ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
ว่าด้วยทศวรรษอันเข้มข้น การพลิกโฉมกรุงเทพฯ-เมืองสมัยใหม่ ขับเคลื่อนโดยเครือข่ายธุรกิจอิทธิพล
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในนั้นเป็นโครงการใหญ่มากๆ ของ กลุ่มทีซีซี มีชื่อว่า วันแบงค็อก (ONE BANGKOK)
“วัน แบงค็อก พร้อมแล้วที่จะปรากฏสู่สายตาสาธารณชนทั่วโลกในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ โดยเตรียมผนึกกำลังร่วมกับคู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ จัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมโชว์พิเศษโดย Auditoire หนึ่งในทีมจัดพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024…” ข่าวหนึ่งซึ่งเผยแพร่อย่างครึกโครมช่วงเวลานี้
หากมองย้อนกลับไปเมื่อราว 7 ปีที่แล้ว (ต้นเดือนเมษายน 2560) โครงการใหญ่เปิดฉากขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน
การเปิดตัวโครงการ ONE BANGKOK บนที่ดิน 104 ไร่ หัวมุมถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ ด้วยแผนการลงทุนถึง 1.2 แสนล้านบาท พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (Mix-used) ประกอบด้วย โรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน พร้อมกับแผนการสร้างตึกสูงที่สุดในไทย
ครั้งนั้นมีถ้อยแถลง นำเสนอผ่านสื่ออย่างตั้งใจ ที่น่าสนใจ (ต้นฉบับภาษาอังกฤษ) ปรากฏใน Press Releases ของบริษัทระดับโลกที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 แห่ง
“One Bangkok”, Thailand’s largest integrated development, set to transform Bangkok city-centre and become a new global landmark destination” (อ้างอิงจาก Frasers Centrepoint Limited (FCL) 3 April 2017) และ “SOM Works with Multidisciplinary Team to Design 16-Hectare Mixed-Use District in Central Bangkok.” (4 April 2017) Skidmore, Owings & Merrill LLP
หรือ SOM กิจการที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก่อตั้งมาเกือบศตวรรษในสหรัฐ ในฐานะผู้ออกแบบหลักของโครงการ ONE BANGKOK
Frasers Centrepoint Limited หรือ FCL (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Frasers Property Limited หรือ FPL) หนึ่งในผู้ดำเนินการโครงการ ONE BANGKOK เกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มทีซีซี FCL ก่อตั้งในสิงคโปร์ (เมื่อปี 2531) ขยายกิจการเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ยิ่งเมื่อเข้ามาอยู่ในเครือข่าย Fraser and Neave หรือ F&N (ปี 2533) ได้ขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศอย่างจริงจัง
ต่อมาเมื่อกลุ่มทีซีซีเดินแผนการใหญ่บุกเบิกธุรกิจภูมิภาค เข้าซื้อกิจการ F&N (ปี 2556) เป็นดีลใหญ่อันตื่นเต้น ถือได้ว่ากลุ่มทีซีซีได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ FCL ไปด้วย
ก่อนหน้านั้นไม่นาน บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TCC Assets ซึ่งก็คือบริษัทหลักอีกแห่งหนึ่ง เป็นผู้ดำเนินการ ONE BANGKOK ได้ก่อตั้งขึ้น (ปี 2556) ถือเป็นอีกปีกของกลุ่มทีซีซี ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ โดยเฉพาะย่านพระราม 4 ทั้งนี้ มีความเกี่ยวข้องกับ ONE BANGKOK มาแต่ต้น
เมื่อทีซีซีเข้าครอบงำการบริหาร FCL ได้ปรากฏบุคคลหนึ่งขึ้นโดดเด่น- ปณต สิริวัฒนภักดี บุตรคนสุดท้องของ เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี แห่งกลุ่มทีซีซี ซึ่งเป็นผู้บริหาร TCC Assets ได้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ
จากนั้นเขาก้าวขึ้นเป็น Group Chief Executive Officer ของ FCL (ปี 2559) เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับมีดีลใหญ่ โครงการ ONE BANGKOK ตั้งใจบันทึกไว้ใน profile (ข้อมูลทางการของ FPL) “ในฐานะผู้นำในแผนการพัฒนาโครงการ One Bangkok โดยกิจการการร่วมทุนระหว่าง TCC Assets กับ FPL ถือเป็นโครงการใหญ่ในประเทศไทยเท่าที่มีมา”
ความสัมพันธ์ระหว่าง FPL กับ TCC Assets จึงเริ่มตั้งแต่นั้น โดยเฉพาะสะท้อนผ่านดีลต่างๆ ในประเทศไทย
