สุจิตต์ วงษ์เทศ / สำเภาจีนและเถรวาท ผลักดันให้มีคนไทยครั้งแรก ยุคอยุธยา ลูกผสมร้อยพ่อพันแม่

สุจิตต์ วงษ์เทศ

สำเภาจีนและเถรวาท

ผลักดันให้มีคนไทยครั้งแรก

ยุคอยุธยา ลูกผสมร้อยพ่อพันแม่

ไทย เป็นชื่อทางวัฒนธรรม มีขึ้นจากอำนาจการเมืองของภาษาและวัฒนธรรมไทย (ไต-ไท) ไม่มาจากชนชาติเชื้อชาติตามที่การศึกษาไทยครอบงำมานาน

ภาษาไทย เป็นภาษากลางทางการค้าของบ้านเมืองชุมชนดินแดนภายในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป จึงเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางการค้าทางบก ตั้งแต่หลายพันปีมาแล้ว

หลัง พ.ศ.1000 การค้าโลกขยายกว้างขวาง หลังจากนั้นจีนออกค้าสำเภาด้วยตนเอง ทำให้ดินแดนภายในมีความเคลื่อนไหวคึกคัก ผนวกกับการเผยแผ่พุทธศาสนาเถรวาท ผลักดันภาษาไทย (ตระกูลไต-ไท) มีอำนาจมากขึ้นตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.1500

การค้าทางบก

ภาษาไทยบนเส้นทางการค้าทางบก ตั้งแต่หลัง พ.ศ.1700 นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายอยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติ “ซ่อม” ฉบับเก่า “สร้าง” ฉบับใหม่ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2549 หน้า 43-47) จะคัดมาโดยสรุป ดังนี้

การค้าทางบก (ที่อาศัยเส้นทางน้ำร่วมด้วย) น่าจะขยายตัวขึ้นพร้อมกันกับความแพร่หลายของสำเภาจีน เป็นผลให้ชุมชนซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางของเส้นทางการค้าภายใน เช่น เชียงใหม่, แพร่, น่าน, สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย, พิษณุโลก, กำแพงเพชร, นครพนม, โคราช, ฯลฯ ตั้งตัวขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าภายใน มีประชากรอพยพเข้ามาตั้งภูมิลำเนามากขึ้น และประสบความรุ่งเรืองมั่งคั่งในระดับหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน ก็เป็นแรงผลักดันให้รัฐที่สามารถติดต่อค้าขายทางทะเลได้โดยตรง ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งหรือใกล้ชายฝั่ง ขยายอำนาจไปดูดซับสินค้าของป่าเหล่านี้

รัฐที่มีภูมิประเทศเอื้อต่อการมีฐานการเกษตรที่เข้มแข็ง ย่อมสามารถรวบรวมประชากรได้มากกว่า และในที่สุดก็ขยายอำนาจออกไปควบคุมศูนย์การค้าภายในที่อยู่ตอนบนได้ และขยายอำนาจไปควบคุมเมืองท่าในคาบสมุทรมลายู เพื่อป้องกันการแข่งขัน และผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการค้าทางทะเลของตน ไม่ว่ารัฐนั้นจะตั้งอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง หรือในลุ่มน้ำอิรวดี-สาละวินตอนล่างก็ตาม

ภาษาไทยและภาษามลายูขยายตัว

ด้วยปัจจัยบางประการ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ภาษาไท-ไตเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน

ปัจจัยสำคัญที่สุดน่าจะเป็นการค้าภายในดังที่กล่าวแล้ว เนื่องจากพวกไท-ไตตั้งภูมิลำเนาในหุบเขาขนาดเล็กมาก่อน เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นจึงผลิตอาหารไม่พอ ต้องพึ่งพิงการค้าทางไกลเข้ามาช่วยในการดำรงชีพ ฉะนั้นจึงน่าจะมีบทบาทมากในการค้าภายในซึ่งเฟื่องฟูเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ และทำให้ภาษาไท-ไตกลายเป็นภาษากลาง อย่างน้อยก็ในการค้าภายในประชาชนที่มีชาติพันธุ์อันหลากหลาย ทั้งที่อยู่ในที่ราบลุ่ม หรือบนที่สูง พอจะเข้าใจภาษาไท-ไตได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนภาษามลายูคงจะแพร่หลายในวงการค้าของภูมิภาคอยู่แล้ว เพราะประชาชนที่พูดภาษามลายูมีบทบาทในการค้าทางทะเลมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์

ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาสำนักลังกาตัดสินใจใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางสำหรับการเผยแผ่ อย่างน้อยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่าง จึงยิ่งทำให้ภาษาไทยกลายเป็นภาษากลางของคนหลากหลายชาติพันธุ์ในดินแดนแถบนี้มากขึ้น

ในอยุธยา ราชสำนักอาจใช้ภาษาเขมร แต่เมื่อไรที่เป็นเอกสารสำหรับอ่านกันในวงกว้างกว่าชนชั้นสูงก็ใช้ภาษาไทย เช่น โองการแช่งน้ำ หรือกฎหมาย หรือจารึกแสดงบุญญาบารมีของผู้สร้างศาสนสถาน รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับศาสนาด้วย เช่น จารึกที่เกี่ยวกับศาสนารวมไปถึงวรรณกรรมศาสนา เช่น มหาชาติคำหลวง เป็นต้น เช่นเดียวกับเวียงจัน, หลวงพระบาง และเชียงใหม่ ซึ่งผลิตกฎหมายในระยะเริ่มต้นด้วยภาษาไท-ไตเช่นกัน

เช่นเดียวกับผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลาม เพราะภาษามลายูถูกใช้อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ภาษามลายูจึงถูกนำมาใช้สำหรับการเผยแผ่ศาสนาเช่นกัน วรรณกรรมทางศาสนาซึ่งเขียนขึ้นในระยะแรกๆ แม้แต่ที่เขียนในรัฐที่ไม่ได้ใช้ภาษามลายูก็ยังเป็นภาษามลายู

ความสัมพันธ์กับศาสนาใหม่นี้ ทำให้สถานะของภาษาทั้งสองสูงขึ้นในสังคม เพราะภาษาทั้งสองถูกนำไปใช้เขียนวรรณกรรมหลากหลายประเภทมากขึ้นนอกจากศาสนา จนทำให้ภาษาอื่นๆ ในคาบสมุทรมลายูและในดินแดนที่เป็นประเทศไทยถูกภาษาทั้งสองเข้าไปแทนที่ในแทบทุกเรื่อง

ศาสนามวลชนที่เหมือนกัน และการร่วมใช้ภาษากลางที่ใกล้เคียงกันเช่นนี้ ทำให้เกิดภาพของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นในหมู่ประชากร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอย่างสูง

ความเป็นไทย

อํานาจของวัฒนธรรมและภาษาตระกูลไต-ไท หรือภาษาไทย ทำให้คนไม่ไทยในตระกูลต่างๆ “ร้อยพ่อพันแม่” เช่น มอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ม้ง-เมี่ยน, ทิเบต-พม่า ฯลฯ กลายตนเป็นไทย โดยพูดภาษาไทย (ดังมีเพิ่มเติมในคำอธิบายอย่างละเอียดของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในหนังสือ ความไม่ไทย ของคนไทย สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2559)

ความเป็นไทย จึงมีครั้งแรกในรัฐอยุธยา บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ก่อนหน้านั้นไม่เคยพบหลักฐานว่ามีคนเรียกตัวเองว่าไทย