‘เบนจา อะปัญ’ เฉลย ทำไม ‘เขา’ จึงล้มเหลว ในการลบเรื่องราว ‘6 ตุลา’

หมายเหตุ เนื้อหาของการกล่าวรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดย “เบนจา อะปัญ” หนึ่งในแกนนำม็อบเยาวชนเมื่อปี 2563 ในงาน “6 ตุลาฯ กระจกส่องสังคมไทย” ซึ่งจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2567

 

วันนี้เมื่อ 48 ปีที่แล้ว คือวันที่อำนาจรัฐฆ่าประชาชนจำนวนมากอย่างอำมหิต ทั้งด้วยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเอง กองกำลังจัดตั้ง รวมถึงประชาชน ประชาชนที่รัฐปลุกระดมว่าการฆ่าและการทำร้ายคนที่อยู่ในธรรมศาสตร์เป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้อย่างชอบธรรม เช่นเดียวกับที่การกำจัดคนเห็นต่างแบบนี้มีอยู่ทั่วผืนแผ่นดินไทย

“อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล” เคยเขียนบทความเรื่อง 6 ตุลา ว่าเป็น “ประวัติศาสตร์แห่งบาดแผล” เช่นเดียวกับนักวิชาการคนอื่นๆ ที่เคยเขียนถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ “ลืมไม่ได้ แต่จำไม่ลง”

การรำลึกเหตุการณ์นี้ในสมัยก่อนจึงเต็มไปด้วยการเล่าข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อเป็นการย้ำเตือนว่า ในอดีต ประวัติศาสตร์ของเรานั้นมีบาดแผลอย่างไร

ต้องขอขอบคุณทุกคนที่ทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่จางหายไปไหน ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน นักวิชาการ สื่อ ศิลปิน คนธรรมดา นักเรียน นักศึกษา คนทำหนัง

เกือบ 50 ปีผ่านไป เรายังไม่สามารถเอาผู้ก่อเหตุการณ์ 6 ตุลา มาลงโทษได้ และแม้ว่าเกือบ 50 ปีผ่านไป เรายังไม่สามารถทำให้รัฐยอมรับผิด และถึงแม้ว่า 50 ปีผ่านไป ยังเต็มไปด้วยความพยายามที่จะลบประวัติศาสตร์ด้านมืดออกไปจากสังคม

แต่มันก็เป็น 50 ปี ที่เกิดเหตุการณ์ “ตาสว่าง” ซึ่งตอนนี้ เรื่อง 6 ตุลา ถูกหยิบมาพูดถึงอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ล่าสุด หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินกระแสข่าวเกี่ยวกับภาพยนตร์ไซไฟเรื่องหนึ่ง คือ “ตาคลี เจเนซิส” ของคุณมะเดี่ยว (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล)

ในภาพยนตร์ “ตาคลี เจเนซิส” พูดอยู่หลายเรื่อง แต่หนึ่งในเรื่องที่คุณมะเดี่ยวได้พูดอย่างน่าประทับใจ ก็คือการหยิบยกเรื่องราวของ 6 ตุลา มาพูดในภาพยนตร์ และน่าทึ่งไปมากกว่านั้น ที่เหตุการณ์ในหนังก็ถูกหยิบยกมาพูดถึงในสังคมอย่างกว้างขวางมากเช่นกัน

“ตาคลี เจเนซิส” พูดถึงตัวละครลึกลับที่ชื่อว่า “ก้อง” เขาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาไม่เคยแก่เลย (ไม่เคยมีอายุเพิ่มขึ้น) เขาเป็นคนจิตใจดี เป็นคนกล้าหาญ ทนไม่ได้ที่เห็นใครโดนรังแก แต่ “ก้อง” ไม่รู้ว่าตัวเองมาจากไหน? “ก้อง” ไม่รู้ว่าความเป็นมาของตัวเองเป็นอย่างไร?

คุณมะเดี่ยวใช้ศิลปะของหนังเล่าให้เราฟังว่า “ก้อง” คือนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ทะลุมิติเวลามาอยู่กับคนปัจจุบันโดยที่เขาไม่รู้ตัว และฉากที่น่าทึ่งที่สุดของหนังเรื่องนี้ ก็คือฉากที่ “ก้อง” ทะลุมิติกลับไปที่ธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6

คุณมะเดี่ยวได้จำลองเหตุการณ์ฆ่าหมู่ 6 ตุลา ที่ดูแล้วนึกถึงการกราดยิงที่ตึกบัญชี รวมทั้งที่คณะศิลปศาสตร์ ซึ่งทั้งสองจุดนี้ ก็คือจุดที่มีคนตายอย่างอำมหิตมากที่สุด ในฉากนี้ คุณมะเดี่ยวได้โชว์ศิลปะของการทำหนังทุกแขนง

