ศธ.สั่งลุย ‘เยียวยา-ฟื้นฟู’ ‘น.ร.-บุคลากร-ร.ร.’ จมน้ำทั่ว ปท.

จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ในขณะนี้ ไม่ได้แค่เกิดผลกระทบเฉพาะบ้านเรือนของประชาชนเท่านั้น แต่โรงเรียน หรือสถานศึกษา ก็ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมของหน่วยงาน และสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศ พร้อมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

ตัวเลขล่าสุด ที่ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รายงานผลกระทบ และการช่วยเหลือ ดังนี้

1. สถานศึกษาได้รับผลกระทบ 487 โรง 60 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 13 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 47 เขต รวม 34 จังหวัด

2. นักเรียนที่ประสบเหตุอุทกภัย 16,979 ราย ได้รับการเยียวยา 14,671 ราย แบ่งเป็น สพท. 13,073 ราย และ สพฐ. 1,598 ราย

3. ครูและบุคลากร 1,601 ราย ได้รับการเยียวยา 1,207 ราย แบ่งเป็น สพท. 1,147 ราย และ สพฐ. 60 ราย

และ 4. รวมผู้ประสบเหตุอุทกภัย 18,580 ราย ได้รับการเยียวยา 15,878 ราย แบ่งเป็น สพท. 14,220 ราย และ สพฐ. 1,658 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินการ 2,702 ราย

การช่วยเหลือเยียวยาแก่สถานศึกษา และผู้ที่ได้รับผลกระทบ ระยะสั้น มอบถุงยังชีพ 1,030,000 บาท จากกองทุนรวมน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบภัย สพฐ. ส่วนระยะยาว ได้ประมาณการงบประมาณไว้ 23,456,456 บาท แบ่งเป็น งบฯ จัดสรรซ่อมสุขาโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ 738,600 บาท งบฯ ล้าง ซ่อมแซมอาคาร และสถานที่ 14,720,000 บาท และงบฯ หนังสือ อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบ 7,997,856 บาท

ขณะที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) พบสถานศึกษาได้รับความเสียหาย 71 แห่ง ประมาณการค่าฟื้นฟูกว่า 28 ล้านบาท แบ่งเป็น สกร.ประจำจังหวัด 5 แห่ง ระดับอำเภอ 24 แห่ง ระดับตำบล และชุมชน 28 แห่ง ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” 8 แห่ง ห้องสมุดประชาชน 6 แห่ง

รวมถึงจัดสรรงบฯ ช่วยเหลือบุคลากร 64 คน และนักศึกษา 633 คน

 

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้กำชับให้สถานศึกษา สพฐ.และสังกัดอื่นๆ ใน ศธ.รวมถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดูแลช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

ส่วนการดูแลช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน ให้ดูแลเรื่องอาหาร ที่พัก รวมถึงจัดส่งเรือเพื่อมอบถุงยังชีพ ตามสถานศึกษา บ้านพักครู หรือบ้านเรือนของนักเรียน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น ส่วนระยะยาว หากพื้นที่ไหนที่ปลอดภัยแล้ว ให้สำรวจความเสียหายของอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ของโรงเรียนในสังกัด จากนั้นแจ้งผ่านไลน์กลุ่ม “ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย” สพฐ.เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป

ขณะที่ “บิ๊กอุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ระบุถึงสถานการณ์น้ำท่วมหนักในหลายจังหวัดทั่วประเทศว่า ศธ.ได้เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วม และให้ผู้เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในสถานศึกษา และหน่วยงานของ ศธ.โดยเฉพาะพื้นที่ติด หรือใกล้แม่น้ำที่มีความเสี่ยง และเฝ้าระวัง รวมทั้งให้เตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การเยียวยา และการรับมือกับผลกระทบจากน้ำท่วม ตลอดจนการป้องกันในอนาคต

โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-26 กันยายน มีนักเรียน และนักศึกษาประสบภัย 21,739 คน มีข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ประสบภัย 1,488 คน ในจำนวนนี้มีสถานศึกษา และหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ รวม 256 แห่ง

ซึ่ง ศธ.จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบฯ กลางช่วยเหลือเยียวยาหน่วยงาน และสถานศึกษา ศธ.ที่ประสบภัย 262 ล้านบาท เพราะขณะนี้มีโรงเรียนหลายแห่ง ยังไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ เนื่องจากอาคารสถานที่ สื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์ ชุดนักเรียน ฯลฯ ได้รับความเสียหาย

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมประสานภารกิจของ ศธ.ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูหน่วยงาน และสถานศึกษา รวมถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ได้แก่

มาตรการที่ 1 การช่วยเหลือเยียวยานักเรียน นักศึกษา เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง เป็น “ค่าหนังสือ ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่าอุปกรณ์การเรียน” ในอัตราเงินอุดหนุนรายหัว ของโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน แก่นักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษา สังกัด ศธ. ทั้ง สพฐ., สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ยกเว้นโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนที่ไม่รับเงินอุดหนุน, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รัฐ และเอกชน และ สกร.ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

และมาตรการที่ 2 การช่วยเหลือเยียวยานักเรียน นักศึกษา เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูอาคาร สถานที่ และวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน เป็น “ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด ซ่อมแซม ฟื้นฟูอาคารเรียน สิ่งปลูกสร้าง ห้องน้ำ ห้องสุขา และสภาพแวดล้อม ถนน หรือพื้นที่ในบริเวณสถานศึกษาที่ใช้สำหรับการจัดการเรียนการสอน” แก่หน่วยงาน สถานศึกษา สังกัด ศธ.ทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.), สพฐ., สอศ., สช. และ สกร. ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัย ให้กลับสู่สภาพปกติ สามารถปฏิบัติงาน และจัดการเรียนการสอนได้

สำหรับแนวทางปฏิบัตินั้น พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า 1. การลดภาระนักเรียน และผู้ปกครอง ในระหว่างสถานการณ์อุทกภัยยังไม่คลี่คลาย ให้โรงเรียนประกาศจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสมของบริบทพื้นที่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิต และทรัพย์สิน ของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาเป็นสำคัญ

ระหว่างรอน้ำลด ให้โรงเรียนพิจารณาให้นักเรียนแต่งกายมาโรงเรียนได้ตามความเหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน และเครื่องแบบนักเรียน ที่ได้รับความเสียหาย สูญหายจากเหตุอุทกภัย ให้โรงเรียนสำรวจความเสียหาย และแจ้งต้นสังกัด เพื่อช่วยเหลือเยียวยา โดยระบุจำนวนผู้ได้รับความเสียหาย พร้อมระดับชั้นเรียน

และ 2. การประเมินระดับความเสียหายของหน่วยงาน สถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย เพื่อช่วยเหลือ ฟื้นฟู จะแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ “สีแดง” ส่งผลต่อโครงสร้างอาคาร ไม่สามารถใช้งานได้ “สีเหลือง” ส่งผลต่ออาคาร แต่เปิดใช้งานได้ หรือใช้ได้บางส่วน และ “สีเขียว” ไม่ส่งผลต่ออาคาร ใช้ได้ปกติ

 

ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุข้อมูลล่าสุดที่ได้รับเมื่อวันที่ 20 กันยายน พบว่ามีสถานศึกษาใน 32 จังหวัด ที่ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน สพฐ.ได้อนุมัติงบฯ ปี 2567 เป็นค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าเครื่องแบบนักเรียน ให้โรงเรียนที่น้ำท่วมใน สพท. 7 เขต รวม 64 โรงเรียน วงเงิน 7,997,856 บาท

งบฯ ดังกล่าว สพฐ.ได้จัดสรรงบฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และแก้ปัญหาเร่งด่วน ให้แก่โรงเรียนที่ประสบอุทกภัย 42 เขต รวม 354 โรงเรียน ใช้งบฯ 14,720,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทำความสะอาด ซ่อมแซม ฟื้นฟูอาคารเรียน สิ่งปลูกสร้าง ห้องน้ำ ห้องสุขา และสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน ให้กลับมาพร้อมที่จะการจัดการเรียนการสอน และเปิดการเรียนการสอนรวดเร็ว

หวังว่าการเยียวยาเบื้องต้น และการเยียวยาที่จะตามมาอีกในอนาคตอันใกล้ จะช่วยฟื้นฟูจิตใจนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงช่วยให้โรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วม กลับมาจัดการเรียนการสอนได้โดยเร็ว •

 

| การศึกษา