ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
ฉันกลับมาเชียงใหม่หลังจากน้ำท่วมที่ว่ากันว่าท่วมหนักที่สุดในรอบ 100 ปี
แน่นอนเราเห็นคอนเทนต์น้ำท่วมตามแบบฉบับอารมณ์ของคนเชียงใหม่ เช่น จุดธูปบอกผีเจ้าที่ว่าหนีได้ให้รีบหนี หลังน้ำลด เราค่อยพยายามหากันจนเจอใหม่ เพราะลำพังตัวเองก็เอาตัวไม่รอด คงไม่สามารถปกป้องศาลเจ้าที่จากน้ำท่วมได้
เราเห็นคนเอาหมานั่งบนยูนิคอร์นลอยน้ำ เราเห็นคนนอนแพจิบเบียร์บนน้ำที่ท่วมอยู่
เราเห็นคนไปดักเอาผัก ผลไม้ที่ลอยมาจากตลาดเมืองใหม่เนื่องจากน้ำท่วม
ที่สำคัญเราเห็นคนเชียงใหม่เอาทัวร์ไปลงอาจารย์คนหนึ่งที่บอกว่า “โกรธรัฐบาลแทนคนเชียงใหม่” เพราะคนเชียงใหม่งงว่าโกรธอะไรเหรอ จะโกรธแทน ถามฉันหรือยัง
เพราะคนเชียงใหม่จำนวนไม่น้อยก็เห็นกับตาว่า หน่วยงานราชการ รัฐบาล ผู้ว่าฯ นายกท้องถิ่น อบจ. เทศบาล ต่างก็พยายามทำงานอย่างเต็มที่ กู้ภัยแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน ตำรวจ ทหาร ก็ทำงานกันเต็มกำลัง
อย่างไรก็ตาม การที่เราเห็นคลิปตลกๆ หรือเราเห็นคนเชียงใหม่ไม่โกรธ ไม่ได้แปลว่าความเสียหายครั้งนี้ไม่รุนแรง
ประเมินจากที่ฉันเห็นน้ำท่วมครั้งนี้ทำเชียงใหม่บอบช้ำมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และเชียงรายโดยเฉพาะแม่สายย่อมหนักกว่าที่เชียงใหม่
ความหนักหนาสาหัสที่เกิดขึ้นกับโซนที่เป็นน้ำป่าคือภาวะล้มละลาย สิ้นเนื้อประดาตัว และไม่รู้จริงๆ ว่าจะฟื้นคืนกลับมาในสภาวะที่ใกล้เคียงกับก่อนน้ำท่วมอย่างไร และอย่างที่เรารู้กันดีว่า ความสามารถในการรับมือกับการสูญเสียแบบนี้ของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน บางครอบครัวไม่มีเงินเก็บ ทำงานหาเงินวันต่อวัน บางผู้ประกอบการก็หมุนเงินวันต่อวัน เจอความเสียหายแบบนี้ทีเดียวก็ทรุด
แน่นอนว่ารัฐบาลมีมาตรการพักหนี้ พักดอกเบี้ย แต่คนที่กู้ธนาคารได้ก็ส่วนหนึ่ง ยังมีคนที่อยู่กับหนี้นอกระบบไปพร้อมๆ กับการเป็นผู้ประกอบการอีกเท่าไหร่
และวันนี้เราก็คงเข้าใจว่าทำไมนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ถึงซีเรียสกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบมาก เพราะเวลาเกิดภัยพิบัติแบบนี้จะมีคนหลุดจากกรอบการช่วยช่วยเหลือของรัฐบาลเยอะมาก เพราะไม่ได้อยู่ในระบบมาตั้งแต่แรก
ถามว่าฉันมีแนวทางอะไรเสนอ ก็สารภาพว่าไม่มี ไม่รู้ รู้แต่อยากมีเงินเยอะๆ ในเวลานี้ การแจกเงินเยียวยาไม่อั้นเท่านั้นคือคำตอบที่คนปัญญาน้อยอย่างฉันพอจะคิดได้
ประการต่อมา ฉันคิดว่าเราทั้งรัฐบาลและประชาชนควรยอมรับความจริงเสียทีว่า ในพื้นที่ตามเอกสารราชการซึ่งระบุว่าเป็น “ป่าสงวนแห่งชาติ” นั้นมันไม่ได้เป็นป่าสงวนฯ อีกต่อไป แต่มันเป็นพื้นที่มีชาวบ้านอยู่อาศัย ทำไร่นา ทำสวน ทำธุรกิจ มีนายทุนไปลงทุนทำโรงแรม รีสอร์ต มีนักการเมืองไปสร้างบ้านพักตากอากาศ
หลายๆ ป่าสงวนฯ ไม่ได้มีลักษณะป่าเลย แต่เป็น “เมือง” ไปแล้วโดยสิ้นเชิง พูดชื่อมาเลย และเราหลายคนที่กรีดร้อง รับไม่ได้กับเรื่องนี้ ถึงเวลาก็กลายเป็นนักท่องเที่ยวในสถานที่เหล่านั้น เช็กอิน ถ่ายรูปกันรัวๆ
ยอมรับความจริงไปทำไม?
