คลายสงสัย! ทำไมวันวาเลนไทน์ จึงมีธรรมเนียมมอบช็อกโกแลต แทนความรัก?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : วันวาเลนไทน์ ทำไมจึงมีธรรมเนียมมอบช็อกโกแลต แทนความรัก?

บทกวีชื่อ “รัฐสภาของฝูงชน” (Parliament of Foules) ที่แต่งขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1925 โดยกวีเอกของอิงลิชชนในยุคกลาง (ที่ใครต่อใครพากันยกตำแหน่งบิดาแห่งวรรณกรรมภาษาอังกฤษให้) อย่าง เจฟฟรีย์ ชาวเซอร์ (Goeffrey Chaucer) มีใจความท่อนหนึ่งระบุว่า

“For this was on Saint Valentine”s day, when every bird cometh there to choose his mate.”

สรุปเป็นไทยง่ายๆ ได้ว่า ในวันวาเลนไทน์พวกนกทุกตัวจะมาที่นี่ เพื่อเลือกคู่ครองของมัน

แต่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อย่างวันวาเลนไทน์ บนเกาะอังกฤษ ไม่ใช่ฤดูที่นกจะจับคู่กันหรอกนะครับ บางท่านจึงเชื่อว่า ชาวเซอร์ใช้ “นก” เป็นสัญลักษณ์เพื่อที่จะยอพระเกียรติกษัตริย์ริชาร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ เนื่องในงานหมั้นหมายระหว่างพระองค์กับพระนางแอนน์ แห่งโบฮีเมีย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.1924 หรือหนึ่งปีก่อนหน้าที่ชาวเซอร์จะประพันธ์กวีบทนี้ต่างหาก (และก็ทำให้กวีบทนี้ถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “Parliament of Birds” หรือรัฐสภาแห่งฝูงนก)

ดังนั้น ชาวเซอร์จึงกลายเป็นบุคคลที่ถูกผู้ค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ แทบจะทุกท่าน ยัดเยียดสถานะ “ผู้ต้องหา” ในโทษฐานที่ว่าเป็นผู้ทำให้วันวาเลนไทน์กลายเป็นเรื่องของความโรแมนติกเอาไว้เสมอ

และก็แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งด้วยว่า ถึงแม้ว่าวันวาเลนไทน์จะมีมาก่อนสมัยของชาวเซอร์ แต่ว่าก่อนหน้านั้น วันที่ว่านี้ไม่ได้โรแมนติก หรือเกี่ยวข้องอะไรกับความรักอย่างที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ และเข้าใจกันในปัจจุบันเลยสักนิด

ดังนั้น วันวาเลนไทน์ในยุคก่อนหน้าของชาวเซอร์ จึงไม่มีทั้งการมอบดอกไม้ เขียนการ์ดพร่ำพรรณนาถึงความรักระหว่างกัน และยิ่งไม่มีใครเขามอบช็อกโกแลตให้กันเลยเสียหน่อย

 

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันวาเลนไทน์ เพราะคริสต์ชนถือเป็นวันของนักบุญที่ชื่อ วาเลนไทน์ (Valentine) หรือที่เรียกตามอย่างเก่าในภาษาละตินว่า วาเลนตินุส (Valentinus) แต่นักบุญท่านนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับ “ความรัก” ระหว่างหนุ่มสาว อย่างที่คนในยุคหลังมโนกันไปเอง

นักบุญวาเลนไทน์ มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 2-3 โดยมาจากเมืองแตร์นี (Terni) ที่วางตัวอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลีปัจจุบัน ซึ่งก็คือช่วงที่จักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจอยู่

ตำนานเล่าว่า นักบุญวาเลนไทน์ท่านกระตือรือร้นที่จะเผยแผ่พระธรรมของพระคริสต์ ซึ่งฟังดูก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนะครับ ถ้าไม่ว่าบังเอิญจักรวรรดิโรมันในสมัยนั้นมีอำนาจเต็มยิ่งกว่า คสช. (จนทำให้ต่อให้ใส่นาฬิกามากกว่าข้างละ 25 เรือนก็คงจะไม่มีปัญหา) และพวกที่มีอำนาจบาตรใหญ่ของรัฐโรมขณะนั้น ต่างก็เห็นศาสนาคริสต์เป็นที่ขัดหูขัดตาเสียเหลือเกิน

