ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ภาพยนตร์ |
ผู้เขียน | นพมาส แววหงส์ |
เผยแพร่ |
Challengers เปิดเรื่อง ณ จุดใกล้จะก้าวไปสู่ไคลแมกซ์ของเรื่อง บนคอร์ตเทนนิสในแมตช์ชิงชัยระหว่างสองนักเทนนิสอาชีพชาย ในการแข่งขัน ATP Challenger Tour
ระหว่างอาร์ต โดนัลสัน (ไมก์ เฟสต์) กับ แพทริก ชไวก์ (จอช โอคอนเนอร์)
ชื่อของการแข่งขันเทนนิสอาชีพเป็นที่มาของชื่อหนังโดยปริยาย รวมทั้งยังกินความหมายที่กว้างออกไปในชีวิต คือผู้ท้าชิงชัยในสนามรัก
ATP ย่อมาจาก Association of Tennis Professionals
เป็นการแข่งขันสำหรับนักเทนนิสอาชีพที่จะก้าวต่อไปสู่ระดับสูงของสุดยอดฝีมือ คือ US Open, Wimbledon, Australia Open และ French Open
นักเทนนิสคนใดที่กวาดรางวัลการแข่งขันระดับโลกได้ทั้งหมดทั้งสี่การแข่งขัน เรียกว่าเป็น Grand Slam ถือว่าขึ้นทำเนียบนักเทนนิสยอดฝีมือ
ยิ่งถ้าชนะตำแหน่งแกรนด์สแลมได้มากครั้งเท่าไรก็จะยิ่งเป็น “ตำนาน” ที่จะเล่าขานกันสืบไป
ในชีวิตจริง โนวัก โยโควิช ครองตำแหน่งแกรนด์สแลมมากครั้งที่สุด คือ 24 ครั้ง ตามมาด้วย ราฟาเอล นาดาล 22 ครั้งและ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ 20 ครั้ง
นักเทนนิสอาชีพมี “หน้าต่าง” หรือช่วงระยะเวลาที่ก้าวขึ้นสุดยอดในชีวิตเพียงในช่วงอายุ 20-30 ปี และอุดมคติของการเลิกลาออกจากอาชีพนักเทนนิสอาชีพอย่างสง่างามสมศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิในฐานะสุดยอดฝีมือ คือการกวาดรางวัลแกรนด์สแลมไว้อย่างน้อยสักหนในชีวิต
หนังซึ่งไม่ได้เป็นหนังชีวประวัตินักเทนนิสเรื่องนี้วางท้องเรื่องไว้ว่า อาร์ต โดนัลสัน กำลังก้าวขึ้นสูงใกล้จะถึงดวงดาวอยู่แล้ว ด้วยการครองตำแหน่งผู้ชนะในการแข่งขันโอเพ่นสามครั้ง เหลืออีกเพียงครั้งเดียวก็จะได้แกรนด์สแลม
ระหว่างแมตช์ชิงชัยของ ATP Challenger Tour สาวสวยผิวคล้ำนั่งข้างสนามจับตาดูการแข่งขัน อาร์ตลอบสบตาเธอ ขณะที่เธอพยักหน้าให้อย่างแทบไม่มีใครสังเกตเห็น
เธอเป็นโค้ช ผู้จัดการส่วนตัว ภรรยา และแม่ของลูกสาวของเขาเอง ชื่อ ทาชิ ดังแคน (เซนดายา)
เนื่องจากอาร์ตกำลังอยู่ในช่วงมือตก ทาชิจึงลงชื่อเขาสมัครแข่ง Challenger Tour ครั้งนี้ เพื่อเรียกกำลังใจกลับคืนมาให้เขาในการเอาชนะคู่แข่งระดับรองลงมา
แมตช์ตัดสินกำลังดำเนินอยู่บนคอร์ต เมื่อภาพตัดย้อนเวลาไปเมื่อ 13 ปีก่อนหน้า
อาร์ตกับแพทริกเป็นเพื่อนคู่หูกันมาตั้งแต่วัยเด็ก โตมาด้วยกัน เล่นเทนนิสด้วยกัน และปิ๊งผู้หญิงคนเดียวกัน
ทาชิ ดังแคน เอาชนะคู่ต่อสู้อย่างสวยงามบนคอร์ต ซึ่งเธอเล่นได้อย่างสะใจตัวเอง ถึงขั้นเปล่งวาจาอุทานดังลั่นคอร์ต
ทาชิเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการเทนนิสหญิงชั้นมัธยมปลาย กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย และทำท่าจะเป็นนักเทนนิสสาวยอดฝีมือคนใหม่ที่จะเข้าสู่วงการอาชีพ ประมาณเดียวกับเซเรนา และวีนัส วิลเลียมส์ อย่างไรอย่างนั้น
มีพ่อแม่ผิวดำคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
สองหนุ่มพยายามตีซี้กับสาวสวยรวยเสน่ห์ และสาวเจ้าก็ยอมมาพบในห้องพักที่สองหนุ่มพักอยู่ด้วยกัน
เป็นฉากร้อนแรง คาดเดาไม่ถูก และเล่าเรื่องราวที่หนังต้องการจะเล่าได้มากพอดู
ลงเอยด้วยการที่ทาชิทิ้งท้ายว่า เธอจะให้เบอร์โทร.แก่คนที่ชนะแมตช์ชิงชัยในวันรุ่งขึ้น
แมตช์นั้นอาร์ตตกลงกับแพทริกไว้แล้วว่าแพทริกจะยอมยกให้ เพื่อเห็นแก่คุณย่าหรือคุณยายของอาร์ต
แต่เมื่อมีสาวสวยเป็นเดิมพัน แพทริกก็ไม่ยอมให้อาร์ตชนะ และเป็นหนุ่มคนที่สาวเจ้าเสน่ห์ให้เบอร์โทร.ในครั้งนี้
เราคงเห็นอยู่บ่อยๆ ล่ะนะคะว่าในวัฒนธรรมอเมริกันนั้น การที่สาวให้เบอร์นั้นเป็นการตอบตกลงจะสานสัมพันธ์ในขั้นต่อไป
ดังนั้น แพทริกจึงได้เป็นผู้ชนะในเกมบนคอร์ตและในสนามรักในชั้นต้น
แต่ความสัมพันธ์นั้นก็ไม่จีรังสืบไป
หนุ่มเพื่อนรักสองคนนี้ได้รับฉายาบนคอร์ต ว่า ไฟและน้ำแข็ง
อุปมานี้หนังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดมาก เพียงแต่คนดูต้องเอาไปขบต่อเอาเองว่าใครเป็นไฟ ใครเป็นน้ำแข็ง ด้วยเหตุใดและอย่างไร
แต่ก็พอจะอนุมานเอาได้โดยไม่ยาก
แพทริกทำให้ทาชิโกรธและไม่มาดูเธอแข่ง จนเธอบาดเจ็บที่เส้นเอ็นในจุดสำคัญ ซึ่งตัดโอกาสการก้าวสู่วงการเทนนิสอาชีพไป
ระหว่างนั้นอาร์ตคอยดูแลและให้กำลังใจเธอโดยตลอด ทำให้ทาชิตัดสินใจแต่งงานและมีลูกกับเขา ขณะที่ถ่ายเทความมุ่งมาดปรารถนาในการก้าวขึ้นสู่จุดยอดของวงการเทนนิสมาไว้ที่สามี
หนังไม่ได้เล่าเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ แต่สลับไทม์ไลน์ไปมาหลายครั้งระหว่างปัจจุบันกับช่วงเวลาต่างๆ ในอดีต แต่ก็ไม่น่าจะทำให้สับสนนัก เพราะมีตัวหนังสือบอกช่วงเวลาไว้
หนังเรื่องนี้ใช้เทนนิสเป็นอุปมาสำหรับความสัมพันธ์แบบสามเหลี่ยม หรือที่เรามักเรียกกันว่า รักสามเส้า
ขอออกนอกเรื่องนิดว่า แม้ “รักสามเส้า” มักจะเป็นเรื่องเศร้า แต่คำว่า “เส้า” เป็นเพียงคำพ้องเสียง ไม่ได้พ้องความหมาย จึงไม่ได้เฉียดใกล้ความโศกเศร้าใดๆ เลย เนื่องจาก “เส้า” แปลว่าไม้หลักที่ใช้ปักค้ำ
ทาชิเคยพูดเปรยไว้ในช่วงวัยรุ่นว่า สำหรับเธอ เทนนิสไม่ใช่เกมกีฬา แต่เป็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างคู่เล่น
และการถ่ายภาพซึ่งทำให้เห็นจากมุมมองของลูกบอลที่ถูกตีกลับไปกลับมา รวมทั้งภาพของคนนั่งดูข้างสนามที่หันหน้าซ้าย-ขวามองตามลูกบอลข้ามเน็ตไปมา ก็ชูประเด็นของความสัมพันธ์นี้ให้เด่นชัดขึ้นมา
บอกตรงนี้เลยว่า เป็นฝีมือการถ่ายภาพยนตร์ของ สยมภู มุกดีพร้อม ซึ่งได้รับรางวัลนานาชาติมาแล้วมากมายจากการร่วมงานในฐานะตากล้องในหนังหลายเรื่องของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกูล
และจากหนัง Call Me By Your Name (Timothee Chalamet, Armie Hammer) โดยผู้กำกับฯ ลูกา กัวดานีโน คนเดียวกันนี้
เช่นเดียวกับหนัง Call Me By Your Name ซึ่งมีประเด็นรักอันบริสุทธิ์และร้อนแรงของ LGBTQ หนัง Challengers ก็ใช้ประเด็นนี้อย่างละเอียดอ่อน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ร้อนแรง
เกรงจะเป็นสปอยเลอร์ เลยขอไม่พูดถึงตอนจบนะคะ ขอบอกเพียงแต่ว่าจุดลงเอยของหนังเป็นแบบปลายเปิด
แมตช์ชิงชัยที่เป็นแมตช์เปิดเรื่องนี้ ไม่ได้พาเราไปถึงจุดตัดสินขั้นเด็ดขาดว่าใครแพ้ใครชนะ
แต่ความสำคัญของเกมกีฬาและเกมชีวิตก็คือการเล่นและสนุกกับมันอย่างเต็มที่…ไม่ใช่หรือ?
หนังมีความลงตัวและสวยงามในหลายด้านหลายมุม การเดินเรื่องก็ทิ้งให้คนดูปะติดปะต่อเองเองจากแฟลชแบ็กสลับกับปัจจุบัน อยากบอกเพียงว่า ขมวดเรื่องลงจบได้อย่างสวยงาม ทั้งๆ ที่ดูเหมือนว่าเรื่องยังเดินไปไม่ถึงที่สุด
เชิญหาดูกันได้ ตอนนี้มีฉายในช่อง Amazon Prime นะคะ •
CHALLENGER
กำกับการแสดง
Luca Guadagnino
นำแสดง
Zendaya
Josh O’Connor
Mike Faist
ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022