ช่วงเปลี่ยนผ่านสังคมธุรกิจไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

มิติและบริบทที่น่าสนใจ ช่วงเวลาอ้างอิงสำคัญ สัมพันธ์กับสังคมธุรกิจไทยด้วย

“เหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญในประเทศไทย เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เป็นแรงปะทะสำคัญของสังคมไทยกับ Globalization ครั้งแรก ท่ามกลางพื้นฐานทางเศรษฐกิจและธุรกิจไทย เปลี่ยนโฉมหน้าไป” ผมเคยเสนอบทสรุปความเป็นไปช่วงสำคัญนั้นไว้ เมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว

เป็นช่วงต่อเนื่องอิทธิพลสหรัฐอเมริกา มากับสงครามเวียดนาม (2507-2518) มิได้มีเฉพาะในเรื่องการเมืองและการทหาร หรือในรูปของการช่วยเหลือให้คำปรึกษาและการเงิน ในการปรับโครงสร้างสังคม และนโยบายเศรษฐกิจเท่านั้น

ยังรวมถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ และวิถีชีวิตผู้คนด้วย

ธุรกิจต่างชาติ โดยเฉพาะจากสหรัฐ (มีอีกระลอก จากญี่ปุ่น) ขยายการลงทุน เข้ามาในประเทศไทยอย่างเป็นขบวน

ส่วนหนึ่งเป็น Consumer Product อิทธิพลจากโลกตะวันตกมีหลายมิติ กำลังลงลึกถึงวิถีชีวิต และรสนิยมของคนไทย เป็นกระบวนเชิงขยาย จากชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ไปสู่ฐานที่กว้างขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางที่เติบโตในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว จากช่วงนั้น ฝังลึกในสังคมตลอดมา

 

“เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในประเทศไทยที่สำคัญมาก อีกครั้งหนึ่ง แต่ต่อจากนั้นมา แม้ว่าการเมืองไทยจะลุ่มๆ ดอนๆ ประเทศเพื่อนบ้านจะเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาหลายด้านที่รุมเร้ามาจากภายนอกประเทศ ทั้งเรื่องน้ำมันแพง และดอกเบี้ยที่สูงเป็นประวัติการณ์” หนังสือ “100 ปีจากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์” โดย นวพร เรืองสกุล (จัดพิมพ์โดยธนาคารไทยพาณิชย์ ปี 2550) ตั้งใจนำเสนอถึงช่วงเวลานั้นเช่นกัน

ความเชื่อมโยงกับธนาคารไทยพาณิชย์ (ปัจจุบันถือว่าเป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่ขึ้น ในนาม เอสซีบีเอ็กซ์) ปรากฏเป็นข้อความต่อเนื่อง “…ปรากฏว่าในระยะนี้ระบบการธนาคารก้าวหน้าไปอย่างแข็งแกร่ง ด้วยพื้นฐานที่มั่นคงพร้อมกับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนานาประการเข้าสู่ยุคการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค”

ไทยพาณิชย์ ธนาคารเก่าแก่ที่สุดของสังคมไทย โดยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (เวลานั้น) อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ท่ามกลางความเคลื่อนไหว ธนาคารไทยในร่างเงาธุรกิจครอบครัวอันคึกคัก

ปี 2516 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เพิ่มทุนครั้งใหญ่หลังว่างเว้นหลายทศวรรษ ตามมาด้วยมีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประจิตร ยศสุนทร เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากแบงก์ชาติ มาดำรงตำแหน่งแทน อาภรณ์ กฤษณามระ ผู้ดำรงตำแหน่งมายาวนาน กับแนวทางการบริหารแบบอนุรักษนิยม ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ธนาคารไทยพาณิชย์ ถือว่าได้เปิดฉากขึ้นในเวลานั้น มีบทบาทอย่างโลดโผน เติบโตอย่างก้าวกระโดด ต่อเนื่องจากนั้นกว่า 3 ทศวรรษ

มีการปรับโครงการบริหารครั้งใหญ่ ชักนำมืออาชีพรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาท ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ (ปี 2517) ผู้มีประสบการณ์จากธนาคารต่างประเทศ เป็นหัวขบวน

จากนั้นมีผู้ตามมาเป็นระลอก ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากแบงก์ชาติ อาทิ ชฎา วัฒนศิริธรรม (ปี 2518) และ โอฬาร ไชยประวัติ (ปี 2525)

 

มีอีกเครือข่ายธุรกิจ เชื่อมโยงกับช่วงเวลาคาบเกี่ยวนั้นเป็นพิเศษ

เครือซิเมนต์ไทย หรือ เอสซีจี เครือข่ายธุรกิจรากฐานเก่าแก่ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อพิจารณาผู้ถือหุ้นใหญ่ ถือว่าอยู่ในเครือข่ายเดียวกันกับเอสซีบีเอ็กซ์

จากความสำเร็จครั้งสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กู้เงินดอลลาร์สหรัฐ สนองแผนการขยายตัวทางธุรกิจครั้งใหญ่ ยึดครองฐานะผู้นำ สามารถปรับตัวจากธุรกิจผูกขาด เข้าสู่ภาวะธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อยราย

แรงกระตุ้นมาจากยุคสงครามเวียดนาม ตั้งแต่ต้นจนจบ ถึงผลพวง เริ่มจากการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างขนานใหญ่ รวมทั้งการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขึ้นครั้งแรกในประเทศ

จนกลายเป็นโมเดลยึดมั่นในช่วง 2 ทศวรรษต่อมา (เขื่อนภูมิพล สร้างเสร็จปี 2507 เขื่อนอุบลรัตน์ 2508 เขื่อนจุฬาภรณ์ 2513 เขื่อนสิรินธร 2514 เขื่อนสิริกิติ์ 2515 เขื่อนศรีนครินทร์ 2524 เขื่อนวชิราลงกรณ 2527) ได้สร้างตลาดมหึมาสินค้าปูนซีเมนต์

ขณะเดียวกันเป็นเหตุให้เอสซีจีไม่ได้ “ผูกขาด” อีกต่อไป ด้วยปรากฏคู่แข่งจริงจัง-บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง ก่อตั้งในปี 2512

เอสซีจีกับโอกาสใหม่ สืบเนื่องช่วงหลังสงครามเวียดนามด้วย แม้อยู่ในสถานการณ์ไม่เอื้อนัก ในปี 2518 สหรัฐพ่ายแพ้ และถอนตัวจากสงครามเวียดนาม “ทฤษฎีโดมิโน” ถูกกล่าวถึงด้วยความวิตก การขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเป็นปรากฏการณ์ จากเวียดนาม ลาว (ปกครองโดยคอมมิวนิสต์ ปี 2518) และเขมร (เขมรแดงปกครองปี 2518-2522)

ในช่วงนั้น เอสซีจี ถือจังหวะเปลี่ยนยุค จากผู้บริหารชาวเดนมาร์ก (2456-2517) มาเป็นทีมไทย ขณะโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะเข้ายึดครองธุรกิจโลกตะวันตก ตามแผนการต่อยอดและขยายตัวสู่ธุรกิจครบวงจรอื่น ภาวะการถอนตัวของธุรกิจตะวันตกในช่วงหลังสงครามเวียดนาม ปรากฏแรงกระเพื่อมทางสังคมธุรกิจไทยเพียงเล็กน้อย ขณะเอื้อประโยชน์ต่อเอสซีจีอย่างมาก

ถือเป็นกระแสคลื่นลูกใหญ่ ต่อเนื่องเป็นระลอก นำพาเอสซีจีเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างน่าเกรงขามจากนั้นมาอีกราว 3 ทศวรรษ

 

เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เริ่มเข้าสู่ยุคใหม่เช่นกัน โดย ธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นผู้นำกับแนวทางการขยายธุรกิจตามแบบแผนตะวันตก เริ่มต้นตั้งโรงงานอาหารสัตว์ทันสมัยแห่งแรกของประเทศ (ปี 2514) ตามกระแสรัฐบาลให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในช่วงปี 2512-2520

ในช่วงเวลาเดียวกัน (2513) ได้ร่วมมือกับอาร์เบอร์ เอเคอร์ส (Arbor Acres) บริษัทเพาะเลี้ยงสัตว์ปีกชั้นนำของสหรัฐ ซึ่งเพื่อสร้างธุรกิจเพาะเลี้ยงไก่แบบทันสมัย และครบวงจรในไทย เป็นจุดตั้งแห่งยุคสมัยใหม่ซีพี จนเติบโตอย่างต่อเนื่องจากนั้นมา แม้ว่าช่วงหลังสงครามเวียดนามเผชิญแรงกดดันอยู่บ้าง ทั้งจากกระแส “ทฤษฎีโดมิโน” และขบวนการต่อต้านธุรกิจผูกขาด ผลักดันให้ซีพีขยายกิจการสู่ภูมิภาค ทว่า กลับกลายเป็นโอกาสที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น

เครือข่ายธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของไทยในปัจจุบัน ได้ก่อกำเนิดขึ้นในช่วงเวลานั้น

 

การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน ก่อตั้งขึ้น (ปี 2521) ในห้วงเวลาต่อเนื่องหลังสงครามเวียดนาม ในฐานะรัฐวิสาหกิจใหม่ ด้วยการควบรวมกิจการรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คือองค์การเชื้อเพลิง และ องค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย ท่ามกลางสถานการณ์อันยุ่งยากต่อเนื่อง สังคมไทยเผชิญวิกฤตการณ์น้ำมันถึงสองครั้งในช่วงไม่ถึง 10 ปี

ปตท.เกิดขึ้นในยุครัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ว่ากันว่าค่อนข้างฉุกละหุก ภายใต้โครงสร้างถูกควบคุมโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติ “เพื่อสร้างความสามารถและอำนาจในการจัดหาน้ำมัน สำรองและจัดจำหน่าย เป็นช่วงเวลาเดียวกันภาคพื้นอาเซียนและทั่วโลก จะเห็นว่าเป็นช่วงเดียวกันกับที่มี ‘กิจการน้ำมันแห่งชาติ’ เกิดขึ้นเพื่อต่อรองกับบริษัทต่างชาติ” บทสนทนาบางตอนจากผู้บริหาร ปตท.ในยุคก่อตั้ง

ว่าไปแล้ว ปตท.ก่อตั้งขึ้นตามกระแสลมพัดแรงระดับภูมิภาค ด้วยภาวะสั่นไหวของธุรกิจโลกตะวันตก หลังยุคสหรัฐพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม มีกรณีอ้างอิงสำคัญเกิดก่อนหน้านั้น Pertamina แห่งอินโดนีเชียก่อตั้งขึ้นในปี 2511 และ Petroans แห่งมาเลเซีย ตามมาในปี 2517

เพียง 2 ทศวรรษจากนั้น ปตท.แปลงกาย กลายเป็นบริษัทระดับโลก มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุด และขยายตัวทางธุรกิจอย่างกว้างขวางที่สุด เท่าที่บริษัทไทยจะทำได้และบันทึกไว้ •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com