ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง
ตลกหน้าม่าน
: ความหรรษาของคนไทย
ในช่วงสงคราม (2)
การเล่นสวดคฤหัสถ์มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงสงครามเกิดการแสดงชนิดใหม่ขึ้นมาโดยใช้แนวทางในการเล่นจําอวด
บ้างก็เรียกว่า ละครย่อย
ความเฟื่องฟูของ “ตลกหน้าม่าน”
สมัยนั้น คณะจำอวดที่ขึ้นชื่อลือนามในยุค คือ “คณะเสมาทอง” ซึ่งมีนายเจริญเป็นแม่คู่ นายตุ๋ยเป็นคอสอง นายอบเป็นภาษา นายทิ้งเป็นตลก (ตุ๊ย) ส่วนยุคหลังมีคณะจำอวดที่มีชื่อเสียงตามกันมาติดๆ คือ “คณะสี่สมิง” มี “แจ๋ว ดอกจิก” (เฉลิม บุญยเกียรติ) เป็นแม่คู่ ขวัญ สุวรรณะ เป็นคอสอง เริ่ม เรียนรอบกิจ เป็นภาษา และสนิท เกษธนัง เป็นตลก (ตุ๊ย) (อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, 111) คณะสี่สมิงมีชื่อเสียงอย่างมากในยุคสงครามซึ่งสอดคล้องกับความทรงจำของใหญ่ นภายน นักดนตรีอาวุโสเล่าไว้เช่นกัน (ใหญ่ นภายน, 2548, 146)
“จำรูญ หนวดจิ๋ม” (จำรูญ น้อยทิพย์, 2458-2522) นักแสดงตลกร่วมสมัยเล่าว่า “สมัยนั้นจำอวดมีเพียงสองคณะในประเทศไทย คือ คณะเสมาทองของนายทิ้ง มาฬมงคล เป็นหัวหน้า ประกอบด้วยนายฟ้อน คุ้มเดช นายตุ๋ย ชำนาญประดิษฐ์ นายอบ บุญติด นายเจริญ บุญยกลิน มีการแสดงจำอวดที่โด่งดังมาก เป็นที่รู้จักของนักดูเกือบหมดทั้งประเทศก็ว่าได้” ทั้งนี้ เขาเคยชมคณะสี่สมิงก่อตั้งในช่วง 2474 ก่อนปฏิวัติ 2475 แล้ว (อนุสรณ์งานศพนายสนิท เกษธนัง, 2515)
จากความทรงจำของใหญ่ นภายน เล่าเสริมว่า ต่อมาเกิดคณะจำอวดขึ้นหลายคณะ เช่น คณะเสมาทอง ยุคแรกมีทิ้ง มาฬมงคล เป็นหัวหน้าคณะ ยุคที่สอง มีจำรูญ หนวดจิ๋ม เป็นหัวหน้า คณะสี่สมิง มีเฉลิม บุญยเกียรติ เป็นหัวหน้า คณะเกษธนัง มีสนิท เกษธนัง เป็นหัวหน้า คณะลูกไทย มีศักดิ์ หรือพะยอม จันตรี สาริกบุตร เป็นหัวหน้า คณะเอกสิงห์ มีชุบ เอกสิงห์ เป็นหัวหน้า เป็นต้น (ใหญ่ นภายน, 2548, 146)
จำอวดแบบไทยปะทะจำอวดสไตล์ฝรั่ง
ขวัญ สุวรรณะ สมาชิกคนหนึ่งของคณะสี่สมิงเล่าว่า คณะนอกจากประกอบด้วยสนิท “แจ๋ว ดอกจิก” ตัวเขา และ เริ่ม เรียนรอบกิจ แล้วยังระบุว่ามี นาวา เฮงสมเกียรติ เป็นสมาชิกของคณะด้วย (อนุสรณ์งานศพนายสนิท เกษธนัง, 2515)
จำรูญเล่าว่า “เมื่อคณะของสนิทก้าวออกมาปรากฏและใช้นามคณะว่า สี่สมิง ทำให้เสมาทองเจอคู่แข่งที่น่ากลัวทันที เนื่องจากคณะสี่สมิงใช้การแสดงที่มีภาษาอังกฤษแทรกตลอดเวลา เป็นการยืนยันว่า คณะแสดงคณะนี้มีการศึกษาขั้นสมบูรณ์ที่สุด แม้แต่ชาวต่างชาติสมัยนั้นก็สนใจ ประเภทคนดูยุคนั้นที่มีการศึกษาดีหน่อยก็เข้าใจการแสดงสมัยใหม่ (ยุคนั้น) ได้ และพอใจอย่างมากเสียด้วย” (อนุสรณ์งานศพนายสนิท เกษธนัง, 2515)
