สุวรรณภูมิ [4] อินเดีย-จีน พบกันที่สุวรรณภูมิ

สุวรรณภูมิเป็นชุมทางการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทรระหว่างอินเดียกับจีน ที่สร้างความมั่งคั่งให้ผู้เสี่ยงภัยเดินทางไปค้าขายสิ่งของมีค่า เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1 จึงพบชื่อสุวรรณภูมิในเอกสารโบราณของกรีก-โรมัน, อินเดีย, ลังกา และจีน

[จากหนังสือ สุวัณณภูมิ โดย ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากรพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510 และ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก : กรณีศึกษาลุ่มแม่น้ำจรเข้สามพัน โดย สืบแสง พรหมบุญ และคณะ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต พ.ศ.2552]

นักแสวงโชคในอินเดียสมัยโบราณนับพันปีมาแล้ว เดินทางเสี่ยงภัยในทะเลสมุทรไปสุวรรณภูมิเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองเมื่อรอดตาย ด้วยกิจกรรมสำคัญเกี่ยวกับการค้าทางไกล 2 อย่าง ได้แก่ ค้าทองแดงและทองสำริดกับสุวรรณภูมิ และค้าของมีค่ากับจีน

ทั้งนี้ โดยไม่เกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนาไม่ว่าพราหมณ์หรือพุทธ แต่หลังจากนี้อีกนานนักบวชจึงอาศัยเรือพ่อค้าไปเผยแผ่ศาสนา

พ่อค้าอินเดียเป็นคนกลาง มีการติดต่อถึงกันระหว่างสุวรรณภูมิกับกรีก-โรมัน พบหลักฐานหลายอย่างในไทย //เหรียญโรมัน (ด้านหน้า) มีรูปพระพักตร์ด้านข้างของจักรพรรดิซีซาร์ วิคโตรินุส (กษัตริย์โรมัน ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.812-814) สวมมงกุฎยอดแหลมเป็นแฉก มีตัวอักษรล้อมรอบอยู่ริมขอบของเหรียญ IMP C VICTORINUS PF AUG ซึ่งเป็นคำย่อของ Imperator Caesar Victorinus Pius Felix Auguste แปลว่า จักรพรรดิซีซาร์ วิคโตรินุส ศรัทธา ความสุข เป็นสง่า (ด้านหลัง) เป็นรูปเทพีอาธีนา พบที่เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี (ภาพและคำอธิบายจากหนังสือของกรมศิลปากร)

1. ค้าทองแดงและทองสำริดกับสุวรรณภูมิ

ทองแดงและทองสำริดเป็นโลหะขายได้ราคาดีในอินเดียและเครือข่ายถึงกรีก-โรมัน จึงดึงดูดนักเดินทางเสี่ยงภัยไปซื้อหาทองแดงถึงแหล่งแผ่นดินใหญ่

สำหรับทองแดงใช้หลอมเข้ากับแร่ธาตุอื่น เช่น ดีบุกและตะกั่ว ได้ผลเป็นโลหะผสมซึ่งมีชื่อเรียกเป็นที่รู้กว้างขวางว่าสำริด หรือทองสำริด ทำเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องรางประดับร่างกาย แต่ที่มีขนาดใหญ่ลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษ คือ กลองทอง ใช้ประโคมตีในพิธีกรรมเกี่ยวกับศาสนาผี พบแหล่งผลิตอยู่มณฑลยูนนานกับมณฑลกวางสี ทางใต้ของจีน, เมืองดองซอน ทางเหนือของเวียดนาม และ จ. มุกดาหาร ใกล้แม่น้ำโขงทางภาคอีสานในไทย

[จากหนังสือ โนนหนองหอ แหล่งผลิตกลองมโหระทึกในประเทศไทย ข้อมูลจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ ต.นาอุดม อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร ระหว่าง พ.ศ.2551-2553 พิมพ์เผยแพร่โดยสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (ไม่บอกปีที่พิมพ์) หน้า 208-210]

ตะเกียงสำริด แบบโรมัน [ที่ฝาปิดตะเกียงสลักเป็นรูปเทพเจ้าซิเลนุส (Silenus) ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งไวน์องค์หนึ่งของพวกกรีก] พบที่ ต.พงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี อายุราว พ.ศ.600-700 (ปัจจุบันแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
คำว่ากลองทองเป็นชื่อเรียกตามภาษาของชาวจ้วงในกวางสีและบางชาติพันธุ์ที่อยู่ใกล้เคียง ฝ่ายลาวเรียกฆ้องบั้ง และไทยเรียกกลองมโหระทึก

[คำที่พบในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาตอนต้นว่า “มโหระทึก” ต่อมาเมื่อตรวจสอบหลักฐานแล้วพบว่า หมายถึงเครื่องหนังชนิดหนึ่งเนื่องในเครื่องตีและเป่ารวม 5 สิ่ง เรียกปัญจตุริยะของพราหมณ์อินเดีย ใช้ประโคมประกอบการละเล่นศักดิ์สิทธิ์ มีเสียงดังอึกทึกกึกก้องตึงตังโครมคราม ดังนั้น ชื่อมโหระทึกจึงไม่ใช่กลองสำริดที่มีเสียงกังวาน แต่ไม่ดังอึกทึกกึกก้องตึงตังโครมคราม]

เทคโนโลยีก้าวหน้าชั้นสูงของสุวรรณภูมิเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว ได้แก่ ทองแดงที่หลอมรวมเข้ากับดีบุก เมื่อใช้ดีบุกเป็นส่วนผสมสูงกว่าปกติจะให้สำริดที่หล่อเป็นรูปร่างมีผิวสีทองแวววาวสุกปลั่งดั่งทองคำ จึงเรียกทองสำริด (ซึ่งคนทั่วไปดูแล้วอาจเข้าใจว่าทองคำ หรือถูกทำให้เชื่อว่าเป็นทองคำก็มี) ด้วยเหตุนี้ทั้งโลหะทองแดงและเทคโนโลยีเกี่ยวกับทองสำริด เป็นที่ต้องการของสังคมชนชั้นนำในอินเดียและเครือข่ายการค้ากว้างไกลถึงโรมัน ทำให้การค้าคับคั่งอย่างยิ่งเกี่ยวกับทองสำริดในสุวรรณภูมิ

[ข้อมูลได้จากบทความเรื่อง Early Maritime Contacts Between South and Southeast Asia โดย หิมันศุ ประภา เรย์ (Himanshu Prabha Ray) พิมพ์ใน Journal of Southeast Asian Studies ฉบับเดือนมีนาคม (Vol. 20 No. 1) March 1989 (2532) หน้า 42-54 (แปลอย่างสรุปโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ) นอกจากนั้นมีบทแปลอย่างยาวโดย ยงยุทธ ชูแว่น (อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) พิมพ์ในวารสาร อักษรศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2536) หน้า 97-110 และบทความเรื่อง “โบราณวิทยาเรื่องโลหะสำริดในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย” โดย สุรพล นาถะพินธุ รศ. ประจำภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ในวารสาร ดำรงวิชาการ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มิ.ย. 2557) หน้า 107-132]

(ซ้าย) สตรีโรมันบนแผ่นหินคาร์นีเลียน (พบที่ อ.คลองท่อม จ.กระบี่) // (กลาง) บุรุษโรมัน (?) บนลูกปัดแก้ว // (ขวา) ใบหน้าชาวโรมัน (?) บนตราประทับ

2. ค้าของมีค่ากับจีน

สุวรรณภูมิเป็นแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคอุษาคเนย์ ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมทางทะเลสมุทร เกือบกึ่งกลางระหว่างอินเดียกับจีน โดยมีคาบสมุทรยื่นยาวลงทางใต้ ขนาบด้วยทะเลจีนใต้ทางตะวันออก กับทะเลอันดามันทางตะวันตก

นักเดินทางเรือเสี่ยงภัยจากอินเดียพบปะ “คนกลาง” จากจีน แล้วแลกเปลี่ยนซื้อขายสิ่งของซึ่งกันและกัน เนื่องจากสมัยนั้นจีนไม่ออกค้าทางทะเลสมุทรด้วยตนเอง แต่มีกลุ่มชำนาญการเดินเรือทะเลสมุทรทำหน้าที่ “คนกลาง” คือ “ชาวน้ำ” หรือจาม พูดภาษามลายู รวบรวมสิ่งของมีค่าจากจีนไปแลกเปลี่ยนซื้อขายกับนักเดินทางเรือเสี่ยงภัยจากอินเดียที่สุวรรณภูมิ (ข้อมูลได้จากหนังสือ ประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย ของ ธิดา สาระยา พิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ พ.ศ.2554)

ทั้งนี้ ด้วยการเดินเรือเลียบชายฝั่ง จึงพบหลักฐานประเภทเครื่องรางอย่างเครื่องประดับบริเวณชุมชนใกล้ทะเลตั้งแต่ไต้หวันถึงอ่าวไทยตอนบน ได้แก่ เมืองอู่ทอง (สุพรรณบุรี) และคาบสมุทรมลายู •

สุวรรณภูมิกับจีนมีการค้าทางทะเลเลียบชายฝั่ง พบหลักฐานเป็นเครื่องรางอย่างเครื่องประดับ แสดงการไปมาหาสู่กัน ราว 2,000 ปีมาแล้ว // (ซ้าย) ลิง ลิง-โอ (Ling Ling-O) เครื่องรางต่างหู 3 ปุ่ม อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว ทำจากหินหยกสีเขียว รูปห่วงกลม ที่ขอบห่วงมีปุ่มยื่น 3 แห่ง พบที่เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี (ภาพจากหนังสือ โบราณคดีสีคราม กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2531 หน้า 41) //(ขวา) เครื่องรางต่างหู 2 หัว อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว ทำจากหินหยกสีเขียว เป็นแท่งยาว มี 2 หัวคล้ายรูปสัตว์ ข้างบนแท่งทำคล้ายตะขอแขวน พบที่เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