ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
หมู่บ้านกระจัดกระจายบนเส้นทางคมนาคมชุมทางการค้าทางไกลทางทะเลสมุทรสมัยแรกเริ่ม ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก คืออินเดียกับจีน
ครั้นนานไปบริเวณนั้นได้รับประโยชน์จนมีความมั่งคั่งจากการค้า ทำให้หมู่บ้านขยายตัวเติบโตเป็นชุมชนเมืองใหญ่ระดับรัฐ เพราะมีคนหลากหลายชาติพันธุ์จากหลายทิศทางพากันเคลื่อนไหวโยกย้ายเข้าไปตั้งหลักแหล่งเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งนั้น
ชุมชนเมืองใหญ่ระดับรัฐในไทย (ขณะนั้นยังไม่พบการเผยแผ่ศาสนาจากอินเดีย) พบคูน้ำคันดินอยู่บนตะกอนที่เกิดจากทางน้ำล้อมรอบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.500 มีศูนย์กลางอยู่ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง (ต่อมาเรียกเมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี) พื้นที่ตอนบนของคาบสมุทรบริเวณฟากตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ทะเลจีนใต้เหนืออ่าวไทย และใกล้ทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล
“การสร้างเมืองจะสร้างบนตะกอนที่เกิดจากทางน้ำ ประมาณ 2,089 ปีมาแล้ว ก่อนสร้างจะขุดและปรับพื้นที่ จากนั้นใช้ดินสอพองบดอัดจนแน่น และใช้อิฐวางเพื่อก่อสร้างอาคาร”
“เมืองโบราณอู่ทองล่มสลายลงโดยการทับถมจากตะกอนที่เกิดจากทางน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก และตะกอนจากภูเขาที่ถูกพัดพาเป็นตะกอนน้ำพารูปพัด ไหลมาท่วมเมืองแทรกสลับกันตรงบริเวณรอยต่อของดินตะกอนทั้งสองชนิด เมื่ออายุ 1,539 ปีมาแล้ว”
[ข้อมูลใหม่จาก “รายงานการศึกษาดินตะกอนน้ำพารูปพัด (Alluvial fan) พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี” จัดทำโดย คเชนทร์ เหนี่ยวสุภาพ, วีรวัฒน์ ธิติสวรรค์ และวชิระ อังคจันทร์ แห่งสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3 (ปทุมธานี) กรมทรัพยากรธรณี เมื่อ พ.ศ.2559]
หลังติดต่อค้าขายกับอินเดีย-ลังกา แล้วรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์ ต้องเผชิญปัญหาการคมนาคมทางน้ำตื้นเขินซ้ำซาก เพราะตะกอนที่พัดมาจากทิวเขาทางตะวันตก ตั้งแต่ราว พ.ศ.1000 ทำให้เส้นทางน้ำเปลี่ยนแปลง ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองอู่ทองจึงค่อยๆ เสื่อมถอยลงเมื่อหลัง พ.ศ.1600 โดยไม่มีเหตุจากความแห้งแล้งและโรคระบาดตามที่ประวัติศาสตร์ไทยบอกไว้
“เมืองอู่ทองเป็นบ้านเมืองใหญ่โตเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว โดยตั้งอยู่บนดินที่เกิดจากทางน้ำ จากนั้นจะมีตะกอนจากทิวเขา และตะกอนจากทางน้ำไหลแทรกสลับหลายช่วงเวลา ไปถมทับเมืองอู่ทอง ประชาชนเริ่มโยกย้ายตั้งแต่ราว 1,500 ปีมาแล้ว ทำให้เมืองต้องเสื่อมถอยลงไป” นายคเชนทร์ เหนี่ยวสุภาพ นักธรณีวิทยาผู้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้บอกมติชนเมื่อหลายปีมาแล้ว
เมืองอู่ทองมีภัยธรรมชาติเป็นน้ำป่าจากทิวเขาด้านตะวันตก และอาจมีภัยอื่นๆ ซ้ำเติมด้วยก็ได้ เป็นเหตุให้ทรุดโทรมจนถึงเสื่อมถอย ผู้คนทยอยโยกย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่อื่น ทำให้เมืองอู่ทองร่วงโรยแล้วลดความสำคัญ ราวหลัง พ.ศ.1600
ภัยธรรมชาติคุกคามเมืองอู่ทองนี้ ศ.ฌอง บวสเซอลิเยร์ บอกไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2508 โดยสรุปว่า “อู่ทองอาจจะถูกทอดทิ้งไปอย่างกะทันหัน เพราะภัยธรรมชาติหรือเพราะเหตุอื่น”
[บทความเรื่อง “เมืองอู่ทองและความสำคัญของเมืองอู่ทองในประวัติศาสตร์ไทย” ของ ศ.ฌอง บวสเซอลิเยร์ (แปลเป็นภาษาไทย โดย น.ส.อุไรศรี วรศะริน) พิมพ์ในหนังสือ โบราณวิทยา เรื่องเมืองอู่ทอง กรมศิลปากร รวบรวมพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2509 หน้า 6]
