ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
นักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่ที่กำลังจับตามองความขัดแย้งและการสู้รบที่เกิดขึ้นอยู่ในตะวันออกกลางในเวลานี้ด้วยความวิตก พากันเตือนว่า ความขัดแย้งนี้อาจลุกลามมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังจากอิหร่านโจมตีอิสราเอลโดยตรงเป็นครั้งที่สองในปีนี้ เมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
โลกกำลังหวั่นเกรงกันว่า การโจมตีด้วยมิสไซล์ขนานใหญ่ในวันนั้น กำลังจะนำไปสู่สงครามใหญ่ เต็มรูปแบบระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านขึ้นตามมา
เคนเนธ เอ็ม. พอลแลค นักเขียน นักวิชาการอาวุโส ที่ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาในสภาความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดี บิล คลินตัน กลับเชื่อว่า สงครามเต็มรูปแบบ ชนิดที่มีการทิ้งระเบิดถล่มซึ่งกันและกัน การยกพลขึ้นบก เพื่อกวาดล้างทางภาคพื้นดิน ไม่น่าจะเกิดขึ้นระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน แม้ในยามนี้ก็ตามที
เหตุผลสำคัญก็คือ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน หรือแม้แต่อิสราเอลก็ดี ต่างมีข้อจำกัดทั้งในด้านทรัพยากรสงคราม และในด้านยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี จนทำให้สงครามใหญ่เต็มรูปแบบที่ว่านี้ เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ศึกอิหร่าน-อิสราเอล ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้คือระยะห่างระหว่างประเทศทั้งสอง ที่หากวัดจากจุดที่ใกล้กันที่สุด ยังห่างกันถึง 1,200 กิโลเมตร ในขณะที่ใจกลางประเทศอิสราเอล อยู่ห่างจากกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่านถึงกว่า 1,600 กิโลเมตร
ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ยังถูกคั่นกลางอยู่ด้วยประเทศอย่างตุรกี, ซีเรีย, อิรัก, จอร์แดน, ซาอุดีอาระเบีย และคูเวต ซึ่งบางประเทศเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับอิสราเอลมากกว่า และบางประเทศใกล้ชิดกับอิหร่านมากกว่า ทั้งยังมีเช่นกันที่บางประเทศในกลุ่มนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อทั้งอิหร่านและอิสราเอล
อิหร่านหรืออิสราเอล อาจ “ขอความร่วมมือ” จากบางประเทศเหล่านี้ได้ แต่อย่างมากที่สุดที่จะได้รับก็คือ การเปิดทางให้เดินทัพผ่าน แต่มากไปกว่านั้น ยังไม่น่าจะเป็นไปได้
ตัวอย่างเช่น จอร์แดน ซึ่งรับรู้กันเป็นนัยว่า คือพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ของอิราเอล แต่ประชากรส่วนใหญ่ของจอร์แดนคือชาวปาเลสไตน์ที่ถึงขั้น “ชิงชัง” อิสราเอล ทำให้การตัดสินใจสนับสนุนมีจำกัดอย่างยิ่ง
เป็นที่รู้กันว่า ทางการจอร์แดนใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศของตนช่วยสกัดขีปนาวุธอิหร่านให้กับอิสราเอลเมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่กลับยืนยันในภายหลังอย่างระมัดระวังว่า ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือรัฐยิว เป็นเพียงแค่การป้องกันน่านฟ้าของตัวเองเท่านั้น
ในกรณีของซีเรียก็ทำนองเดียวกัน รัฐบาลซีเรียพึ่งพาอิหร่านอย่างหนักในหลายด้าน กระนั้นบทเรียนที่ถูกกองทัพอิสราเอลเอาชนะได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการเปิดศึกกันหลายครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในปี 1967, 1973 และ 1982 ก็ป้องกันไม่ให้รัฐบาลซีเรียตัดสินใจผิดๆ อีกครั้ง อันที่จริงซีเรียไม่เคยยอมให้อิหร่านใช้ดินแดนของตนเป็นฐานในการโจมตีอิสราเอลโดยตรงมาก่อนเลย
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทำให้การส่งกำลังบุกอีกฝ่ายทางภาคพื้นดิน เป็นไปไม่ได้ทั้งสำหรับอิหร่านและอิสราเอล
