ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
“ต้องให้เวลา หลังจากพรรคก้าวไกลถูกยุบ เราสูญเสียบุคลากร ดังนั้น พรรคประชาชนต้องใช้เวลาในการจัดระบบบุคลากร ระบบการทำงานกันอีกสักพัก ข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย ข้อบกพร่องจากการทำงานที่ผ่านมา ผู้บริหารพรรค รวมถึง ส.ส. และสมาชิกพรรคมีการพูดคุยตลอดเวลา และตระหนักดีว่าจะปรับปรุงอย่างไร”
นี่คือตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ของชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ตอบคำถามนักข่าวว่าคิดเห็นอย่างไรที่กระแสรัฐบาลดีวันดีคืน ในขณะที่กระแสของพรรคประชาชนกลับอยู่ในช่วงขาลง
สำหรับฉันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกที่คะแนนนิยมของรัฐบาลดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะโดยทั่วไปแล้วการทำงานของรัฐบาลมักจะได้แค่เสมอตัว นั่นคือถ้าทำได้ดีประชาชนจะมองว่า “มันคือหน้าที่ ทำได้ดีก็ดีแล้ว”
แต่หากรัฐบาลทำอะไรผิดพลาดแม้แต่เพียงนิดเดียวประชาชนจะเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก
คนที่เป็นโหวตเตอร์ก็จะมองว่า “อุตส่าห์เลือก อุตส่าห์ฝากความหวังไว้ ทำไมทำแบบนี้”
ส่วนคนที่ไม่ได้เลือกก็จะบอกว่า
“คิดไว้แล้วไม่มีผิดว่าพรรคนี้มันห่วยจริงๆ ขอให้มันแพ้การเลือกตั้งตลอดไป”
งานวิจัยหลายๆ ชิ้นเกี่ยวกับจิตวิทยาการเมืองจะมีผลลัพธ์ที่ค่อนข้างตรงกันว่าประชาชนจะจำความล้มเหลวของรัฐบาลได้มากกว่าความสำเร็จ ครบเทอมแล้วถามว่า รัฐบาลมีผลงานอะไรบ้าง ประชาชนมักจะจำไม่ได้ แต่ถ้าถามว่า ทำอะไรล้มเหลว ห่วยแตกบ้าง คำตอบจะพรั่งพรู อันนู้นก็แย่ อันนี้ก็ไม่ดี และโดยทั่วไปประชาชนมีแนวโน้มอยากลองของใหม่เสมอ
ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไม่มีผลงานโดดเด่นจริงๆ ประชาชนจะอยากลองเลือกคนใหม่ๆ หรือลองเลือกให้ฝ่ายค้านได้ลองมาเป็นรัฐบาลดูบ้าง
ประชาธิปไตยเลือกตั้งโดยมากจึงจะวนๆ กันอยู่แบบนี้ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ มีกรณียกเว้นไม่มาก เช่น ญี่ปุ่นที่พรรคแอลดีพี ผูกขาดการเป็นรัฐบาลมายาวนานต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า คนญี่ปุ่นเคยลองเลือกพรรค “คนรุ่นใหม่” แล้ว ปรากฏว่ามันไม่เวิร์ก มันชวนปวดหัว เจอแต่ความพูดเก่งแต่ทำงานไม่เป็น สุดท้ายจึงกลับมาอยู่กับพรรคคนแก่แบบแอลดีพีเหมือนเดิม
ซึ่งถามว่าคนญี่ปุ่นชอบไหม ก็ไม่ได้ชอบขนาดนั้น
เบื่อหน่ายแหละ แต่ก็ยังดีกว่าไปเสี่ยงกับพวก “เบี้ยวๆ”
กลับมาที่การเมืองไทย ตัวฉันเองคิดแม้กระแสของพรรคสีส้มจะตกแต่พรรคไม่ได้เสียแนวร่วม “ถาวร” ของตนเอง
ถามว่าแนวร่วมถาวรของพรรคสีส้มคือคนกลุ่มไหนในสังคม?
