รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสชวา พ.ศ.2444 กับกำเนิดเส้นทางรถไฟสายใต้ของประเทศสยาม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
วันที่ 9 มีนาคม 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีกระทำพระฤกษ์ เริ่มการสร้างทางรถไฟ ณ บริเวณย่านสถานีกรุงเทพฯ

รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเกาะชวาครั้งที่ 3 ซึ่งนับเป็นครั้งสุดท้ายของพระองค์ เมื่อเรือน พ.ศ.2444

เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์อธิบายสาเหตุที่พระองค์ต้องเสด็จไปเกาะชวาอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ทรงเคยเสด็จไปเยือนที่เกาะใหญ่ดังกล่าวมาแล้วถึง 2 หน เอาไว้ในคำนำของหนังสือ “จดหมายเหตุเสด็จประพาสเกาะชวาในรัชกาลที่ 5 ทั้ง 3 คราว” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก (พ.ศ.2463) ดังความที่ว่า

“เสด็จประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ เหมือนครั้งที่ 2 ด้วยเหตุว่าที่ในเกาะชวายังมีของที่น่าดู เช่น เจดียสถานของโบราณแลภูมิลำเนาอันแปลกประหลาดโดยธรรมดาเอง ซึ่งไม่มีเวลาพอจะเสด็จไปทอดพระเนตรในคราวประพาสครั้งที่ 2 อีกหลายแห่งหลายตำบล จึงได้เสด็จประพาสครั้งที่ 3”

และเมื่อพระอนุชาแท้ๆ ในรัชกาลที่ 5 เองอย่างกรมพระยาดำรงฯ ทรงบอกว่า “เสด็จประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ เหมือนครั้งที่ 2” ก็ย่อมหมายความว่า กรมพระยาดำรงฯ ก็อ้างไว้ด้วยเช่นกันว่าในการเสด็จประพาสเกาะชวาครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2439 นั้น ก็เป็นไปเพื่อ “สำราญพระราชอิริยาบถ” ดังปรากฏมีข้อความในคำนำของหนังสือฉบับเดียวกันนี่เอง

แต่ก็อย่างที่ผมได้ชี้ชวนให้สังเกตกันไว้ในข้อเขียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนะครับว่า ในการเสด็จประพาสเกาะชวาครั้งที่ 2 นั้น รัชกาลที่ 5 ได้ทรงนำศิลปะโบราณวัตถุที่สำคัญจากเกาะชวากลับมาไว้ที่ประเทศสยามของพระองค์ เช่นเดียวกับที่ชาติมหาอำนาจตะวันตก ที่เป็นเจ้าอาณานิคม มักจะกระทำกับชาติอื่นๆ ที่มีอำนาจน้อยกว่า โดยเฉพาะชาติที่ตกเป็นอาณานิคมของตนเอง

ดังนั้น สยามของรัชกาลที่ 5 มีลักษณะเป็น “อาณานิคมภายใน” (Internal Colonialism) คือรัฐส่วนกลาง ที่มีอำนาจทางการเมืองเหนือกว่ารัฐอื่นในภูมิภาคเดียวกัน และได้แสวงหาผลประโยชน์จากรัฐอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันที่อยู่รายรอบสยามของรัชกาลที่ 5 มีลักษณะเป็น “อาณานิคมภายใน” (Internal Colonialism) คือรัฐส่วนกลาง ที่มีอำนาจทางการเมืองเหนือกว่ารัฐอื่นในภูมิภาคเดียวกัน และได้แสวงหาผลประโยชน์จากรัฐอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันที่อยู่รายรอบ

ลักษณะของอาณานิคมภายในอย่างนี้เอง ที่ควรจะเป็นหนึ่งในอำนาจการต่อรองที่สยามใช้ในการปักปันเขตแดนระหว่างอังกฤษกับสยาม ในบริเวณพื้นที่แหลมมลายูที่กำลังจะเจรจากันอยู่ในช่วงขณะนั้น

ดังนั้น ถ้ากรมพระยาดำรงฯ จะอ้างว่า การเสด็จประพาสชวาครั้งที่ 2 ของรัชกาลที่ 5 เป็นไปเพื่อ “สำราญพระอิริยาบถ” การเสด็จประพาสชวาครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2444 ก็ควรที่จะเป็นการสำราญพระอิริยาบถในทำนองเดียวกัน เพราะก็เป็นการเสด็จในช่วงระยะที่เกี่ยวเนื่องกับการปักปันเขตแดนในพื้นที่แหลมมลายูอยู่นั่นเอง

 

ควรสังเกตด้วยว่า หนึ่งปีหลังจากการเสด็จกลับมาจากชวาครั้งที่ 2 ของรัชกาลที่ 5 คือ ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2440 (ขณะนั้นสยามใช้วันที่ 1 เมษายน ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่) นั้น สยามและอังกฤษได้ร่วมลงนามในอะไรที่เรียกว่า “อนุสนธิสัญญาลับระหว่างสยามกับอังกฤษ ค.ศ.1897”

