เนวิน-แม้ว เริ่มใหม่นะครับนาย?

รู้กันว่า วลี “มันจบแล้วครับนาย” เป็นหนึ่งในวลีสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย

เกิดจากวิกฤตจุดจบความสัมพันธ์ของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้มีอิทธิพลเบื้องหลังพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน และนายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่แห่งพรรคภูมิใจไทย ในยุครัฐบาลพลังประชาชน โดยนายเนวินขอแยกทาง ไม่สนับสนุนนายทักษิณต่ออีก

แม้จะเกิดจากการเมืองช่วงนั้น แต่วลีนี้ถูกนำมาใช้ในบริบทการเมืองไทยต่อๆ มา ในความหมายแสดงถึงสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ เช่น การย้ายพรรค การเปลี่ยนใจสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการยอมรับว่าสถานการณ์บางอย่าง “จบ” ลงแล้ว

เช่นเมื่อปี 2566 น.ต.ศิธา ทิวารี เป็นคนแรกที่นำวลีนี้มาใช้อธิบายการพลิกขั้วเปลี่ยนข้างทางการเมืองในวันที่ 2 สิงหาคม ในเหตุการณ์พรรคเพื่อไทยประกาศขอถอนตัวจากพรรคก้าวไกล เดินหน้าตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่

ล่าสุด ที่ถูกพูดถึง ก็คือในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง

จู่ๆ

ก็มีการปล่อยข่าว 2 แม่ทัพแห่งภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค พร้อมด้วยนายเนวิน ชิดชอบ เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

แม้ในช่วงแรกนายอนุทินจะพยายามหลบหลีกสื่อมวลชน ไม่ยอมพูดถึง ทั้งยังบอกว่าข่าวนี้เป็นข่าวไร้สาระ

แต่ใน 1 วันต่อมาก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง เป็นการพูดคุยกินข้าวกันแบบชื่นมื่น

คำถามเกิดขึ้นคือว่า การพบกันของนายอนุทิน-เนวิน และนายทักษิณ ณ บ้านจันทร์หล้า สะท้อนอะไร?

 

แน่นอนว่าจนถึงวันนี้สังคมยังไม่รู้ว่า “ประเด็น” ที่ถูกพูดคุยกันมีเรื่องอะไรบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการได้เห็นผู้นำจาก 2 ขั้วอำนาจมีการพบปะ เจรจากัน นั่นสะท้อนการมีอยู่จริงของ 2 ขั้วอำนาจใหญ่ที่ชัดเจนฝั่งรัฐบาล

อย่างน้อยเราได้เห็นแล้วว่า ขั้วการเมืองฝั่งภูมิใจไทย ไม่ได้อยู่ในสถานะ “รอง” ในทางการเมืองอีกต่อไป แต่เป็นระดับ “แกนนำของขั้วอำนาจ”

จะถึงขั้น “ชิงอำนาจ” หรือหวังเพียง “ต่อรองอำนาจ” ก็ยังมิอาจบอกได้ชัด เป็นแต่เพียงว่าขั้วอำนาจฝั่งรัฐบาลไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน

เพราะมีสัญญาณหลายอย่างบอกมา

ในสภาพที่พรรคเพื่อไทยสะบักสะบอม เพิ่งถูกเกมนิติสงครามเล่นงานจนนายเศรษฐา ทวีสิน และ ครม.ต้องปลิวจากเก้าอี้ กลับถูกต่อรองอย่างหนักจากพรรคภูมิใจไทย

มิหนำซ้ำในงานวันเกิดนายเนวินที่ จ.บุรีรัมย์ ครูใหญ่แห่งภูมิใจไทยยังปล่อยช็อตเด็ดต่อหน้าสื่อมวลชนมากมาย ผูกข้อมืออวยพร “ให้อนุทินได้เป็นนายกฯ ให้ยิ่งใหญ่ แข็งแรง”

ออกมาจากปากแกนนำพรรคอันดับสองจนเป็นข่าวดังเช่นนี้ เป็นใครก็อดคิดไปไกลไม่ได้

ยิ่งดูจากบริบทการเมืองขณะนี้ต้องบอกว่า การชูนายอนุทินเป็นนายกฯ อาจไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน

 

อย่าลืมว่านายอนุทินคือแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเก้าอี้อันดับ 2 หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองใดๆ ขึ้น อะไรก็เกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ อำนาจต่อรองทางการเมืองระดับสูงของภูมิใจไทย ไม่ใช่เรื่องนามธรรมล่องลอย แต่เป็นอำนาจที่จับต้องได้

1. แม้จะมี ส.ส.แค่ 71 คนในสภา แต่ถ้าภูมิใจไทยถอนตัวจากรัฐบาลเพื่อไทย รัฐบาลนี้ก็ถึงกับล่มได้

2. อิทธิพลทางความคิดต่อ ส.ว.สีน้ำเงิน จุดยืนทางการเมือง กฎหมายที่ตรงกับภูมิใจไทยทั้งหมด ดูจากผลโหวตล่าสุดในการหักจุดยืน ส.ส.เรื่อง กม.ประชามติ ก็ต้องบอกว่า มี ส.ว.สีน้ำเงินอยู่ในสภาบนถึง 80%

3. อำนาจในการแตะเบรกนโยบายเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายหรือนโยบายทางเศรษฐกิจ จนทำให้พรรคเพื่อไทยต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบตามที่ภูมิใจไทยต้องการหลายครั้ง เช่นนโยบายกัญชา กาสิโน และแก้รัฐธรรมนูญ (จะเพิ่มขึ้นอีกหลังจากนี้)

