ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ต้องยอมรับว่า นับตั้งแต่ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” ก้าวเข้ามารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของประเทศไทย กลับต้องเผชิญสารพัดปัญหาให้ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่กำลังได้รับผลกระทบและเดือดร้อนหนัก
ยิ่งไปกว่านั้น “นายกฯ อิ๊งค์” ยังต้องรับมือกับคำสบประมาท คำปรามาส เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ทั้งที่เพิ่งก้าวเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ถึง 1 เดือนด้วยซ้ำ อีกทั้งกลับถูกนักร้องเรียน ยื่นฟ้องหน่วยงานองค์กรอิสระ หวังสอยหลุดพ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ทั้งปมจริยธรรมจากการแต่งตั้งรัฐมนตรี การถือครองหุ้นบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด
รวมทั้งนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยังออกมาขู่เตรียมปลุกระดมผู้ชุมนุมลงถนนเพื่อขับไล่รัฐบาลอีกด้วย
ฉะนั้น ตลอดระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนรัฐบาลจะครบเทอมนั้น นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาล ต้องเร่งแสดงศักยภาพ โชว์ฝีมือ ปั๊มผลงาน พิสูจน์ความสามารถในการบริหารประเทศ
เพื่อเรียกศรัทธาจากประชาชน และโกยคะแนนความนิยมกลับคืนมาให้ได้
แต่ทว่า ล่าสุด กลับมีประเด็นดราม่าเกิดขึ้นในโลกสังคมออนไลน์ เมื่อมีการแชร์ภาพของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก้มหน้าอ่านข้อมูลในไอแพด บนเวทีประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 3 (3rd Asia Cooperation Dialogue : ACD) ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 2567 เวทีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โดยเฉพาะจังหวะภาพก้มหน้าเหมือนอ่านสคริปต์ในไอแพด ระหว่างเจรจาหารือทวิภาคีกับ นายมัสอูด เปเซชกียาน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน โดย “นายกฯ อิ๊งค์” พูดเป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีการใช้ล่าม
ส่งผลทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนใหญ่แสดงความเห็นทำนองเชิงติติง มองว่าการอ่านไอแพดเจรจาการทูต ไม่เหมาะสม ไม่มีความสง่างาม กระทบภาพลักษณ์ สะท้อนถึงความไม่พร้อมของผู้นำประเทศ
กระทั่งมีการนำไปเปรียบเทียบกับอดีตนายกรัฐมนตรีหลายๆ คน โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยไปขึ้นเวทีระดับโลก หารือกับผู้นำชาติต่างๆ
รวมทั้ง “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เวลาได้รับเชิญให้ไปบรรยาพิเศษหรือแสดงวิสัยทัศน์เวทีต่างประเทศ สามารถโชว์สกิลและทักษะการพูดและการเจรจา การสื่อสารได้ดี แม้จะมีอ่านโพยหรือสคริปต์บ้างในบางครั้งก็ตาม
กระแสดราม่าทวีความร้อนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น เมื่อนายกฯ อิ๊งค์ได้ไปตอบคอมเมนต์ผู้ใช้บัญชีรายหนึ่งและแคปภาพนำออกไปโพสต์ทางไอจี ยิ่งทำให้เกิดเสียงวิจารณ์หนักเพิ่มมากขึ้นว่าเหมือนการแขวนเพื่อให้ทัวร์ไปลงหรือไม่
เรื่องนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ความจริงแล้วการทำงานของตน กระแสเป็นเรื่องหนึ่ง การทำงานให้สำเร็จเป็นเรื่องใหญ่ แต่ว่าบางทีเข้าใจตัวเอง บางทีรู้สึกว่าถูกเข้าใจผิด หรือว่าข้อมูลยังไม่ครบก็อยากอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น จริงๆ ไม่ได้คิดว่าเป็นการแขวนหรืออะไร ทุกคนสามารถตั้งค่าความเป็นส่วนตัวได้อยู่แล้ว เพียงแต่อยากอธิบายในหัวข้อนี้ว่า บางทีเราด่วนตัดสินคนอื่นเกินไป มันต้องมีข้อมูลด้วยในการจะพูดแบบนี้
ไอแพดเป็นเรื่องที่ทุกคนใช้กันทั่วโลก จะใช้ไม่ใช้ก็แล้วแต่บุคคล
แต่การประชุมหลักๆ ระหว่างประเทศก็ควรจะใช้เป็นกระดาษหรือไอแพดก็ได้ เพราะจะได้ครบประเด็นและถูกต้อง นี่คือสิ่งที่สื่อ และกระแสจากการทำงานเป็นผลพลอยได้ เมื่อกระแสดี แน่นอนทุกคนมีกำลังใจไม่ว่าจะภาคส่วนไหน
