ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กุมภาพันธ์ 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ดังได้สดับมา |
ผู้เขียน | วิเวกา นาคร |
เผยแพร่ |
ยิ่งพอเป็น “ธรรมจักษุ” ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2489 ถึงเดือนมกราคม 2490 บทความเรื่อง “คัมภีร์บาลีในไตรปิฎกจีน” ยิ่งทำให้เส้นทางของ เสถียร กมลมาลย์ มีความเด่นชัด
เด่นชัดตั้งแต่ยังไม่กลายเป็น เสถียร โพธินันทะ
เริ่มจากบรรทัดแรกของบทความพระพุทธศาสนาได้แบ่งเป็น 2 นิกายใหญ่อย่างเด็ดขาดเมื่อรัชสมัยพระเจ้ากนิษกะมหาราชแห่งอินเดียภาคเหนือ และปรากฏรูปออกมาอย่างเด่นชัดก็โดย ท่านอัศวโฆษ, ท่านนาคารชุน, ท่านเทพ, ท่านอสังค, ท่านวสุพันธุ, ท่านเทพมิตร และท่านธรรมบาล
2 นิกายที่กล่าวนี้ก็คือ นิกายมหายาน หรือโพธิสัตวยาน และนิกายหีนยาน หรือสถวีระ หรือเถรวาท
แต่ไม่หมายว่าก่อนหน้านี้ไม่มีการแตกแยกนิกายเลย
ตามประวัติศาสตร์แห่งการขยายตัวของพระพุทธศาสนา หลังจากที่พระบรมศาสดาปรินิพพานแล้วไม่นาน ในคราวทำปฐมสังคายนานั้นได้มีคณะสงฆ์บางคณะที่ไม่ได้เข้าประชุมออกไปตั้งสังคายนาอีกแห่งหนึ่ง
และในคราวทุติยสังคายนาก็ได้มีภิกษุหมู่หนึ่งมีนามเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วคือ “พวกวัชชีบุตร” ได้ตัดทอนสิกขาบทบางข้อออกจากการปฏิบัติ
การแตกแยก “นิกาย” จึงเป็นเรื่องที่ดำเนินไปตามกฎแห่ง “อนิจจัง”
แต่ในครั้งนั้นยังไม่ได้แบ่งออกเป็น “มหานิกาย” หรืออุตตรนิกาย หรือ “เถรวาท” หรือทักษิณนิกายอย่างทุกวันนี้ เพิ่งจะมาแบ่งแยกอย่างเด็ดขาดก็ต่อเมื่อพุทธศกล่วงมาแล้ว 400 ปี คือในรัชสมัยพระเจ้ากนิษกะมหาราช
ผู้เป็นอัครศาสนูปถัมภกเช่นเดียวกับพระเจ้าศรีอโศกมหาราช
พระองค์เป็นผู้ครองแคว้นคันธาระ มีราชธานีชื่อปุรุษปุระ พระราชอำนาจแผ่ออกไปทั่วอินเดียภาคเหนือและหมู่ประเทศใกล้เคียง
สมัยนั้นดินแดนแถบนั้นล้วนรุ่งเรืองด้วยรัศมีแห่งกาสาวพัสตร์ พระองค์เป็นผู้สนพระทัยในธรรมปฏิบัติได้ตรัสถามเหล่าภิกษุผู้ทรงคุณธรรมเนืองๆ แต่ภิกษุเหล่านั้นต่างได้ถวายวิสัชนาตามมติของตนหาได้ตรงกันไม่
เป็นเหตุให้พระองค์เกิดความสังเวชสลดจิตใจใคร่ที่จะได้พระธรรมที่บริสุทธิ์และเที่ยงตรงจึงทรงถามพระปราศวสังฆเถระ พระปราศวสังฆเถระได้ถวายวิสัชนาว่า
“พระตถาคตเจ้าได้เสด็จปรินิพพานนับได้เป็นเวลานานแล้ว เพราะฉะนั้น เหล่าสงฆ์สาวกต่างแบ่งแยกเข้าใจว่านิกายของตนถูก ส่วนของผู้อื่นอันต่างนิกายนั้นผิด สภาพจึงได้เป็นเช่นนี้”
และได้ถวายข้อแนะนำให้ชุมนุมสงฆ์สังคายนาพระไตรปิฎก
ฉะนั้น พระเจ้ากนิษกะจึงได้ตั้งกองสังคายนาธรรมวินัยขึ้น ณ นครชลันธรแห่งแคว้นกาษมีระ อักษรที่ใช้จารึกพระธรรมได้ใช้อักษรสันสกฤตอันเป็นข้อแตกแต่งที่สำคัญระหว่างนิกายเถรวาทที่มีพระธรรมเป็นอักษรบาลี
พระเจ้ากนิษกะมีราชครูที่เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนารูปหนึ่งชื่อ “อัศวโฆษ” หรือจีนเรียกว่า “หม่าเหมิง” เป็นผู้ที่ประกาศเผยแผ่นิกายมหายานโดยตรง
ท่านผู้นี้เป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกและพาหิรลัทธิ ได้รจนาคัมภีร์ที่เกี่ยวกับมหายานคัมภีร์หนึ่งชื่อ “มหายานศัทโธตปาทศาสตร์ หรือ “ต้าเซิ้งชี่สิ่นลุ่น” คัมภีร์นี้เป็นหลักยืนยันได้ดีว่า มหายานได้มีความรุ่งเรืองขึ้นในยุคนี้
และแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาก็ได้แยกออกเป็น 2 นิกายใหญ่ คือเหนือและใต้จวบจนปัจจุบัน
และอาจแบ่งได้โดยภูมิประเทศ คือบรรดาแว่นแคว้นฝ่ายเหนือของอินเดีย มีอาทิ แคว้นคันธาระ กาษมีระ ฯลฯ เป็นแดนของมหายาน และตั้งแต่แคว้นมคธลงไปจนถึงเกาะลังกาเป็นแดนของเถรวาท
ฉะนั้น ผลแห่งการเผยแผ่จึงมีต่างกัน ฝ่ายเหนือได้กลายเป็นแดนแห่งมหายาน ส่วนทางใต้เป็นดินแดนของฝ่ายเถรวาท
หลังจากอุปสมบทที่วัดกันมาตุยารามเมื่อเดือนธันวาคม 2493 และลาสิกขาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2494 ก็ได้รับการพิจารณาบรรจุเป็นอาจารย์ในสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
เป็นผู้บรรยายประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา และความรู้พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
ทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามคำเชื้อเชิญอันมาจาก สุชีโว ภิกขุ ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการศึกษาพระไตรปิฎก การเขียนบทความ การบรรยายและปาฐกถาธรรมในกาลต่อมา
เสถียร โพธินันทะ ได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้บรรยายจนถึงแก่กรรมในปี 2509 รวม 16 ปี