4. ยุทธการกระชับอำนาจกระทรวงในมือ ดูจากสัปดาห์ล่าสุดคือการจัดแถวกระทรวงมหาดไทยครั้งสำคัญ ตั้งแต่ปลัดกระทรวง อธิบดีหลายกรม กระทั่งผู้ว่าฯ รวมกว่า 25 ตำแหน่ง

หมดแล้วยุคสิงห์ดำ สิงห์แดง หรือสิงห์สีไหนๆ มหาดไทยยุคภูมิใจไทยเป็นที่รู้กันว่าจะขึ้นเป็นใหญ่ได้ต้องผ่านตำแหน่งผู้ว่าฯ บุรีรัมย์มาก่อน

นั่นคือการจัดระเบียบราชการสไตล์ภูมิใจไทย เป้าหมายคือการสร้างเครือข่ายอำนาจระดับท้องถิ่น-ภูมิภาค เช่นที่เกิดขึ้นในยุคที่นายอนุทินนั่งเก้าอี้ รมว.สาธารณสุขกับการสร้างเครือข่าย อสม. ก็เพื่อกระชับอำนาจพื้นที่นั่นเอง

 

ยุทธการ “กระชับอำนาจมหาดไทย” จึงเป็นการเสริมความแข็งแกร่งการเมืองเครือข่ายบ้านใหญ่ของภูมิใจไทย

ขณะที่ยุทธการ “กระชับอำนาจสภาบน” ก็เป็นการเสริมความแข็งแกร่งอำนาจนิติบัญญัติ

การเดินเกม 2 สูตรนี้ของภูมิใจไทยจึงทำให้สปอตไลต์การเมืองฉายมาที่นายอนุทินและนายเนวิน

การพบกันของนายทักษิณ นายเนวิน และนายอนุทิน จึงสำคัญ

แน่นอนว่าเบื้องต้นคือการกระชับอำนาจรัฐบาล เคลียร์ใจกันกับเรื่องราวที่ผ่านด้วยเป้าหมายที่เห็นชัดๆ คือ การทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น

เพราะในมุมของเพื่อไทยวันนี้ก็เจอศึกหนักอยู่แล้ว ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การกอบกู้ศรัทธาทางการเมือง การทำงานภายใต้กลไกกฎหมายยุค คสช.

เพื่อไทยยุคนี้ อ่อนกำลังกว่ายุค “ไทยรักไทย-เพื่อไทย ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์” มหาศาล

มิหนำซ้ำยังเจอขบวนการบ้านป่าฯ ลอบวางละเบิดการเมืองในศึก “นิติสงคราม” แบบไม่เว้นแต่ละวัน โดยยังไม่รวมกลุ่มตรงข้ามฝ่ายต่างๆ ที่ฮึ่มๆ จะก่อม็อบไล่ระบอบทักษิณอยู่อีก

 

กลายเป็นว่าในวันที่ขั้วเพื่อไทยเจอศึกหนัก ขั้วภูมิใจไทยกลับตรงกันข้าม ที่แทบไม่ถูกกดดันทางการเมืองใดๆ เลย

ไม่จำเป็นต้องสู้กับนิติสงครามแบบเพื่อไทย สามารถเดินหน้าสะสมกำลังและวาระทางการเมืองเพื่อให้ฝ่ายอำนาจเก่าเห็นว่าภูมิใจไทยคือผู้ถือธงต้านการเปลี่ยนแปลงของกระแส “ส้ม” ได้ดีไม่น้อยกว่าเพื่อไทย หรืออยู่นิ่งๆ รอจังหวะส้มหล่นทางการเมืองก็ยังได้

วันนี้นายอนุทินก็สะสมบารมี แม้จะเป็นรองนายกฯ มีภาพการประสานทำงาน ร่วมกันขับเคลื่อนงานการเมืองกับรัฐบาลเพื่อไทยได้ แต่หลายครั้งก็แสดงบทบาทการแข่งขันชิงไหวชิงพริบทางการเมืองอยู่ไม่น้อย

ขณะที่นายเนวินก็แสดงบทบาทให้เห็นว่าคนที่จะปั้นสร้างนายกฯ ได้ไม่ได้มีแค่นายทักษิณ เขาเองก็เป็นระดับผู้นำขั้วในทางการเมือง

เป็นการเดินเกมแบบ “เขี้ยวลากดิน” ของแท้…

 

แน่นอน ระดับนายทักษิณก็อ่านเกมของภูมิใจไทยออก แต่ด้วยสภาวะอำนาจ บริบทแห่งความเป็นจริง การต่อรองที่เพื่อไทยพอจะมีก็ทำได้เพียงการพยายามประนีประนอม เพื่อประคับประคองรัฐนาวาลำนี้ให้ไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง หรือไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แต่ก็ต้องทำใจว่าจะต้องเจอปรากฏการณ์ “แตะเบรก” จากขั้วภูมิใจไทยอีกไม่ใช่น้อย

เป็นความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งชัง ต้องประคองกันไปเพื่อผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

และด้วยปัญหารัฐธรรมนูญ และกฎหมายมรดก คสช. ที่ออกแบบมาให้ฝ่ายบริหารไร้เสถียรภาพ ก็บีบให้ทั้งสองต้องเล่นเกมชนิดมือหนึ่งจับกัน อีกมือถือมีดซ่อนอยู่ด้านหลัง

การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร ก็ยังเป็นอีกหนึ่งวลีอมตะในการเมืองไทยที่เป็นจริง

จาก “มันจบแล้วครับนาย” ในวันนั้น

สงสัยวันนี้ต้องพูดใหม่ว่า “เริ่มต้นใหม่นะครับนาย…” ซะแล้ว