จำรูญเล่าอีกว่า สนิทเป็นตลกที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เฉกเช่นเดียวกับอบ บุญติด และขวัญ สุวรรณะ สมาชิกเหล่านี้มีอาชีพหลักคือรับราชการ และรับเล่นตลกเป็นอาชีพเสริม (อนุสรณ์งานศพนายสนิท เกษธนัง, 2515)
ไม่แต่เพียงสไตล์ในการแสดงที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่การแต่งกายของนักแสดงก็แตกต่างกันด้วย จะเห็นได้ว่า คณะเสมาทอง แต่งกายตามแบบสุภาพชนไทยแบบดั้งเดิม เช่น การสวมเสื้อราชปะแตน นุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน มีสไตล์การแสดงจำอวดตามแบบไทย ซึ่งเป็นความขบขันตามความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไป อีกทั้งมีการนำเครื่องดนตรีสมัยใหม่บางชิ้นเข้ามาเล่นประกอบ เช่น เครื่องตีหรือเคาะจังหวะ และแอ็กคอเดียน ดังที่ปรากฏในภาพถ่ายและหลักฐานต่างๆ
ในขณะที่คณะสี่สมิงพยายามนำเข้าสไตล์การเล่นตลกแบบตะวันตกที่ใช้บทสนทนาเป็นภาษาอังกฤษประกอบ โดยมีเครื่องแต่งกายเลียนแบบการแสดงตลกฝรั่ง เช่น สวมหมวก สวมเสื้อกั๊กแบบเคาบอย สวมแว่นขนาดใหญ่ ไว้หนวดจิ๋ม รวมทั้งรับเอาบุคลิกลักษณะที่ได้พบเห็นจากนิตยสารต่างประเทศและภาพยนตร์ต่างประเทศที่พวกเขาเคยเห็นอันสอดคล้องกับกลุ่มคนไทยในเมืองที่เคยเข้าชมภาพยนตร์ตลกอันเป็นภาพยนตร์เงียบที่โด่งดังสมัยนั้น เช่น ฮาร์โรลด์ ลอยด์ (Harold Lloyd) หรือฉายา “ฮาร์โรลด์ แว่นตาโต” ที่นักชมภาพยนตร์สมัยนั้นรู้จัก และชาลี แชปลิน (Charlie Chaplin)
ดังเช่นการแต่งกายของเริ่ม เรียนรอบกิจ ที่เลียนแบบมาใช้เป็นจุดเด่นของคณะเพื่อเรียกเสียงหัวเราะในกลุ่มผู้ชม อันสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มผู้ชมของคณะสี่สมิงเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษา พ่อค้า เสมียนห้างร้าน นักศึกษา เป็นต้น
ตลาดผู้ชมตลกที่ต่างกัน
ด้วยสไตล์ของการแสดงจำอวดที่แตกต่างกันทำให้เกิดการแบ่งตลาดผู้ชมเปลี่ยนแปลงไปตามถิ่นฐานด้วย เช่น เสมาทองจะจับจองเวทีตามต่างจังหวัดหรือชนบทละแวกพระนคร จำรูญเห็นว่าเป็นเพราะแสดงแบบไทยเดิม ดูง่ายดี ไม่ต้องคิด ส่วนสไตล์การเล่นของวงสี่สมิงนั้นแสดงให้กับผู้ชมที่มักเป็น “พวกห้างร้านและสมาคมต่างๆ และสโมสรที่มีนักศึกษาดู พากันนิยมและหาไปแสดง” (อนุสรณ์งานศพนายสนิท เกษธนัง, 2515)
ในสายตาของคนร่วมสมัยอย่าง ส.อาสนจินดาเล่าว่า คณะสี่สมิงเป็นคณะจำอวดที่ทันสมัย ใช้เวทีเฉลิมกรุงเป็นที่แสดง ในขณะที่คณะเสมาทองของทิ้ง มาฬมงคล ดังอยู่ตามงานวัดและท้องสนามหลวง คณะสี่สมิงเปลี่ยนการแต่งกายจากนุ่งผ้าม่วงมาเป็นแต่งสากลผูกเน็กไท (อนุสรณ์งานศพนายสนิท เกษธนัง, 2515)
อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่า การขับเคี่ยวความนิยมชมชอบของคณะจำอวดครั้งนั้นจึงมักจัดให้มีคณะทั้งสองนี้ยืนพื้นและแสดงประชันกันทั้งคืน ความโด่งดังของคณะจำอวดทั้งสองปรากฏในงานเฉลิมฉลองใหญ่ เช่น งานวันชาติ และงานฉลองรัฐธรรมนูญ จนทำให้ผู้ชมแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเชียร์คณะที่ตนชื่นชอบตามวิสัยไปด้วย (อนุสรณ์งานศพนายสนิท เกษธนัง, 2515)
ส.อาสนจินดาเล่าว่า การแสดงจำอวดสมัยนั้น “จำอวดในขณะนั้นและแต่ดั้งเดิมให้ความสนุกในด้านสองง่ามสองแง่ แต่สำหรับแนวทางในการเรียกเสียงฮาของสนิท เกษธนัง แล้วเป็นไปอย่างสำบัดสำนวนอันทันสมัย เป็นจำอวดละครย่อยที่ไม่ต้องอาศัยปี่พาทย์และสลับฉากระบำเหมือนอย่างก่อนๆ เขาแสดงอย่างนักแสดงละครพูด เพียงแต่เป็นละครตลกเท่านั้น ไม่ต้องมีสลับฉากและดนตรีช่วย เพื่อนคู่หูของเขามี จำรัส, ล้อม และสมบุญ แว่นตาโต ลูกศิษย์โปรดของเขาและอยู่ละแวกตลาดพลูแห่งเดียวกับเขา คือ เสน่ห์ โกมารชุน” (อนุสรณ์งานศพนายสนิท เกษธนัง, 2515)
“ท้วม ทระนง” เล่าว่า “เมื่อชุดจําอวดรุ่นเดอะได้ทิ้งมรดกเอาไว้ ก็มีคณะใหม่ๆ เกิดขึ้นมาแทน ชุดนี้เรียกตัวเองว่า คณะละครย่อย เล่นกันเป็นทีม เช่น ทีมสี่สมิง ทีมนี้นับว่าเป็นทีมที่ฮิตที่สุดในเวลานั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 ทําให้นักแสดงจําอวดละครย่อยเกิดขึ้นมาหลายคณะ อาทิ เสมาทอง ลูกไทย ลูกประชาชน เอกสิงห์ ศรีเบญจา ฯลฯ ในช่วงนี้ก็มีนักแสดงหน้าใหม่เกิดขึ้นมา เช่น จอก ดอกจันทร์, แจ๋ว ดอกจิก, จิ๋ว ดอกจอก, เสน่ห์, ล้อต๊อก, สมพงษ์, ดอกดิน, สหัส, จํารูญ, สุคนธ์, จุมพล, บังเละ (ตะบันไฟ) และ ฯลฯ จําไม่ไหว” (ไอยเรศ งามแฉล้ม, 2561, 1321)
ต่อมา ในสมัยจอมพล ป. ครั้งรัฐนิยม ทางราชการกำหนดให้เรียกการแสดงตลกหรือจำอวดหน้าม่านใหม่ว่า “หัสนาฏกรรม” (ใหญ่ นภายน, 2548, 146)
กล่าวได้ว่า ในช่วงแห่งการก่อตัวของคณะจำอวดสมัยใหม่นั้น เกิดการแบ่งระหว่างคณะจำอวดสไตล์ไทยที่เล่นมุขที่เข้าถึงความตลกขบขันของชาวบ้าน มีการแต่งกายตามแบบสุภาพชนไทยดั้งเดิมอันมีตลาดผู้นิยมชมชอบในหมู่ชาวบ้าน เล่นตามงานวัด เขตนอกพระนครและชนบทเป็นหลัก
ในขณะที่คณะสี่สมิงพยายามฉีกความตลกของคณะตนออกมาจากแบบเดิม ด้วยการใช้บทสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ การแต่งกายและการลอกเลียนบุคลิกตัวตลกจากภาพยนตร์ตะวันตกให้เป็นตลกคนเมืองหรือตลกผู้มีการศึกษานั่นเอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022