กองทัพอิสราเอลเอง ไม่มีทั้งเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือโจมตีครึ่งบกครึ่งน้ำ สำหรับการยกพลขึ้นบกขนานใหญ่ ทำให้การโจมตีอิหร่านจากทางทะเลเป็นไปไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่า ประเทศอย่างบาห์เรน หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะยินยอมให้อิสราเอลส่งฝูงบินรบไปประจำการในดินแดนของตน ซึ่งโอกาสเป็นไปได้มีน้อยอย่างยิ่ง
ในขณะที่อิหร่านเองหากตัดสินใจโจมตีอิสราเอลด้วยการยกพลขึ้นบกจากทางทะเล ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายเช่นเดียวกัน นอกเหนือจากที่ต้องพบกับศึกหนักจากกองทัพอิสราเอล ในขณะที่การส่งกำลังบำรุงและการสนับสนุนแทบเป็นไปไม่ได้ หากไม่ใช้เส้นทางอ้อมแอฟริกาทั้งทวีปขึ้นมา
ข้อจำกัดในการปฏิบัติการภาคพื้นดินของทั้งอิสราเอลและอิหร่าน ทำให้ศึกใหญ่ หากจะเกิดขึ้นจำเป็นต้องพึ่งพากำลังทางอากาศเท่านั้น ซึ่งเท่าที่สามารถกระทำได้ล้วนมีข้อจำกัดด้วยเช่นเดียวกัน
อิสราเอลครอบครองขีปนาวุธที่มีพิสัยทำการครอบคลุมทั่วทั้งอิหร่าน แถมยังมีครูส มิสไซล์ และโดรน ที่อาจใช้โจมตีจากเรือรบหรือจากเรือดำน้ำได้ก็จริง
ปัญหาก็คือ แม้จะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า อิสราเอลมีอาวุธเหล่านี้อยู่เท่าใดกันแน่ แต่เชื่อกันว่าจำนวนไม่น่าจะมากมายนัก เพียงชนิดละเป็นหลักร้อย หรือหลักพันลูกต้นๆ เท่านั้นเอง
ยิ่งไปกว่านั้น มิสไซล์ที่อิสราเองครอบครองอยู่ ล้วนแล้วแต่เป็นชนิดที่มีหัวรบขนาดเล็ก เหมาะกับการทำลายเป้าหมายขนาดเล็กที่มีคุณค่าสูงอย่างยุทโธปกรณ์หรือตัวอาคาร ไม่เหมือนกับการใช้ถล่มแบบปูพรมจากเครื่องบินทิ้งระเบิด ที่ใช้เพื่อการทำลายฐานทัพขนาดใหญ่หรือเมืองทั้งเมืองอีกด้วย
กองทัพอากาศอิสราเอลยังมีข้อจำกัดในเรื่องระยะทาง เครื่องบินรบของอิสราเอลในเวลานี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็น เอฟ-16 กับ เอฟ-35 ซึ่งพิสัยทำการจำกัดอยู่เพียงแค่ไม่ถึง 1,000 กิโลเมตรเท่านั้น
หากต้องการโจมตีลึกเข้าไปในใจกลางอิหร่าน ก็จำเป็นต้องอาศัยการเติมน้ำมันกลางอากาศ ซึ่งมีประจำการอยู่เพียงไม่กี่ลำเท่านั้น
ในกรณีของอิหร่าน กองทัพอากาศเท่าที่อิหร่านมียังจัดว่าห่างชั้นกับเครื่องบินรบอิสราเอลอยู่มาก อิหร่านไม่เพียงไม่มีเครื่องบินสำหรับเติมน้ำมันกลางอากาศเท่านั้น เครื่องบินรบส่วนใหญ่ที่ใช้อยู่ เป็นเครื่องบินรบที่อเมริกันทิ้งไว้ในทศวรรษ 1960 และ 1970 บวกกับเครื่องบินรบฝรั่งเศสและโซเวียตจากยุค 70 และ 80
ซึ่งทั้งหมดไม่มีศักยภาพเพียงพอในการขับเคี่ยวแม้แต่กับระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลด้วยซ้ำไป
อิหร่านมีมิสไซล์และโดรนอยู่ในครอบครองเป็นจำนวนไม่น้อย ปัญหาก็คือ อิหร่านเคยใช้มิสไซล์และโดรนโจมตีอิสราเอลโดยตรงมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือนเมษายนและตุลาคมปีนี้ รวมจำนวนแล้วมากกว่า 500 ลูก กลับไม่สามารถสร้างความเสียหายต่อเป้าหมายในอิสราเอลเลยก็ว่าได้
หากยังเลือกใช้วิธีเดิมนี้ในการโจมตีอิสราเอลอีก ก็อาจต้อง “ขายขี้หน้า” อีกครั้ง แถมยังอาจกลายเป็นการ “เชื้อเชิญ” ให้อิสราเอลโจมตีตอบโต้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
เคนเนธ เอ็ม. พอลแลค สรุปว่า ขีดความสามารถทางทหารของอิหร่าน ด้อยกว่าอิสราเอลในแทบจะทุกกรณีทั้งในเชิงรุกและการป้องกัน
แต่ในเวลาเดียวกัน อิสราเอลแม้จะมีความสามารถสูงกว่ามาก โดยเฉพาะในแง่ของการโจมตีแบบจำกัดเป้าหมาย แต่กลับไม่มีทรัพยากรทางทหารเพียงพอต่อการพิชิต หรือทำลายล้างอิหร่านได้เช่นเดียวกัน
ศึกระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล แม้จะยังคงดำเนินต่อไป แต่การขยายตัวเป็นศึกใหญ่เต็มรูปแบบจึงเป็นไปไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายยังคงจะสู้รบซึ่งกันและกันในรูปแบบที่ทำกันอยู่ในเวลานี้
เพียงแต่อาจเพิ่มความเข้มข้น ถี่ยิบมากขึ้นกว่าเดิมมากเท่านั้นเอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022