พล.อ.พิศาล ไขก๊อก ส.ส. เคลียร์คัตคดีตากใบ ‘จบ’ ที่ ‘ไม่จบ-การเมืองยังลาม ‘พท.’

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 เหตุการณ์โศกนาฏกรรม สร้างความเจ็บปวดและบาดแผลครั้งยิ่งใหญ่ให้กับประชาชนคงหนีไม่พ้นเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2547 โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ส่งผลให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

โดยตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ญาติของผู้สูญเสีย รวมทั้งโจทก์ที่ยื่นฟ้องคดีตากใบ ได้เดินหน้าต่อสู้อย่างเต็มที่เพื่อทวงคืนความยุติธรรม และหวังว่าจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะยอมมอบตัวและเข้ามาต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ก่อนที่คดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคมนี้

ทว่า หนึ่งในจำเลยของ “คดีตากใบ” ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย คือ “พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี” อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคเพื่อไทย (พท.)

ทั้งนี้ พล.อ.พิศาล ได้ยื่นหนังสือลาประชุมต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างเหตุผลว่าป่วย และต้องเดินทางไปรักษาตัวต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม-30 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่ศาลจังหวัดนราธิวาสรับฟ้องคดีตากใบ

 

เหตุการณ์ดังกล่าว จึงสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองกดดันรัฐบาลอย่างมากพอ เนื่องจาก “พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี” เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล ก็มีสถานะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เช่นกัน

ฉะนั้น พรรคเพื่อไทย (พท.) และรัฐบาล จึงยากที่จะนิ่งเฉย หรือหลีกเลี่ยงต่อความรับผิดชอบส่วนตรงนี้ได้

ด้วยเหตุนี้ ส่งผลให้ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สังคม นักการเมือง นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาชน หน่วยงานต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจ เร่งสั่งการเพื่อติดตามตัวจำเลยที่หลบหนีคดีทั้งที่อยู่ภายในประเทศและต่างประเทศมาลงโทษ เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวผู้สูญเสียก่อนที่คดีจะหมดอายุความลง

เพราะหากปล่อยให้คดีความที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 20 ปี ตั้งแต่สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ต้องหมดอายุความลง โอกาสที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะต้องเผชิญกับแรงเสียดทานและเกิดคำถามจากสังคมแน่นอน หากไม่แสดงให้สังคมได้เห็นถึงความจริงใจในการเร่งนำตัวคนผิดมาลงโทษ

โอกาสที่จะถูกนักเคลื่อนไหว นักร้องเรียน หยิบยก “คดีตากใบ” ขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมืองย่อมมีความเป็นได้สูง

 

เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย แม้แกนนำพรรคจะออกมายืนยันว่าพรรคไม่เคยนิ่งนอนใจ และให้ความร่วมมือประสานและเร่งรัดให้ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาล แต่ทว่า กลับถูกฝ่ายค้านนำประเด็นนี้มาพุ่งเป้าว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้แสดงสปิริตและความจริงใจเพียงพอ ทั้งที่คดีดังกล่าวจะหมดอายุความในไม่กี่วันนี้

ฉะนั้น เมื่อถูกกระแสสังคมกดดันหนักมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การประชุม ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย (พท.) ประจำสัปดาห์ในวันที่ 15 ตุลาคม ถูกจับตามองว่า ท้ายที่สุดแล้วพรรคเพื่อไทยจะใช้มาตรการเด็ดขาดลงดาบด้วยการขับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ออกจากพรรคเพื่อไทย ตามที่มีกระแสข่าวลือออกมาหรือไม่

แต่ทว่า ช่วงเช้าวันที่ 15 ตุลาคม มีรายงานว่า พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้มอบหมายให้ตัวแทนมายื่นหนังสือขอลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา

โดยเนื้อหาของหนังสือแจ้งเรียนหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ากระผมตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาของศาลจังหวัดนราธิวาส ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 ดังกล่าวนั้น ด้วยเหตุที่ขณะนี้ผมอยู่ในระหว่างการรักษาอาการป่วย และอยู่ในระหว่างการพักฟื้น โดยผมได้ยื่นใบลากับสภาผู้แทนราษฎร และได้รับอนุมัติตามระเบียบแล้ว