แนวร่วมถาวรของพรรคสีส้มคือกลุ่มคนชั้นกลางที่มีการศึกษาเกือบทั้งหมด นักวิชาการโดยเฉพาะด้านสังคมศาสตร์เกือบทั้งหมด กลุ่มอาชีพอีลีทของสังคม หมอ สถาปนิก ศิลปิน สายเทคโนโลยี นักเขียน สื่อมวลชน กลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ปัญญาชนสาธารณะ” เซเลบริตี้ปัญญาชน แฟนด้อมพันธุ์แท้ของพรรคส้มคือกลุ่มคนที่มี social capital หรือทุนสังคมสูง ทว่า ทุนการเงินหรือเศรษฐกิจอาจจะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับนักธุรกิจ พ่อค้า
ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาใช้ในการนิยามอัตลักษณ์ของตนเองว่าเขาต่างจากคน “แมสๆ” ทั่วไป และต่างจากพวก “คนรวยๆ” ทั่วไปอย่างไร?
ก็คือสติปัญญา ความรู้ ความสามารถในการเขียน ความสามารถในการพูด ความรู้ลึกซึ้งด้านอาหาร เครื่องดื่ม สุนทรียะทางศิลปะ ดนตรี
พูดง่ายๆ ว่า social capital ของคนกลุ่มนี้คือสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “รสนิยม” และเรามักจะได้ยินคำพูดที่ว่า “เงินซื้อรสนิยมไม่ได้”
ในอดีตคนกลุ่มนี้จะเลือกพรรคประชาธิปปัตย์ หรือเป็นสะวิงโหวต เพราะพวกเขาคิดว่าเขาฉลาดเกินกว่าจะเป็น “ของตาย” ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง
ปัจจุบันฉันคิดว่าคนกลุ่มนี้รวมไปถึง new voters ที่มองว่าตนเองสังกัดกลุ่ม “ชนชั้นนำทางปัญญา” รู้ลึก รู้จริง รู้เท่าทัน ฉลาด หลักแหลม ยังไงกลุ่มนี้ก็เลือกพรรคส้ม
(สารภาพว่ายังไม่ชินกับคำว่าพรรคประชาชน เพราะทุกครั้งที่พูดคำว่าพรรคประชาชน มันมองทำให้เรามองไม่เห็นภาพของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่เป็นผู้วางรากฐานทางอุดมการณ์และยุทธศาสตร์ของพรรค)
เพราะอะไรกลุ่มที่มองว่าตนเองคือชนชั้นนำทางปัญญา หรือมองว่าตนเองเป็นพลเมืองที่ไม่โง่เขลาไม่เบาปัญญาเปี่ยมไปด้วยรสนิยมและความลุ่มลึกในปัญญาและสุนทรียะ จึงจะเป็นโหวตเตอร์ถาวรของพรรคส้ม
เราลองมาดูตัวเลือกของพรรคการเมืองที่มีในประเทศไทย
พรรคเพื่อไทย – คำว่าชินวัตร ทักษิณ นายทุน ความรวยแบบตะโกนของพรรคการเมืองนี้ ไม่สอดคล้องกับรสนิยมของกลุ่มชนชั้นนำทางปัญญาในประเทศไทย
ชนชั้นนำทางปัญญาของประเทศไทยชอบอีลีตแบบอานันท์ ปันยารชุน พวกเขาไม่ได้รังเกียจ “คนรวย” แต่พวกเขาไม่ชอบ “คนรวย” ที่เป็นพ่อค้า ลึกๆ แล้วคนที่เรียกตัวเองว่า “หัวก้าวหน้า” ในประเทศมีแนวโน้มชอบรสนิยมแบบ “อำมาตย์”
และหากมีอำมาตย์คนไหนทำตัวซ้ายนิดๆ ติสต์หน่อยๆ เป็นนักเขียนเบาๆ อำมาตย์คนนั้นจะกลายเป็นขวัญใจไอดอลของชนชั้นนำทางปัญญาเหล่านี้ทันที
พรรคชาติไทยพัฒนา – ภาพสุพรรณบรรหารบุรียังตามหลอกหลอน ชนชั้นทางปัญญาของไทยอยู่ ดังนั้น ณ โมเมนต์นี้จะยังไม่ใช่ตัวเลือกของคนกลุ่มนี้