อนุสนธิสัญญาลับฉบับที่ว่านี้ มีหลักใหญ่ใจความที่สำคัญคือ สยามจะยอมให้ดินแดนบางส่วนทางภาคใต้ของสยาม เป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษ เพื่อแลกกับการที่อังกฤษค้ำประกันดินแดนส่วนนี้ และจะร่วมกันต่อต้านหากถูกรุกรานโดยมหาอำนาจอื่น

ส่วนดินแดนบางส่วนทางภาคใต้ของสยามในอนุสนธิสัญญาลับนั้นก็คือ ดินแดนตั้งแต่ ต.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงไป

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังจากการลงนามในอนุสนธิสัญญาลับดังกล่าวนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะในช่วงเวลาหลังจากการลงนามในอนุสัญญาลับฉบับนี้ไม่นานนัก รัชกาลที่ 5 ทรงได้เสด็จประพาสดินแดนส่วนที่เป็น “แหลมมลายู” ซึ่งตกเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษบ่อยครั้งกว่าปกติ คือจะมีการเสด็จปีละครั้ง ในช่วงระหว่าง พ.ศ.2441-2444 โดยมีรายละเอียดดังนี้

พ.ศ.2441 เสด็จโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีจากท่าราชวรดิฐ-สมุทรปราการ-เกาะพะงัน-กาญจนดิฐ-สงขลา-กลันตัน-ตรังกานู แล้วเสด็จกลับทางสายบุรี-นครศรีธรรมราช-เกาะพะงัน-เกาะลังกาจิ๋ว-ชุมพร-หลังสวน-ชุมพร-บางสะพาน-เกาะหลัก ประจวบคีรีขันธ์-เกาะสีชัง-พระสมุทรเจดีย์-ท่าราชวรดิฐ

พ.ศ.2442 เสด็จโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีจากวัดราชาธิวาส-สมุทรปราการ-ป้อมผีเสื้อสมุทร-เกาะสีชัง-ศรีมหาราช (คือ ศรีราชา)-เกาะสีชัง-เกาะคราม เมืองกำเนิดนพคุณ-ปากน้ำเมืองชุมพร-เกาะพะงัน-เกาะเต่า-เกาะลังกาจิ๋ว แลเสด็จกลับทางสามร้อยยอด-เกาะสีชัง-ปากน้ำ-ท่าราชวรดิฐ

พ.ศ.2443 เสด็จโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีจากนครเขื่อนขันธ์-เกาะสีชัง-ศรีมหาราชา (ศรีราชา)-สามร้อยยอด-เกาะเต่า-เกาะพะงัน-นครศรีธรรมราช-กลันตัน แล้วเสด็จกลับทางสายบุรี-ตานี (ปัตตานี)-จะนะ-สงขลา-เกาะยอ-เกาะพะงัน-เกาะสมุย-ศรีมหาราชา-เกาะสีชัง

และ พ.ศ.2444 เสด็จขึ้นรถไฟปากน้ำมาลงสมุทรปราการ จากนั้นเสด็จโดยเรือพระที่นั่งสุริยมณฑล แล้วเปลี่ยนเป็นเรือพระที่นั่งมหาจักรี เสด็จจากสมุทรปราการไปสิงคโปร์ แล้วเสด็จกลับมาที่ประจันตคาม

โดยการเสด็จประพาสแหลมมลายูในปี พ.ศ.2444 นี้ เกิดขึ้นหลังจากการเสด็จประพาสชวาครั้งที่ 3 เพราะเสด็จไปชวาในเดือนพฤษภาคม แต่เสด็จเยือนแหลมมลายูในเดือนกุมภาพันธ์ (ย้ำอีกครั้งว่า ในขณะนั้นสยามนับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่)

ไม่ต้องบอกก็คงจะสังเกตได้นะครับว่า ในช่วงระยะเวลาระหว่างการเสด็จประพาสชวาครั้งที่ 2 กับการเสด็จประพาสชวาครั้งที่ 3 คือในช่วงระหว่าง พ.ศ.2439-2444 รัชกาลที่ 5 เสด็จลงไปทางใต้คือ แหลมมลายู และหมู่เกาะต่างๆ บ่อยครั้งเป็นพิเศษ จนดูเหมือนว่ามากเกินกว่าจะเป็นการสำราญพระอิริยาบถโดยทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด

 

นักชาตินิยมมักจะอ้างว่า ผลของอนุสัญญาลับระหว่างสยามกับอังกฤษ ค.ศ.1897 ได้ทำให้สยาม “เสียดินแดน” ตั้งแต่ ต.บางสะพาน ลงไปให้กับอังกฤษ

แต่เอาเข้าจริงแล้ว กว่าที่เขตแดนต่างๆ จะกลายเป็นของสยาม หรือของอังกฤษ (ซึ่งปกครองพื้นที่อันเป็นประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ อยู่ในขณะนั้น) โดยสมบูรณ์ ก็เกิดขึ้นหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาสำคัญอีกฉบับหนึ่งก็คือ “สนธิสัญญาแองโกล-สยาม 1909” (พ.ศ.2452)

เพราะเป็นสนธิสัญญาฉบับนี้เองที่ระบุว่า สยามจะโอนสิทธิการปกครอง และบังคับบัญชาเหนือเมืองกลันตัน, ตรังกานู, เคดะห์ (ไทรบุรี), เปอร์ลิส และเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ

ส่วนดินแดนอื่นๆ ที่อยู่เหนือขึ้นมาเป็นของสยาม รวมถึง มณฑลปัตตานี, สตูล (แยกมาจากเคดะห์) และตากใบ (แยกมาจากกลันตัน)

แน่นอนว่าการจะทำเช่นนี้ได้ต้องมีการยกเลิกอนุสัญญาลับระหว่างสยามกับอังกฤษ ค.ศ.1897 ลงไปเสียก่อน

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือในสนธิสัญญาแองโกล-สยาม 1909 นั้น ได้ระบุเอาไว้ด้วยว่า อังกฤษต้องให้เงินกู้แก่สยามเป็นจำนวน 4.64 ล้านปอนด์ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เพื่อให้สยามสร้างรถไฟลงใต้

 

อันที่จริงแล้ว สยามได้เริ่มสร้าง “เส้นทางรถไฟสายใต้” ช่วงแรก กรุงเทพฯ-เพชรบุรี โดยเส้นทางเดินรถเริ่มต้น จากบริเวณปากคลองบางกอกน้อย (ข้างโรงพยาบาลศฺริราช) ตัดลงไป ตามแนวทิศตะวันตก ผ่านคลองมหาสวัสดิ์ แม่น้ำท่าจีน ราชบุรีตรงไปยังบ้านโป่งแล้วจึงตรงเข้าสู่เมืองเพชรบุรี

การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2445 โดยรัชกาลที่ 5 ทรงประกอบพิธีเปิด ในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2446 อันเป็นเวลาก่อนหน้าที่จะมีการลงนามในสนธิสัญญาแองโกล-สยาม 1909 แล้วนะครับ

จะสังเกตได้ว่า ช่วงเวลาที่เกิดการสร้างทางรถไฟสายใต้นั้น คาบเกี่ยวอยู่ในช่วงระหว่างการเสด็จประพาสเกาะชวาครั้งที่ 2 และ 3 รวมไปถึงการเสด็จประพาสแหลมมลายู (อันเป็นดินแดนคาบเกี่ยวกับเขตอิทธิพลของอังกฤษตามผลจากอนุสนธิสัญญาลับ 1897) อยู่เนืองๆ

การที่รัฐบาลสยามของรัชกาลที่ 5 มีแผนที่จะสร้างทางรถไฟสายใต้ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ กรุงเทพฯ จึงเป็นเรื่องซับซ้อนมากกว่าที่คิด เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่ง ในการสร้าง “สยาม” ให้กลายเป็น “รัฐชาติสมัยใหม่” ที่มีเส้นพรมแดนอย่างชัดเจน อยู่บนแผนที่โลก และเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ ของรัชกาลที่ 5

ดังนั้น ทุกๆ อาณาบริเวณที่ทางรถไฟของรัฐสยามบุกเบิกเข้าไปได้ค่อยๆ ผนวกเอาดินแดนที่มีสถานภาพคลุมเครือว่าใครคือเจ้าของให้กลายเป็นของสยาม พร้อมๆ กันกับการค่อยๆ ปักปันเขตแดน จนเกิดความชอบธรรมที่จะปกครองดินแดนเหล่านั้นทางกฎหมายในระดับนานาชาติ พร้อมกันกับที่กลืนกลายผู้คนในดินแดนเหล่านั้น ให้ขึ้นตรงต่อรัฐส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ไปพร้อมกัน

ถ้าการเสด็จประพาสชวาของรัชกาลที่ 5 เมื่อเรือน พ.ศ.2439 และ 2444 จะเป็นไปเพื่อ “สำราญพระอิริยาบถ” อย่างที่กรมพระยาดำรงฯ ทรงอ้างไว้แล้ว ก็คงจะเป็นความสำราญที่ส่งผลดีต่อรัฐสยามเสียเหลือเกิน เพราะได้ขจัดความคลุมเครือต่ออำนาจการปกครองเหนือเมืองต่างๆ ในแหลมมลายู จนเกิดเป็นพื้นที่ “ภาคใต้” ของประเทศไทย มาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้นั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