เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่สินธุ์ รุ่นมุทิตาสมณศักดิ์ ‘ชั้นราช’ พุทธาภิเษก ณ วัดนาควิชัย

“พระเทพวุฒาจารย์” หรือ “หลวงปู่สินธุ์ เขมิโย” อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาชัย และอดีตเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม

เป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัด เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน

วัตถุมงคลเคยจัดสร้างเหรียญรูปเหมือน เมื่อครั้งที่ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในปี พ.ศ.2531 สร้างไม่เกิน 3,000 เหรียญ เนื้อทองแดงรมดำ

ประกอบพิธีพุทธาภิเษกที่วัดนาควิชัย มีพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังของมหาสารคามมากมาย เข้าร่วมพิธีอธิษฐานจิต ในช่วงนั้นยังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนาควิชัย ก่อนย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาชัย พระอารามหลวง

ภายหลังเสร็จพิธีได้มอบให้เป็นที่ระลึกแก่ญาติโยมที่มาร่วมมุทิตาสักการะทุกคนได้เก็บไว้บูชา

ลักษณะเป็นเหรียญรูปใบสาเก มีหูห่วง ด้านหน้ายกขอบสองชั้น บริเวณตรงกลางเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ ใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “พระราชสารคามมุนี” สมณศักดิ์ขณะนั้น

ด้านหลังเป็นยันต์องค์พระ มีอักขระอ่านว่า “นะ เส ทุ สะ มะ วิ ทะ ทา กิ ทะ กุ วิ” ด้านบนเป็นยันต์อุณาโลม สรุปเป็นยันต์หัวใจองค์พระ

กล่าวได้ว่าเหรียญรุ่นนี้เป็นวัตถุมงคลรุ่นแรกและรุ่นเดียว

คณะศิษยานุศิษย์ผู้ที่ได้รับไปบูชานำขึ้นคล้องคอ ล้วนแต่มีประสบการณ์ แต่มักสั่งสอนศิษยานุศิษย์ไม่ให้อวดอ้างพุทธคุณวัตถุมงคลด้วยจะเป็นการอวดอุตริมนุสธรรม อันไม่สมควรอย่างยิ่ง

ทุกวันนี้จัดเป็นเหรียญที่ค่อนข้างหายาก

เหรียญหลวงปู่สินธุ์ (หน้า)

อัตโนประวัติมีนามเดิมว่า สินธุ์ คำปลิว เกิดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2456 ที่บ้านเขียบ ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

หลังจากจบการศึกษาชั้น ป.4 จากโรงเรียนบ้านขามเรียง ออกมาช่วยงานครอบครัวทำไร่ทำนาอยู่ปีเศษ

อายุ 12 ปี พ.ศ.2469 จึงขอให้บิดามารดาบรรพชาให้ ณ วัดเจริญผล ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

ด้วยความที่มุ่งมั่นอยากศึกษาพระปริยัติธรรมจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปเรียนที่สำนักวัดสระเกศ เป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น จนถึงปี พ.ศ.2478 เมื่ออายุครบบวชท่านจึงอุปสทบท ณ พัทธสีมาวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดยมี “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” (อยู่ ญาโณทยมหาเถร ป.ธ.9) วัดสระเกศ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา “เขมิโย”

หลังจากนั้นมุมานะเล่าเรียนอย่างหนัก จนถึงปี พ.ศ.2478 ก็สอบได้นักธรรมเอก และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค จากสำนักเรียนวัดสระเกศ ด้วยความที่เป็นคนเรียนเก่ง ในปี 2483 ก็สอบเทียบได้ชั้น ม.3 ปี พ.ศ.2485 ก็สอบได้ประกาศนียบัตรประโยคครู พ.ม. หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ

ด้วยความที่ต้องการอยากกลับมาพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญอีสานบ้านเกิด จึงเดินทางกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพุทธไชยาราม บ้านเขียบ ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม จนถึงปี 2489 ก็ได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์เป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธไชยาราม

เหรียญหลวงปู่สินธุ์ (หลัง)

เป็นพระที่มีผลงานปรากฏมากมาย เช่น บูรณปฏิสังขรณ์ศาสนวัตถุศาสนสถาน อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและโบราณสถาน

ในปี 2512 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดนาควิชัย ต.ตลาด อ.เมือง และเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2518 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษที่ “พระครูวิจัยปริยัติกิจ”

พ.ศ.2523 ได้รับแต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดนาควิชัย ต.ตลาด อ.เมือง

พ.ศ.2524 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2526 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม

พ.ศ.2531 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระราชสารคามมุนี”

ต่อมาได้ไปรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาชัย พระอารามหลวง

ในปี พ.ศ.2540 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระเทพวุฒาจารย์

พระเทพวุฒาจารย์ (สินธุ์ เขมิโย)

พ.ศ.2542 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม และยังเป็นประธานที่ปรึกษาพุทธสมาคม ยุวพุทธิกสมาคมจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานมูลนิธิสงฆ์อาพาธจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระธาตุนาดูน และเป็นผู้จัดการโรงเรียนบาลีสาธิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดอภิสิทธิ์ ตั้งแต่ พ.ศ.2525-2548

ช่วงบั้นปลายชีวิตได้กลับไปจำพรรษาที่วัดพุทธไชยารามบ้านเกิด ด้วยความไม่เที่ยงของสังขาร เริ่มอาพาธบ่อยครั้ง จนถึงเช้าของวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 เกิดอาการอ่อนเพลียช็อกหมดสติ จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลจังหวัดมหาสารคาม ท้ายที่สุด มรณภาพลงด้วยอาการสงบ สิริอายุ 93 ปี พรรษา 72

ในวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน 2549 พิธีพระราชทานเพลิง ณ เมรุชั่วคราววัดมหาชัย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้น เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]