หงส์เหินลม (1)

ญาดา อารัมภีร

‘หงษ์’ หรือ ‘หงส์’ คือคำเดียวกัน สมัยโบราณใช้คำแรก สมัยนี้ใช้คำหลัง หมายถึงสัตว์ปีกตระกูลสูงในป่าหิมพานต์

แม้ชื่อเสียงเรียงนามของหงส์จะคุ้นหู แต่ไม่มีใครเคยเห็นตัวจริงมาก่อน เนื่องจากเป็นสัตว์ในจินตนาการ

หงส์ในวรรณคดีมีเอกลักษณ์เฉพาะ มิใช่หงส์แบบฝรั่งที่มีขนสีขาวทั้งตัว ขณะว่ายน้ำช่วงคอยาวโค้งงอเป็นตัวเอส (S) ในภาษาอังกฤษ

น่าสังเกตว่า “โองการแช่งน้ำ” วรรณคดีสมัยอยุธยาใช้ทั้งคำว่า ‘ห่าน’ และ ‘หงส์’ ดังจะเห็นจากตอนแรกกล่าวถึงหนึ่งในพระผู้เป็นเจ้าตามคติศาสนาพราหมณ์ฮินดู คือ พระพรหม พระผู้สร้างสรรพสิ่ง ทรงหงส์เป็นพาหนะ

“โอมไชยไชยไขโสฬสพรหมญาณ บานเศียรเกล้า เจ้าคลี่บัวทอง ผยองเหนือขุนห่าน

ท่านรังก่อดินก่อฟ้า หน้าจตุรทิศ ไทยมิตรดา มหากฤตราไตร อมไตยโลเกศ

จงตรีศักดิท่าน พิญาณปรมาธิเบศ ไทธเรศสุรสิทธิพ่อ เสวยพรหมาณฑ์ใช่น้อย

ประถมบุญภารดิเรก บูรภพบรู้กี่ร้อย ก่อมาฯ”

อย่างไรก็ดี ตอนที่อัญเชิญทวยเทพลงมาเป็นสักขีพยานในพระราชพิธีศรีสัจปานกาล (ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา) กวีใช้คำว่า ‘หงส์’

“ขุนหงส์ทองเกล้าสี่ช่วยดู ชรอ่ำฟ้าใต้แผ่นหงาย”

 

ดังนั้น ‘ห่าน’ หรือ ‘หงส์’ ในโองการแช่งน้ำ คือสัตว์ชนิดเดียวกัน ตัวเดียวกัน ทำหน้าที่เดียวกัน

เป็นพาหนะของพระพรหมผู้มีสี่พักตร์สี่เศียร (สี่หน้าสี่หัว) ดังข้อความว่า ‘หน้าจตุรทิศ’ และ ‘เกล้าสี่’ ลักษณะของหงส์ในที่นี้ไม่ใช่อย่างหงส์ฝรั่ง และไม่ใช่ห่าน

ข้อความว่า ‘ผยองเหนือขุนห่าน’ มีความหมายเดียวกับ ‘ขุนหงส์ทอง’ หมายถึง พระพรหมประทับบนหลังหงส์ทองเหาะเหินไป ขุนห่าน คือ หงส์ทอง ขุนหงส์ทองเกล้าสี่ คือ พระพรหมทรงหงส์ทองเป็นพาหนะนั่นเอง ความคิดนี้ปรากฏในวรรณคดีหลายเรื่องหลายสมัย อาทิ “กาพย์เห่เรือ” พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีสมัยอยุธยา

“สุวรรณหงส์ทรงภู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์

เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

ในขณะที่ “ลิลิตกระบวนพยุหยาตราเพชรพวง” ผลงานของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) สมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พรรณนาถึงเรือพระที่นั่งดังกล่าวว่า

“สุวรรณหงส์เหินเห็จฟ้า ชมสินธุ์

ดุจพ่าห์พรหมินบิน ฟ่องฟ้อน

จัตุรมุขพิมานอินทร์ อรอาศน์

เปนที่นั่งรองร้อน ทุเรศร้างวังแรม” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ทำนองเดียวกับ “กาพย์เห่เรือ” พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์เมื่องานพระบรมราชาภิเษกสมโภช พุทธศักราช 2454 ดังนี้

“สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งอนชดช้อยลอยหลังสินธุ์

เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์ บินแต่ฟ้ามาสู่บุญ”

 

ไม่ต่างจาก “กาพย์เห่เรือ” พระนิพนธ์พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีทรงเปิดพระปฐมบรมราชานุสรณ์ (หรือพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสะพานพระพุทธยอดฟ้า ที่เรียกขานกันสั้นๆ ว่าสะพานพุทธ) เมื่อพุทธศักราช 2475 พรรณนาว่า

“งามผงาดราชพ่าห์เพี้ยง พรหมทรง

พระธินั่งศรีสุพรรณหงส์ รเห็ดห้วง

หงส์ทองล่องลอยลง รองบาท พระฤๅ

กลอนเกริ่นเพลินพายจ้วง พากย์แจ้วจำเรียง ถวายแลฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

