ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
ปีนี้เป็นปีที่สองที่ตอบรับคำเชิญของทางหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ในการเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการขึ้นทะเบียน “มรดกภาพยนตร์ของชาติ” ประจำ พ.ศ.2567
ข้อดีประการหนึ่งของการต้องมา “ดูภาพยนตร์” เพื่อภารกิจที่มีลักษณะเป็นทางการทำนองนี้ ก็คือ การได้พิสูจน์ว่าเรา ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ยังสามารถมีสมาธิจดจ่อกับการดู ชม หรือเพ่งพินิจพิจารณาอะไรแบบยาวๆ โดยไม่วอกแวกฟุ้งซ่านแวะไปคิดเรื่องโน้นทีเรื่องนี้ทีอยู่ตลอดเวลา
เพราะในช่วงหลังๆ ผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองมากขึ้นตามลำดับว่า เรายัง “ดูหนัง” ได้อยู่หรือเปล่า? เนื่องจากต้องยอมรับว่าตนเองเข้าโรงหนังน้อยลงมากๆ แล้วหันมาเสพความบันเทิงจากเน็ตฟลิกซ์ ยูทูบ และติ๊กต็อกเป็นหลัก ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือ การดูอะไรได้ไม่ต่อเนื่องยาวนานนัก แต่ออกแนวดูๆ หยุดๆ เปลี่ยนๆ ไปเรื่อยๆ
ในบรรดาผลงานหนังหลากหลายประเภท-แนวทาง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกภาพยนตร์ของชาติ” ประจำปีนี้ มีอยู่ 3 เรื่องที่ผมรู้สึกประทับใจมากเป็นพิเศษ ดังจะได้เล่าสู่กันฟังตามรายละเอียดต่อไปนี้
“สยาม” ในสายตา “นักโบราณคดีฝรั่งเศส”
“ Compte-rendu de Mission Archéologique…au SIAM ~ NOV-DEC 1929~” (รายงานการสำรวจทางโบราณคดี ณ กรุงสยาม พฤศจิกายนถึงธันวาคม 2472) โดย “ฌอง-อีฟส์ เคลย์ส” (Jean-Yves Claeys)
หนังสารคดีบันทึกการเดินทางการมาสำรวจแหล่งโบราณคดีของ “ฌอง-อีฟส์ เคลย์ส” นักโบราณคดีและสถาปนิกประจำสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ประเทศเวียดนาม ซึ่งได้เข้ามาบันทึกภาพสถานที่ต่างๆ และโบราณสถานสำคัญในกรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี พิษณุโลก สุโขทัย ลำปาง เชียงใหม่ และลำพูน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2472
โดยมี “ยอร์ช เซเดส์” เป็นผู้ช่วยประสานงานกับรัฐบาลสยาม และ “สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ทรงอำนวยการเดินทาง
นี่คือภาพยนตร์ที่พาเราทอดน่องท่องเที่ยวไปในหลายพื้นที่ของสยามในยุคเกือบๆ ร้อยปีก่อน ด้วยความเพลิดเพลินและน่าตื่นเต้น
หนังทำหน้าที่เก็บบันทึกวิถีชีวิตของผู้คน สถานที่ และสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งได้สูญสลายและแปรเปลี่ยนไปหมดแล้วตามกาลเวลา ต่อให้ ณ ปี พ.ศ.นี้ เราเดินทางไปเที่ยวชมพื้นที่ที่เคยปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ สิ่งที่เราเห็นได้เห็นในปัจจุบัน กับสิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์ก็ย่อมเต็มไปด้วยรายละเอียดอันผิดแผก แตกต่าง และไม่เหมือนเดิม