ก็เพื่อจะเพิกถอนสถานะป่าสงวนฯ ของพื้นที่เหล่านี้ และทำการนิรโทษกรรมการครอบครองพื้นที่ป่าเสีย ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นชนเผ่า ชนกลุ่มน้อย ปราชญ์พื้นบ้านาจอมละโมภ หรือนายทุนที่เห็นแก่ตัว
โอ้โห ฉันพูดแบบนี้ แบกนายทุนนี่หว่า – แต่ฉันของถามต่อว่า ถ้าไม่เริ่มต้นจากให้ทุกอาคาร สิ่งปลูกสร้างและการดำรงชีวิตในป่าสงวนฯ (แต่ชื่อ) ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว รัฐบาลจะเข้าไปบริหารพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างไร?
ไม่เห็นต้องบริหารจัดการเลย ก็แค่ไล่คนบุกรุก คนเห็นแก่ตัวออกให้หมด คนทำผิดกฎหมายต้องถูกลงโทษสิ ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เป็นที่พื้นที่ทำกิน
สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ชาวบ้าน ปราชญ์ท้องถิ่นก็จะบอกว่า เราอยู่มาก่อนที่จะมีการกำหนดเขตป่า ส่วนนายทุน นักการเมือง ทหาร ผู้มียศศักดิ์ ก็ไปแตะต้องยากอยู่แล้ว
ถามว่าดีไหม ไม่ดี แต่เราต้องเลือกระหว่างการหาทางออกของปัญหาที่น่าจะยอมรับได้ กับภาวะดัดจริตคนรุกป่าต้องติดคุก แล้วเราก็มีป่าสงวนฯ แต่เพียงในนามมาเกือบร้อยปี โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ตัวฉันเองเห็นว่า ยอมรับความจริงเถอะ
ออกเอกสารรับรองสิทธิเหนือที่ดินเสียในพื้นที่ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์จะโดนน้ำป่า และสิ่งที่รัฐบาลต้องจริงจังคือ กฎหมายผังเมือง กฎหมายการก่อสร้างอาคาร ห้ามทำร้านกาแฟบนไหล่เขา ทางน้ำ วิวสวย ร้านสวย แต่ไม่ลงทุนกับฐานราก การเทสต์ดิน เสาเข็ม จะเอาแต่สวยๆ เก๋ๆ ตามรูปไอจี ตามรูปในเน็ต ถึงเวลาน้ำพัดมาปลิว พังพินาศอย่างเร็ว
พื้นที่ไหนที่ต้องเวนคืน “ไล่คนออก” รื้อสิ่งปลูกสร้างออก ไม่ใช่เพราะมันเป็นป่าสงวนฯ แต่เพราะมันอันตรายเกินกว่าจะทำบ้าน ร้านอาหาร หรือโรงแรมตรงนั้น รัฐบาล กรมทรัพย์ กรมที่ดิน มหาดไทย ต้องเอาชัดๆ ว่า ไม่ได้จะให้เป็นป่าสงวนฯ อะไรนะ แต่ทำบ้าน ทำโรงแรมตรงนี้ถ้าน้ำป่ามาแล้วพังพินาศ รัฐบาลไม่รับผิดชอบนะ พื้นที่โซนอันตราย โซนสีแดง หากเจอภัยพิบัติ รัฐบาลจะไม่ช่วยเหลือ กำหนดให้ชัดๆ แบบนี้เลย
ส่วนจุดที่พอทำได้ ทำเลย แต่ต้องทำตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ ต้องลงทุนกับโครงสร้างฐานราก พร้อมๆ กับต้องทำใจรับความเสี่ยงด้วยว่า การเลือกทำเลนี้ เสี่ยงตาย เสี่ยงล้มละลาย และคนที่เลือกมาเที่ยวก็พึงประเมินความเสี่ยงนี้ด้วย หรือจะกำหนดไปเลยว่า ในฤดูฝนต้องปิดทำการ
เหล่านี้จะกำกับดูแลไม่ได้ ถ้าเรายังปากว่าตาขยิบ ทำเสมือนว่า พื้นที่เหล่านี้เป็นป่าสงวนฯ ไม่มีคนอยู่ ไม่มีบ้าน ไม่มีโรงแรม รัฐบาลเลยไม่ต้องกำกับด้วยข้อห้ามอะไรทั้งนั้น
โซนอันตรายที่ต้องไล่คนออก เวนคืนที่ดินกลับมา รัฐบาลต้องยอมจ่ายเป็นแรงจูงใจให้คนย้าย
จากนั้นจงใช้บุคลากรไปศึกษาเรื่องโลกรวน เรื่องธรณีวิทยา เรื่องการทำแลนด์สเคป ปลูกป่า ทำถนน ทำทางน้ำผ่าน คำนวณความเป็นไปได้ในอนาคตและออกมาพื้นที่ซับน้ำ พื้นที่รับน้ำ ทางน้ำป่าไหล ยากแค่ไหนโครงการแบบนี้ยังไงก็ต้องเริ่มคิดเรื่องทำ
เราลบไอเดียเรื่องการปลูกป่าออกไปก่อน แต่ต้องมองการบริหารที่ดินเพื่อรับมือกับน้ำท่วม น้ำแล้ง และการปลูกป่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการนั้น
ที่ดินพันไร่ อาจจะมีป่าแค่ห้าร้อยไร่ ที่เหลือเป็นอื่นๆ เช่น เป็นหนองน้ำ เป็นคลอง เป็นทางระบาย เป็นพื้นที่ว่าง อะไรก็ไม่รู้แหละ ที่ถูกอออกแบบมาเพื่อลดอันตรายจากภัยพิบัติ
ฉันก็เพ้อเจ้อ แฟนตาซีเขียนไป ตามประสาคนไม่มีความรู้ แต่คิดว่ามันน่าจะเป็นแบบนี้หรือเปล่า ภาวนาว่ามีคนที่ทำเป็นหรือมีความรู้จริงๆ ในเรื่องนี้ออกมาอธิบายว่า เป็นไปได้หรือไม่
ไปดูแม่สาย ยิ่งสลดใจ น้ำท่วมยังไม่เท่าไหร่ แต่โคลนสาหัสมาก และเจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างานบอกว่า ถังเกรอะ ถังบำบัดระเบิดกันเละตุ้มเป๊ะ ทั้งเหม็น ทั้งจัดการยาก ผู้คนทุกข์ทรมาน และอยู่กับความโศกเศร้ามากจริงๆ
แม้วันนี้ก็ยังเคลียร์บ้านไม่ได้ ไม่เสร็จ โคลนที่ค้างอยู่เมื่อแห้งแล้วแข็งมาก และไม่สามารถเอารถเครื่องจักรเข้าไปตักได้ เพราะถนนเล็กมาก ต้องใช้แรงคนเท่านั้น ยังไม่นับการบูรณะบ้านหลังจากนี้
ฉันคิดว่า กรณีแม่สาย อาจจะต้องไปดูโมเดลของเมืองที่เจอภัยพิบัติ เช่น โกเบหลังแผ่นดินไหว อาจจะไม่ใช่สเกลนั้น แต่กระบวนการทำงาน ไม่น่าจะต่างกันมาก
บ้านเรือนราพณาสูรขนาดนี้ ควรขอ CSR เอกชน เช่น บริษัทสถาปนิก ก่อสร้าง ทำบ้านชั่วคราวให้คนอพยพ แล้วต้องทุบสร้างวางผังเมืองกันใหม่ทั้งหมด โดยอิงกับการสรุปบทเรียนจากน้ำท่วม โคลนถล่มครั้งนี้ ว่าต้องสร้างเมืองใหม่เพื่อความปลอดภัยของทุกๆ คนที่ยังอยากอยู่อาศัยในเมืองนี้
หรืออาจต้องประกาศให้เขตนี้เป็นเขต “อันตรายเกินกว่าจะอยู่อาศัย” ได้ ทุกคนต้องขายที่คืนให้รัฐ แล้วย้ายออก
ฉันก็ต้องแฟนตาซีอีกว่าสมมุติราคาที่ดินหนึ่งล้าน รัฐบาลซื้อเลยสามล้าน-ห้าล้าน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนย้ายออก
อย่าลืมว่าในทุกๆ ร้อยปี เราก็ต้องเจอการ “ย้ายเมือง” เพราะภัยพิบัติเสมอ ตั้งแต่น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือหากใครคิดได้ คิดออกว่าไม่จำเป็นต้องย้าย แต่ทำอะไรบางอย่างให้น้ำไม่ท่วมแบบเป็นโคลนแบบนี้ ฉันก็ยินดี
ย้ำภาวะที่ฉันคิดเรื่องย้ายเมืองไม่ใช่น้ำท่วม แต่คือน้ำป่าที่มาฉับพลัน กับภาวะจมโคลนหลังจากนั้น
กลับมาที่เชียงใหม่ แม้คนเชียงใหม่จะพยายามมีอารมณ์ขัน แต่พอมาเจอของจริง ฉันแทบเข่าทรุด ฉันไม่เคยเห็นเชียงใหม่หม่นหมองขนาดนี้ ในตัวเมืองค่อนข้างเงียบ คนไม่มีอารมณ์จะกิน ดื่ม
แต่ดูเหมือนพวกเขาพยายามจะประคองสติ ไม่ให้แตกสลายไปโดยพยายามดำเนินชีวิตให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติให้มากที่สุด
บ้านของคนเชียงใหม่ในเมืองไปจนถึงแม่เหียะ หางดงต้องเจอกับน้ำท่วม น้ำลด โคลน โรคระบาด ผ้าเน่า ของเน่า และไม่มีน้ำประปา
ความเศร้ามันอยู่ตรงนี้ เจ้าหน้าที่ประปาก็น่าสงสาร เพราะมันก็สุดวิสัย บ้านประชาชนก็น่าสงสาร เพราะไม่มีน้ำใช้ ปั๊มน้ำที่บ้านเสียสักสามชั่วโมงในยามปกติ เรายังเครียดแทบบ้า แต่นี่ บ้านจมโคลน จมฝุ่น เสื้อผ้าจมน้ำเน่าเหม็น แล้วไม่มีน้ำเพื่อการทำความสะอาด ชะล้างใดๆ มันเศร้า มันเครียด และมันลำบากมากจริงๆ
คนเครียดเรื่องไม่มีน้ำใช้ แล้วโกรธรัฐบาลฉันก็เข้าใจได้ แต่สิ่งที่ฉันเห็นคือคนเชียงใหม่ส่วนใหญ่ “กลืนเลือด” เครียด เศร้า เงินหมด เหนื่อยล้างบ้าน แต่ก็เห็นว่ารัฐบาลพยายามมากๆ ประปาก็พยายามมากๆ มันก็จุกอกไปหมด
คนรู้จักของฉันหลายคนไม่เหลือเสื้อผ้าเลย เพราะมันเหม็นจนซักไม่ได้ ต้องไปซื้อเสื้อ กางเกงโลตัสใส่ประทังไปก่อน
เพื่อนเจ้าของร้านอาหารริมน้ำปิงเพิ่งฟื้นจากโควิด ครั้งนี้ก็เสียหายหลายล้าน ปิดกิจการก็ไม่ได้ ทุกอย่างเป็นวัวพันหลักกันไปหมด ร้าน ค่าเช่า ลูกน้อง หนี้สินจากการลงทุนเปิดร้าน ไปต่อก็ลำบาก ถอยหลังก็ยิ่งไม่ได้ ก็ต้องกัดฟันสู้เท่านั้น
ฉันอยากบอกรัฐบาลว่าประชาชนเดือดร้อนมาก พร้อมๆ กับที่รักรัฐบาล เห็นใจรัฐบาล เอาใจช่วยรัฐบาล มีอะไรที่จะช่วยเหลือเยียวยาเขา
ได้โปรดทำเถอะ
กรณีเมืองเชียงใหม่ ไม่ใช่พื้นที่ที่รุกป่า ไม่ได้เป็นการสร้างบ้านขวางทางน้ำ
การแก้ไขหลังจากนี้คือการสังคายนาผังเมือง ต้องยอมรับความจริงว่า เชียงใหม่อัปลักษณ์จากการปล่อยให้คนสร้างบ้าน สร้างอาคาร ร้านค้าหน้าตาน่าเกลียดอย่างปราศจากการออกแบบให้สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศ
รีบสังคายนาก่อนจะสายเกินไป ลำเหมือง คลอง แม่น้ำ คือหัวใจที่เป็นทั้งสวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว เป็นป่าในเมือง อย่าปล่อยให้คนไปทำตึกน่าเกลียดๆ ริมน้ำ ถมลำเหมือง สร้างถนนทับลำคลอง หรือนำเหมืองที่เคยเป็นเส้นทางเหมือนฝายเดิมของเชียงใหม่
หนองน้ำที่อยู่สี่ทิศ สี่แจ่ง ต้องได้รับการเคารพ กราบไหว้ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นร้านอาหาร ร้านโกดังขายขยะ ตึกแถวประหลาดๆ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
เพราะถ้าเราจะ “พัฒนา” เมืองแบบมักง่ายอย่างที่เคยทำกันมาสี่สิบห้าสิบปี ฉันบอกได้เลยว่า เราจะเจอภัยธรรมชาติแบบนี้อีกทุกปี หรือปีละหลายครั้ง
เชียงใหม่จะไม่น่าอยู่อีกต่อไป เพราะหน้าฝนเจอน้ำ หน้าแล้งเจอฝุ่น
รัฐบาลเก่งหรือเปล่าไม่รู้
แต่เบื้องต้น อย่าซ้ำเติมวิกฤตและความวายป่วงจากภัยธรรมชาติด้วยการนำประเทศชาติไปติดหล่มความขัดแย้ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ไม่ได้ เจอการล้างบางการเมืองเลือกตั้งเพียงเพราะเกลียดรัฐบาล เลยนั่งดิสเครดิตรัฐบาลทุกวันจนฝ่ายนอกระบบมีความชอบธรรม การรื้อทุกอย่างทิ้งอีกรอบ แล้วเราจะไม่ได้ไปไหนสักที
อย่าลืมว่า เราควรมีระบบการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ปี 2560 สำเร็จเรียบร้อย ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่โดนรัฐประหาร
ขณะเดียวกันขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งทำงาน ไม่ต้องวอกแวกกับเกมการเมืองให้มาก กล้าๆ ทำงาน แล้วเมื่อประชาชนเห็นความพยายามทำงานนั้น ยังไงประชาชนก็จะเป็นหลังพิงที่ดีที่สุด
รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีเกมอะไรให้เล่น นอกจากทำงานและจริงใจกับประชาชน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022