จรัญ มะลูลีม : การต่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย (2)

จรัญ มะลูลีม

ความเป็นปรปักษ์
ระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย

จนถึงเวลานี้ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านได้กลายมาเป็นศัตรูคู่แข่งทางอำนาจกันอย่างถึงพริกถึงขิงอยู่ในเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลาง และต่างก็พัวพันอยู่กับสงครามตัวแทนที่มุ่งสู่เส้นทางของความขัดแย้งที่เห็นชัดเจนขึ้นทุกที

ต้นปี 2008 คิงอับดุลลอฮ์ได้เอ่ยขอข้อเรียกร้องอันมีชื่อเสียงจากสหรัฐให้ “ตัดหัวงูออกไป” ด้วยการถล่มอิหร่าน

ปัจจุบันอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียยืนกันอยู่คนละข้างในสงครามในที่ต่างๆ และต่างก็มีพันธมิตรอยู่ทั่วตะวันออกกลาง

เป็นที่รับรู้กันว่าอิหร่านเป็นหัวหอกของชนกลุ่มน้อยชีอะฮ์ ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำตามธรรมชาติของคนซุนนีส่วนใหญ่

บ่อยครั้งความขัดแย้งในภูมิภาคถูกมองออกเป็นสองขั้วคือขั้วของซุนนีซาอุดีอาระเบียและชีอะฮ์อิหร่านการที่สองประเทศสนับสนุนกลุ่มที่มีความแตกต่างกันทำให้เกิดการแตกออกจากกันตามเส้นทางของสำนักคิด

ในบางมิติความตึงเครียดระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านยังเป็นการต่อสู้เพื่ออำนาจหน้าที่ทางศาสนาในตะวันออกกลางอีกด้วย

 

ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอยู่ในช่วงที่ตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของภูมิภาค

ล่าสุด MBS หรือมุฮัมมัด บิน สัลมาน มกุฎราชกุมารของซาอุดีอาระเบียถึงกับเรียกอะยาตุลลอฮ์ คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณของอิหร่านว่า “ฮิตเลอร์คนใหม่ของตะวันออกกลาง” (The new Hiter of the Middle East) พร้อมกับแนะว่าการขยายตัวของอิหร่านนั้นจำเป็นต้องเข้าต่อกรด้วย

ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในอิหร่านเมื่อไม่นานมานี้เท่ากับเป็นการเพิ่มเติมความตึงเครียดระหว่างสองประเทศให้ร้าวลึกเข้าไปอีก

ทั้งนี้ ความไม่สงบได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 28 เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา (2017) หลังจากรัฐบาลอิหร่านประกาศถึงแผนการที่จะขึ้นราคาน้ำมันและตัดการช่วยเหลือทางการเงินประจำเดือนต่อผู้มีรายได้น้อยชาวอิหร่านลง

ในเบื้องต้นการประท้วงที่เกิดขึ้นมุ่งความสนใจไปที่ประเด็นทางเศรษฐกิจ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นอารมณ์การต่อต้านรัฐบาลอย่างกว้างขวาง

เป็นที่เข้าใจกันดีว่าการแทรกแซงของต่างชาติและความตกต่ำของราคาน้ำมันมีส่วนทำให้รัฐบาลต้องเอาเงินสดออกมาสนับสนุนเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งกำลังได้รับความยากลำบากเนื่องจากคนหนุ่มสาวตกงาน

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่ามีการท้าทายอยู่ภายในประเทศที่รัฐบาลอิหร่านจะต้องหาทางจัดการกับปัญหานี้ ความไม่สงบอันเนื่องมาจากการประท้วงรัฐบาลครั้งนี้นำไปสู่การเสียชีวิตของชาวอิหร่าน 22 คน

ในวันที่ 7 มกราคม ปี 2018 กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps – IRGC) กล่าวว่า รัฐบาลได้ทำให้ความไม่สงบอันเนื่องมาจากการประท้วงที่นำไปสู่ความตายของประชาชน 22 คนสงบลงแล้ว

 

ผู้นำอิหร่านนอกจากจะอ้างว่าซาอุดีอาระเบียและประเทศอื่นๆ เป็นผู้ยุยงให้เกิดความไม่สงบในประเทศแล้ว มุฮัมมัด ญะอ์ฟัร มอนตาเซรี (Muhammad Jafar Montazeri) อัยการสูงสุดของอิหร่านยังได้กล่าวในวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมาว่า CIA Mossad ต่างก็ช่วยกันเข้ามาหนุนความไม่สงบดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามแผนการทุ่มเงินเพื่อนำเอาความไร้เสถียรภาพมาสู่อิหร่าน

