สรุปบทเรียน…เลี่ยงความรุนแรง ในการต่อสู้ เพื่อเปลี่ยนแปลง

มุกดา สุวรรณชาติ
(Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)

ในงาน 6 ตุลา ปีนี้ ทีมงานได้มีโอกาสคุยกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เคลื่อนไหวใหญ่ทุกครั้ง นับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519

จากนั้นก็เว้นช่วงมานานจนถึงเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งก็มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากเช่นกัน

จนครั้งสุดท้ายที่มีการปราบผู้ชุมนุมประท้วงในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เขาได้สรุปบทเรียนในการต่อสู้ให้พวกเราฟังนับตั้งแต่เขาเข้าร่วมครั้งแรก

 

1.ยุคที่เป็นนักเรียน นักศึกษา…เอาชีวิตแลกอุดมการณ์

วันที่ 13-14-15 ตุลาคม 2516 สมัยนั้นเขาเป็นนักเรียนและเข้าไปร่วมเดินขบวนจนสุดท้ายมีการปะทะกัน เพื่อนของเขาคนหนึ่งถูกยิงได้รับบาดเจ็บเข้าไปนอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งความรู้สึกตอนนั้นก็คือตนเองและเพื่อนได้เป็นวีรชน

หลังเหตุการณ์นั้นไม่นานก็พ้นจากวัยนักเรียนเข้าสู่มหาวิทยาลัย ไปเข้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็เข้าร่วมทำกิจกรรมไปตามยุคสมัยของประชาธิปไตยเฟื่องฟู ทำงานในชมรมที่ก้าวหน้าร่วมมือกับพรรคที่ก้าวหน้า ด้วยความห้าวก็ไปทำงานหน่วยรักษาความปลอดภัย มาทำงานพื้นที่การปะทะทางการเมือง ที่มีการใช้ความรุนแรง บริเวณถนนราชดำเนิน สนามหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อมีการชุมนุมหลายครั้ง เริ่มรู้การเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

วันที่ 4 ตุลาคม 2519 พวกเขามาประจำอยู่ที่ธรรมศาสตร์จนถึงเช้ามืดวันที่ 6 ตุลา เมื่อมีระเบิดเอ็ม 79 ตกลงกลางสนามฟุตบอล เขากับเพื่อนก็รู้ว่าถูกล้อมแล้ววันนี้คงจะต้องถูกจับ แต่ในตอนเช้ากลับมีเสียงปืนดังขึ้น ผู้ทำหน้าที่ รปภ.อยู่ที่หน้าหอประชุมใหญ่ก็เสียชีวิตทันที กระสุนชุดแรกยิงออกมาจากเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่บนชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์ มีคนเสียชีวิตทันทีประมาณ 7-8 คน เพื่อนของเขา ซึ่งเมื่อครั้ง 14 ตุลาคม ถูกยิงแล้วรอดตาย ครั้งนี้ไม่รอด

ตัวเขาอยู่ด้านในใต้ตึกนิติศาสตร์ จึงมีโอกาสถอย และสุดท้ายก็หนีลงน้ำรอดมาได้ แต่หลายพันคนก็ต้องหนีเข้าป่าจับอาวุธสู้

ข้อสรุปเมื่อผ่านความตายมาได้ 2 ครั้งคือ

ความถนัดในการใช้ความรุนแรง ใช้กำลัง ใช้อาวุธ กลายเป็นวัฒนธรรมการต่อสู้เพื่อชิงอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าซึ่งมีลักษณะสืบทอดมาตั้งแต่ยุคโบราณ พวกเขายังไม่ยอมรับระบบคนเท่ากัน จึงไม่ยอมแบ่งอำนาจให้

 

2.สรุปบทเรียน เมื่อเป็นประชาชนเต็มขั้น

เวลาผ่านไปนานถึง 15 ปีเขากลับมาทำงานประกอบอาชีพค้าขายอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อถึงยุคนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ มีความรู้สึกเหมือนว่าประเทศกำลังจะไปได้ดีแต่ก็เกิดการรัฐประหาร เขาจึงเข้าร่วมในการต่อสู้กับ รสช. ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

จากบทเรียนการเข้าร่วมในวัยรุ่น 2 ครั้ง ทันทีที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ระดมพลในการชุมนุมและเตรียมเดินขบวน เขาก็รู้ว่างานนี้ต้องมีการปะทะกันแน่ เพราะฝ่ายผู้ชุมนุมจะเคลื่อนขบวนเข้า ผ่านกำลังทหารที่ตั้งแนวรับอยู่ เมื่อการชุมนุมยืดเยื้อจนมีการไปตั้งกองบัญชาการที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การเผชิญหน้าจึงเกิดขึ้น ช่วงนั้นผู้สนับสนุนและผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งก็ได้ไปตั้งกองบัญชาการกันอยู่ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ตรงหัวมุมสนามหลวง