พรรคภูมิใจไทย – พิจารณาจากการ “ฟาดฟัน” เรื่อง ส.ว.สีน้ำเงิน การมองว่านี่คือพรรคภูธรของผู้มากบารมีอิทธิพลก็ทำให้พรรคภูมิใจไทยไม่ใช่ตัวเลือกของกลุ่มชนชั้นผู้อุดมปัญญาของไทย
พรรครวมไทยสร้างชาติ มีภาพของความเป็น “ขวาจัด” เกินกว่าที่ฝ่ายที่มองว่าตัวเองซ้ายและโปรเกรสซีฟ เหล่านี้จะเลือกได้
เมื่อประเมินเช่นนี้เราคงต้องมาประเมินว่าในจำนวนประชากรไทยที่เป็นผู้สิทธิเลือกตั้งประมาณ 30 ล้านคนน่าจะมีคนที่สังกัดและคนที่คิดว่าตัวเองสังกัดอยู่ใน socio economy หรือเศรษฐสถานะอันได้ชื่อว่าเป็นผู้มี social capital สูง (รายได้จะสูงหรือไม่สูงก็ได้) สักกี่คน
สมมุติว่ามี 8 ล้านคน 8 ล้านคนนั้นย่อมเป็นโหวตเตอร์ของพรรคส้มอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะพรรคการเมืองที่เลือกก็คือส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ หรือกลายเป็น identity ของคนคนนั้น
ในแง่นี้ฉันมองว่าพรรค “ส้ม” มีจุดแข็งที่พรรคการเมืองอื่นไม่มี นั่นคือมีแบรนดิ้งของพรรคที่มีสถานะเป็นเครื่องมือยกระดับ social capital ของผู้ “สวมใส่”
เช่น ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำอะไรมาก่อน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณลองมาใส่เครื่องหมายสีส้ม วันนั้นคุณจะได้สวมยูนิฟอร์มของความเป็นคนรุ่นใหม่ หัวใจเสรี มีจิตวิญญาณของผู้รักความยุติธรรม เป็นผู้มีการศึกษา ฯลฯ
แบรนด์ของพรรคส้มจึงมาพร้อมกับภาพของ ประชาไท ไอลอว์ ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล นักวิชาการไทยศึกษาจากทั่วโลก
ณ วันนี้ใครอยากดูเป็นคนดี เป็นคนฉลาด เป็นนักต่อสู้เพื่อนักโทษการเมือง ก็แค่เอาตัวเองไปอยู่ใน community ส้ม
ว่าบุญว่าบาป ขนาด ตั๊ก-เบียร์ มิจจี้ขายทอง ยังต้องใส่ชุดส้มโพสต์ลงโซเชียลมีเดียว่าตัวเองเป็น “ส้ม” เลย
เพราะฉะนั้น สิ่งที่พรรคส้มมีในวันนี้คือสิ่งที่ประชาธิปัตย์มีในกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ที่การเลือกพรรคประชาธิปปัตย์เป็นสัญลักษณ์ของความมีการศึกษา หัวก้าวหน้า
เรานึกถึงประชาธิปัตย์ในยุคคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ยุคสุรินทร์ พิศสุวรรณ ศุภชัย พานิชภักดิ์ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ จนมาถึงอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนเสียผู้เสียคนไปเพราะเหตุการณ์ที่อภิสิทธิ์บอกชาวโลกว่า unfortunately some people died หลังจากนั้นดวงและสง่าราศีของอภิสิทธิ์ก็อับเฉามาโดยตลอด และแบรนดิ้งของพรรคประชาธิปปัตย์ก็พังพินาศพร้อมกับกำเนิดของ กปปส.