ต่อมาในวันที่ 5 เดือนเดียวกัน ญาวาด ซารีฟ (JavadZaref) รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านได้อ้างว่าซาอุดีอาระเบียสหรัฐและกลุ่มก้อนของไอเอสหรือไอซิส (ISIS) ได้ร่วมกันให้การยอมรับความรุนแรง ความตายและการทำลายล้างอิหร่าน

พร้อมกับกล่าวอีกครั้งในวันที่ 8 เดือนเดียวกันว่าการที่ซาอุดีอาระเบียนำเอาทหารเข้ามารุกรานเยเมนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความตึงเครียดในภูมิภาค

และกล่าวต่อไปว่าหลังจาก 33 เดือนในสงครามที่ไร้ประโยชน์ ผู้รุกรานควรจะยอมรับความจริงได้แล้วว่าวิกฤตการณ์ในเยเมน ต้องการทางออกทางการเมือง ด้วยเหตุนี้การเจรจาและการมีความเห็นร่วมกันเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาทางการเมืองนี้ได้ และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในที่สุด

 

การที่ซาอุดีอาระเบียกำลังเผชิญหน้าอยู่กับอิหร่านเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอยู่ในประเทศนี้ เพราะการขยายอิทธิพลของอิหร่านได้ทำให้สถานภาพของซาอุดีอาระเบียต้องง่อนแง่นลงอย่างเห็นได้ชัด

ถึงเวลานี้อิทธิพลของอิหร่านได้ขยายตัวครอบคลุมภูมิภาคแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนของผู้ถือสำนักคิดชีอะฮ์

อิหร่านได้หยั่งรากลงในดินแดนอิรัก ซีเรีย เลบานอนและเยเมนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าอิหร่านได้ขยายอิทธิพลของตนจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปถึงกรุงเตหะรานแล้วโดยมีรัสเซียยืนหยัดอยู่กับอิหร่าน

MBS ได้เตือนถึงอันตรายที่มาพร้อมกับอิหร่านและเตือนถึงการขยายตัวของอิหร่านเข้าไปยังซูดาน ปากีสถานและจิบูดิ

 

ในขณะเดียวกัน Emmanuel Macron ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสได้วิพากษ์สหรัฐอิสราเอลและซาอุดีอาระเบียที่รวมตัวกันก่อสงครามกับอิหร่านจนนำไปสู่การประท้วงที่เกิดขึ้น

ในวันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา Macron เรียกร้องให้ (ฝ่ายต่างๆ) มีการสานเสวนากับอิหร่านพร้อมกับวิพากษ์สหรัฐอิสราเอล และซาอุดีอาระเบียที่ร่วมกันทำให้เกิดนโยบายชอบชวนทะเลาะกับประเทศอิหร่าน ซึ่งสามประเทศดังกล่าวพยายามจะโดดเดี่ยวและบ่อนเซาะอิหร่านอยู่ในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสื่อของซาอุดีอาระเบียมีความกระตือรือร้นที่จะนำเสนอข่าวความไม่สงบในอิหร่าน แต่รัฐบาลก็ยังคงมิได้แสดงอะไรออกมาให้เห็นและเป็นที่รับรู้กันว่าซาอุดีอาระเบียและอิหร่านกำลังต่อสู้กันด้วยการใช้สงครามตัวแทน

ซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐในเวลานี้มีความพยายามที่จะโดดเดี่ยวอิหร่านในทางการทูต และให้การสนับสนุนรัฐบาลของทรัมป์ตลอดไปจนถึงกลุ่มต่างๆ ที่เรียกกันว่าองค์กรก่อการร้ายต่างชาติ

ก่อนหน้านี้ซาอุดีอาระเบียได้ขอให้มีการประชุมพันธมิตรสันนิบาตอาหรับ (Arab League) ในกรุงไคโรอย่างเร่งด่วน เกี่ยวกับ “การเข้ามาแทรกแซง” ในภูมิภาคของอิหร่าน

กลุ่มก้อนของสันนิบาตอาหรับได้วิพากษ์อิหร่านและพันธมิตรฝ่ายชีอะฮ์อย่างฮิสบุลลอฮ์พร้อมกับเรียกร้องถึงเอกภาพในการเข้าไปเผชิญกับการรุกรานของอิหร่าน

ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของซาอุดีอาระเบียอาดิลอัลญุเบรได้กล่าวว่า “ราชอาณาจักรจะไม่รอดูและจะไม่ลังเลที่จะปกป้องความมั่นคงของตัวเอง”