นายกฯ ชี้แจงอีกว่า เวลาไปพูดที่ต่างประเทศ มันเป็นภาษาอังกฤษ มีคำศัพท์เฉพาะในเรื่องกฎหมาย รวมถึงความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศ ซึ่งจริงๆ บางคำรู้ตอนมาเป็นนายกฯ ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ว่าคำศัพท์นี้ต้องใช้ในเรื่องนี้ ถ้าเป็นภาษาไทยเรารู้อยู่แล้วจะสบายกว่าเยอะ
“แต่ถ้าเป็นเรื่องกฎหมายที่อ่อนไหว จะอ่านทั้งประโยคเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด อันนี้สำคัญมากเพราะหากผิดทีเป็นลมเลย แต่เมื่อมีการพูดคุยสอบถามเรื่องการลงทุน เราก็ปิดไอแพดแล้วขายของของเราต่อ แต่สปีชที่นั่งโต๊ะประชุมใหญ่ต้องอ่านทุกคน อันนี้ทั่วโลกทำกัน มันต้องทำแบบนั้น” นายกฯ ระบุ
ขณะที่ “จิรายุ ห่วงทรัพย์” ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ที่นายกรัฐมนตรีใช้ไอแพดอ่านเวลาประชุมผู้นำ ACD ที่ผ่านมาว่า ถ้ามองแบบระดับชาติ หรือระดับโลกในประเทศต่างๆ ประชาชนจะให้ความสำคัญกับเนื้อหา หรือสารัตถะที่ผู้นำของเขาไปทำข้อตกลงว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากน้อยขนาดไหน ซึ่งจะถือว่าเป็นการพัฒนาประเทศไปสู่หลักสากลโลก
ปกตินายกฯ ก็เป็นคนพูด หรือปราศรัยโดยไม่มีสคริปต์อยู่แล้ว และท่านก็เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไปปราศรัย หรือเวทีใดๆ ก็ไม่ได้อ่านอยู่แล้ว แต่การพูดด้วยการอ่านเอกสารบนเวทีประชุมระดับโลกจำเป็นต้องอ่าน ซึ่งมีลักษณะจะคล้ายกับการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่ต้องอ่านตรงตามตัวอักษรทุกประการ จึงไม่เห็นว่าเป็นสาระสำคัญที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์กัน
ส่วน “นิกรเดช พลางกูร” อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงตามที่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการหารือทวิภาคีระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย กับนายมัสอูด เปเซชกียาน ประธานาธิบดีอิหร่าน ระหว่างการประชุมกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือเอซีดี ซัมมิต ครั้งที่ 3 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ กรณีการใช้ล่ามหรือไม่ใช้ล่ามนั้น ปกติแล้วการหารือระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันก่อนในเรื่องภาษาและล่ามล่วงหน้า ซึ่งด้วยเวลาอันจำกัดในการหารือครั้งนี้ และโดยที่นายกรัฐมนตรีสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี จึงได้ตกลงกันที่จะใช้ล่ามภาษาอังกฤษแต่เพียงฝ่ายเดียว
“การใช้ไอแพดของนายกรัฐมนตรีระหว่างหารือกับผู้นำต่างชาติ ได้เห็นตามที่ปรากฏเป็นข่าว แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าเวลาที่นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนระดับรัฐมนตรีเดินทางไปร่วมประชุม กระทรวงการต่างประเทศจะต้องทำประเด็นเพื่อช่วยเตือนความจำให้ทุกท่าน เพราะการที่จะต้องใช้ประเด็นในการทบทวนความจำเป็นเรื่องปกติ บางท่านก็มีความถนัดกับกระดาษ บางท่านถนัดไอแพด บางท่านก็ใช้มือถือในการทบทวน ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่าท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำยุคใหม่ และตนก็ได้ทราบว่าการหารือที่เกิดขึ้นช่วงเอซีดีประเด็นครบถ้วนทุกประการ” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุ
อย่างไรก็ตาม จากการกระแสดราม่าที่เกิดขึ้นต้องยอมรับและเห็นใจนายกฯ เพราะแค่ขยับหรือทำอะไร ก็มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทันที มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
หลังจากนี้ยังมีอีกหลายเวทีที่ “นายกฯ อิ๊งค์” ต้องเดินทางไปร่วมพบปะหารือ ร่วมเจรจากับผู้นำประเทศต่างๆ ฉะนั้น หวังว่าประสบการณ์จะช่วยพิสูจน์และทำให้บทบาทความเป็นผู้นำของ “นายกฯ อิ๊งค์” แข็งแกร่งเพิ่มขึ้น เพื่อรับกระแส “จับผิด” ที่พร้อมจะถล่มอยู่ทุกเวลา!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022