แต่ฉากที่น่าขนลุกที่สุด ก็คือฉากที่ “ก้อง” พบเพื่อนกำลังวิ่งหนีกระสุน เพื่อนถามว่า “ก้อง” หายไปไหนมา? จากนั้น ทุกคนก็ถูกกราดยิง ส่วน “ก้อง” เขาไปไหนรู้ไหมคะ? เขาไปช่วยเพื่อนที่ใกล้ตาย การไปช่วยเพื่อนที่ใกล้ตายของเขาทำให้เขาต้องตัดสินใจอยู่ในมิติกาลเวลานั้น ในหนังมีประโยคหนึ่งที่ถูกพูดไว้ว่า “อย่าลืมพวกเรา”

ท้ายที่สุด หนังไม่ได้บอกเราว่า “ก้อง” มีชีวิตอยู่ รอดตาย หรือตายจากการตัดสินใจเพื่อช่วยเพื่อน แต่สาระสำคัญของสิ่งนี้ก็คือ “ก้อง” เลือกที่จะเอาชีวิตมาเสี่ยงความตาย หันหลังกลับให้โอกาสที่จะมีชีวิตรอดในมิติอื่นๆ

เรื่องแบบนี้คือสปิริต-จิตวิญญาณของเหตุการณ์ 6 ตุลา รวมถึงเป็นสปิริต-จิตวิญญาณของคนจำนวนมากที่ต่อสู้ทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ หนังยังมีอีกตัวละครหนึ่งที่แสดงโดย “คุณปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล” หลังจากเหตุการณ์ “ก้องตาย” ปีเตอร์หลุดไปอยู่ในอนาคตอีก 200 ปี เขาพบกับกองทัพเยาวชนที่จับปืนสู้กับรัฐบาลที่ต้องการขูดรีดทรัพยากรจากคนชนบท

“ความตายของก้อง” ทำให้ปีเตอร์เลือกที่จะอยู่ในมิตินี้เพื่อสู้ร่วมกับเด็กๆ และเขาก็ไม่กลับไปมิติที่ตัวเองจากมา เขาบอกว่าเขาอยากสู้ช่วยเด็กๆ อยากสู้เพราะผู้ใหญ่ประเทศนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง รัฐบาลนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ถ้าเขาอยู่ เขาอาจช่วยเด็กๆ ได้ ถ้าเขาอยู่ เขาอาจช่วยไม่ให้เด็กๆ ถูกปราบปรามโดยพวกผู้ใหญ่ที่เข่นฆ่าเยาวชน

ตัวละครของคุณปีเตอร์เลือกที่จะสละชีวิตตนเอง เสี่ยงความตาย เพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่มีทางสู้ นี่แหละค่ะ คือจิตวิญญาณของคน 6 ตุลา

สำหรับผู้ใหญ่ในสังคมไทยที่อยากจะกำจัด “ความทรงจำ 6 ตุลา” ต้องขอบอกไว้ก่อนเลยว่า ทุกวันนี้ 6 ตุลา กลายเป็นเหตุการณ์ที่คนเข้าใจกันหมดแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ทุกคนรู้ว่ามีการฆ่าหมู่นักศึกษาที่ธรรมศาสตร์

ข้อหา (สนับสนุน) การฆ่าเป็นเรื่องเลอะเทอะ ยิ่งเรื่องปลุกระดมว่าตอนนั้นนักศึกษาเป็นญวน เป็นคอมมิวนิสต์ หรืออะไรก็ตาม ยิ่งแสดงถึงความเลอะเทอะของคนที่สั่งฆ่าในเหตุการณ์ 6 ตุลา

คนหนุ่มสาวในปี 2519 ในวันนั้น กลายเป็นคน (อายุ) 70 ในปีนี้ แต่ทุกวันนี้ เหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้ถูกพูดถึงแค่กับคนในรุ่น 2519 แต่กลับถูกพูดถึงในคนยุคปัจจุบัน ซึ่งเขาไม่ทันเหตุการณ์ 6 ตุลาด้วยซ้ำ เป็นเพราะว่าผู้คนเขา “ตาสว่าง” จนสามารถพูดและตีความเรื่อง 6 ตุลา ได้อย่างกว้างขวางในสังคม

คนจำนวนมากถูกเข่นฆ่า แต่จิตวิญญาณเหล่านี้ไม่เคยตาย เพราะมันคือจิตวิญญาณแห่งการทำเพื่อคนอื่น แม้ในยามที่อาจจะเป็นอันตรายที่สุดก็ตาม

6 ตุลา คือการต่อสู้เพื่อ “การดันเพดาน” และสังคมไทยหลังจากนั้นในตอนปี 2563 ก็คือช่วงเวลาที่คนนับล้านช่วยกัน “ดันเพดาน” ด้วยเหมือนกัน

