ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต | พัก ยงมิน
66 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต
ไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี (1)
ความสัมพันธ์ครั้งแรกระหว่างไทยและเกาหลี สืบย้อนไปได้ถึงช่วงปลายศตวรรษที่14 เมื่อราชอาณาจักรสยามส่งทูตไปประจำการในราชวงศ์โครยอ (Goryeo Dynasty)
ตั้งแต่นั้นมา ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก็แทบจะไม่เกิดขึ้นเลยจนกระทั่งถึงปลายศตวรรษที่ 20 ราชอาณาจักรไทยได้ประกาศรับรองสาธารณรัฐเกาหลี (ROK) ที่เพิ่งได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการ ในปี 1949 ไทยจึงเป็นประเทศแรกๆ ในกลุ่มประเทศที่รับรองการประกาศเอกราช
เมื่อสงครามเกาหลีปะทุขึ้นระหว่างปี 1950-1953 ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 21 ประเทศที่ตอบรับคำขอของสหประชาชาติในการส่งกำลังเพื่อช่วยเหลือเกาหลีใต้ รัฐบาลไทยตระหนักว่าหากพรรคคอมมิวนิสต์เข้าครอบครองเกาหลี อาจเป็นความหายนะต่อระเบียบทางการเมืองของไทย รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจสนับสนุนอุดมการณ์ของเกาหลีใต้อย่างเต็มที่และเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ส่งความช่วยเหลือไปยังเกาหลีใต้
ตลอดระยะเวลาของสงครามเกาหลี ประเทศไทยส่งทหารรวม 11,786 นายไปประเทศเกาหลีใต้ มีบันทึกว่าทหารไทย 136 นายเสียชีวิตในสงคราม
ในปี 1974 รัฐบาลเกาหลีใต้สร้างอนุสาวรีย์และศาลาไทยในเมืองโพชอนเพื่อเป็นเกียรติแก่ทหารไทยที่เข้าร่วมในสงครามเกาหลี
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2008 สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเป็นเจ้าภาพในพิธีเปิดงานอนุสรณ์สถานไทย ณ สุสานอนุสรณ์สหประชาชาติในเกาหลี (UNMCK) เพื่อระลึกถึงการเสียสละของทหารไทยในสงครามเกาหลี
ความกล้าหาญและการเสียสละชีวิตของกองกำลังทหารไทย ชาวเกาหลียังกล่าวถึงและชื่นชมอยู่เสมอจนทุกวันนี้
ไทยและสาธารณรัฐเกาหลีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1958 เกาหลีเปิดสถานทูตในกรุงเทพฯ เดือนกุมภาพันธ์ 1960 และการเปิดสถานทูตไทยในกรุงโซลปีถัดมานั้น เป็นการวางรากฐานที่มั่นคงในการเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคี ซึ่งปีนี้ เป็นวาระครบรอบ 66 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี
ปัจจุบัน นายพัก ยงมิน (Mr. Park Yongmin) ดำรงเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย
“ผมเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตเกาหลีประจำประเทศไทยเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ล่าสุด ผมดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพหุภาคีและกิจการระหว่างประเทศ สาธารณรัฐเกาหลี แต่ก่อนหน้านั้น เคยประจำการที่นิวยอร์ก (คณะผู้แทนเกาหลีประจำสหประชาชาติ) โอมาน กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และรวันดา”
ความรู้สึกเมื่อมาประจำประเทศไทย
“กรุงเทพมหานครเป็นทั้งจุดสำคัญสำหรับการทูตเกาหลีและเป็นสถานที่ที่สนุกสนานในการทำงาน ในช่วงสิบเดือนที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับราชอาณาจักรไทย ได้เพื่อนใหม่ก็หลายคน รวมทั้งเป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะผู้แทนจากเกาหลีจำนวนมาก
แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่ระหว่างประเทศของเราทั้งสอง การร่วมกันส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน และการเพิ่มมูลค่าทางการค้า เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายหลักในกิจกรรมของผม”
จะเห็นได้ว่า ในห้วงปี 2023 เป็นต้นมา กระแสการค้าจะมุ่งสู่พื้นที่อินโด-แปซิฟิก ดังนั้น อินโด-แปซิฟิก ณ ชั่วโมงนี้ จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์หลักของประเทศมหาอำนาจ ทุกคนอยากเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่แห่งเดียวที่ยังมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
เกาหลีใต้กับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก
“ประธานาธิบดียุน ซอก ยอล (Yoon Suk Yeol) ได้เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์ของเกาหลีสำหรับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เน้นเสรีภาพ สันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 23 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022
ยุทธศาสตร์นี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคฉบับสมบูรณ์ฉบับแรกของเกาหลี โดยเน้นที่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เพิ่มมากขึ้น
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของเกาหลีในการเสริมสร้างความร่วมมือกับอาเซียนและวางตำแหน่งตัวเองเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคแห่งนี้
ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ครอบครองพื้นที่มหาสมุทร 65% ของโลกและมีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก, 62% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลก, 46% ของการค้าระหว่างประเทศ และครึ่งหนึ่งของการขนส่งทางทะเล
ในฐานะประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ผลประโยชน์ของเกาหลีเชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกกับเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค เกาหลีจึงตระหนักถึงความสำคัญของอินโด-แปซิฟิกอย่างยิ่งยวด
เรายอมรับว่าความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศขึ้นอยู่กับความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เราเป็นประเทศที่พึ่งพาการค้า การค้าระหว่างประเทศคิดเป็นประมาณ 85% ของ GDP โดยคู่ค้ารายใหญ่ 20 อันดับแรกของเกาหลีส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และภูมิภาคนี้คิดเป็น 66% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
ดังนั้น ความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของเกาหลี จึงมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของเกาหลี สร้างขึ้นจากหลักการสำคัญสามประการ ได้แก่ ความครอบคลุม ความไว้วางใจ และการเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน รวมถึงภารกิจสำคัญอีกเก้าประการ ได้แก่
– สร้างระเบียบภูมิภาคบนพื้นฐานของบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์
– ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการปกครองด้วยกฎหมายและสิทธิมนุษยชน
– เสริมสร้างความพยายามในการไม่เผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์และต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาค
– การส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงในทุกด้าน
– การสร้างสรรค์เครือข่ายความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ
– การขยายความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่สำคัญและลดช่องว่างด้านดิจิทัล
– การเดินหน้าในความร่วมมือในภูมิภาคเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงด้านพลังงาน
– การทูตเชิงสนับสนุน (Contributive Diplomacy) ผ่านความสัมพันธ์หุ้นส่วนร่วมมือพัฒนาอย่างเหมาะสม
– การส่งเสริมความเข้าใจและการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
ในฐานะส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เกาหลีได้เปิดตัว “โครงการริเริ่มความสามัคคีเกาหลี-อาเซียน (Korea-ASEAN Solidarity Initiative-KASI) ซึ่งเน้นที่ดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาธารณสุข และความมั่นคงทางทะเล โดยการเชื่อมโยงจุดแข็งและความต้องการของอาเซียนเข้าด้วยกัน เกาหลีมุ่งหวังที่จะแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันและความร่วมมือเชิงปฏิบัติภายใต้ KASI”
เอกอัครราชทูตพัก ยงมิน เน้นว่า
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้ เป็นวาระครบรอบ 35 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีใต้ เกาหลีมุ่งหวังที่จะยกระดับความสัมพันธ์ให้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม”
อนึ่ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตพัก ยงมิน ได้กล่าวข้อความสำคัญในงานเลี้ยงรับรองของสถานทูตในโอกาสครบรอบ 4,356 ปีวันสถาปนาประเทศเกาหลี (The 4356th anniversary of Korea’s National Foundation Day) ว่า
“ข้าพเจ้าขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมงานกับเราในคืนนี้ วันนี้เป็นวันครบรอบ 4,356 ปี ของวันสถาปนาประเทศเกาหลี ในโอกาสพิเศษนี้ ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะแบ่งปันข้อความนี้ให้เพื่อนชาวไทยได้ทราบ เกาหลีและไทยได้รักษาความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แข็งแกร่งและมีชีวิตชีวามาเป็นเวลา 66 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราได้ก้าวหน้าอย่างมากในความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน
เมื่อไม่นานมานี้ เราได้เห็นช่วงเวลาอันน่าจดจำระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปารีส คุณพาณิภัค วงศพัฒนกิจ สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ได้สองสมัยติดต่อกันจากการแข่งกีฬาโอลิมปิก ในวันนั้น ขณะที่ชัยชนะของเธอดังก้องกังวานไปในอากาศ เธอรีบวิ่งไปหาโค้ช ชเว ยองซอก (Choi Young Suk) และทำความเคารพอย่างนอบน้อมลึกซึ้งโดยการโค้งคำนับด้วยท่าทางที่บริสุทธิ์
และเพื่อเป็นการตอบแทน โค้ชชเว ยองซอก ก็ได้โค้งคำนับตอบเธอด้วยเช่นกัน นับเป็นภาพที่สวยงามจากจิตวิญญาณอันล้ำลึกของเทควันโด ช่วงเวลานี้ยังแสดงให้เห็นถึง เสาหลักพื้นฐาน 2 ประการของความสัมพันธ์ของเรา: จิตวิญญาณแห่งความเคารพและพลังแห่งความร่วมมือ
ประการแรก – ความเคารพมีความสำคัญต่อการเอาชนะความแตกต่างของเรา และขยายความคล้ายคลึงกันของเรา ด้วยการเคารพความแตกต่างเหล่านี้ เราได้ขยายขอบเขตของชีวิตประจำวันของเรา ส่งผลให้การค้นพบเกาหลีภายในประเทศไทยเป็นเรื่องง่ายขึ้นเรื่อยๆ ประเทศเกาหลีอยู่ในโทรศัพท์ Samsung ในมือคุณ เพลง K-pop อยู่ในเพลย์ลิสต์ (playlists) ของคุณ ละครเกาหลีและภาพยนตร์ อยู่ในรายการที่คุณอยากดู (watchlists) เกาหลีอยู่ในผลิตภัณฑ์ความงาม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกาหลีอยู่ในครัวเรือนของคุณ ร้านอาหารเกาหลี มีปรากฏขึ้นทั่วทุกมุมของประเทศไทย
เกาหลีมีเที่ยวบิน 192 เที่ยวต่อสัปดาห์ที่เชื่อมต่อเกาหลีและประเทศไทยโดยตรง นักท่องเที่ยวเกาหลี 2 ล้านคนทิ้งใจไว้ที่ประเทศไทยหลังมาเยือนประเทศแห่งรอยยิ้มที่สวยงามนี้
ประการที่สอง – ความร่วมมือของเราทำให้เราเรียนรู้และแบ่งปันซึ่งกันและกัน จุดเริ่มต้นของความร่วมมือของเราคือ ประเทศไทยเร่งรีบส่งความช่วยเหลือไปยังเกาหลีในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดของเราในสงครามเกาหลี พันธะนี้ไม่ได้สร้างขึ้นจากการทำธุรกรรมหรือความอยากรู้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่เกิดจากความสามัคคีและการเสียสละร่วมกัน ซึ่งยังคงเติบโตต่อไป
วันนี้เราได้เห็นนักสร้างสรรค์ชาวไทยนำชีวิตใหม่มาสู่คอนเทนต์เกาหลีด้วยวิถีไทยที่ไม่เหมือนใคร ละครและภาพยนตร์เกาหลี รีเมคหลายเรื่องในไทย แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ที่เสริมสร้างวัฒนธรรมของเราทั้งสอง ศิลปินชาวไทย เช่น ลิซ่า BLACKPINK และ แบมแบม GOT7 ศิลปินหนุ่มชาวไทย สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลก ด้วยการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวาเรากำลังพัฒนาเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าผลรวมของส่วนต่างๆ ของเรา เพราะเมื่อเรามารวมกัน เราจะแข็งแกร่งขึ้น มีพลังมากขึ้น และแข่งขันได้มากขึ้น
ทุกคน ณ ที่นี้ ในวันนี้ ได้มีส่วนสนับสนุนความสัมพันธ์ของเราแล้วโดยยึดหลักความเคารพและความร่วมมือในสาขาที่เกี่ยวข้อง คุณเป็นผู้สนับสนุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในความสัมพันธ์เกาหลี-ไทย ข้าพเจ้าขอร้องอย่างจริงใจให้นำพาความร่วมมือของเราขึ้นไปสู่อีกขั้นอย่างที่ไม่มีใครเคยไปถึงมาก่อน เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างเกาหลีและไทยไปสู่อนาคต และหวังว่าทั้งสองประเทศจะมีอนาคตที่รุ่งเรือง” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022