นักบุญท่านนี้ก็เลยประสบชะตากรรมถูกจำขังเป็นปีๆ และที่ท่านต้องเสียชีวิตลงก็เพราะถูกตัดสินประหารชีวิต ในข้อหาการพยายามเผยแผ่คริสต์ศาสนาแก่พระจักรพรรดิคลอดิอุสที่ 2 (Claudius II) แห่งโรมนี่แหละ

ถึงแม้หลักฐานเกี่ยวกับนักบุญท่านนี้จะค่อนข้างสับสน ซ้ำกว่าที่จะกลายเป็นวันวาเลนไทน์อย่างที่เรารู้จักกันนี่ ยังอาจมีการนำประวัติของนักบุญที่มีชื่อว่าวาเลนไทน์เหมือนกับท่านอื่นๆ มาปนกันให้ยุ่งอีก แต่ก็เป็นที่แน่ใจได้ว่า นักบุญวาเลนไทน์ท่านไม่ได้มีประวัติเกี่ยวข้องกับอะไรก็ตามที่เรียกว่าความรัก โดยเฉพาะความรักที่โรแมนติกเลย

ในสมัยดั้งเดิม “วันวาเลนไทน์” จึงไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับความรัก และก็ไม่ได้มีกิจกรรมหวานแหววอะไรมาก่อนเลยสักนิด จนกระทั่งมาถึงยุคที่ชาวเซอร์ได้แต่งบทกวี “รัฐสภาของฝูงชน” นั่นแหละ

แต่ถึงอย่างนั้นแล้ว ในยุคของชาวเซอร์ก็ยังไม่มีหลักฐานว่าใครๆ ในเกาะอังกฤษ ที่ชาวเซอร์อาศัยอยู่ จะมีกิจกรรมที่ดีต่อใจกับคู่รักของพวกเขา เหมือนอย่างในปัจจุบันเลย ไม่ว่าจะเป็นการมอบการ์ด ดอกไม้ หรือช็อกโกแลต

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช็อกโกแลต เพราะถึงแม้ว่าพวกเขาจะอยากเซอร์ไพรส์คุณแฟนด้วยช็อกโกแลตขนาดไหน ก็คงจะเป็นไปไม่ได้อยู่ดี ในเมื่อยุโรปสมัยนั้นยังไม่รู้จักช็อกโกแลตเลยนี่นา

ในยุคของชาวเซอร์นั้น “ช็อกโกแลต” ยังเป็นเครื่องดื่มพื้นเมืองของคนในอารยธรรมเมโสอเมริกา โดยเฉพาะพวกมายัน และแอซเท็ก คนพวกนี้เอาโกโก้ไปผสมธัญพืชจำพวกข้าวโพดบ้าง วานิลาบ้าง บางทีก็เติมน้ำผึ้งให้ความหวานละมุน และบางทีก็ใส่พริกผสมลงไปในนั้น (ใช่ครับใช่ พริกเดียวกับที่เราเอาไว้เพิ่มเติมความเผ็ดร้อนลงไปในอาหารนี่แหละ!)

แต่ก็ไม่ใช่ใครๆ ในสังคมของชาวเมโสอเมริกัน ที่อยู่ๆ ก็สามารถจะหยิบเจ้าช็อกโกแลตขึ้นมาดื่มโฮกกันได้ทุกคนอีกด้วย เพราะนี่เป็นเครื่องดื่มสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น

ผู้คนในอารยธรรมเมโสอเมริกาให้ค่ากับช็อกโกแลตอย่างสูง จนเปรียบประดุจได้กับทองคำ (อย่างน้อยในสังคมของชาวแอซเท็ก คุณสามารถใช้ช็อกโกแลตจ่ายแทนเงินเมื่อถูกเรียกเก็บภาษีได้เลยก็แล้วกัน!)

ชาวยุโรปมาเริ่มรู้จักกับช็อกโกแลตเอาเมื่อหลัง พ.ศ.2143 คือหลังจากยุคที่ชาวเซอร์ยังมีชีวิตอยู่ นับได้ 200 กว่าปีเลยทีเดียว จนในช่วงก่อน พ.ศ.2200 เล็กน้อย จึงค่อยเริ่มมีการเปิดร้านนั่งจิบช็อกโกแลตขึ้นในกรุงลอนดอน ไม่ต่างไปจากร้านกาแฟนั่งชิกๆ ณ ปัจจุบันนี้เลยนะครับ

ร้านนั่งจิบช็อกโกแลต ร้านหนึ่งที่วางตัวอยู่บนถนนเกรซเชิร์ช (Gracechurch Street) ซึ่งเปิดตัวแบบแกรนด์ โอเพนนิ่ง ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2200 ได้โฆษณาเครื่องดื่มของตนเองว่า

“เครื่องดื่มของพวกอินเดียนตะวันตก ใช้ดื่มเพื่อบำรุงและรักษาร่างกายจากโรคร้ายสารพัดชนิด”

เรียกได้ว่า สำหรับฝรั่งในยุคนั้นแล้ว ช็อกโกแลตสักถ้วยคงจะมีสรรพคุณทางยามากยิ่งกว่ามีสรรพคุณทางใจ ดังนั้น จึงยังไม่มีใครมอบช็อกโกแลตให้กับคู่รักของตน ด้วยหวังว่าจะดีต่อใจอีกฝ่ายอยู่นั่นเอง

 

และแม้กระทั่งในเรือน พ.ศ.2320 เมื่อพระนางมารีอ็องตัวเน็ต ได้เสกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แล้ว พระนางก็ได้นำ “เจ้าพนักงานปรุงช็อกโกแลตส่วนพระองค์” เข้าไปในพระราชวังแวร์ซายด้วย โดยพระนางก็มีความเชื่อประหลาดๆ ที่ว่าเมนูอย่างช็อกโกแลตผสมแกนกล้วยไม้จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง

แต่ถ้านำช็อกโกแลตไปผสมกับดอกไม้สีสัมจะช่วยระงับอาการประสาท แถมเมื่อเอานมแอลมอนต์หวานมาผสมกับช็อกโกแลต ก็จะช่วยในเรื่องของระบบการย่อยอาหารได้อีกต่างหาก

ในยุคของพระนางมารีอ็องตัวเน็ต “ช็อกโกแลต” จึงยังถูกมองว่ามีสรรพคุณทางยา เช่นเดียวกับเมื่อแรกที่ชาวยุโรปนำเข้ามาจากทวีปอเมริกา ไม่ใช่อะไรที่ดีต่อใจ จนนำมาใช้มอบเป็นของขวัญให้กันในวันวาเลนไทน์อย่างในปัจจุบัน

กิจกรรมการทำอะไรให้โรแมนติกให้กับคนที่เรารักในวันวาเลนไทน์ ดูจะเริ่มกลายเป็นเรื่องชิกๆ ในยุคที่อังกฤษมีสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย เป็นพระราชินี หรือที่เรียกกันว่า “ยุควิกตอเรียน” ซึ่งตรงกับในช่วงปลายรัชกาลที่ 3-เกือบปลายรัชกาลที่ 5 ของไทยเราเท่านั้นเองนะครับ

แรกเริ่มเดิมที กิจกรรมสุดสวีตที่ว่าก็เป็นแค่เรื่องของการมอบดอกไม้ และการ์ดหวานๆ สักใบให้กับคู่รักเท่านั้น

จนกระทั่งในช่วงหลัง พ.ศ.2411 ลงมา (ตรงกับปีที่มีพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกของรัชกาลที่ 5) พ่อค้าหัวใสอย่างนายริชาร์ด แคดบิวรี่ (Richard Cadbury) ได้ริเริ่มการนำเอาช็อกโกแลตก้อนมันจัดวางให้เป็นบ๊อกเซ็ตสุดชิกในวันวาเลนไทน์ เพื่อให้ใครต่อใครส่งมอบเป็นของขวัญสุดเซอร์ไพรส์ ให้กับคู่รักของตนในช่วงเทศกาลแห่งความรัก

จนกระทั่งในสมัยนั้น เจ้าช็อกโกแล็กในกล่องที่ถูกนำมาจัดวางอย่างเก๋ๆ นี่ มันกลายเป็นของขวัญที่ดีต่อใจคู่รักของของคุณเอามากๆ เลยนะครับ

และนอกจากจะทำให้จำนวนเลขในบัญชีธนาคารของนายแคดบิวรี่ เพิ่มเอาๆ ขึ้นเรื่อยๆ แล้ว การมอบช็อกโกแลตให้กับคู่รักของตนเองในวันวาเลนไทน์ ก็ได้กลายเป็นกิจกรรมสุดชิก ที่แพร่กระจายไปตามมุมต่างๆ ของโลกพร้อมกับวัฒนธรรมแบบวิกตอเรียน นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา