ศึกชิงนาง (4)

ญาดา อารัมภีร

หนึ่งในบทเห่ของสุนทรภู่ คือ “บทเห่เรื่องกากี” พรรณนาถึงพระยาครุฑพานางกากีชมความงามของสีทันดรมหาสมุทรและขุนเขาน้อยใหญ่ในป่าหิมพานต์ มีรายละเอียดเกี่ยวกับนารีผลน่าสนใจ ดังนี้

“ที่สูงเยี่ยมเทียมฟ้า นั่นต้นนารีผล

รูปร่างเหมือนอย่างคน ดูงามพ้นคณนา

ยิ้มย่องผ่องภักตร์ วิไลยลักษณ์ดังเลขา

น้อยน้อยห้อยระย้า เพทยาธรคอย (เพทยาธร = วิทยาธร วิชาธร)

ที่มีฤทธิปลิดเด็ด อุ้มรเห็จเหาะลอย

พวกนักสิทธิฤทธิน้อย เอาไม้สอยเสียงอึง

บ้างตะกายป่ายปีน เพื่อนยุดตีนตกตึง

ชิงช่วงหวงหึงษ์ เสียงอื้ออึงแน่นนัน

ที่ไม่ได้ก็ไล่แย่ง บ้างทิ่มแทงฆ่าฟัน

ที่ได้ไปไว้นั้น ถึงเจ็ดวันก็เน่าไป” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

วรรณคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดภาพของต้นไม้ออกลูกเป็นคน เป็นสาวงามจำนวนมากห้อยย้อยลงมาจากกิ่ง รูปลักษณ์นารีผลที่เปลือยเปล่าปลุกเร้าอารมณ์เพศ เป็นเหตุให้ถูกแย่งชิงสารพัดวิธี

พวกวิทยาธรและคนธรรพ์ที่มากด้วยอิทธิฤทธิ์ก็เหาะไปปลิดหรือเด็ดมาจากต้น แล้วอุ้มพาไปเสพสม

พวกฤทธิ์เดชน้อย เช่น ฤษี นักสิทธิ์ ต้องเหนื่อยแรง แย่งกันเอาไม้สอย บ้างพยายามปีนต้นนารีผล พอใกล้จะเอื้อมถึงเป้าหมายก็ฝันสลาย ถูกเพื่อนที่มาด้วยกันชิงความได้เปรียบ ‘เพื่อนยุดตีนตกตึง’ ทั้งฉุดทั้งดึงตีนไว้จนเจ้าของตีนตกลงไปกระแทกพื้นเต็มรัก

บ้างเห็นใครเขามีนารีผล แต่ตนเองไม่มี ก็ใช้วิธีรบราฆ่าฟัน ฉกฉวยช่วงชิงเอาดื้อๆ

ชายกลัดมันทั้งหลายลงทุนลงแรงแย่งกันเอาเป็นเอาตาย สุดท้ายต่อให้ใครได้ไปครอบครองก็มีเวลาสุขสมแค่ 7 วันเท่านั้น เนื่องจากผลไม้มหัศจรรย์ ‘ถึงเจ็ดวันก็เน่าไป’ เหี่ยวเฉาตายไปในที่สุด

 

‘ศึกชิงนาง’ ข้างต้นเกี่ยวกับ ‘ศิลปะ’ โดยตรง คำกล่าวที่ว่า ‘ศิลปะส่องทางให้แก่กัน’ ฉายชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างวรรณคดีกับศิลปะต่างสาขา อาทิ จิตรกรรม (การวาดภาพ) ประติมากรรม (การปั้นและแกะสลักรูป)

เรื่องราวของนารีผลในวรรณคดีเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินสร้างสรรค์งานศิลปะ สะท้อนภาพนารีผลที่เป็นชนวนเหตุนำไปสู่ศึกชิงนาง ชิงรักหักสวาทระหว่างบรรดาฤษี นักสิทธิ์ วิทยาธร และคนธรรพ์ ภาพในวรรณคดีเป็นเช่นใด ภาพเขียน ภาพวาด รูปแกะสลักก็เป็นเช่นนั้น

ศาสตราจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ราชบัณฑิต อธิบายไว้ในหนังสือ “พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย” (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ) ว่า

“ช่างไทยนำภาพมักกะลีผล หรือนารีผลมาเขียนลายรดน้ำ ลายกำมะลอ หรือแกะสลัก มักทำเป็นรูปต้นไม้ใหญ่ มีใบ ดอก และผลซึ่งทำเป็นรูปร่างอย่างมนุษย์เพศหญิง ห้อยอยู่ตามกิ่ง มีนักสิทธิ์วิทยาธรเหาะมาเชยชม ดังตัวอย่างมักกะลีผล งานจำหลักไม้บานประตูหอพระติ้ว วัดโอกาสศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ศิลปะรัตนโกสินทร์” (ภาพประกอบคำอธิบายเป็นรูปวิทยาธรกำลังอุ้มนารีผลที่ห้อยย้อยลงมาจากต้น)

ยิ่งไปกว่านั้น ภาพลายรดน้ำ ศิลปะรัตนโกสินทร์บนบานประตูตู้พระธรรม ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เราจะมองเห็นภาพนารีผลมีลำต้นขนาดใหญ่ พวกที่ปีนขึ้นไปเด็ดนารีผลที่ห้อยย้อยลงมาจากกิ่งก็มี พวกเหาะเหินเดินอากาศได้เหาะขึ้นไปปลิดก็มี เช่น เหล่านักสิทธิ์ วิทยาธร คนธรรพ์ มีภาพวิทยาธรใช้พระขรรค์ต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงนารีผลจากอีกฝ่ายหนึ่ง

นอกจากนี้ บทความของคุณศรัณย์ ทองปาน เรื่อง “นารีผล-สุเมรุ จักรวาล ตอนที่ 56” ในนิตยสารสารคดี (14 กันยายน 2520) บันทึกไว้ว่า

“ฉากต้นนารีผลและการแย่งยื้อปลิดดึงโดยเหล่านักสิทธิ์วิทยาธรทำนองนี้ ถูกนำเสนอไว้ในงานช่างโบราณเสมอ ทั้งภาพวาดลายรดน้ำบนบานประตูตู้พระธรรม งานแกะสลักไม้บานหน้าต่าง ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ ฯลฯ

เคยเห็นในจิตรกรรมฝาผนังที่อุโบสถวัดหนองยาวสูง จังหวัดสระบุรี วาดไว้ตรงมุมหนึ่งใต้ต้นนารีผล มีภาพฤๅษีจิตอาสาตั้งมณฑลพิธีไว้คอยท่า กวาดเก็บศพนักสิทธิ์วิทยาธรที่หล่นลงมาตาย เอามาเสกชุบชีวิตให้ฟื้นขึ้นอีกครั้ง ก่อนจะเหาะขึ้นไปฟาดฟันกันใหม่ วนเวียนไปเช่นนั้นแล”

 

รายละเอียดเชิงวิเคราะห์วิจารณ์จิตรกรรมฝาผนังข้างต้นจากมุมมองของคุณนิวัติ กองเพียร ในหนังสือเรื่อง “เชิงสังวาส 2 กามรูปในภาพเขียนตามประเพณีที่มีเสียงวรรณคดีไทย” (สำนักพิมพ์มติชน, 2548) นั้นให้ทั้งสาระ สุนทรียภาพ และอารมณ์ผสมผสานกัน สะท้อนถึงความรู้สึกและความเข้าใจงานศิลปะอย่างลึกซึ้ง

“เท่าที่เคยได้ไปเห็นมาในบรรดาจิตรกรรมฝาผนังทั้งหลายตามวัดวาอารามในประเทศไทยนั้น มีเขียนต้นนารีผลอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ใหญ่โตอลังการเท่าที่วัดหนองยาวสูง สระบุรี

และที่น่าประทับใจคือเขียนได้งดงามที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา หรือใครเคยเห็นที่เขียนได้งามกว่านี้ก็บอกด้วย จะได้ไปดูแล้วเอามาเขียนให้คนอื่นได้ไปดูด้วย

ที่ว่าเขียนได้งามนั้นก็ตรงที่ผลนารีนั้นเขียนอย่างวิจิตรบรรจง มีรูปมีร่างที่สวยงาม และเขียนใบไม้ใบหญ้าปิดเนินงามส่วนล่างเอาไว้อย่างมิดชิด ส่วนนมต้มนั้นเขียนอล่างฉ่างได้ไม่ปิดบัง เขียนเส้นกลมกลึงตึงเต็มทุกเต้า ดูแล้วรู้ว่านารีผลคนไหนมีนมสวยและมีขนาดไหน เล็กหรือใหญ่ มีเอวองค์อรชรอ้อนแอ้น แขนแมนแข้งขาเรียวงามไปหมด

ยิ่งเห็นผลไหนที่เทวดาหรือวิชาธรเด็ดอุ้มเหาะไปแล้วยิ่งสวย เหาะไปก็ไม่ไกลนักหรอก บางองค์ก็รวบรัดตัดความเสียบนกิ่งต้นนั่นเอง บางคนก็อาศัยที่โคนต้นนั่นเลย คงขี้เกียจที่จะเหาะไปไกลเพราะเวลาน้อย ต้องไปทำงานบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ท่าทางที่นักสิทธิ์วิทยาธรโอ้โลมนารีผลก็แปลกตา ต่างท่าต่างทางไม่มีซ้ำกัน แต่ละมุมแต่ละท่วงทีก็น่าดูไปเสียทั้งนั้น แม้บางทีจะเข้าแย่งชิงกันก็ยังดูงามได้ ก็คงหมายตาเอาไว้ตรงกันว่าจะเด็ดเอานารีผลนี้ แต่เข้าไปถึงพอดี จึงต้องเกิดการแย่งชิง เพราะถ้าไม่ได้วันนี้ก็หมดโอกาส

ภาพเขียนใช้สีไม่มากนัก มีสีดำเป็นพื้นหลัง ตัวพระตัวนางก็ปิดทองบนเครื่องประดับ มีสีของใบเท่านั้นที่ออกเขียวทึมทึบ สีที่สวยคือสีของผ้านุ่งเทวดาที่ออกฟ้าคราม น่าจะเป็นสีจากธรรมชาติ เพราะสดสะอาดเกินกว่าสีวิทยาศาสตร์จะทำได้

ภาพเขียนชุดนี้เขียนเอาไว้ที่ด้านขวามือของประตูทางเข้าพระอุโบสถ เต็มฝาผนังตั้งแต่ขอบประตูจนถึงด้านข้าง นับว่าใหญ่โตทีเดียว”

จากศิลปะการใช้ภาษาในวรรณคดี รังสรรค์ขึ้นเป็นงานศิลปะประเภทจิตรกรรมและประติมากรรม คำกล่าวที่ว่า ‘ศิลปะส่องทางให้แก่กัน’ จึงไม่เกินเลยความจริงแต่อย่างใด

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร