ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น
‘เปลี่ยนใหญ่ ประเทศไทย’
: ไม่ใช่แค่ ‘เวลาเหลือน้อย’
แต่ ‘ไม่มีเวลาเหลือ’ แล้ว
ถ้าไม่ “เปลี่ยนใหญ่” ประเทศไทยไปไม่รอด นั่นคือข้อสรุปสั้นๆ ชัดๆ ที่ได้รับการตอกย้ำอีกครั้งบนเวที THAILAND NEXT เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย
จาก The Great Disruption สู่ The Great Transition
เป็นข้อเสนอของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 66
ผมขึ้นเวทีไปดำเนินรายการกับแกนนำของนักศึกษารุ่นนี้
และยังได้แขกพิเศษคือ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, มาพูดถึงการปฏิรูปกองทัพอีกด้วย
กองทัพ (อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง) ยอมรับว่าหากไม่ปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงและมุ่งสู่ความเป็นกองทัพมืออาชีพ, ก็ไม่รอดอีกเหมือนกัน
คำว่า “ไม่รอด” ในที่นี้หมายถึงทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ซึ่งก็เป็นนักศึกษารุ่นนี้บอกว่า “เวลาเหลือน้อยแล้ว” สำหรับการ “เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย”
ผมบอกว่า “เราไม่มีเวลาแล้ว”
ข้อเสนอให้ประเทศไทยเข้าสู่การ “ผลัดใบครั้งใหญ่” ของนักศึกษา วปอ.รุ่นนี้หวังว่าจะไม่เหมือนข้อเสนอของรุ่นก่อนๆ หรือของนักวิชาการที่นำเสนอการปรับเปลี่ยนประเทศครั้งใหญ่ก่อนที่จะสายเกินไป
ผมบอกว่าข้อเสนอชุดนี้ควรจะเป็นชุดแรกที่ “ไม่ขึ้นหิ้ง” ไปเก็บไว้เป็นเอกสารประวัติศาสตร์อีกชิ้นหนึ่ง
ข้อเสนอชุดนี้ได้นำเสนอนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ในพิธีเป็นทางการไปแล้ว
บางคนในรุ่นบอกว่า “เราทำภารกิจสำคัญเสร็จแล้ว คือได้เสนอต่อนายกฯ ไปแล้ว”
ผมแย้งว่าถ้าคิดอย่างนั้นคือคิดผิด
เพราะการ “นำเสนอนายกฯ แล้ว” ไม่ใช่เป็นการ “เสร็จภารกิจ”
เพราะนั่นคือการคิดอย่างข้าราชการ
แต่ถ้านักศึกษารุ่นนี้คิดจะ “เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย” จริงๆ ต้องถือว่าการเสนอนายกฯ เป็นเพียง “พิธีกรรม” เท่านั้น
นายกฯ ก็เอาเอกสารชุดนี้ส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล แล้วไปเก็บไว้ในหิ้งต่อไป
ชะตากรรมเดียวกับข้อเสนออีกเป็นพันเป็นหมื่นชุดก่อนหน้านี้
แต่หากนักศึกษารุ่นนี้ต้องการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงๆ จะต้องเกาะติดว่ารัฐบาลจะทำหรือไม่ทำตามข้อเสนอ
ถ้าไม่ทำเพราะอะไร
ถ้าจะทำมีอุปสรรคอะไร
เพื่อให้นักศึกษารุ่นต่อไปและสถาบันศึกษาต่างๆ รวมถึงสถาบันวิจัยทั้งหลายทั้งปวงจะได้เอาไปวิเคราะห์ศึกษาและติดตามให้เกิดผลในภาคปฏิบัติต่อไป
เพื่อยืนยันว่านักศึกษารุ่นนี้ไม่ได้มารวมตัวกันเพียงเพื่อจะสร้าง connection ของกลุ่มชนชั้นนำเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกัน อย่างที่มีการตั้งข้อสงสัยต่อการจัด “คอร์ส” ต่างๆ ของหน่วยราชการที่ผ่านมา
การจัดงานเสวนาครั้งนี้ นักศึกษา วปอ. รุ่น 66 บอกว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน
นั่นคือการเปิดเวทีสาธารณะ เปิดให้มีการนำเสนอที่ตรงไปตรงมาและฟังความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นครั้งแรก
ผมได้รับการติดต่อให้ดำเนินการเสวนาด้วยคำยืนยันว่าสามารถตั้งคำถามได้ทุกเรื่องทุกประเด็นอย่างไม่ต้องเกรงใจรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐใดๆ
ผมตอบรับด้วยความยินดี เพราะอยากเห็นการแลกเปลี่ยนเรื่องการปฏิรูป, ยกเครื่อง และ “เปลี่ยนใหญ่” ประเทศไทยอย่างจริงจัง
และต้องยอมรับว่าบรรยากาศของการสนทนา ทั้งบนเวทีและนอกรอบนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนอย่างเปิดเผย, ตรงไปตรงมา และเปิดใจรับฟังกันอย่างกว้างขวางจริงๆ
ทําไมต้อง “เปลี่ยนใหญ่”?
เพราะเรากำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาของการ “เสื่อมถอยครั้งสำคัญ”
หากรัฐบาลยังไม่เปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนประเทศ
ยังมุ่งเดินไปในแนวทางเดิมที่ได้เดินมา
ไม่ตัดสินใจในประเด็นสำคัญๆ
ช่วง 5 ปีข้างหน้าจะเป็น “จุดผกผัน” ที่กำหนดอนาคตของประเทศและลูกหลานคนไทย
ทำให้ไทยไม่สามารถบรรลุศักยภาพที่มีอยู่
ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลก
สูญเสียบทบาทและความสำคัญที่เคยมี
ท้ายสุด จะค่อยๆ กลายเป็นประเทศที่ถูกทุกคนทิ้งไว้ข้างหลัง
ที่เป็นเช่นนี้เพราะวิธีการพัฒนาประเทศของไทยวันนี้เป็น “แนวทางที่ตกยุค”
ไม่สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนไป
คำว่า “เปลี่ยนใหญ่” คือสัญญาณเตือนภัยที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็น “เร่งด่วน” ในการปรับตัวของประเทศ
ซึ่งต้องเป็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน กระชับ และเข้าใจง่าย
ดร.กอบศักดิ์ บอกว่าหากเปรียบเป็นนักวิ่งมาราธอน ไทยอาจเคยวิ่งนำหน้า แต่วันนี้กำลังถูกคู่แข่งแซงหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า ขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึก และฉุดรั้งการพัฒนา ปัญหาเหล่านี้มีให้เห็นอยู่ทั่วไป เช่น
ภาคเศรษฐกิจ : โรงงานอุตสาหกรรมทยอยปิดตัว การส่งออกซบเซา การลงทุนจากต่างประเทศลดลง
ภาคสังคม : คุณภาพการศึกษาตกต่ำ เด็กไทยมีคะแนนสอบ PISA ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ภาคเกษตร : เกษตรกรมีรายได้ตกต่ำ มีหนี้สินพอกพูน และที่ดินทำกินถูกยึด
สิ่งแวดล้อมป: ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ปัญหามลพิษ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทวีความรุนแรงขึ้น
ระบบราชการ : ยังคงมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ล่าช้า และไม่โปร่งใส เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และการพัฒนาประเทศ
ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง “ความเปราะบาง” ของประเทศไทย ในยุคแห่ง Great Disruption ปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
ไทยจำเป็นต้อง “เปลี่ยนใหญ่” เพื่อ “เปลี่ยนผ่าน” (Transition) เข้าสู่ยุคใหม่ให้ทันกับพลวัตของโลก
แต่จะทำสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทุกคน เพื่อร่วมกันสร้าง “ประเทศไทยยุคใหม่” ที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
การ “เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย” เจาะจงลงไปที่ “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” ที่ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่
การซ่อมฐานราก
ผลัดใบเศรษฐกิจ
ยกเครื่องระบบราชการ
เสริมสร้างกองทัพ รองรับความท้าทาย
ซึ่งจะนำไปสู่ Thailand Next หรือประเทศไทยแห่งอนาคต
ที่น่าสนใจคือ ตัวแทนกองทัพในรุ่นนี้ก็มองว่ากองทัพก็กำลังถูก Disrupt ครั้งใหญ่ จำเป็นต้องเข้าสู่ Transition ครั้งสำคัญเช่นกัน
ไม่ได้ต่างไปจากองคาพยพอื่นๆ ของสังคมไทยเลยแม้แต่น้อย
พล.อ.ต.จักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย รองเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ กองทัพอากาศ บอกว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ
ทั้งภัยคุกคามและความท้าทายรูปแบบใหม่ ที่แฝงด้วยความซับซ้อน และยากยิ่งต่อการคาดการณ์
กองทัพไทยเผชิญกับความท้าทายและข้อจำกัดหลายประการ
ตั้งแต่เรื่องงบประมาณด้านกลาโหมที่จำกัด
อันส่งผลต่อการพัฒนาและจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย
ต้องยอมรับว่าการประสานงานและการปฏิบัติการร่วมระหว่างเหล่าทัพก็ยังขาดประสิทธิภาพ
ถึงเวลายอมรับความจริงว่ากองทัพไทยยังขาดความคล่องตัว ในการปรับตัวและรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่
โจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรจึงสามารถสร้าง “กองทัพมืออาชีพ” ที่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้
หัวใจของการ “เปลี่ยนใหญ่” คือการตระหนักถึงความ “เร่งด่วน” (sense of urgency)
แปลว่าค่อยทำค่อยไปไม่ได้
แปลว่าเอาไว้ตั้งคณะกรรมการเพื่อ “ศึกษา” ปัญหาต่างๆ อย่างที่ทำมาหลายสิบปีไม่ได้
แปลว่าจะต้องเป็นการตัดสินใจเดินหน้าด้วยแผนปฏิบัติการหรือ action plans อย่างชัดเจน
ชัดเจนทั้งเป้าหมาย ชัดเจนทั้งวิธีการ และกรอบเวลาที่ทันการ
และต้องจัด “ลำดับความสำคัญ” ให้แน่ชัดว่าจะทำอะไรก่อนหลัง
นั่นย่อมหมายถึงการมีความมุ่งมั่นและกล้าหาญทางการเมืองหรือ political will ของผู้นำประเทศ
เพราะ THAILAND NEXT เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทยจะเป็นเพียง “วาทกรรม” เหมือนคำสัญญาของนักการเมืองที่ผ่านมาไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
แต่ต้องเป็น “พันธกิจแห่งชาติ” ที่ระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและประชาชน โดยต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง
เป็น Big Change ที่กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และทันท่วงที เพื่อรับมือกับความท้าทายในยุคใหม่
แต่จะขยับได้จริงหรือไม่…วัดกันที่ความกล้าหาญมุ่งมั่นของนักการเมืองที่อาสามารับใช้ประเทศชาติ
นั่นคือเครื่องหมายคำถามใหญ่ที่สุดของบ้านเมืองวันนี้!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022