นี่เป็นความมหัศจรรย์ที่สุดของสื่อที่เรียกว่าภาพยนตร์
(ผู้สนใจสามารถรับชมหนังสารคดีเรื่องนี้ได้ทางยูทูบของหอภาพยนตร์ ด้วยการเสิร์ชคำว่า “การเดินทางของนักโบราณคดีสู่สยาม 2472”)
“ภาพเคลื่อนไหว” ของ “เกิดวังปารุสก์”
“Wedding Trip to Bangkok 1938-1939”
โดย “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์”
“ภาพยนตร์ส่วนพระองค์/หนังส่วนตัว/หนังบ้าน” ที่ “พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์” ทรงถ่ายทำและตัดต่อเพื่อบันทึกการเดินทางจากอังกฤษสู่ไทย ในโอกาสที่พระองค์ทรงเสกสมรสกับ “หม่อมเอลิสะเบธ” เมื่อเดือนกันยายน 2481 อันเป็นเวลาเดียวกับที่ “พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช” ทรงเสกสมรสกับ “หม่อมซิริล”
หนังบ้านเรื่องนี้เล่าถึงชีวิตช่วง “ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์” ของบ่าวสาวทั้งสองคู่ที่เดินทางด้วยเรือจากอังกฤษ ผ่านคลองสุเอซมายังสิงคโปร์ แล้วต่อรถไฟเข้าสู่สยามที่สถานีปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา แวะพักผ่อนที่ตำหนักจักรพงษ์ ชายหาดหัวหิน ก่อนจะเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ
ตามความเห็นส่วนตัว นี่คือหนังสารคดีดูสนุกที่มีสีสันสวยงามมาก นับเป็นประสบการณ์การชมภาพยนตร์อันล้ำค่าราวกับได้ “ดู” เนื้อหาบางส่วนของหนังสือ “เกิดวังปารุสก์” ในฉบับ “ภาพเคลื่อนไหว
ความสวยหล่อของหนุ่มสาวชนชั้นสูงที่ปรากฏในภาพยนตร์ สีสันสดใสที่ถูกบันทึกเอาไว้บนแผ่นฟิล์ม และอารมณ์พาฝันที่ปกคลุมอยู่ตลอดการเดินทาง ส่งผลให้หนังส่วนตัวเรื่องนี้กลายเป็น “เทพนิยายอันสมจริง” ที่ทำให้เราต้องประเมินคุณค่าของหนัง-ละครซึ่งมาทีหลังอย่าง “ปริศนา-รัตนาวดี-เจ้าสาวของอานนท์” จนถึง “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” กันใหม่หมด
เนื่องจากผลงานบันเทิงคดีเหล่านั้นมีความเป็น “เทพนิยาย” และ “สมจริง” น้อยกว่าหนังสารคดีของพระองค์จุลฯ หลายเท่านัก
นัยยะที่น่าสนใจอีกประการ ก็คือหนังเรื่องนี้ถือเป็น “วิดีโอไดอารี” ที่บันทึกภาพและเรื่องราวแนว “สุขนาฏกรรม” อันงดงาม หรูหรา ชวนฝัน ปราศจากความทุกข์ร้อนของ “เจ้านายหนุ่ม” กลุ่มหนึ่ง ณ ห้วงเวลาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ “คณะราษฎร” กำลังเรืองอำนาจ ส่วน “คณะเจ้า” กำลังสูญสิ้นอิทธิพลทางการเมือง
“หนังตลกร้าย” ยุค “ปลายสงครามเย็น”
“บ๊าย..บาย ไทยแลนด์” (2530)
โดย “สุรสีห์ ผาธรรม”
จากรสนิยมส่วนตัว “บ๊าย..บาย ไทยแลนด์” ผลงานภาพยนตร์แนวตลกร้ายของ “สุรสีห์ ผาธรรม” (ครูบ้านนอก) คือ หนังไทยที่สนุกที่สุดเรื่องหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้ดูในระยะเวลาประมาณห้าปีหลัง
จุดเด่นข้อแรกสุดของหนัง คือ พล็อตเรื่อง ที่พอนำมาเล่าซ้ำหรือดูซ้ำในยุคสมัยนี้แล้ว มันทั้งประหลาดล้ำ ซับซ้อน ชวนหัว และชวนคิดเอามากๆ
เมื่อคนหนุ่มสาวชาวอีสานกลุ่มหนึ่ง (ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางระดับล่าง ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างในธุรกิจต่างๆ มากกว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเกษตรกร) ต้องประสบกับภาวะยากลำบากทางเศรษฐกิจยุคปลายทศวรรษ 2520 ต่อ 2530
“ทางออก-ทางรอด” ที่พวกเขาค้นพบ ก็ได้แก่ การเดินลงไปแช่น้ำในแม่น้ำโขงพอเป็นพิธี เพื่อปลอมแปลง-แปรเปลี่ยนอัตลักษณ์ตัวตนให้กลายเป็น “คนลาวพลัดถิ่น” ซึ่งแสร้ง “หนีภัยคอมมิวนิสต์” มายังฝั่งไทย จนต้องถูกกวาดต้อนเข้าค่ายอพยพ
ด้วยความหวังอันเรืองรองว่า พวกตนจะมีโอกาสถูกส่งตัวไปยังประเทศที่สามคือสหรัฐอเมริกา (อธิบายให้งงเล่นๆ ได้ว่า นี่คือหนังเกี่ยวกับ “คนไทย” กลุ่มหนึ่ง ที่ปลอมตัวเป็น “คนลาว” เพื่อจะได้เข้าค่ายอพยพที่ตั้งอยู่ใน “เขตแดนไทย” แล้วรอโอกาสถูกส่งตัวไปมีชีวิตใหม่ใน “อเมริกา”)
พล็อตที่ชวนว้าวข้างต้นได้รับการหนุนเสริมจากเรื่องราว-มุขตลกระหว่างทาง ที่ทำให้ชะตากรรมของตัวละครแต่ละรายฉิบหายวายป่วงหนักขึ้นไปอีก
“สุรสีห์ ผาธรรม” ผู้ล่วงลับ สามารถกำกับภาพยนตร์แนว “ตลกร้าย” เรื่องนี้ได้อย่างอยู่มือ คือ ฉากที่ชวนหัวเราะก็สามารถเรียกเสียงฮาจากเราได้แบบสุดสุด ส่วนฉากชวนเศร้าก็ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดได้อย่างคาดไม่ถึง
ขณะที่นักแสดงนำอย่าง “พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” และ “ดู๋ ดอกกระโดน” ก็สวมบทบาทอันซ่อนแฝงไว้ด้วยมิติทางสังคม-วัฒนธรรมที่สลับซับซ้อนได้อย่างยอดเยี่ยม (ผมไม่เคยรู้สึกว่าทั้งคู่เป็น “นักแสดงที่เก่ง” ขนาดนี้มาก่อน)
นอกจากนั้น ผมยังชอบตัวละครสมทบคนหนึ่ง ที่เป็นชายหนุ่มซึ่งจบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเปิด ที่ผิดหวังกับการสอบบรรจุเข้ารับราชการครูหนแล้วหนเล่า กระทั่งเขานิยามความหงุดหงิดของตัวเองว่าเป็นอาการ “ทะเลาะกับประเทศชาติ”
แล้วในที่สุด แม้จะชวดโอกาสบินข้ามฟ้าไปอเมริกา แต่เขาและหญิงสาวคนรักก็ตัดสินใจข้ามฝั่งโขงไปตายเอาดาบหน้าที่ประเทศเพื่อนบ้าน ราวกับว่าบ้านเกิดเมืองนอนแห่งนี้ไม่หลงเหลือ “ความหวังใดๆ” ไว้ให้เขาและเธออีกแล้ว
น่าประหลาดใจและน่าตลกร้ายเป็นอย่างยิ่ง ที่คนหนุ่มสาวจำนวนมากในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ณ ทศวรรษ 2560 ก็มี “อารมณ์ความรู้สึก” แบบนี้เช่นเดียวกัน •
| คนมองหนัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022