‘คดีตากใบ’ อาจถอดชนวนได้ นำนโยบาย 66/23 มาประยุกต์ใช้

พลันที่เสียงระเบิดคาร์บอมบ์เกิดขึ้นบริเวณใกล้บ้านพักนายอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อ 29 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา สะท้อนนัยยะทางการเมืองทั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาจรวมถึงการเมืองระหว่างประเทศที่ประเทศมหาอำนาจกำลังสร้างสงครามเย็นกันอยู่ โดย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยอยู่ในจุดล่อแหลมทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกด้วยจุดหนึ่ง

ที่กล่าวว่า เหตุคาร์บอมบ์สะท้อนนัยยะทางการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเห็นได้จากจุดที่เกิดระเบิดคาร์บอมบ์ผู้ก่อเหตุตั้งใจวางใกล้บ้านพักข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดนราธิวาส ที่สำคัญวัน เวลาเกิดเหตุ เกิดก่อนถึงวันที่อายุความ “คดีตากใบ” จะสิ้นสุดลงใน 25 ตุลาคม 2567 ที่จะถึงนี้ เป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงรัฐบาลและสังคมว่า ประชาชนในพื้นที่จำนวนหนึ่งต้องการพิสูจน์ “ความเป็นธรรม” และติดตามคดีนี้อยู่

คงจะต้องตัดตอนความเป็นมาของ “คดีตากใบ” ให้สั้นเข้า เพราะสามารถหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้ไม่ยาก

ส่วนที่จะเริ่มบทความในวันนี้ก็ คือ เมื่อศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟ้อง อันแสดงว่าศาลชั้นต้นเห็นว่า “คำฟ้องมีมูล” อย่างไรก็ตาม เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์

ประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง การแก้ปัญหาฝ่ายบริหารต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง “ชาติ พรรค และบุคคล” ให้ดี

แน่นอน ผู้ที่มีวุฒิภาวะ “ชาติ” ต้องมาก่อน

ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องแสดงความ “จริงใจ” ขวนขวายทุกวิถีทางที่จะกำกับ ติดตามตัวจำเลยที่หลบหนี เพื่อนำมาสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดในบ้านเมืองทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งโจทก์และจำเลย

 

ที่ผ่านมา จากการให้สัมภาษณ์ของฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งอยู่ฝั่งรัฐบาลล้วนให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องของบุคคล การตามตัวเป็นเรื่องของ จนท. ถือได้ว่า “พลาด” ไปแล้ว แต่ไม่ควรพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นก็เป็นแผลร้าวลึกมาจนทุกวันนี้

ดังนั้น ณ ปัจจุบัน ถ้านำ “ชาติ” มาเป็นที่ตั้งดังกล่าวข้างต้น ก็จะทำให้การตัดสินใจแก้ปัญหาอยู่ในจุดที่เหมาะสมต่อการสร้างความเป็นธรรม และสร้างความเข้าใจระหว่างกัน

ในฐานะที่ผมเคยอยู่ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ผ่านมา ได้จัดทำรายงานการศึกษา จำนวน 2 ฉบับ คือ

1. รายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบกับรายงาน เมื่อ 19 สิงหาคม 2563

2. รายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ เพื่อการพัฒนา สร้างสันติสุขและประชาธิปไตยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรายงานฉบับนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชวน หลีกภัย) สั่งบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมแล้ว แต่หมดสมัยประชุมก่อน

รายงานการศึกษาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ล้วนเสนอแนะให้ฝ่ายบริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำนโยบายการเมืองนำการทหาร ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

 

สําหรับ “คดีตากใบ” นับจากนี้ไป ผมขอให้ความเห็นต่อแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยความสุจริตใจ ดังนี้

1. รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษประชาชนต่อเหตุการณ์ “คดีตากใบ” ในอดีต แม้เหตุการณ์จะผ่านพ้นไปนานเพียงใดก็ตาม

ในรายงานฉบับที่ 1 หน้าที่ 13 ข้อที่ 7 ให้ข้อสังเกตว่า

“ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฯลฯ ควรกล่าวขอโทษต่อสาธารณชน (Public Apology) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศขณะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง และนายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศอยู่ในปัจจุบัน ควรแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะต่อเหยื่อของความรุนแรง เนื่องจากรัฐมีความบกพร่องและขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองให้ดำเนินไปตามสันติวิธี จนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และความรู้สึกของประชาชนอย่างมาก รวมทั้งแสดงเจตจำนงที่จะประกันความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน โดยพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและช่วยรักษาบรรยากาศของการปรองดองในประเทศให้ดียิ่งขึ้น จึงต้องให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าการยอมรับผิดชอบและการขอโทษเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นที่จะนำไปสู่ความปรองดองในชาติ ทั้งนี้ ไม่ว่าเหตุการณ์จะผ่านพ้นไปนานเพียงใดก็ตาม” (อ้างอิงรายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), 2555 : 244)

2. รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรขวนขวาย กระตือรือร้น ในการสืบหาตัวจำเลยมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลอย่างถึงที่สุดก่อนจะหมดอายุความ

3. รัฐบาลควรปรับแนวทางในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนโยบายและโครงสร้าง โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และนำนโยบายการเมืองนำการทหาร ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งรวมไปถึงการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยสันติภาพด้วยความจริงใจ เพื่อแก้ไขลดปัญหาความรุนแรงในพื้นที่

โดยยึดหลักการ “ให้อภัย” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในคำสอนของศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม

 

ในท้ายที่สุด อยากจะเรียนว่า “คดีตากใบ” ถือเป็นวิกฤตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และของประเทศที่ยืดเยื้อยาวนานเกือบจะครบ 20 ปี ใน 25 ตุลาคม 2567 นี้ รัฐใช้งบประมาณและทรัพยากรไปมากมายในการแก้ไขปัญหา ขณะที่ประชาชนกลับยากจน

ในท่ามกลางความยากจน ประชาชนกลับต้องการ “ความยุติธรรม”

รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อคำนึงถึง “ชาติ” ต้องให้ “ความยุติธรรม” แก่ประชาชนได้

ขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่ก็ต้องคำนึงถึง “ชาติ” เช่นกัน เมื่อ Peace Survey โดยสถาบันพระปกเกล้า เคยสำรวจความเห็นประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร

ดังนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ก็ควรรักษาสิทธิของตนเองไม่ให้ผู้ที่มีความเห็นต่างส่วนน้อยทั้งจากภายในประเทศและที่แทรกแซงจากต่างประเทศมาสร้างความไม่สงบในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเห็นหลากหลายทางการเมืองก็ควรใช้ช่องทางรัฐสภาผ่านการเลือกตั้งของประชาชนเข้ามาทำหน้าที่ผลักดันนโยบายพัฒนาพื้นที่ของตนเองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยต่อไป