‘มิลตัน’ พายุพลัง ‘อสูร’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

เห็นภาพข่าวความอลหม่านของชาวอเมริกันในรัฐฟลอริดาพากันหนีออกนอกเมืองหลังได้รับแจ้งเตือนจากทางการว่า พายุเฮอร์ริเคน “มิลตัน” เคลื่อนตัวมุ่งหน้าถล่มเมืองเทมปา ทำให้การจราจรติดหนึบยาวหลายกิโลเมตร ผู้คนบางกลุ่มที่ยังห่วงบ้านเรือน ห่วงทรัพย์สินแห่ไปซื้ออุปกรณ์ป้องกันคลื่นกระแสลมจนแน่นร้าน

ก่อนหน้าพายุ “มิลตัน” จะมาเพียง 10 กว่าวัน ชาวอเมริกันริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกผ่านประสบการณ์ร้ายๆ กับพายุเฮอร์ริเคน “เฮลีน” ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน และสูญหายอีกกว่า 280 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศยกให้ “เฮลีน” เป็นพายุพลังอสูรเพราะมีฤทธิ์เดชสุดสุด

“เฮลีน” ก่อตัวในทะเลแคริบเบียนเมื่อวันที่ 22 กันยายน เป็นเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำขนาดเล็กๆ จากนั้นเพียง 4 วันสามารถเพิ่มพลังเป็นพายุเฮอร์ริเคนระดับ 4 มีความเร็วลมสูงสุด 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมงพัดถล่มรัฐฟลอริดา

ถ้าเทียบเฮอร์ริเคน “เฮลีน” กับซูเปอร์พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ที่ถล่มจีน เวียดนาม ลาว พม่าและไทย มีความเร็วลมใกล้เคียงกันมาก

ผู้เชี่ยวชาญบอกสาเหตุเฮอร์ริเคน “เฮลีน” มีฤทธิ์เดชมากเป็นเพราะเส้นทางผ่านของพายุลูกนี้มีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส

ผิวน้ำทะเลที่ร้อนเช่นนี้เป็นเหมือนเชื้อเพลิงชั้นดีที่ช่วยเร่งพลังพายุให้มีฤทธิ์รุนแรงขึ้นและเบ่งพลังให้อนุภาพทำลายล้างกว้างใหญ่กว่าเดิม

ระหว่างที่พายุเฮลีนกระหน่ำใส่พื้นที่บิ๊กเบนด์ ในรัฐฟลอริดา ความเร็วลมอยู่ที่ 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง กระแสลมพายุแรงจัดปั่นคลื่นให้สูงเกือบ 5 เมตรซัดใส่บ้านเรือนตลอดแนวชายฝั่ง และอิทธิพลของพายุกินพื้นที่กว้างถึง 560 กิโลเมตร

ส่วนปริมาณน้ำฝนที่เฮอร์ริเคน “เฮลีน” หอบมาเทใส่พื้นที่ริมฝั่งทะเลตะวันออกของสหรัฐวัดได้ถึง 636,452 ล้านลิตร ซึ่งผลที่ตามมาก็คือเกิดน้ำท่วมใหญ่ คลื่นลมแรงจัด ผู้คนเสียชีวิตและทรัพย์สิน

ในขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ ติดตามดูเฮอร์ริเคน “มิลตัน” มุ่งหน้าเข้าสู่อ่าวเทมปา ผ่านทางเว็บ Climat.gov ขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐ (NOAA)

ภาพถ่ายทางดาวเทียมขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐ แสดงให้เห็นเส้นทางพายุเฮอร์ริเคน “มิลตัน” ที่มุ่งหน้าเข้าสู่รัฐฟลอริดา สหรัฐ ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมนี้

มิลตันเป็นเฮอร์ริเคนลูกที่ 9 ของปีนี้ที่ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก

“เฮลีย์ ธีม” ผู้เขียนรายงานในเว็บดังกล่าวบอกว่า มิลตันเป็นพายุที่ระดับความรุนแรงที่สุดลูกหนึ่งนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา เพราะหลังจากก่อตัวเป็นพายุดีเปรสชั่นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของอ่าวเม็กซิโก พายุลูกนี้พัฒนากลายเป็นพายุเฮอร์ริเคน ระดับที่ 1 ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ความเร็วลม 152 กิโลเมตร/ชั่วโมง

พายุลูกไหนรุนแรงไม่รุนแรง จะวัดกันที่ความเร็วของกระแสลม ความกดอากาศต่ำที่จุดศูนย์กลางพายุ

ในวันที่ 7 ตุลาคม “มิลตัน” พัฒนาเป็นเฮอร์ริเคนพลังอสูร ระดับที่ 5 มีความเร็วลมสูงสุด 289 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ความเร็วลมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ถ้าย้อนบันทึกเก่าๆ ดู มีเฮอร์ริเคนแค่ 2 ลูกเท่านั้น คือในปี 2548 พายุ “วิลมา” และพายุฟีลิกซ์ ปี 2550

ส่วนความกดอากาศต่ำที่จุดศูนย์กลางของพายุ “มิลตัน” 897 มิลลิบาร์ เมื่อนำไปเปรียบเทียบสถิติพายุเฮอร์ริเคนที่เกิดขึ้นในอ่าวเม็กซิโกเท่าที่บันทึกไว้ พบว่า “มิลตัน” เป็นพายุเฮอร์ริเคนลูกที่ 5 ที่มีค่าความกดอากาศต่ำพอๆ กัน

“ธีม” บอกผู้อ่านว่า ในห้วงสัปดาห์นี้ (ระหว่าง 7-13 ตุลาคม) ถ้าคุณกะพริบตา คุณจะพลาดข้อมูลความเคลื่อนไหวของเฮอร์ริเคน “มิลตัน”

 

ขณะที่ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติ ออกคำเตือนชาวฟลอริดาให้ระวังและติดตามพายุมิลตันเนื่องจากมีฤทธิ์เดชที่สุดลูกหนึ่งพร้อมทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้า

ถ้าพายุลูกนี้พัดเข้าใส่เมืองเทมปา ถือป็นพายุรุนแรงในรอบกว่า 100 ปีซึ่งไม่มีใครในอ่าวเทมปาเคยพบเห็นปรากฏการณ์อันหนักหน่วงอย่างนี้มาก่อน

“เจน แคสเตอร์” นายกเทศมนตรีเมืองเทมปาบอกกับนักข่าวว่า ถ้าจัดอันดับธรรมชาติผู้ทรงพลัง รับรองได้เลยว่า เฮอร์ริเคนมิลตันชนะร้อยเปอร์เซ็นต์

“ผมไม่ได้พูดดราม่า นี่คือมหันตภัย ถ้าคุณยังไม่คิดอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยง คุณนั่นแหละกำลังรนหาที่ตาย”

คำเตือนของ “แคสเตอร์” มีขึ้นภายหลังคลื่นใหญ่สูง 4.5 เมตรซัดใส่ชายฝั่งเมืองเทมปา ทั้งๆ ที่พายุเฮอร์ริเคนยังอยู่ห่างจากชายฝั่ง 650 กิโลเมตร

รอบๆ อ่าวเทมปา มีประชากรราวๆ 4 ล้านคน สาเหตุที่คนอเมริกันชื่นชอบบริเวณนี้เพราะอากาศอบอุ่น เฉลี่ย 20-32 องศาเซลเซียส มีชายหาดให้เล่นน้ำทะเลได้เกือบทั้งปี

แต่ในขณะเดียวกัน อ่าวเทมปาเป็นจุดเสี่ยงภัยจากพายุมากที่สุดจุดหนึ่งของโลก ตลอดเกือบ 1 ศตวรรษ มีพายุเฮอร์ริเคนซัดกระหน่ำสร้างความเสียหายอย่างมากมาย

เมื่อครั้งที่เฮอร์ริเคน “เอียน” ถล่มเมืองฟอร์ต ไมเออร์ส ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐฟลอริดา เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 112,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เวลานี้เมืองยังอยู่ในภาวะฟื้นฟู

ภาพถ่ายทางดาวเทียมของจิสด้า แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่บริเวณทางเหนือรอยต่อของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย กับประเทศเมียนมา จากเดิมเป็นป่าสมบูรณ์กลายเป็นชุมชน พื้นที่เกษตร และเหมืองแร่ เป็น 1 ในสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม

กลับมาดูเหตุการณ์น้ำท่วมดินโคลนถล่มในพื้นที่ทางภาคเหนือของบ้านเรา ภาพของความเสียหายจากดินโคลนที่อัดแน่นเต็มบ้านเรือนของชาวแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไม่น้อยกว่า 160 หลัง อาจจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานเป็นปีจึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

บางสื่อบอกว่า ดินโคลนที่ทะลักใส่เมืองแม่สาย เนื่องจากอิทธิพลของซูเปอร์ไต้ฝุ่น “ยางิ” ทำให้เกิดฝนตกหนักนั้นประเมินแล้วมีปริมาณไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคิว บางจุดดินโคลนอุดท่อประปา ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ และหลังจากหมดหน้าฝนแล้ว ดินโคลนจะกลายเป็นฝุ่น ก่อมลพิษทางอากาศยกระดับปัญหามากขึ้นอีก

เหตุการณ์ดินโคลนถล่มเมืองแม่สายถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในรอบศตวรรษ

คุณวัชชิรานนท์ ทองเทพ ผู้สื่อข่าวบีบีซี ภาคภาษาไทยนำปรากฏการณ์ดินโคลนถล่มแม่สายไปตั้งประเด็นว่าเป็นโคลนข้ามพรมแดนหรือไม่ จากนั้นได้ขอคำอธิบายจาก “ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า)

ดร.ปกรณ์ ใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมมาอธิบายเปรียบเทียบให้เห็นว่า ดินโคลนที่สร้างความเสียหายให้ชาวแม่สายนั้นมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่รอบๆ ลุ่มแม่น้ำสายหรือแม่น้ำรวกที่ชาวเมียนมาเรียก

พื้นที่ต้นน้ำและกลางน้ำของแม่น้ำสายอยู่ในฝั่งเมียนมา 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพื้นที่รับน้ำอยู่ในเมืองท่าขี้เหล็ก ฝั่งเมียนมา และอำเภอแม่สาย รวมแล้ว 20 เปอร์เซ็นต์

ในอดีต ป่าต้นน้ำหากยังเป็นป่าสมบูรณ์มีต้นไม้นานาพันธุ์หนาแน่นจะช่วยอุ้มน้ำในยามฝนตกลดทั้งความแรงของกระแสน้ำ ลดการเซาะกร่อนพังทลายของหน้าดินและซับกรองให้น้ำฝนกลายเป็นน้ำใสสะอาดไหลลงสู่ลำธารเบื้องล่างได้ตลอดทั้งปี

ปัจจุบันเมื่อฝนตก น้ำหลากลงจากแม่น้ำสายไปยังแม่น้ำโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ฉะนั้น เกิดฝนตกทีไร บริเวณแม่สายจึงมีน้ำท่วมเป็นประจำเพราะไม่มีป่าสมบูรณ์ไว้คอยซับชะลอน้ำ

ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา สังเกตจากภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า ทั้งฝั่งไทยและเมียนมามีความเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ เช่น เปิดหน้าดินทำเหมืองแร่ในฝั่งเมียนมา บุกรุกป่าทำไร่กล้วย ข้าวโพด ทั้งในเขตไทยและเมียนมา

“กิจกรรมเหล่านี้มีผลต่อศักยภาพในการกักเก็บน้ำในพื้นที่ป่าลดลง ภาพถ่ายทางดาวเทียมที่นำมาวิเคราะห์ในรอบ 20 ปี พบว่าพื้นที่ที่เคยเป็นป่า เป็นภูเขาสูงมีการเปิดพื้นที่ทำเกษตรกรรมตลอดแนวแม่น้ำ แต่ละแห่งราว 400-1,000 ไร่”

 

ดร.ปกรณ์ ยกภาพถ่ายดาวเทียมที่บันไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เป็นบริเวณใกล้กับเหมืองแร่แห่งหนึ่ง ในแนวลำน้ำรวก ห่างจากอำเภอแม่สาย ราว 33 กิโลเมตร เปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางดาวเทียม เดือนเมษายน 2567 พบการใช้พื้นที่และเปิดหน้าดินเป็นบริเวณกว้าง

อีกตัวอย่างของภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบให้เห็นสภาพพื้นที่ฝั่งไทยก่อนและหลังเกิดเหตุน้ำท่วมเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ผืนดินที่ถล่มลงมาเป็นหลายแนวตามเนินเขาในตำบลเวียงพางคำ ทางนักวิทยาศาสตร์ของจิสด้าพบว่า แต่ละแนวมีความกว้าง 20-30 เมตร หรือเท่าๆ กับถนน 4 เลน มีความยาวหลายสิบเมตรถึงหลายร้อยเมตร ขึ้นกับลักษณะพื้นที่

ภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่เป็นสาเหตุของตะกอนดินโคลนจำนวนมากที่ไหลทับถมบ้านเรือนในอำเภอแม่สาย

คำอธิบายของ ดร.ปกรณ์ ทำให้ชาวบ้านอย่างเราๆ ได้รู้ว่า ดินโคลนมาจากไหน แต่ประเด็นสำคัญอย่างยิ่งคือรัฐบาลไทยจะหยิบฉวยข้อมูลเหล่านี้มาใช้แก้ปัญหาในอนาคตได้อย่างไร

เพราะข้อมูลที่จิสด้ามีอยู่ในมือ มีจากไทยเพียงฝั่งเดียว ข้อมูลจากฝั่งเมียนมาไม่มีใครรู้ และไม่รู้จะขอข้อมูลจากหน่วยใด

เมื่อไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ครบถ้วน การวิเคราะห์ประมวลผลและแจ้งเตือนภัยจึงกลายเป็นอุปสรรคนำไปสู่ประเด็นปัญหา “ดินโคลน” ข้ามชาติ •