จากพรรคการเมืองที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของคนหัวก้าวหน้ามีการศึกษา กลายเป็นสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองสนับสนุนเผด็จการ สนับสนุนรัฐประหาร และมีส่วนในความตายของประชาชนนับร้อยจากการชุมนุมทางการเมือง
ภาพของปัญญาชนแบบ สุรินทร์ พิศสุวรรณ ค่อยๆ เลือนหายไปจากภาพจำของสังคม
ดังนั้น สิ่งที่พรรคส้มต้องพยายามรักษาเอาไว้คือภาพของความเป็นนักสู้ เป็นกบฏ เป็นผู้กระหายอยากเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นผู้กล้า
ทว่า ล่าสุดที่พรรคส้มลนลานหนีตายจากคำว่า “ปฏิวัติ” และบอกว่าตัวเองเป็นเพียงนักปฏิรูป บวกกับที่กรรมการบริหารพรรคชุดเดิมถูกสอย กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ดูหน่อมแน้ม ปวกเปียก
ภาวะ “ขาลง” ของพรรคส้มจึงเป็นภาวะขาลงอันเกิดจากแบรนดิ้งของพรรคถูกทุบทิ้งไปจนหาซากเดิมไม่เจอ
ภาพของธนาธรคือไพร่หมื่นล้านที่ขบถต่อความเป็นนายทุนของตนเอง ประกาศตั้งพรรคการเมืองเพื่อปักธงเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยนโยบายที่ไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าประกาศมาก่อนคือปฏิรูปทุกสถาบันหลักของสังคมไทย ย่อมเป็นภาพที่ทรงพลัง
ภาพของปิยบุตรมาพร้อมกับแบรนด์ “นิติราษฎร์” ที่ขับเคลื่อนเรื่องการยกเลิกและแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 การประกาศขับเคลื่อนนโยบายสังคมนิยมก้าวหน้า ภาพนักกฎหมายหนุ่มที่จบปริญญาเอกจากฝรั่งเสศ ทำให้เราเชื่อมโยงเขากับปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรจากคำว่านิติราษฎร์
เหล่านี้เป็นทั้ง fresh air สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ก็ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามสำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่ง
แต่สำหรับคนเสื้อแดง ณ เวลานั้นมองว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคอนาคตใหม่คือความลงตัวของฝั่งประชาธิปไตย พรรคอนาคตใหม่มาเติมในส่วนที่พรรคเพื่อไทยขาด นั่นคือมิติทางอุดมการณ์ที่เป็นนามธรรม ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการเมืองเชิงอัตลักษณ์
ส่วนพรรคเพื่อไทยมีในสิ่งอนาคตใหม่ไม่มีนั่นคือความเชี่ยวชาญเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ การเข้าถึงคนรากหญ้า การสื่อสารการเมืองที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องปีนกระไดฟัง
หลังจากที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ปิยบุตร ธนาธร ถูกตัดสิทธิ การปั้นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมหัวหมู่ทะลวงฟันแบบรังสิมันต์ โรม วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล
มีศิริกัญญา ตันสกุล เป็นเทคโนแครตเรื่องเศรษฐกิจแบบฉลาดเฉลียวขณะเดียวกันก็มุ้งมิ้งน่ารักน่าเอ็นดู เป็นส่วนผสมที่ลงตัวมากในการเป็นฝ่ายค้านเพื่อฟาดฟันกับรัฐบาลภายใต้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีจุดอ่อนสูงสุดอยู่ที่ความชอบธรรมในฐานะที่เป็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร
และฉันมองว่านี่คือจุดสูงสุดของพรรคส้ม นั่นคือมีพิธา ที่ connect mass ได้ ไม่ดู “คุกคามความมั่นคง” แบบธนาธร ไม่มีปิยบุตร ที่ติดภาพ 112 กับ ภาพปฏิวัติฝรั่งเศส (ที่คนไทยจิตอ่อนจะระแวงมาก) มีวิโรจน์ กับอมรัตน์ ที่มีลีลาถูกใจคนไทย แบบในสมัยก่อนที่เราจะชอบเฉลิม อยู่บำรุง หรือชอบมัลลิกา บุญมีตระกูล ชอบรังสิมา รอดรัศมี
ตลอดเวลาที่เป็นฝ่ายค้าน ย่างก้าวของการเป็นแนวร่วมกับม็อบไล่ประยุทธของพรรคก้าวไกล การสะสมแต้ม “หล่อ” ของพิธาผ่านการอภิปรายในสภาแบบเน้นบทกวี โวหารของจิตร ภูมิศักดิ์ บวกจิระนันท์ พิตรปรีชา
มีสายบู๊ปะทะตำรวจแบบรังสิมันต์ (สังคมไทยใครด่าตำรวจแซบ คนนั้นคะแนนขึ้นหมด เพราะเป็นความเดือดร้อนที่ทุกคนสัมผัสและเข้าถึงได้ง่าย) มีวิโรจน์ สายปั่น สายฮา และลีลาการแหกไอโอของรัฐบาลในสภาครั้งนั้นยังตราตรึงใจ เพราะทั้งตลกโบ๊ะบ๊ะ ครบรสสุดสุด
คะแนนของพรรคก้าวไกลมีแต่ขาขึ้น
และฉันไม่รู้จริงๆ ว่านั่นคือจุดเปลี่ยนหรือไม่ที่ทำให้พรรคก้าวไกลกับคณะก้าวหน้า ณ เวลานั้นมองว่า ถึงเวลาแล้วที่จะดันพรรคก้าวไกลให้กลายเป็นพรรคเบอร์หนึ่งของประเทศ
ดังนั้น คู่แข่งที่สำคัญที่สุดของพรรคก้าวไกลก็ไม่ใช่ใครอื่นคือพรรคเพื่อไทยนั่นเอง
วลี “ตกปลาในบ่อเพื่อน” จึงถูกใช้มาอธิบายความสัมพันธ์ของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยในเวลาต่อมา
ในขณะที่พรรคก้าวไกลมองว่าทุกพรรคการเมืองคือคู่แข่งทางการเมืองและพรรคเพื่อไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
คำว่าตกปลาในบ่อเพื่อน จึงเป็นวลีที่ใช้กล่าวหาพรรคก้าวไกลอย่างไม่เป็นธรรม
นับแต่นั้นมา จากภาพเพื่อไทย และอนาคตใหม่ที่อะลุ้มอล่วยต่อกันประหนึ่งพรรคพันธมิตรจึงเปลี่ยนไปกลายเป็นพรรคคู่แข่ง
พรรคสีส้มได้ชื่อว่าเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ พรรคสีแดงคือความเชยความแก่
พรรคสีส้มสู้ทะลุเพดาน พรรคสีแดงสู้ไปกราบไป
พรรคสีส้มไม่ใช้เงิน มีภาพปั่นจักรยานเข้าหาชาวบ้าน พรรคสีแดงมีภาพเป็นพรรคขาใหญ่บ้านใหญ่ใช้เงินทำงาน
พรรคสีส้มมีภาพของการคัดเลือกคนจากความสามารถ มีคนแบบเท้งเนิร์ดเทคฯ มีนักเคลื่อนไหวแบบชลธิชา แจ้งเร็ว แบบโตโต้ ปิยรัฐ จงเทพ มีนักข่าวเก่าอย่างเชตวัน เตือประโคน มีสาวปากแซบไม่กลัวใครแบบไอซ์ รัชนก ศรีนอก
ส่วนพรรคแดง มีแต่ลูกหลาน “บ้านใหญ่” เหล่านี้กลายเป็นภาพจำ เป็น narrative สำเร็จรูปที่พรรคส้มสร้างขึ้นจากวาทกรรม “การเมืองใหม่” ส่วนพรรคแดงและผู้สนับสนุนพรรคแดงอย่างฉันก็ได้แต่กรอกตาว่า ความซับซ้อนของพรรคการเมืองหนึ่งถูกลดทอนกลายเป็นภาพจำสำเร็จรูปปราศจากและมองข้ามมิติของปะทะสังสรรค์ เปลี่ยนแปลง ปรับตัวภายในของแต่ละพรรคไปโดยสิ้นเชิง
สองพรรคนี้ไม่ใช่พรรคคู่แข่งธรรมดาแต่เป็นพรรคคู่แข่งที่กองเชียร์น่าจะเกลียดขี้หน้ากันมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองในประเทศไทยแล้ว และเป็นสงครามระหว่าง นางแบกกับด้อมส้มมาจนถึงทุกวันนี้
ความนิยมของพรรคก้าวไกลพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดจนอาจใช้คำว่าก้าวไกลฟีเวอร์ และพิธาฟีเวอร์ได้ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลชนะใจประชาชนในทุกเวทีดีเบต คนหายใจเข้าออกเป็นพิธา คนหนุ่ม คนหล่อ คนพูดภาษาอังกฤษเก่ง คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่แสนโรแมนติก แถมยังมีข่าวกุ๊กกิ๊กกับแอฟ ทักษอร พล็อต แถมยังเป็นคนมีอุดมการณ์ เป็นแคนดิเดตนนายกฯ คนเดียวที่โอบรับม็อบ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พูดเรื่องแก้ไข 112 เปิดโอกาสให้แกนนำม็อบเด็กขึ้นเวที ประกาศยืนเคียงข้างหยก ไปให้กำลังใจยืนหยุดขัง ไปให้กำลังใจเด็กอดข้าวประท้วง
เป็นความสมบูรณ์แบบของ นักการเมืองรุ่นใหม่ในอุดมคติชนชั้นปัญญาชน
และถ้าใครอยากได้ชื่อว่าเป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้าง่ายๆ คุณแค่ประกาศตัวเป็นสีส้ม ติดสติ๊กเกอร์พรรคส้มที่รถ อยากจะแรงๆ หน่อยก็ไปสักโลโก้พรรคส้มที่แขนที่ตัว ซื้อผ้าพันคอพรรคส้มไปผูกคอหมา แมวที่บ้าน แล้วถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย คุณก็จะได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้คนเก๋ๆ คนคูลๆ คนหัวก้าวหน้า คนที่ได้ชื่อว่าต้องการเห็นสิ่งใหม่ในสังคม อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม
จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งไม่รู้ สีส้ม ณ สัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งมีพลังเชิงสัญลักษณ์ในแบบที่เสื้อเหลือของสนธิ ลิ้มทองกุล และสัญลักษณ์นกหวีดกับธงชาติของสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ นั่นคือมีพลังเชิง “เครื่องแบบ” สำเร็จรูปที่ใส่ปุ๊บ ประดับไว้บนตัวปุ๊บ มันสามารถ transform ให้คนนั้นกลายเป็นคนดีมีอุดมการณ์มีจิตสำนึกต่อสังคมขึ้นมาทันที
ในแง่หนึ่งสัญลักษณ์นี้จึงถูกฉวยใช้เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เช่น การตลาด หรือการเรียกยอดไลก์ ยอดแชร์ของผู้คนที่ทำมาหากินบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหรือในภาษาสมัยนี้เรียกว่าเป็นไวรัลระดับสึนามิ ก่อนวันเลือกตั้ง ชนิดที่ดาราทุกคนต้องใส่เสื้อสีส้มไปที่คูหา
เมื่อเข้าใจเช่นนี้ฉันจึงไม่เห็นด้วยเพียงครึ่งเดียวกับชัยธวัชเรื่องกระแสของพรรคสีส้มตก เพราะเราต้องแยกให้ได้ว่าใครคือโหวตเตอร์ตัวจริงของพรรคส้ม โหวตเตอร์ตัวจริงของพรรคส้มที่เป็นนักวิชาการ ปัญญาชนสาธารณะ ผู้มีทุนสังคม วัฒนธรรมสูง (ส่ง) ศิลปิน นักคิดต่างๆ ยังคงเหนียวแน่นอยู่กับพรรคสีส้ม อย่าได้กังวลใจไปเลย และในอนาคตถ้าประชากรกลุ่มนี้เพิ่มจำนวนขึ้น จะเพิ่มเท่าไหร่ก็จะเป็นโหวตเตอร์ของพรรคส้มทั้งหมด
ส่วนกระแสที่หายไปคือส่วนที่เป็นไวรัลที่มากับพิธาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งช่วงจัดตั้งรัฐบาลที่พิธาตระเวนไปบนรถแห่ไปทั่วไทย และสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับเท้ง ณัฐวุฒิ เรืองปัญญาวุฒิ น้อยมาก
ไม่ใช่ความผิดของเท้ง แต่มันเป็นสัจธรรมว่าไวรัลเป็นอะไรที่มาเร็ว ไปเร็ว มีอายุสั้น
กปปส.ที่ว่าแน่ๆ ยังกลายเป็นสภาพเป็นความอับอายในวันนี้เลย
ดังนั้น ไวรัลและกระแสของพิธามีอายุประมาณหนึ่งปีก็ถึงเวลา expired หมดอายุไปตามวงจรของมัน
พิธาจะโดนตัดสิทธิหรือไม่โดนตัดสิทธิ ยังไงวงจรนี้ก็จะครบรอบด้วยตัวของมันเอง ไม่เชื่อ ลองไปดูกระแส แบม ตะวัน หยก เจี๊ยบ ที่เห่อ แห่ โหน กันอยู่ช่วงหนึ่ง ชนิดที่ใครไปขัดสักนิด ทัวร์จะมาลงจนไม่เป็นผู้เป็นคน ตอนนี้พูดว่า “ตะวัน หยก” คนก็เลิ่กลั่กแล้ว ใครเหรอ?