“ผมได้ทราบข้อเท็จจริงว่าได้มีความพยายามนำเอาประเด็นของผมไปเคลื่อนไหว อันจะมีผลให้เกิดการขยายความขัดแย้งในสังคม และมีการผูกโยงเพื่อให้มีผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งผมเป็นสมาชิกและดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนฯ อยู่ ทั้งที่พรรคเพื่อไทยมิได้มีความเกี่ยวข้องต่อเรื่องราวดังกล่าวแต่อย่างใด ผมจึงเห็นว่าเพื่อมิให้พรรคเพื่อไทยได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากตัวผม และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

“ผมจึงขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันถือเป็นการขาดสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อมิให้เป็นภาระต่อสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

 

“สรวงศ์ เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ยอมรับว่า พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ได้ยื่นหนังสือลาออกกับนายทะเบียนพรรคแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม กระบวนการทางกฎหมายและสิทธิการคุ้มครอง ส.ส. ก็หมดไปตามสภาพ เมื่อลาออก แต่ยืนยันคำเดิมว่าอยากให้กลับมาต่อสู้คดี ถึงแม้ว่าจะลาออกแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่อยากให้เกิดคือให้กลับมาเข้าสู่กระบวนการ

ขณะที่ “ภูมิธรรม เวชชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะกำกับดูแลคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า ได้สั่งการไปยัง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้ลงไปดูในพื้นที่ด้วยตนเองทั้งจังหวัดสงขลา และบ้านพักของ พล.อ.พิศาลแล้ว รวมทั้งได้ไปดูตามบ้านพักต่างๆ ที่เคยอยู่ ซึ่งได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนและได้แจ้งไปทางตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) เรียบร้อยแล้ว กระบวนการจากนี้ไปเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่กำกับดูแลรับไปดำเนินการต่อไป

ด้าน “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่า “พล.อ.พิศาลได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็น ส.ส.แล้ว ฉะนั้น ก็จะไม่มีใครไปว่าอะไรท่านอีก เมื่อได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกแล้ว ก็ถือว่าขาดจากการเป็น ส.ส. ท่านลาออกแล้ว เหตุการณ์อะไรที่พรรคเพื่อไทยต้องรับผิดชอบถือว่าจบ”

“ต่อไปนี้ก็อยู่ที่กระบวนการยุติธรรม ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยแล้ว ท่านแสดงสปิริตด้วยการลาออกจาก ส.ส. ก็ถือว่ากระบวนการนี้จบแล้ว และย้ำว่าต่อจากนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม”

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี จะยื่นลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เรียบร้อยแล้วก็ตาม หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมจะต้องเร่งนำตัวจำเลยมาเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ก่อนที่คดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม

แต่ทว่าเรื่องนี้ ความรับผิดชอบทางการเมืองคงยังไม่จบลงง่ายๆ ตอนนี้ คำถามที่สังคมต่างตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดช่วงก่อนการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยจึงคัดเลือก พล.อ.พิศาล เข้ามาอยู่ในลิสต์บัญชีรายชื่อของพรรค จนมีชื่อได้เป็น ส.ส. ทั้งที่ขณะนั้นยังมีคดี “ตากใบ” ติดตัวอยู่ ดังนั้น จึงยากที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้

หากท้ายที่สุด คดีหมดอายุความ ไม่สามารถเอาผิดกับจำเลยได้สักคน ย่อมส่งผลต่อคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ภาคใต้แน่นอน ขณะที่รัฐบาลต้องได้รับผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน หากไม่แสดงความจริงใจเร่งนำตัวจำเลยมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้สำเร็จ

ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคประชาชน (ปชน.) จองกฐินเตรียมยื่นซักฟอกรัฐบาล “คดีตากใบ” ในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจสมัยประชุมหน้าเรียบร้อยแล้ว