ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โฟกัสพระเครื่อง |
เผยแพร่ |
“พระครูอุทัยธรรมสาคร” หรือ “หลวงพ่อมาลัย อุทโย” พระเกจิชื่อดังลุ่มแม่น้ำท่าจีน อดีตเจ้าคณะตำบลท่าฉลอม และอดีตเจ้าอาวาสวัดบางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลและเครื่องรางไว้หลายชนิด ที่มีชื่อเสียงมาก คือ “พระสมเด็จไผ่ดำ รุ่นแรก”
สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2526 เพื่อเป็นที่ระลึกงานฉลองตราตั้งพระอุปัชฌาย์
ลักษณะเป็นผงพิมพ์สมเด็จเหมือนทั่วไป มีการสร้างด้วยเนื้อต้นไผ่หลากหลายพันธุ์ เผาจนเป็นถ่านมาเป็นส่วนผสมหลัก กับผงวิเศษต่างๆ ที่รวบรวมไว้ ผ่านการอธิษฐานจิตปลุกเสกจากหลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม กาญจนบุรี, หลวงปู่สิน บางกระดี่ เป็นต้น
ด้านหน้า จำลองรูปพระสมเด็จพิมพ์สามชั้น มีครอบแก้วคล้ายพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่
ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “สมเด็จ หลวงพ่อมาลัย วัดบางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร”
จัดเป็นวัตถุมงคลที่หายาก ผู้ที่ครอบครองมักหวงแหนยิ่ง
มีนามเดิมว่า มาลัย แตงอ่อน เกิดวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2483 ณ บ้านเลขที่ 63 หมู่ 8 ต.แสมดำ อ.บางขุนเทียน กรุงเทพฯ มีพี่น้องร่วมกัน 6 คน
ในช่วงวัยเยาว์มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนา ด้วยมีจิตใจเอนเอียงเข้าวัดฟังธรรม ทำให้ได้รับการปลูกฝังให้ใกล้ชิดกับพระศาสนาไปในตัว
ครั้นเมื่ออายุ 21 ปี ได้เข้ารับราชการทหาร ได้รับตำแหน่งนายสิบกองประจำการ
ต่อมาเข้ารับพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2509 เวลา 13.00 น. ที่พัทธสีมาวัดบางกระดี่ บางขุนเทียน กรุงเทพฯ มีพระเทพญาณมุนี วัดราชโอรสาราม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สง่า การวิโก วัดบางกระดี่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สงวน อาสโภ วัดกำพร้า เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เป็นพระเถระที่มีความมุมานะ อุตสาหะ ฝักใฝ่เรียนรู้ พรรษาแรกก็สามารถสวดบทสวดพระปาติโมกข์แบบภาษารามัญได้ชัดเจน
กล่าวกันว่าในสมัยนั้นวัดบางหญ้าแพรก มีพระจำพรรษาอยู่ไม่มากนัก พื้นที่ของวัดรกร้างเต็มไปด้วยป่าโกงกาง ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2517 ตรงกับข้างขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีขาล พระเทพสาครมุนี (หลวงปู่แก้ว) วัดสุทธิวาตวราราม (ช่องลม) มอบหมายให้เป็นเจ้าอาวาส
จากนั้น จึงเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์วัดบางหญ้าแพรกมาโดยตลอด สมกับที่ชาวบ้านกล่าวขวัญยกย่องให้เป็นพระนักพัฒนาจนเป็นที่เลื่องลือ