อีกทั้ง “กาพย์เห่เรือ” ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พุทธศักราช 2500 อาจารย์หรีด เรืองฤทธิ์ ประพันธ์ไว้ดังนี้

“ศตวรรษยี่สิบห้า พุทธกาล ล่วงเอย

เรือแห่ไตรรัตน์ขนาน แข่งน้ำ

สุพรรณหงส์เปรียบหงส์พิมาน พรหมระเห็จ

ฉลองแล่นชลาจ้ำ จ่อมจ้วงฝีพาย ฯ

สุพรรณหงส์เพียงหงส์พรหม บินลอยลมลงนัที

เป็นอาสน์พระพุทธ์มี สิริล่องท้องชลาลัย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ยิ่งไปกว่านั้น “กาพย์เห่เรือสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี” (พ.ศ.2525) มีกวีสามท่านร่วมกันแต่ง ได้แก่ อาจารย์ภิญโญ ศรีจำลอง อาจารย์มนตรี ตราโมท และอาจารย์เสรี หวังในธรรม

“สวยสง่านาวาทรง สุพรรณหงส์เหินทะยาน

เหนือชลล้นตระการ ปานเหมหงส์ทรงพรหมินทร์ (เหม = ทอง)

ทรงพู่ดูชดช้อย พร้อยพร่างลำล้ำเลอศิลป์

ประดับเด่นเพ็ญโสภิณ วารินรับจับเงางาม”

นอกจากนี้ “กาพย์เห่เรืองานสองร้อยปีแห่งสายสัมพันธ์” บทประพันธ์ของท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา มีข้อความว่า

“เรือศรีสุพรรณหงส์ ฤๅหงส์ทรงองค์พรหมินทร์

สู่รัตนโกสินทร์ เป็นหงส์ทองของจอมสยาม”

 

ทุกตัวอย่างที่นำมาล้วนนำเสนอความคิดเกี่ยวกับ ‘หงส์ทอง’ หรือ ‘สุวรรณหงส์-สุพรรณหงส์’ ว่าเป็นพาหนะของพระพรหม โดยพรรณนาว่าเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ที่มีโขนเรือ (หัวเรือ) แกะสลักเป็นรูปหงส์ จะงอยปากมีพู่ขนาดใหญ่ห้อยลงมา ยามทอดร่างอยู่กลางลำน้ำ ลีลางามสง่าราวกับหงส์ทอง พาหนะทรงของพระพรหมเลื่อนลอยมาจากฟ้า

ตัวอย่างสุดท้ายนี้มีรายละเอียดต่างไป ท่านผู้หญิงสมโรจน์รจนาถ้อยคำเป็นเชิงถามว่า ‘เรือศรีสุพรรณหงส์ ฤๅหงส์ทรงองค์พรหมินทร์’ นี่คือเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ หรือว่าเป็นหงส์ทอง พาหนะของพระพรหมผู้ยิ่งใหญ่กันแน่ และเฉลยคำตอบว่า เรือพระที่นั่งนี้มาสู่กรุงรัตนโกสินทร์เพื่อเป็นหงส์ทอง พาหนะทรงของพระมหากษัตริย์ผู้ดำรงฐานะสูงสุดในแผ่นดินไทย

ดังข้อความว่า ‘สู่รัตนโกสินทร์ เป็นหงส์ทองของจอมสยาม’ ทั้งยังขยายความต่อไปว่า พระมหากษัตริย์พระองค์นี้มีพระนามว่าอะไร พระองค์ได้ทรงสร้างพระพุทธนวราชบพิตร (ปางมารวิชัย) พระราชทานเป็นพระประจำจังหวัด ประดิษฐาน ณ ศาลากลางทุกจังหวัด เพื่อให้อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยปกปักรักษาราษฎรของพระองค์ปราศจากภยันตรายทั้งมวล ดังที่กวีเรียงร้อยถ้อยคำว่า

“ทรงพระพุทธนวราช บพิตรพิลาศสงบงาม

บพิตรผู้พระนาม พระภูมิพลถกลไกร

ทรงสร้างพระราชทาน ประดิษฐานจังหวัดไทย

คุณพระรัตนตรัย จึ่งป้องปกพสกผอง”

ภาพ ‘หงส์ทอง’ ที่สะท้อนผ่านทางเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ คือเรือที่มีโขนเรือแกะสลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกเป็นรูปหงส์หรือนกสีทองขนาดใหญ่ มีพู่ขนจามรีสีขาวห้อยลงมาจากจะงอยปากยื่นยาว ส่วนที่เป็นลำคอแลดูงามระหง ตัวหงส์คือลำตัวเรือทอดยาวออกไป มีหางงอนยาวเป็นช่อลายกนก ยามต้องแสงตะวัน เรือพระที่นั่งจะเปล่งประกายทองแวววับงามจับตาจับใจสมนาม ‘สุพรรณหงส์’ โดยแท้ (สุพรรณ หรือสุวรรณ = ทองคำ)

หงส์หาใช่เป็นเพียงนกตระกูลสูง รูปลักษณ์งดงามเท่านั้นไม่ ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ ติดตามฉบับหน้า •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร