ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
เผยแพร่ |
“แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพิ่งจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่มาได้ไม่กี่วัน เริ่มมีคำถามถี่ขึ้นเสียแล้วว่า “จะอยู่รอดได้กี่เดือน”
หากเป็นการแสวงคำตอบด้วยการพิจารณาเหตุเพื่อประเมินผล คงออกมาแบบ “จะยังมีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะให้รัฐบาลนี้อยู่ได้ยาวที่สุด” ด้วยว่า
หนึ่ง “แพทองธาร” เป็นหัวใจของ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งเป็น “แก่นแกนแห่งการขับเคลื่อนศรัทธาของประชาชนต่อพรรคเพื่อไทย” ซึ่งเป็น “แกนนำรัฐบาล”
รัฐบาลที่ “ผลการเลือกตั้ง” บังคับให้ต้องมี “พรรคเพื่อไทย” เพราะ “พรรคที่ออกแบบเพื่อสืบทอดอำนาจ” ไว้ พ่ายแพ้หลุดลุ่ยที่ไม่มีสภาพที่จะฟอร์ม ครม.โดยไม่มีปัญหาได้ แม้จะพยายามด้วยความไม่ละอายแค่ไหนก็ตาม
เมื่อเป็น “แพทองธาร” แล้วจึงมีแต่ต้องช่วยกันให้เกิดภาพ “ประสบความสำเร็จ”
เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ “ทักษิณ” จะยินยอมให้ “หัวใจตัวเองล้มเหลว” แต่เยาว์วัย
สอง ในฐานะ “ลูกสาว” ที่ชัดเจนว่าความรักที่มีต่อพ่อนั้นท่วมท้น “แพทองธาร” ต้องทุ่มเทเต็มที่ จะทำให้ “การพลัดพรากจากแผ่นดินเกิดไป 17 ปีของพ่อ” เป็นแค่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านแล้วผ่านเลย ตัดปัจจัยที่จะต้องกังวลว่าจะหวนคืนขึ้นมาอีก ซึ่งหนทางเดียวที่จะเป็นเช่นนั้นได้ จะต้องทำให้ “เพื่อไทย” ไม่ใช่แค่ “ทางเลือก” แต่คือ “ความจำเป็นต้องอาศัย”
ไม่ใช่เพียงทำให้เป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องชัดเจนว่าได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจาก “ระบบอำนาจที่ซ้อนอยู่” ด้วย
จะต้องทำให้เห็นว่า ภารกิจที่ซับซ้อนนี้ ไม่มีใครทำได้ดีเท่ากับ “เพื่อไทย” ที่มี “สัญลักษณ์” ที่เป็น “หัวใจของทักษิณ” โชว์ให้เห็น และมี “แพทองธาร” เป็นผู้ขับเคลื่อน
ภาพของ “ชัยชนะ” จะต้องถูกทำให้เป็นผลงานเนื่องต่อไปเรื่อยๆ เพื่อตอกย้ำว่าไม่ทำให้ผิดหวังในความเชื่อมั่น
การแจกเงิน 10,000 บาทที่จบเฟสแรกไปแล้ว ด้วยรอยยิ้มในผลสำเร็จ
เป็นความสำเร็จอย่างแน่นอนสำหรับการ “สร้างฐานคะแนนเสียง”
ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” เรื่อง “รับเงินสด 10,000 บาท แล้วจะสนับสนุนรัฐบาลไหม”
คำตอบในคำที่ถามถึง “การสนับสนุนรัฐบาลของผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นตนเอง และ/หรือ คนในครอบครัวได้รับผลประโยชน์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567” แม้คล้ายจะไม่ฟันธง
ด้วยร้อยละ 34.35 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะตัดสินใจอย่างไร รองลงมา
ร้อยละ 30.31 บอกมีส่วนทำให้สนับสนุนรัฐบาล
ร้อยละ 20.38, จะมีหรือไม่มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ก็สนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว,
ร้อยละ 13.13 ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 1.83 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
แต่แนวโน้มชัดเจนแน่นอนว่าเอนมาในทางชื่นชมผลงานพรรคเพื่อไทย
อาจจะมีเสียงโต้แย้งว่านั่นเป็นแค่ภาพด้านเดียว ในความเป็นไปทางการเมืองยังมีอีกด้าน คือ “ขบวนการโจมตี ต่อต้านแพทองธาร” เริ่มทำงานแบบเปิดหน้าชนพร้อมเพรียงในหลายกลุ่ม หลากองค์กร และมากมายตัวบุคล
ทั้งทำ “นิติสงคราม” ยื่นคำร้อง ฟ้องเป็นคดี
ทั้งประกาศตัวเป็นแกนนำรวบรวมมวลชนลงถนนเคลื่อนไหวขับไล่ พร้อมเปิดฉากโจมตีในสื่อโซเชียลหนักหน่วงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของคำถามที่ว่า “จะอยู่ได้อีกกี่เดือน” ดังกล่าว
หากเน้นย้ำกันด้วยคำถามนี้ คงต้องประเมินพลังของแนวร่วมต่อต้าน
สำหรับผู้มีความเกลียดชัง “ทักษิณ ชินวัตร” ฝังลึกในสายเลือดไปแล้ว เมื่อ “ศูนย์รวมความชิงชัง” หยุดการปรากฎเวทีการเมือง เพื่อบทบาทให้ “ลูกสาว” ได้โดดเด่นในสปอตไลต์ที่สายส่องความเป็นผู้นำ ความเกลียดชังที่ต้องดิ้นรนหาสิ่งรองรับการแสดงออก จึงสาดส่องจิตอาฆาตมาดร้ายมาที่ “นายกรัฐมนตรีหญิงผู้อ่อนเยาว์” อย่างเอาเป็นเอาตายแบบทนเห็นไม่ได้ในทุกอิริยาบถที่ “แพทองธาร” ขยับ
เหมือนการเกิดขึ้นของ “พลังบูลลี่” ที่เข้มข้น ที่จะเป็นเหมือน “น้ำหยดลงหิน” หรือ “น้ำเซาะทราย” ที่แทรกซึม สะสม ขยี้ทำลายได้
แต่คำถามคือ แท้ที่จริงแล้วประวัติศาสตร์ของ “พลังทำลาย” มีสักครั้งที่ประสบความสำเร็จด้วยตัวเองหรือ
ไม่ใช่เป็นแค่เครื่องมือ หรือแค่ปฏิบัติการประกอบของ “แผนการยึดล้มล้างอำนาจ” ที่วางไว้ก่อนแล้วหรือ
หากเป็นเช่นนั้น การขับเคลื่อนทางการเมืองชั่วโมงนี้ มี “แผนการที่ต้องอาศัยมวลชนบนถนนเป็นเครื่องมือ” มีอยู่จริงหรือ
หรือเป็นไปอย่างที่รับรู้กันอยู่ว่า อยู่ในจังหวะของ “แผนที่จะอาศัยเพื่อไทยขับเคลื่อนความมั่นคงของอำนาจให้ยั่งยืน”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022