พ.ศ.2523 เดินทางไปงานมุทิตาสักการะหลวงพ่ออุตตมะ ที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
ครั้นเมื่อไปถึงได้พบสิ่งแปลกประหลาดคือ มีกอไผ่ที่ไฟไม่ไหม้ มีอยู่เพียง 1 กอเท่านั้น ที่บริเวณวัดของหลวงพ่ออุตตมะ ส่วนกอไผ่กออื่นๆ ล้วนโดนไฟไหม้หมด
สิ่งนี้เองทำให้เกิดประหลาดใจ จึงได้ขอไผ่กอนั้นจากหลวงพ่ออุตตมะ และได้นำกลับมาที่วัดบางหญ้าแพรก เพื่อที่จะเอาเนื้อของไผ่ชนิดนี้มาบรรจุผสมเข้าเพื่อจัดสร้างวัตถุมงคลอันประกอบไปด้วยไผ่มงคลทั้ง 9 ชนิด ซึ่งเป็นที่มาของ “สมเด็จไผ่” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและมีความโดดเด่นรอบด้าน
ส่วนตะกรุดตี๋ใหญ่เป็นเครื่องรางของขลังที่ได้รับกล่าวขวัญมากเช่นกัน มีที่มาคือ ในยุคที่จอมโจรชื่อดังตี๋ใหญ่เดินทางมาที่ท่าฉลอม เข้ามาขอพึ่งใบบุญ
สมัยนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะพูดว่า ตี๋ใหญ่เป็นผี ไม่ใช่คนธรรมดา เพราะสามารถหายตัวล่องหนได้ แต่ความจริงตี๋ใหญ่มีวิชาคาถามหากำบัง
หลังจากนั้นประมาณ 3 ครั้ง ตี๋ใหญ่เข้ามาขอเครื่องรางของขลัง และฝากตัวเป็นศิษย์ อีกทั้งยังได้รับปากว่าจะกลับตัวเป็นคนดี จึงได้มอบตะกรุดผงว่านใบลาน ซึ่งเป็นตะกรุดซึ่งคลึงจากมือ
ทำให้ตี๋ใหญ่รอดพ้นแคล้วคลาดจากการถูกจับกุมอย่างเหลือเชื่อ จนเป็นที่มาของตะกรุดที่ชาวบ้านขนานนามว่า “ตะกรุดพอกยา” หรือที่เรารู้จักกันคือ “ตะกรุดตี๋ใหญ่”
กล่าวกันว่า คนมหาชัยที่มีตะกรุดดังกล่าวไว้ในครอบครองต่างหวงแหนกันมาก เพราะเลื่องลือในด้านคงกระพันชาตรีและมหาอุด
อีกทั้งเชื่อกันว่า หากได้หลวงพ่อมาลัยช่วยประพรมน้ำมนต์และเป่ายันต์เกราะเพชรแล้วจะทำให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาดจากภยันตรายต่างๆ
หลวงพ่อมาลัย มักจะปลุกเสกเดี่ยว เนื่องจากได้ร่ำเรียนวิชาต่างๆ มาจากครูบาอาจารย์หลายท่านด้วยกัน อาทิ หลวงปู่แก้ว หลวงพ่อสุด และอาจารย์ศิลป์ วัดบางกระดี่
นำวิชาความรู้ด้านวิทยาคมเป็นกุศโลบายสำคัญในการอบรมประชาชนทั่วไปได้ยึดหลักธรรมน้อมนำจิตใจ เข้าถึงธรรมะได้ง่ายดาย
นอกจากเป็นพระเกจิชื่อดัง ยังมีความชำนาญภาษารามัญ อีกทั้งเป็นพระนักพัฒนา สร้างถาวรวัตถุภายในวัดบางหญ้าแพรกมากมาย เช่น อุโบสถหลังใหญ่ เมรุเผาศพ ศาลาการเปรียญที่มีเอกลักษณ์ศิลปะรามัญ
มีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นทั้งชาวไทย ชาวจีนและชาวรามัญ ให้ความนับถือจำนวนมาก
มรณภาพลงด้วยโรคมะเร็งกระเพาะ เมื่อวันอังคารที่ 15 กันยายน 2563 เวลา 17.08 น. สิริอายุรวม 80 ปี พรรษา 55
หลังเข้ารับการรักษาอาการอาพาธ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร •
โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022