ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โล่เงิน |
เผยแพร่ |
ถึงจะเป็นผู้นำประเทศอายุน้อย แต่ด้วยอ่อนน้อมถ่อมตน มีคำพูดคำจาสะกดใจ “บิ๊กนายพลสีกากี” ในที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา
การทำหน้าที่ประธานการประชุม ก.ตร.ครั้งแรกของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จึงเป็นไปด้วยความราบรื่น
วาระการพิจารณาที่ 4 เรื่องที่ 3 การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 15 ใช้เวลาแค่ 20 นาที
มีการเล่ากันว่าบรรยากาศภายในห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันนั้นมีความผ่อนคลาย
ภายหลัง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เกริ่นนำร่องให้การต้อนรับสุภาพสตรีที่นั่งหัวโต๊ะที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขตำรวจ
“นายกฯ อิ๊งค์” ดูเหมือนจะเก้อเขินเล็กน้อย ประเดิมในการทำหน้าที่
แต่ด้วยไหวพริบปฏิภาณถ่ายทอดผ่านคำพูดบนใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้ได้ใจที่ประชุมไปเต็มๆ
“ทุกท่านคงทราบดีกันอยู่แล้วว่า ดิฉันเองก็เป็นลูกหลานตำรวจ ภูมิใจเสมอที่ได้เป็นลูกตำรวจ”
“วันนี้ที่มาก็รู้สึกดีใจเพราะว่าไม่เคยได้ขึ้นมาถึงตรงนี้เลย ดิฉันเรียนอยู่มหาวิทยาลัยแถวนี้ ได้แต่ผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”
“วันนี้อยากจะฝากประชาสัมพันธ์ให้ตำรวจทุกท่านช่วยกันสานต่อนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่ช่วงนี้ถือว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยาเสพติด หรือคอลเซ็นเตอร์ หลายๆ อย่างที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ต้องขอความร่วมมือจากทุกๆ ภาคส่วนโดยเฉพาะตำรวจเองก็เป็นหน่วยงานที่สำคัญ” ประธาน ก.ตร.ระบุ
น.ส.แพทองธารกล่าวว่า วันนี้มีวาระพิจารณาที่สำคัญหลายเรื่อง จึงอยากจะขอให้กรรมการทุกท่านร่วมกันพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบตามกรอบของกฎหมาย
และข้อเสนอแนะอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ยินดีรับฟังเสมอ
สําหรับขั้นตอนการคัดเลือก ผบ.ตร. ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้คัดเลือกรายชื่อ 1 ชื่อ จาก รอง ผบ.ตร. และจเรตำรวจแห่งชาติ เสนอที่ประชุม ก.ตร.เห็นชอบ
ประกอบด้วย อันดับ 1 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 1, พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจแห่งชาติ อาวุโสอันดับ 2 และ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 3
โดยการประชุมเมื่อเข้าสู่วาระนี้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ, พล.ต.อ.ไกรบุญ และ พล.ต.อ.ธนา ออกจากห้องประชุม เนื่องจากถือว่ามีส่วนได้เสีย
รวมทั้ง พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาการรอง ผบ.ตร. ได้ให้ฝ่ายเลขานุการที่ประชุมแจ้งว่าขอออกจากประชุมด้วย เนื่องจากว่า แม้ไม่เกี่ยวข้อง แต่อาจมองว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย
องค์ประชุมจึงมีเพียง น.ส.แพทองธาร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน น.ส.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. นายปิยะวัฒน์ ศิวะรักษ์ เลขาธิการ ก.พ. ในฐานะ ก.ตร.โดยตำแหน่ง
และ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก อดีตรอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตปลัดสำนักนายกฯ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรอง ผบ.ตร. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ อดีตผู้ว่าฯ นนทบุรี ซึ่งเป็น ก.ตร.ใหม่ถอดด้าม
ส่วนรองศาตราจารย์ประทิต สันติประภพ หนึ่งใน ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ลาประชุม
พล.ต.อ.เอกได้เปิดฉากเอ่ยว่า การแต่งตั้ง ผบ.ตร.จะล่าช้าไม่ได้ เพราะกฎ ก.ตร.มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม แล้ว ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาการทำงานของตำรวจในการดูแลประชาชน
ทั้งนี้ พล.ต.อ.เอก ในฐานะ “กูรู ก.ตร.” ได้ยกเหตุผลโดยชี้ให้เห็นความสำคัญการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 15 โดยให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 และได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 14 ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายทำให้มีความผิดพลาดแล้วเกิดปัญหาขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ต่อมา พล.ต.อ.วินัย ทองสอง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิอีกคน ได้กล่าวสนับสนุนว่า แคนดิเดตทั้ง 3 คนเก่งพอๆ กัน แต่ตอนนี้ภาพลักษณ์ตำรวจตกต่ำ ควรจะให้มีผู้นำองค์กรมาแก้ปัญหาเลย และควรมีระยะเวลาทำงานในการทำงานพอสมควร ไม่ใช่ตั้งมาปีเดียวแล้วเกษียณเลย
ต่อมา นายปิยะวัฒน์ ศิวะรักษ์ เลขาธิการ ก.พ. ได้ให้สำนักงานกำลังพลเปรียบเทียบคุณสมบัติของ 3 แคนดิเดต
ปรากฏว่าประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม เรียงลำดับดังนี้
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ มีประสบการณ์ 21 ปี 9 เดือน 26 วัน
พล.ต.อ.ไกรบุญ มีประสบการณ์ 10 เดือน 11 วัน
พล.ต.อ.ธนา มีประสบการณ์ 18 ปี 3 เดือน 29 วัน
ต่อมานายกรัฐมนตรีสรุปว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐโตมางานด้านปราบปราม และได้มอบหมายให้ทำหน้าที่รักษาการ ผบ.ตร. ถือว่าได้รับความไว้วางใจ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ สนองงานนโยบายรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ดูแลงานสำคัญที่ได้รับมอบหมายได้
ปรากฏว่าที่ประชุม ก.ตร. ได้มีมติเอกฉันท์ให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เป็น ผบ.ตร.คนที่ 15
อย่างไรก็ตาม มีอีกมุมมองสะท้อนว่า ฝ่ายการเมืองจำเป็นต้องแต่งตั้ง “บิ๊กต่าย” ขึ้นเป็น “เบอร์ 1” ตามกรอบกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ที่ระบุไว้ชัดเจน
ถ้านายกฯ ไม่เดินตามกรอบมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้น ต้องเล่นไปตามที่ “กุนซือกฎหมาย” เขียนบทไว้ให้ และที่สำคัญคือ “ผู้มีบารมีนอกรัฐบาล” ให้คำแนะนำ
ถึงกระนั้นเป็นการติดกระดุมเม็ดแรกถูก ทำให้บรรดาข้าราชการตำรวจมีความหวังว่าการแต่งตั้งระดับถัดๆ ลงไปจะเกิดความเป็นธรรม เป็นไปตามเกณฑ์อาวุโส ความรู้ความสามารถตามกฎหมายกำหนดไว้ ไม่ใช่มีแต่เด็กเส้น เด็กฝากนักการเมือง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022