ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์
ปรีดี แปลก อดุล
: คุณธรรมน้ำมิตร (36)
ร.8 สวรรคต
นายปรีดี พนมยงค์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่นานก็เกิดเหตุใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ร.8 สวรรคตด้วยพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 นายปรีดี พนมยงค์ จึงแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก
พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับเลือกจากสภาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2489 ด้วยการสนับสนุนจากพรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญ โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน
การดำเนินงานของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เต็มไปด้วยความยุ่งยาก จนกระทั่ง นายดิเรก ชัยนาม ขอลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2490 โดยแถลงเพียงสั้นๆ ว่าต้องการพักผ่อนและมิได้มีความขุ่นข้องหมองใจกับบุคคลใด แต่ต่อมาได้อธิบายว่าไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีที่เอาใจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือนักการเมืองกลุ่มหนึ่งมากเกินไป
เกิดความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาลและมีการโจมตีซึ่งกันและกันอย่างหนัก ทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลตกต่ำมากยิ่งขึ้นและมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่า พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ โดยเฉพาะกรณีสวรรคตได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถคลี่คลายสาเหตุโดยแน่ชัด
หนังสือพิมพ์และฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ได้ถือเป็นสาเหตุโจมตีรัฐบาลอย่างหนัก จนรัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2489 [บช.1]
“รัฐประหาร พ.ศ.2490” ของ สุชิน ตันติกุล บันทึกความพยายามแก้ไขปัญหาภายในของรัฐบาลสรุปได้ดังนี้
วันที่ 3 กรกฎาคม 2490 มีการประชุมเป็นการภายในเพื่อหาทางแก้ไขความตกต่ำของรัฐบาล ที่ทำเนียบท่าช้าง มีนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ หลวงนฤเบศมานิต อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พล.ร.ต.สังวรสุวรรณชีพ สารวัตรใหญ่ทหารบก พล.ต.ต.พระพิจารณ์พลกิจ อธิบดีกรมตำรวจ และ พล.ท.เรือง เรืองวีรยุทธ ปลัดกระทรวงกลาโหม
หลวงอดุลเดชจรัสพูดถึงการปฏิบัติงานของทางราชการอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่พอใจในพฤติกรรมทุจริตกินโกงในวงข้าราชการตั้งแต่ชั้นเล็กๆ จนถึงชั้นผู้ใหญ่อย่างเอิกเกริก โดยรัฐบาลไม่สามารถจะหาทางปราบปรามหรือปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ดูเหมือนว่าคณะรัฐบาลจะปล่อยปละละเลย ทำให้เข้าใจว่า ถ้าไม่เกิดจากความอ่อนแอไร้สมรรถภาพ “ก็รู้เห็นเป็นใจในการกระทำเช่นนั้นด้วย”
นำไปสู่การโต้เถียงกันอย่างรุนแรงในที่ประชุมถึงกับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ถามหลวงอดุลเดชจรัสตรงไปตรงมาว่าต้องการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือ แต่ได้รับคำปฏิเสธ
ท้ายที่สุดที่ประชุมได้ตกลงกันที่จะมีการแก้ไขปรับปรุงคณะรัฐมนตรีใหม่
คอร์รัปชั่น
ขณะนั้น ข่าวการวิพากษ์วิจารณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในวงการรัฐบาลได้ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นประจำ จึงมีเสียงเรียกร้องให้หลวงอดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานกรรมการปราบปรามข้าราชการทุจริต เนื่องจากสมัยเป็นอธิบดีกรมตำรวจเคยจับรัฐมนตรีในข้อหาทุจริตมาแล้ว
นายเลียง ไชยกาล หัวหน้าพรรคประชาชน และ พ.ต.นิล วัฒนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าพบหลวงอดุลเดชจรัส ขอร้องให้เป็นประธานกรรมการปราบปรามข้าราชการทุจริต แต่หลวงอดุลเดชจรัสตอบปฏิเสธ โดยอ้างว่ากฎหมายให้อำนาจน้อยเกินไป จับได้แค่เฉพาะชั้นเอก ถ้าจะปราบกันจริงๆ ต้องสามารถจับรัฐมนตรีหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีได้ด้วย
เดือนธันวาคม พ.ศ.2489 รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์พยายามแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชนด้วยการจัดตั้ง “องค์การสรรพาหาร” โดยมีนโยบายขายสินค้าให้แก่ประชาชนในราคาถูกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่กิจการดำเนินไปไม่กี่เดือนก็ต้องล้มเลิกไปในเดือนพฤษภาคม 2490 เนื่องจากความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหาร ขาดการตรวจตราควบคุมโดยเคร่งครัด จนเกิดการคอร์รัปชั่นและไม่สามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ รัฐบาลต้องใช้จ่ายเงินไปนับเป็นสิบๆ ล้านบาท
พรรคประชาธิปัตย์ได้อภิปรายโจมตีความล้มเหลวขององค์การสรรพาหารในการเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2490 และนำไปสู่การยกเลิกองค์การนี้ในที่สุด
หลังจากการเปิดอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่ 2 ของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ปรากฏว่าไม่มีชื่อ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ผู้อำนวยการองค์การสรรพาหาร อดีตแกนนำคนสำคัญของเสรีไทยและหนึ่งในผู้ใกล้ชิด นายปรีดี พนมยงค์ เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้แต่อย่างใด
กินจอบกินเสียม
อีกมาตรการหนึ่งของรัฐบาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยรัฐบาลได้ให้สิทธิพิเศษแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนสามารถสั่งซื้อสิ่งของจากรัฐบาลไปจำหน่ายให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นของตนในราคาถูก แต่กลับนำมาซึ่งการทุจริตอย่างแพร่หลาย ถึงกับหนังสือพิมพ์ตั้งสรรพนามล้อเลียนว่า “ผู้แทนกินจอบกินเสียม” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเกษตรที่รัฐบาลต้องการให้ถึงมือประชาชนในราคาถูก แต่ผู้แทนราษฎรบางคนกลับยักยอกและบางคนก็นำไปขายต่อโดยบวกกำไรเข้าตัวเอง
ปัญหาเรื่องการลักลอบส่งข้าวไปขายต่างประเทศก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่นำไปสู่การทุจริตอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการโดยรัฐบาลแก้ไม่ตก หนังสือพิมพ์และประชาชนกล่าวหาว่าบุคคลในคณะรัฐบาลมีส่วนพัวพัน แม้แต่รายงานของหน่วยราชการบางหน่วยก็ได้กล่าวถึงความบกพร่องของรัฐบาลไว้ว่า “ความไร้สมรรถภาพและการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวได้นำมาซึ่งความเสื่อมเสียในการควบคุมการนำสินค้าออกไม่ได้ผลเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักลอบส่งสินค้าออก ซึ่งอาจมีปริมาณตั้งครึ่งหนึ่งของปริมาณข้าวที่ส่งออกโดยถูกต้องตามกฎหมาย”
ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ นายตำรวจสันติบาลอดีตสมาชิกเสรีไทยก็ได้วิจารณ์การทุจริตเรื่องข้าวในวงการรัฐบาลไว้ดังนี้
“การคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นอย่างขนานใหญ่เมื่อทางราชการได้ประกาศให้ผู้ที่สามารถกว้านซื้อข้าวส่งองค์การข้าวได้รับสิทธิส่งข้าวออกภายนอกประเทศอย่างเสรี 3%
ด้วยประกาศฉบับนี้ของรัฐบาลก็เป็นเหตุให้ชาวนาถูกจับถูกบังคับให้ขายข้าว มิให้เก็บเอาข้าวนั้นไว้ต่อไป เพราะผู้ทรงอิทธิพลต้องการเซ็งลี้หาผลกำไรอย่างมหาศาลในการส่งขายนอกประเทศ นอกจากนั้นก็ยังปรากฏว่า ข้าวสารที่ตกถึงมือราษฎรเพื่อการบริโภคก็กลายเป็นข้าวสารชนิดเลว เป็นข้าวเก่าที่เหม็นสาบ หรือไม่ก็เป็นข้าวที่แหลกหาชิ้นดีไม่ได้ ไม่ผิดอะไรกับต้มให้หมูกิน ราษฎรก็แช่งชักหักกระดูกรัฐบาลอย่างอึงมี่ว่า คนไทยปลูกข้าวเอง แต่ต้องมากินข้าวที่มีคุณภาพเลวเช่นนี้ ซ้ำก็หาซื้อยากเสียอีกด้วย”
ความเชื่อของหนังสือพิมพ์และประชาชนเรื่องการคอร์รัปชั่นในสมัยนั้นจึงไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะพ่อค้าและข้าราชการเท่านั้น แต่ได้แผ่ขยายไปถึงคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาอีกด้วย
อีกหลักฐานหนึ่งที่ชัดเจนของการทุจริตคอร์รัปชั่นมาจากการให้สัมภาษณ์นิยม สุขรองแพ่ง เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2557 ของพระปัญญาคุณ ปุณณะวังโส “ขุนศรีศรากร” ซึ่งพาดพิงคนสนิทของนายปรีดี พนมยงค์ คือ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ที่มีกรณีอื้อฉาวจากการทุจริตในองค์การสรรพาหาร
“วันหนึ่ง มร.เดวิด เลขาฯ พระเจ้าฟารุก มาเสนอขายฝิ่นให้ในราคากรัมละ 70 สตางค์ เป็นเงินทั้งสิ้น 22 ล้านบาท ขณะนั้นราคาฝิ่นในพระนครกรัมละ 1.40 บาท ถ้าซื้อไว้จะมีกำไรเท่าตัวคือ 22 ล้านบาท ขุนศรีฯ จึงเสนอไปยังรัฐมนตรีคลังเรื่องเงียบหายไป อีก 1 เดือนต่อมามีคำสั่งให้ขุนศรีฯ เป็นผู้ลงนามอนุมัติซื้อฝิ่นกรัมละ 1.40 บาทในวงเงิน 44 ล้านบาท
ขุนศรีฯ ปฏิเสธเรื่อง ให้รัฐมนตรีช่วยหรือรัฐมนตรีว่าการเป็นผู้เซ็นเอง นายทองเปลวได้โทรศัพท์ถึงขุนศรีฯ หว่านล้อมให้เซ็น ขุนศรีฯ จึงถามว่าเงินที่เกิน 22 ล้านบาทจะให้ทำอย่างไร นายทองเปลวตอบว่าจะเอาเข้าพรรคสหชีพ ขุนศรีฯ แนะนำว่าถ้าจะเอาเข้าพรรคการเมือง ข้าราชการการเมืองก็ควรดำเนินการกันเอง เมื่อถึงจุดนี้ นายทองเปลวจึงพูดว่า ขุนศรีฯ ต้องเซ็น ถ้าไม่เซ็นปลด
ขุนศรีฯ จึงไปหานายกรัฐมนตรี หลวงธำรงฯ ซึ่งเป็นเพื่อนกันมาก่อน แต่คำตอบที่ได้รับก็คือ “อั๊วเป็นนายกฯ ได้ก็เพราะทองเปลว อั๊วต้านทานเขาไม่ได้หรอก” เมื่อผิดหวังจากนายกรัฐมนตรี ขุนศรีฯ จึงไปหาหลวงอดุลฯ แต่หลวงอดุลฯ ก็ช่วยอะไรไม่ได้นอกจากพูดสั้นๆ ว่า “ออกดีกว่า เวลานี้มันโกงกันสะบั้น ออกดีกว่า เพื่อความปลอดภัย”
ไม่กี่วันต่อมาก็มีคำสั่งให้ขุนศรีศรากรออกจากราชการด้วยเหตุรับราชการนาน 28 ปี และอายุตัว 46 ปี
แว่วเสียงรถถัง
ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนและความตกต่ำของรัฐบาลจนประชาชนหมดความเชื่อถือ จึงนำไปสู่เสียงเรียกร้องหาผู้มีอำนาจมาแก้ไข รวมทั้งเกิดข่าวการรวมตัวของฝ่ายทหารเพื่อทำการรัฐประหาร
ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ นายตำรวจสันติบาล เล่าว่าเมื่อไปรายงาน พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ อธิบดีกรมตำรวจ อดีตแกนนำเสรีไทยเพื่อขอทำการจับกุมผู้ที่จะก่อการรัฐประหาร อธิบดีกรมตำรวจไม่อนุมัติ บอกว่าขอเป็นกลางพร้อมกับอธิบายว่า “คุณเฉียบอยู่สันติบาลก็รู้ดีอยู่แล้วไม่ใช่หรือว่า ราษฎรไม่ชอบรัฐบาลหลวงธำรงฯ หนังสือพิมพ์ก็ด่าแม่อยู่เรื่อย ก็เมื่อราษฎรเขารังเกียจรัฐบาลนี้ว่าไม่ได้ความแล้ว เรายังจะสนับสนุนให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อไปก็เป็นเรื่องไม่ถูก คุณอยู่สันติบาลก็ย่อมรู้อยู่เต็มอกว่ามันเซ็งลี้กันนัก ให้ออกไปเสียทีก็ดี เราไม่เกี่ยวเพราะเราเป็นข้าราชการประจำ”
พ.ต.ท.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข นายตำรวจสันติบาลผู้ซื่อตรง ก็ตอบ ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ ในคำถามเดียวกันนี้ว่า “เรื่องกบฏกแบตผมรู้สึกเฉยๆ เพราะคนที่จะก่อการเช่นนั้นก็เป็นคนไทยที่รักชาติบ้านเมืองเหมือนกัน เมื่อเขาเห็นว่าผู้บริหารประเทศบ้านเมืองไปไม่ไหวแล้วก็เป็นหน้าที่ของผู้รักชาติทุกคนที่จะต้องรับผิดชอบต่อประเทศชาติบ้านเมือง เขาก็ต้องการให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองด้วยกันทั้งนั้น คุณดูซิเวลานี้บ้านเมืองของเราเป็นอย่างไร”
รัฐนาวาของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์จึงอยู่ในสภาพสิ้นหวัง โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้รับความเชื่อถือแม้แต่จากคณะราษฎรด้วยกัน
เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2490 สถานการณ์ของรัฐบาลทรุดหนักลงไปอีก เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นเวลาถึง 7 วัน 7 คืน โดยมีการถ่ายทอดให้ประชาชนได้รับฟังทางวิทยุกระจายเสียงด้วย ถึงแม้รัฐบาลสามารถชนะในการลงมติ แต่รัฐบาลก็ลาออกเพื่อให้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2490
และในวันเดียวกันนั้น พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ตามระบบเสียงข้างมากของการเมืองไทย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022