กระแสโจมตีประชาชนพม่า เป็นการโจมตีอย่างไม่เป็นธรรมจากฝ่ายขวา สลิ่มเฟสหนึ่ง ซึ่งถ้าคะแนนนิยมของพรรคส้มจะตกจากส่วนนี้ก็ต้องทำใจว่า คนกลุ่มที่เชื่อเรื่อง “ประชาชนพม่า” ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของพรรคสีส้มตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
จึงอยู่ในกลุ่มของพวกที่มากับกระแส ไปกับกระแส
โจทย์ที่ยากของ “ส้ม” ในอนาคตอันใกล้คือการแสดงยี่ห้อ หรืออัตลักษณ์ของตัวเองว่ายังจะขายความโปรเกรสซีฟแบบอนาคตใหม่หรือไม่?
เท่าที่ฟังเท้งพูดยังไม่พบความเป็นโปรเกรสซีพใดๆ เจอแต่วาทกรรมย้อนยุคกลับไปคนดี เบลมการเมืองเก่า เงินทอน บ้านใหญ่ การใช้เงิน ธนกิจการเมือง ปิดตาฟังจะไม่คิดว่าเป็นเท้งแห่งพรรคประชาชน แต่นึกว่าฟังเปลว สีเงิน ฟังสุทธิชัย หยุ่น ฟังประเวศ วะสี เหมือนย้อนยุคไปสมัยถือธงเขียวสมัย ส.ส.ร.ปี 2540 เวรี่โอลด์สกูล หาความใหม่ไม่เจอ และบอริ่งน่าเบื่อมากๆ
ในขณะเดียวกัน พรรคโบราณแบบเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลใช้โอกาสในการเป็นรัฐบาลผลักดันนโยบาย กฎหมายที่ก้าวหน้าสำเร็จไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสมรสเท่าเทียม สุราชุมชน sex workers บริการสาธารณสุขที่ล้ำไปกว่าสามสิบบาท น้ำประปากินได้ก็ทยอยทำ
น่าจับตามองว่า ท้ายที่สุดสิ่งที่ก้าวหน้าจริงๆ อย่าง entertainment complex การวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล หรือแม้แต่การจัดการเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา จะสำเร็จหรือไม่ เพราะในสายตาฉันนี่คือสิ่งที่ “ก้าวหน้า” จริง
คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยที่จะได้มาเป็นกอบเป็นกำคือ หากผลักดันเรื่องแผนบริหารจัดการน้ำสำเร็จ จะได้คะแนนแน่นอน แต่ถ้าไม่สำเร็จก็เหนื่อย
เรื่องใหญ่ในอนาคตคือเรื่องสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน โลกรวน ฝุ่นพิษ น้ำแล้ง น้ำท่วม ยิ่งปัญหาเหล่านี้รุมเร้า พรรคการเมืองที่ขายภาพความโปรเกรสซีพแบบ woke อย่างพรรคส้มย่อมมีฐานเสียงที่จำกัดและขยายให้ใหญ่ขึ้นยาก
ท้ายที่สุดจะมีสถานะเป็นพรรคปัญญาชน เพื่อปัญญาชน เป็นอาภรณ์ประดับกายให้คนไปเลือกเพื่อโชว์ว่าฉันฉลาดรู้เท่าทันนักการเมืองชั่ว มีสถานะเหมือนไวน์ออร์แกนิกส์ เหมือนหลอดกระดาษ ไม่ค่อย practical แต่บริโภคแล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดีใส่ใจสังคมไม่เห็นแก่ตัว
ยืนยันกระแสพรรคส้มไม่ได้ตกแค่คงตัวเท่านั้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022