ไม่อาณานิคมอินเดีย
เมืองใหญ่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ มีการปกครองเป็นแบบแผนด้วยการยกย่องหญิงเป็นผู้นำทางศาสนาผี มีอำนาจเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ หรือ “ชีฟด้อม” ควบคุมการค้าทางไกลกับบ้านเมืองห่างไกลทางทะเลและทางบก
ต่อมาได้ว่าจ้างชาวอินเดียซึ่งเป็นผู้รู้ผู้ชำนาญกิจการต่างๆ ทั้งด้านการค้าและศาสนา-การเมือง โดยคัดเลือกจากกลุ่มนักเดินทางที่ไปติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายสิ่งของมีค่าเหล่านั้นให้เป็นที่ปรึกษาเพื่อเลือกสรรเทคโนโลยีก้าวหน้าใช้ในกิจการบ้านเมือง
โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับข้อมูลความรู้ทางศิลปวิทยาการจากอินเดีย ได้แก่ ศาสนา, อักษรศาสตร์, พิธีกรรมต่างๆ ซึ่งบรรดาที่ปรึกษาชาวอินเดียเหล่านั้นไม่มีอำนาจครอบงำและสั่งการใดๆ ดังพบว่าหลังจากนั้น ความเชื่อท้องถิ่นทางศาสนาผี มีเหนือศาสนาใหม่จากอินเดีย
นายวันเลอร์ (นักวิชาการชาวเนเธอร์แลนด์) คัดค้านแนวคิดของเซเดส์ ว่าอุษาคเนย์มีบ้านเมืองเจริญก้าวหน้ามากแล้วก่อนติดต่ออินเดีย
เมื่อพวกอินเดียติดต่อค้าขายกับอุษาคเนย์ บรรดาหัวหน้าหรือผู้ปกครองบ้านเมืองเหล่านี้ก็รับพวกนักปราชญ์และผู้รู้ของอินเดียมาเป็นผู้ให้ความรู้ด้านศิลปวิทยาการ, ศาสนา และการประกอบพิธีกรรม
การรับศาสนาและศิลปวิทยาการ เป็นไปในลักษณะที่ผู้นำพื้นเมืองเป็นผู้เลือกสรรตามความเหมาะสมของสังคมชุมชนนั้น มิได้ถูกกำหนดหรือครอบงำจากอินเดีย
หลักฐานสำคัญต่างๆ ดังกล่าวมาทั้งหมด ล้วนตรงข้ามถึงขนาดหักล้างแนวคิดดั้งเดิมของ ศ.ยอร์ช เซเดส์ (นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส) เสนอว่าตำนานกำเนิดรัฐฟูนันสะท้อนให้เห็นอินเดียเป็นผู้เจริญกว่าได้เข้าไปปราบปรามคนพื้นเมืองอุษาคเนย์และตั้งตัวเป็นใหญ่ แล้วนำอารยธรรมอินเดียเข้ามาสร้างให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่คนพื้นเมือง เท่ากับสร้างอาณานิคมของอินเดียในอุษาคเนย์ หรืออุษาคเนย์เป็นอาณานิคมอินเดีย อันเป็นที่รู้ทั่วโลกในชื่อหนังสือของเซเดส์ว่า Indianized States of Southeast Asia แล้วยังเชื่อถือจนทุกวันนี้จากทางการไทย
[สรุปจากหนังสือ เหล็ก “โลหปฏิวัติ” เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 11-12]
รับวัฒนธรรมก้าวหน้า คำบอกเล่าเก่าแก่พบในเอกสารจีน แล้วถูกใช้อธิบายสุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์เป็นอาณานิคมอินเดีย มีโดยสรุปว่าพ่อค้าทางทะเลสมุทรได้สมสู่กับหญิงผู้นำพื้นเมืองชื่อลิวเย่ หรือนางใบมะพร้าว ผู้มีร่างเปลือยเปล่าเพราะไม่มีผ้านุ่งห่ม ดังนั้น พ่อค้าจึงมอบของมีค่าให้เป็นผ้าผ่อนท่อนแพร
ความทรงจำเรื่องนี้บอกให้รู้เกี่ยวกับการรับวัฒนธรรมอินเดียที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยไม่เกี่ยวกับการเป็นอาณานิคม ทั้งนี้ เหตุที่ผู้นำพื้นเมืองร่างเปลือยเปล่าก็เพราะไม่รู้จักทอผ้าหรือเครื่องมือทอผ้าไม่ก้าวหน้า ส่วนพ่อค้ามอบผ้าผ่อนท่อนแพรคือสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมทอผ้าด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้าที่ถ่ายทอดให้สุวรรณภูมิ
ร่างเปลือยเปล่า (ของคนพื้นเมือง) ถูกเรียกอย่างดูถูกจากคนอินเดียว่า “นาค” เป็นคำในตระกูลภาษาอินโด-ยุโรป แปลว่า เปลือย เป็นต้นทางเรียกผู้นำพื้นเมืองเพศหญิงว่านางนาค, เรียกประเพณีบวชคนพื้นเมืองเพศชายว่าบวชนาค ฯลฯ •
บรรยายภาพ :
เมืองอู่ทอง ชุมทางการค้าระหว่างสุวรรณภูมิ-อินเดีย-จีน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา มีทิวเขาอยู่ทางตะวันตก เป็นแหล่งทรัพยากรทั้งสมุนไพรและน้ำ แล้วเกิดภัยธรรมชาติดินตะกอนน้ำพารูปพัดไหลเข้าเมือง
| สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022