้นอยู่กับว่าใครจะตีความคำว่า “เดือน 6 เหนือ ขึ้น 2 ค่ำ ปี พ.ศ.2481” กันอย่างไร ใช้สูตรไหนคำนวณ

แต่สิริรวมอายุครูบาเจ้าศรีวิชัยน่าจะอยู่ราวๆ 60 ปี 9 เดือน 11 วัน หรือ 60 เต็มย่าง 61 ตามที่คนเฒ่าคนแก่เล่าว่ามีเพลงขับซอร้องป่าวประกาศกระจายข่าวกันทั่วแผ่นดินล้านนาตอนที่ครูบามรณภาพใหม่ๆ ว่า “ครูบาลาโลกอายุ 61”

หากเป็นตามนี้ เห็นว่าท่านน่าจะมรณภาพในปี 2482

 

เมื่อความทราบถึงชาวลำพูน-เชียงใหม่ ได้เกิดศึกชิงศพครูบาเจ้าศรีวิชัย ชาวเชียงใหม่ก็ต้องการให้นำไปไว้ที่เชียงใหม่ ชาวลำพูนเองก็ต้องการให้นำกลับมาไว้ที่วัดจามเทวี มีหรือที่ชาวบ้านปางนั้นจักยอมง่ายๆ จึงมีการตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางเป็นเวลาเกือบ 2-3 ปี

จากนั้นได้ย้ายสรีระร่างของครูบาเจ้าศรีวิชัยมาตั้งที่วัดจามเทวีเพื่อความสะดวกในการทำพิธีฌาปนกิจ

คราวนี้ชาวเชียงใหม่ก็ต้องยอมจนแต้มอีกเช่นเคย ต่ออมตะวาจา กรณีที่น้ำแม่ปิงยังไม่ไหลย้อนขึ้นสู่เหนือ

เกี่ยวกับงานฌาปนกิจศพของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นงานพระราชทานเพลิงศพ แถมหนังสือหลายเล่มยังระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้พระราชทานโกศ ราชรถบรรจุศพ พร้อมเพลิงพระราชทานให้แก่ครูบาอีกด้วย

ที่กล่าวกันเช่นนั้น คงเนื่องมาจากไปเห็นภาพ “โกศบรรจุศพครูบาเจ้าศรีวิชัย” จึงเข้าใจกันเอาเองว่าคงเป็นโกศพระราชทานมาจากฝ่ายสยาม

ทว่า ในความจริงนั้น หลังจากที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างละเอียด ได้ขอตรวจสอบเอกสารจากสำนักราชเลขาธิการ หน่วยงานเก่าที่ผู้เขียนเคยทำงานมาก่อน

พบว่า ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะได้รับพระราชทานโกศ โดยสถานภาพก็ดี ฐานันดรก็ดี ยิ่งครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งทางสยามเรียกว่า “พระศรีวิชัย” หาได้มีสมณศักดิ์ชั้นยศใดๆ ทั้งสิ้น ย่อมไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการพระราชทานโกศ ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม

หรือแม้แต่การจะได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน ข้อความที่ปรากฏในตาลปัตรที่ระลึกงานศพครูบาเจ้าศรีวิชัย ก็ใช้คำว่า “งานฌาปนกิจศพ”

สิ่งที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้รับเพียงอย่างเดียวก็คือ การที่พระเทพเวที เจ้าคณะตรวจการภาค 4 ได้ “ขอพระราชทานหีบเพลิงให้แก่ศพพระศรีวิชัยเป็นพิเศษ” เท่านั้นเอง

 

คําว่า “หีบเพลิง” ในที่นี้ ไม่ใช่หีบศพหรือโลงศพรูปสี่เหลี่ยมที่ทางราชสำนักสยามส่งมาให้ หากแต่เป็น “เปลวไฟ” หรือการนำกล่องไม้ขีดไฟมาจุดให้โดยเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวัง ในลักษณะ “ไฟพระราชทาน”

ทำไมพระเทพเวที ผู้เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 4 ต้องทำหนังสือไปถึงสำนักพระราชวัง เหตุก็เพราะตัวท่านได้รับนิมนต์จาก “คณะกรรมการจัดการศพ พระศรีวิชัย จังหวัดลำพูน ให้ไปร่วมงานด้วย งานเริ่มตั้งแต่วันที่ 8-22 มีนาคม 2489 รวม 15 วัน โดยจะประชุมเพลิงวันที่ 22 มีนาคม ศกนี้ ณ วัดจามเทวี”

พระเทพเวทีให้เหตุผลในหนังสือนั้นว่า

“การฌาปนกิจศพคราวนี้ควรจัดให้เป็นเกียรติยศเพื่อสนองคุณความดี กับเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจคณะสงฆ์และประชาชนภาคเหนือ จึงขอพระราชทานหีบเพลิงให้แก่ศพพระศรีวิชัยเป็นพิเศษ”

ส่วนโกศที่เห็นในภาพนั้น เป็นโกศทรงแปดเหลี่ยมที่ทำกันเองโดยสล่า (ช่าง) ล้านนา ผู้สั่งทำต้องเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ น่าจะของลำพูนมากกว่าเชียงใหม่ เหตุเพราะต่อมาได้พบโกศในลักษณะรูปทรงเช่นนี้อีกหลายครั้งในงานศพพระผู้ใหญ่ในลำพูน

อย่างไรก็ดี ธรรมเนียมการใช้โกศในพิธีศพนั้น ไม่ใช่วัฒนธรรมของคนล้านนามาแต่ดั้งเดิม ย่อมเป็นอิทธิพลจากสยามอย่างแน่นอน เพราะคนล้านนาสมัยก่อนเคยใช้ปราสาทศพรูปนกหัสดีลิงค์สำหรับบุคคลสำคัญระดับเจ้านายและพระผู้ใหญ่

ด้วยเหตุนี้กระมัง เมื่อชาวล้านนามาเห็นภาพโกศใส่ศพครูบาเจ้าศรีวิชัย จึงรู้สึกแปลกๆ คิดว่าไม่น่าจะใช่ธรรมเนียมล้านนา จึงพลอยทึกทักเอาว่าน่าจะเป็นโกศพระราชทานจากสยาม เพราะโกศไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาคุ้นเคย

ในขณะเดียวกัน เมื่อลองเปรียบเทียบโกศทรงแปดเหลี่ยมของครูบาเจ้าศรีวิชัยกับโกศของทางสยาม ก็จะพบว่าโกศภาคกลางมีความผอมสูงเพรียวกว่ามาก

ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างหมดจิตหมดใจของชาวเจ้านายฝ่ายเหนือนั่นเอง จึงได้สร้างโกศพร้อมราชรถถวายแด่ครูบาเจ้าศรีวิชัย แม้ท่านจักสิ้นไร้ซึ่งสมณศักดิ์ใดๆ และอาจเป็นไปได้ว่า มีการหยิบยืมรูปแบบโกศที่ทางสยามได้พระราชทานให้แก่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ 5 พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย และพลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงผู้ครองนครองค์สุดท้าย

ทั้งสามองค์นี้มีความผูกพันกับครูบาเจ้าศรีวิชัยมาก เมื่อถึงแก่พิราลัยย่อมมีงานพระราชทานเพลิงศพอย่างเอิกเกริกจากส่วนกลางมาทำพิธีให้เห็นเป็นเบ้าแบบ ก่อนหน้าที่จะมีงานฌาปนกิจศพของครูบาเจ้าศรีวิชัย

หลังจากได้เผาศพครูบาเจ้าศรีวิชัยไปแล้ว มีการแบ่งอัฐิกันอย่างไร มีทั้งหมดกี่ส่วน (กันแน่) และปัจจุบันกระจายอยู่ที่ไหนกันบ้าง รวมกี่แห่ง จักจาระไนให้ทราบสัปดาห์ถัดไป

โดยเฉพาะเรื่องราวของ “กู่อัฐิบนยอดเขาดอยงุ้ม” ตั้งอยู่ ณ พรมแดนระหว่างอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน กับอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

การที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยสั่งเสียลูกศิษย์เอก ครูบาอภิชัยขาวปี๋ ให้นำอัฐิของท่านไปไว้ ณ สถานที่แห่งนั้น ซึ่งสามารถมองเห็นเมืองลำพูนและเชียงใหม่ชัดเจนตลอดทั่วทั้งสองนครา

ท่านต้องการสื่อความในใจว่า ลึกๆ แล้วยังคงห่วงใยในลูกหลานชาวลำพูน-เชียงใหม่เสมอเสมือนกัน และไม่เคยโกรธแค้นต่อชาวเชียงใหม่เลย จริงหรือไม่อย่างไร โปรดติดตาม…