บทเรียน 2 ครั้งทำให้เขาประเมินว่าแม้ที่นั่นเป็นโรงแรม แต่ก็อาจจะถูกบุกและกลายเป็นที่ปะทะได้ จึงชวนเพื่อนๆ หลายคนให้ออกจากสถานที่นั้น แต่ก็มีบางคนไม่ยอมออกเพราะคิดว่านี่เป็นโรงแรมมาตรฐานไม่น่าจะมีใครเข้ามายึด

และในที่สุดโรงแรมรัตนโกสินทร์ก็ถูกบุกยึดจริงๆ และมีคนถูกจับกุมเป็นจำนวนหนึ่ง

เมื่อการชุมนุมที่ราชดำเนิน ถูกสลายไป การชุมนุมไปมีต่อที่รามคำแหง เขาทำได้แค่ช่วยสนับสนุนเสบียง

แต่แล้ววิกฤตการณ์ก็คลี่คลาย เมื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.ต.จำลอง เข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9

แต่มีผู้เสียชีวิตจากการปราบมากกว่า 2 ครั้งในอดีต

บทเรียนครั้งนี้คือ ผู้ปราบปรามจะไม่มีทางกลัวผู้ไม่มีอาวุธ หรือมีอาวุธน้อยกว่า พวกเขาจะปราบปรามอย่างย่ามใจ แต่ถ้าฝ่ายตรงข้ามมีอาวุธที่มีประสิทธิภาพ ก็จะไม่กล้า ต้องคิดเสมอว่า การใช้กำลังปราบประชาชนเกิดขึ้นได้เสมอ

 

3.ยุคใหม่เกมการเมืองซับซ้อน…ประชาชนก็ยังเป็นเหยื่อความรุนแรง

การเมืองพัฒนาต่อไปในที่สุดก็มีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยก็เดินหน้า ดูเหมือนว่าใครๆ ก็จะมาเป็นนายกฯ ได้ และในที่สุดก็ได้นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จำได้ว่ายุคนั้นเป็นยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูที่สุด รายได้ของเขาดีมาก แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นคือมีการรัฐประหารในเดือนกันยายนปี 2549 เหมือนฟ้าผ่ากลางวันโดยที่ไม่มีเมฆฝน

จากนั้นเขาก็เห็นการเมืองรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนคือมีการใช้การชุมนุมของมวลชนมากดดันและมีการใช้อำนาจศาลมาเปลี่ยนแปลงการเมือง แม้ไม่พอใจแต่ก็ทำอะไรไม่ได้

จนกระทั่งปี 2553 มีการระดมเสื้อแดงเข้ามาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ที่ตั้งมาจากค่ายทหาร เขาจึงเข้าร่วมอีกครั้ง

การปะทะวันที่ 10 เมษายน 2553 มีคนเสียชีวิต การชุมนุมก็ย้ายไปอยู่ที่ราชประสงค์ทั้งหมด ซึ่งคนบางส่วนอาจจะคิดว่านี่เป็นกลางเมือง เป็นย่านการค้า มีรถไฟฟ้า รถเมล์ คงไม่มีใครกล้ามาฆ่ากันที่นี่

เมื่อเข้าไปร่วมชุมนุมหลายวันจากคนวงนอกก็ไปพบเพื่อนเก่าที่ทำงานรักษาความปลอดภัย จึงได้รู้ว่าหน่วยรักษาความปลอดภัยที่นี่มีลักษณะแปลกประหลาดมากคือมีทั้งวัยรุ่นคนหนุ่มสาวและมีตำรวจทหารมาร่วมด้วย

ดังนั้น มันจึงไม่เป็นความลับอะไร รัฐบาลน่าจะรู้ว่าจำนวนคนที่นี่มีเท่าไหร่และมีใครบ้างที่เป็นแกนนำ

ประเมินจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเขารู้ว่าที่ราชประสงค์ก็จะต้องถูกล้อมปราบเหมือนกับที่เขาโดนล้อมปราบในธรรมศาสตร์

เมื่อมีโอกาสได้พบ แกนนำก็ให้คำแนะนำว่าจะต้องถูกปราบและถูกฆ่า ควรจะถอยออกเพราะปืนกระบอกเล็กๆ ที่พวก รปภ.ถืออยู่ไม่มีวันสู้กับอาวุธสงครามได้

ดูเหมือนข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการต้อนรับ ไม่เป็นที่พอใจ จนกระทั่งวันที่ เสธ.แดง ถูกลอบสังหาร คนที่ทำงาน รปภ.จำนวนหนึ่ง ที่คุยได้จึงมีความเชื่อถือ ในที่สุดเขาก็เกลี้ยกล่อมให้คนที่เป็นขาบู๊ถอนตัวออกไปได้ประมาณ 50 คน แต่กลุ่มนี้ยังมีอยู่ในที่ชุมนุมจนถึงวันสุดท้ายประมาณ 5-6 คน ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ 1 คน

แม้จะรู้สึกว่าได้นำประสบการณ์มาช่วยลดการปะทะและการสูญเสียได้บ้าง แต่ครั้งนี้มีคนตายมากที่สุด เพราะช่วงเวลาปะทะยืดเยื้อถึง 2 เดือน

 

4.ยุคปัจจุบันผู้มีอำนาจเปลี่ยนยุทธวิธี

ในช่วงหลังที่มีพวกเยาวชนนักศึกษามาชุมนุมเขาก็ออกไปสังเกตการณ์ด้วย และพบว่าสิ่งที่ผู้ครองอำนาจรัฐทำอยู่นั้นคือการใช้กฎหมายเป็นหลัก และเมื่อได้ผลก็จะใช้แบบนี้ไปเรื่อยๆ การปะทะก็จะเหมือนที่เราเห็นภาพคือมีรถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา อะไรทำนองนั้นทำคล้ายๆ ต่างประเทศ แต่ที่มีประสิทธิภาพคือการดำเนินคดีในทุกๆ คดี ตั้งแต่ ม.112 ม.116 จนถึงเรื่องกฎหมายจราจร กฎหมายรักษาความสะอาด

การใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปรามไม่ได้เป็นเป้าหมายของผู้ที่มีอำนาจรัฐในช่วงหลังแต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช้ถ้าจำเป็น ถ้ามองวัฒนธรรม การรักษาอำนาจ จะพบว่าถ้ากลุ่มอำนาจเก่ายังครองอำนาจอยู่

การปราบประชาชนจะเกิดขึ้นได้เสมอ ขนาดและกำลังการปราบปรามจะขึ้นอยู่กับปัญหาในช่วงเวลานั้นๆ

 

ข้อสรุปที่นำมาเป็นบทเรียน

ผู้ปราบปรามจะไม่มีทางกลัวผู้ไม่มีอาวุธ หรือมีอาวุธน้อยกว่า พวกเขาจะปราบปรามอย่างย่ามใจ แต่ถ้าฝ่ายตรงข้ามมีอาวุธที่มีประสิทธิภาพ ก็จะไม่กล้า แต่จะใช้กฎหมายเข้าจัดการ

เมื่อผู้มีอำนาจสั่งมาไม่ว่าพื้นที่ไหน ก็มีคนกล้าทำ การลอบยิงด้วยสไนเปอร์หรือปืนการใช้ยานเกราะเข้าปิดล้อมและบุกเข้าพื้นที่ก็ยังเกิดขึ้นได้เสมอ ต่อให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นกลางเมืองหลวงต่อหน้าสื่อมวลชนหรือมีการถ่ายทอดสดฝ่ายผู้ถืออาวุธและมีอำนาจก็ยังจะกล้าทำอยู่

ดังนั้น ผู้ต่อต้านอำนาจรัฐ จึงเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ยกเว้นว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังฝ่ายต่อต้านคือผู้มีกำลังทหารหรืออาวุธอย่างเข้มแข็งหนุนอยู่ เหมือนกับกรณีม็อบเสื้อเหลืองหรือม็อบ กปปส.ซึ่งฝ่ายรัฐก็จะไม่กล้าปราบปราม เพราะถ้าเกิดความรุนแรงและสถานการณ์ลุกลามก็จะเกิดการรัฐประหารขึ้นได้ แม้ต่อให้ไม่ทำอะไรที่รุนแรงก็ยังเป็นข้ออ้างเหมือนในปี 2557

ความเห็นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน คือ กลุ่มอำนาจเก่าจะรักษาอำนาจด้วยการใช้กฎหมาย ศาล สภา ซึ่งขณะนี้พวกเขาได้เปรียบทุกอย่างไม่จำเป็นต้องใช้กำลัง

แต่เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ใช้กำลังก็คือ ใบสั่งไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ เพราะความได้เปรียบของพวกเขาจะหายไป ถ้าจำเป็นต้องใช้กำลังก็เป็นเรื่องที่คุ้มค่า แต่การแก้รัฐธรรมนูญถ้าสภาใช้งานไม่ได้ การประท้วงจะเกิดขึ้นในอนาคต โอกาสที่จะเลี่ยงความรุนแรง ก็เหลือน้อย