เราถึงมีช่วงเวลาที่นักเรียนผูกโบขาวกันทั่วประเทศ ชูสามนิ้วกันทั่วประเทศ เช่นเดียวกับที่มีการชุมนุม เดินขบวน แฟลชม็อบ กันทั่วประเทศเกินกว่าหนึ่งปี

นอกจากการเมืองมวลชน มี “คนดันเพดาน” พูดถึงเรื่องที่เราไม่เคยพูดเยอะไปหมด ไม่เว้นแม้แต่ในวงการศาสนา วงการวิทยาศาสตร์ วงการนักศึกษา วงการนักเรียน หรือแม้กระทั่งพรรคการเมืองหลังปี 2563 เองก็ตาม

มีหลายพรรคการเมืองช่วยกัน “ดันเพดาน” พูดเรื่องที่ไม่เคยพูดถึงมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 112 เรื่องยกเลิกเกณฑ์ทหาร เรื่องตั๋วช้าง ไม่เว้นแม้แต่พรรคเพื่อไทย ในวงเล็บ สมัยปี 2563 ค่ะ

การเลือกตั้งปี 2566 ถือว่าเป็นจุดสูงสุดของ “การดันเพดาน” ของประเทศด้วยเช่นกัน สื่อหลายสำนักได้มีการผลักดันให้เกิดการดีเบตเรื่องที่เราไม่เคยพูดถึงมาก่อน เรื่อง 112 เรื่องปฏิรูปกองทัพ ลดงบประมาณทหาร และที่สุด ก็คือการชนะการเลือกตั้งของพรรคที่ “ดันเพดาน” ที่ไม่มีอำนาจรัฐและอำนาจอื่นสนับสนุนเลย นอกจากอำนาจของประชาชน

สังคมไทยก็เหมือนสังคมอื่นที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่บอกว่าประเทศเราไม่เปลี่ยนหรอก คนไทยไม่เคยเปลี่ยน และสังคมไทยก็ห้ามเปลี่ยนแปลงด้วย แต่สุดท้าย ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็บอกแล้วว่าคนเราเปลี่ยน คนไทยอยากเปลี่ยน และประเทศนี้ก็เปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันทุกวันนี้ ในหลายๆ ครั้ง มันอาจจะดูหดหู่สิ้นหวัง เหมือนว่าประเทศนี้จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้อีก แต่เราทุกคนต่างรู้ว่าสภาพสังคมที่เกิดขึ้นอย่างนี้ มันเกิดขึ้นเพราะใคร เพราะอะไร

เพราะฝ่ายต่อต้านการเปลี่ยนแปลงไม่ต้องการการก้าวหน้า เขาต้องการให้ประเทศเราถดถอย ไม่มีอนาคต (เขา) สร้างความยอมรับไม่ได้ อยู่ด้วยการใช้กำลัง การเมืองเก่า เข่นฆ่า และนิติสงคราม

แต่จะช้าหรือเร็ว สังคมก็ต้องเปลี่ยน เรามักเข้าใจว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา ในปี 2519 เป็น “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ที่ทุกๆ คนจะค่อยๆ ลืมไป

แต่ด้วยการเติบโตของยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน เหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ไม่มีอนุสรณ์สถาน ไม่มีอนุสาวรีย์ ไม่ถูกพูดถึงในหนังสือเรียนฉบับไหนๆ กลับกลายเป็นเหตุการณ์ที่เติบโตจนเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำของสังคมอย่างที่เราเห็นกัน

 

เกือบครึ่งศตวรรษ 6 ตุลา ก็คือเกือบครึ่งศตวรรษแห่งการลบประวัติศาสตร์ของการปราบปรามประชาชน แต่มันก็เป็นเกือบครึ่งศตวรรษเหมือนกันที่ความพยายามเหล่านี้ ทำไม่ได้ การกดหัวประชาชนไม่เคยสำเร็จ เพราะ 6 ตุลา ไม่ใช่เป็นแค่เหตุการณ์ แต่ 6 ตุลา คือ “อุดมคติของการทำเพื่อคนอื่น” แม้ในวันที่เราอาจจะเสี่ยงมากที่สุด เดือดร้อนมากที่สุด

เมื่อใดที่คนในสังคมคนหนึ่งคิดที่จะเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้น “อุดมการณ์แห่ง 6 ตุลา” ก็จะโลดแล่นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง การลบประวัติศาสตร์ของผู้มีอำนาจจึงทำได้แค่ทำ แต่ผลลัพธ์ก็คือทำไม่ได้ เพราะท้ายที่สุด สังคมต้องเปลี่ยน และความพยายามลบประวัติศาสตร์ก็จะเป็นเพียงอีกครั้งของความพยายามที่ล้มเหลว

และล้มเหลวเหมือนกับที่เขาล้มเหลวในการลบเรื่องราวของ 6 ตุลา