ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล |
เผยแพร่ |
หนึ่งเดือนสุดท้ายก่อนวันที่ประชาชนคนอเมริกันจะออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี แม้ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 นี้จะเป็นการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อคนอเมริกัน แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะไปลงคะแนนเสียงให้ใคร
สำหรับคนอเมริกันหลังจากสี่ปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน คนอเมริกันจำนวนมากไม่พอใจกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 มาอย่างต่อเนื่องปัญหาการว่างงานก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เงินเฟ้อ ความไม่มั่นใจในตัวประธานาธิบดี
และรวมถึงทิศทางการบริหารงานของรัฐบาลด้านอื่นๆ ด้วยที่คนอเมริกันยังไม่พึงพอใจ
เช่น ความไม่พอใจเรื่องคนอพยพลอบเข้ามาในอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย รวมไปถึงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ
ในความเป็นจริงเสียงสัญญานของความไม่พอใจนั้นดังขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐในปี 2022 แล้ว โดยผลสำรวจในช่วงเวลานั้นพบว่าคะแนนความนิยมของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่ำมาก
จากปี 2022 จนถึง 2024 โจ ไบเดน มีโอกาสสองปีที่จะแก้ตัว แต่ดูเหมือนจะทำได้ไม่ดีนัก
และจุดอ่อนที่สำคัญด้านการบริหารประเทศนี้ได้ส่งผลกระทบต่อรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส ด้วยเมื่อเธอก้าวเข้ามาเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน เพราะเธอคือหนึ่งในทีมบริหารประเทศคนสำคัญที่อยู่เคียงข้างโจ ไบเดน
การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญกับคนอเมริกันอย่างมาก การได้ประธานาธิบดีคนใหม่เป็นการบ่งบอกถึงเสียงของคนอเมริกันว่าพวกเขาต้องการอะไร และคาดหวังอะไร
ผู้นำคนใหม่ย่อมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่นโยบายด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองภายในประเทศ
รวมถึงจะนำพาประเทศเข้าสู่สงคราม หรือยุติสงคราม
จะทำให้อเมริกามีบทบาทนำในเวทีโลก หรือถอยห่างจากการเข้าไปมีบทบาทในภูมิภาคต่างๆ ของโลก
ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง พบว่าคะแนนความนิยมจากผลโพลของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส มีความสูสีใกล้เคียงมากแบบ “neck and neck”
และทั้งคู่เดินสายหาเสียงอย่างต่อเนื่องในรัฐ swing state อันได้แก่รัฐที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรคใด ซึ่งคะแนนสามารถเทไปฝั่งไหนก็ได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “undecided voter” คือยังไม่ตัดสินใจว่าจะไปโหวตให้ใคร
และคนกลุ่มนี้เองที่ทั้งทรัมป์และแฮร์ริส ต้องเร่งดำเนินการหาเสียง และพยายามเข้าถึงให้ได้ในช่วงเวลาที่เหลือนี้ เพราะอาจจะเป็นคะแนนที่พลิกเกมการเลือกตั้งได้
Undecided Voter คือใคร?
โดยส่วนใหญ่คือผู้ที่มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองน้อย และมีความรู้สึกต่อพรรคการเมืองทั้งเดโมแครต และรีพับลิกัน อย่างไม่ชัดเจน
เป็นผู้ที่ระบุไม่ได้ว่าตัวเองต้องการอะไร ชอบนโยบายแบบใด
ผู้ที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะลงคะแนนเสียงให้ใครนั้นมีแนวโน้มว่าจะเป็น กลุ่มคนหนุ่มสาว ผู้ที่สำเร็จการศึกษาไม่สูง และมีรายได้ต่ำเมื่อเทียบกับผู้ที่โหวตให้พรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน
ดังนั้น ในแต่ละปีการเลือกตั้ง ทั้งสองพรรคการเมืองจึงมีการรณรงค์หาเสียงให้คนกลุ่มนี้ออกมาสนับสนุนพรรคของตนให้มากที่สุด
เพราะการตัดสินใจของคนกลุ่มนี้ในช่วงระยะเวลาท้ายๆ อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่จะตัดสินได้ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี โดยมีการศึกษาต่อไปด้วยว่าแล้วอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้คนกลุ่มที่ตัดสินใจไม่ได้นี้ ตัดสินใจได้ในท้ายสุดว่าจะเลือกใคร
แน่นอนว่าในปีการเลือกตั้ง 2024 จนถึงวันนี้เดือนสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งก็ยังมี undecided voter ที่ไม่รู้ว่าจะลงคะแนนให้ทรัมป์ หรือแฮร์ริส หรืออาจจะไม่ลงคะแนนเลยและนอนรอดูผลเลือกตั้งอยู่ที่บ้าน
สำหรับโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ว่าคนจะรัก หรือเกลียด แต่เขาเป็นที่รู้จัก มีความเป็นตัวเองอันเป็นเอกลักษณ์ และเคยเป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
การไม่ไปโหวตให้ทรัมป์ก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มคนพวกนี้จะไปลงคะแนนให้นางแฮร์ริส เพราะนางกมลา แฮร์ริส แม้จะมีชื่อเสียง แต่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนบางคนกลับพูดว่าไม่ได้รู้จักเธอ หรือผลงานมากนัก รวมถึงจุดยืนที่แน่ชัดทางการเมืองของเธอ
การหาเสียงของแฮร์ริสในประเด็นด้านเศรษฐกิจ ผู้ฟังก็ยังรู้สึกคลุมเครือ และไม่เห็นเป็นรูปธรรม
undecided voter ในปีนี้ยังอาจเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ตามเรื่องการเมืองอย่างใกล้ชิด หรือไม่ได้ติดตามเลยแม้แต่น้อย แต่เพิ่งจะเริ่มนึกถึงการเมืองเมื่อต้องตัดสินใจว่าจะโหวตให้ใคร หรืออาจจะเป็นกลุ่มคนติดตามการเมือง แต่เมื่อได้ฟังนโยบาย ดูการหาเสียงแล้วไม่ถูกใจทั้งทรัมป์และแฮร์ริส
การเลือกตั้งที่ดูเหมือนว่าจะทำนายผลได้ยากครั้งนี้ ทุกคะแนนโหวตมีความสำคัญ นอกจากพยายามรักษาฐานเสียงเดิม ทั้งคู่ต้องเร่งทำคะแนน ทุ่มเทเงินทุนเพื่อการโฆษณา รณรงค์หาเสียงในสี่สัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้งเพื่อขายนโยบายให้กับผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเพื่อเพิ่มโอกาสในชัยชนะให้ได้มากที่สุด
ด้วยเหตุนี้การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และการเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการของคนกลุ่มนี้ที่มีความซับซ้อน อาจจะทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจในวินาทีสุดท้าย ออกมาลงคะแนนเสียงให้ในวันเลือกตั้ง
และอาจเกิดเซอร์ไพรส์เปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้เลยทีเดียว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022