Frasers Property (Thailand) หรือ FPT ได้กำเนิดขึ้น ในฐานะกิจการในเครือ FPL แห่งสิงคโปร์ เปิดฉากขึ้นด้วยการเข้าซื้อบริษัทในตลาดหุ้นไทยแห่งหนึ่ง แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น FPT ตามแผนการเข้าตลาดหุ้นทางอ้อม (Backdoor listing) อย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ ผ่องถ่ายหลายกิจการเครือ TCC Assets ให้มาอยู่ในเครือข่าย FPT
อีกมิติที่น่าสนใจ ในวันเปิดตัวโครงการใหญ่ (2560) มีความตั้งใจถ่ายทอดถ้อยแถลงของประธานกลุ่มทีซีซี (เจริญ สิริวัฒนภักดี) เป็นพิเศษ
“จุดมุ่งหมายในการวางแผนและออกแบบโครงการ ONE BANGKOK (วัน แบงค็อก) คือการยกระดับภาพลักษณ์ของกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองที่เป็นประตูเชื่อมโลกกับเอเชีย” ตอนหนึ่งที่ว่าไว้ กับอีกบางตอนซึ่งสำคัญ
“ทางกลุ่มรู้สึกเป็นเกียรติที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ให้ความไว้วางใจในการพลิกโฉมพื้นที่ผืนสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ ผืนนี้…”
ไม่เพียงสะท้อนภาพ “สายสัมพันธ์” ทางสังคม หากเชื่อมโยงไปยังไทม์ไลน์ที่สำคัญ ในช่วงหลายทศวรรษของพื้นที่แห่งนี้ โดยให้ภาพ “จิ๊กซอว์” การเปลี่ยนแปลงเมืองหลวงของไทยด้วย
โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับพื้นที่แห่งนี้ มีรอยต่อสำคัญ 4 ช่วงเวลา ใน 4 ทศวรรษ
ที่ตั้ง โรงเรียนเตรียมทหาร (2504-2543) มี 2 เฟส แต่เดิมที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ผืนนี้ เป็นที่ตั้งกองสัญญาณทหารเรือ ตามแบบแผนเมืองหลวงก่อนหน้าซึ่งยังไม่ขยายตัว พื้นที่รอบนอกในตำแหน่งสำคัญทางยุทธศาสตร์ ไกลชุมชนพอสมควร มักเป็นที่ตั้งของหน่วยงานกองทัพ ขยับอีกขยักเมื่อเมืองขยายตัว จึงเป็นโรงเรียนทหารซึ่งเปิดกว้างมากขึ้น มีความสะดวกพอสมควร
พอมาเฟสที่สอง (2522-2543) โรงเรียนเตรียมทหารได้ขยายพื้นที่ต่อเนื่องกันเพิ่มขึ้น จากกว่า 30 ไร่ มาเป็นกว่า 100ไร่ แทนที่ที่ตั้งเดิมของหน่วยงานกองทัพซึ่งย้ายออกไปเช่นกัน (กองพันทหารสื่อสาร และกองร้อยทหารสื่อสารซ่อมบำรุงเขตหลัง กองบัญชาการกองทัพบก)
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีเรื่องราวที่ว่าๆ กัน “สภาพแวดล้อมต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป พื้นที่โดยรอบกลายเป็นย่านชุมชนหนาแน่น ทั้งยังมีสภาพแวดล้อมเป็นมลพิษ อีกทั้งพื้นที่มีข้อจำกัดต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตนักเรียนเตรียมทหารและการพัฒนาโรงเรียนเตรียมทหารด้านต่างๆ ในอนาคต”
แผนการย้ายไปยังที่ใหม่ จึงเริ่มต้นขึ้น (ปี 2537) และเป็นไปในที่สุด (ปี 2543) ไปยังที่ปัจจุบัน พื้นที่เกือบ 2,500 ไร่ ใน อ.บ้านนา จ.นครนายก
สวนลุมไนท์บาซาร์ (2544-2554) อีกจังหวะก้าวสั้นๆ ของพื้นที่แห่งนี้ ว่าด้วยการกำเนิด ตลาดกลางคืนแห่งแรกในกรุงเทพฯ ซึ่งกลายเป็นปัญหาหนึ่งในรอยต่อ อีกช่วงแห่งการพัฒนาตามยุคสมัยใหม่ในเวลาต่อมา ให้เป็นไปตามโมเดลความสำเร็จมากมายย่านใกล้เคียงกันนั้น ในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะอ้างอิงกรณี สยามเซ็นเตอร์ (เปิดตัวปี 2516) สยามดิสคัฟเวอรี (ปี 2540) และ สยามพารากอน (ปี 2548)
ในมือกลุ่มเซ็นทรัล (2549-2557) ตามแผนพัฒนาใหม่ภายใต้ เครือข่ายธุรกิจใหญ่ซึ่งชนะการประมูลอย่างเป็นจริงเป็นจังครั้งแรกเพื่อพัฒนาพื้นที่แปลงนี้ เวลานั้น กลุ่มเซ็นทรัล มีบทเรียนความสำเร็จโครงการแบบผสมผสาน ตั้งแต่ เซ็นทรัลลาดพร้าว (ปี 2525) จนมาถึงการพลิกโฉม เซ็นทรัลเวิลด์ (ตั้งแต่ปี 2545)
แต่จนแล้วจนรอดไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ ได้สูญเปล่าไป 8 ปี ด้วยมีปัญหาต่างๆ ไม่ว่ากับผู้เช่าเดิม และข้อจำกัดในการก่อสร้างอาคารสูง
ในกลางปี 2557 เป็นเวลาที่ดี เมื่ออุปสรรคต่างๆ คลี่คลาย ภายใต้ปัจจัยพัฒนาการกรุงเทพฯ เกี่ยวกับโครงสร้างและระบสาธารณูปโภคพื้นฐานแบบเมืองสมัยใหม่ พื้นที่แปลงใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ แปลงสุดท้ายที่เหลืออยู่ก็ว่าได้ จึงตกมาถึงมือกลุ่มทีซีซี ในที่สุด ในฐานะผู้ชนะการประมูล ทั้งนี้ ได้ปรากฏชื่อ TCC Assets และปณต สิริวัฒนภักดี มาเกี่ยวข้องมาเป็นครั้งแรกๆ
ทศวรรษผ่านไป พื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ผืนใหญ่แห่งหนึ่ง ได้พลิกโฉมหน้าไปอย่างมากมาย
ในภาพกว้างกว่านั้น มีอะไรเป็นนัยยะสำคัญ •
วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022