ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | มองบ้านมองเมือง |
ผู้เขียน | ปริญญา ตรีน้อยใส |
เผยแพร่ |
ทุกครั้งที่มีข่าวอุบัติภัยเกิดขึ้น ข่าวความเสียหายของบ้านเมืองและชีวิตผู้คน อาทิ การระบาดของโรคร้าย ก็จะมีแพทย์ผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง ให้ความรู้ตามความรับผิดชอบทางวิชาชีพ
หรืออาคารทรุด โครงสร้างหล่น สภาวิชาชีพวิศวกรรม จะออกมาให้ความเห็น หรือเสนอมาตรการแก้ไขต่างๆ
แต่จะไม่เคยมีข่าวสภาวิชาชีพสถาปัตย์หรือสภาสถาปนิก ออกมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เกี่ยวกับความเสียหายของสิ่งก่อสร้างจากเหตุเพลิงไหม้ หรือข่าวอาคารสำคัญ เช่น รัฐสภามีปัญหาน้ำรั่ว เพดานพัง เป็นต้น
เรื่องราวเกี่ยวกับสถาปนิก มักจะเป็นข่าวในวงการอื่น โดยเฉพาะวงการบันเทิง หรืองานสร้างสรรค์ศิลปะ
จนเกิดการรับรู้ในหมู่เยาวชน ว่าวิชาชีพสถาปัตย์นั้น เกี่ยวข้องแค่ความงามในความคิด ไม่เกี่ยวข้องชีวิตของผู้คน
กระบวนการผลิตแพทย์ ออกไปรักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้นั้น จะต้องผ่านการศึกษาในระบบนานถึงหกปี โดยสี่ปีแรกเป็นการเรียนรู้ทางด้านวิชาการ สองปีสุดท้ายจะเป็นการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ ก่อนออกไปประจำการตามโรงพยาบาล
หลังจากนั้นยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพื่อจะต่อยอดเป็นแพทย์เฉพาะทางเฉพาะโรค
ยังต้องมีการศึกษา ดูงาน ร่วมประชุมทางการแพทย์ ตลอดเวลาที่ประกอบวิชาชีพ
แม้ว่าระยะเวลาศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมจะนานถึงห้าปี แต่รายละเอียดนั้นแตกต่างกัน คือจะเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในโรงเรียนตลอดห้าปี การฝึกงานวิชาชีพ ก็แค่สามเดือนในช่วงปิดภาคการศึกษา
เมื่อเรียนจบได้รับปริญญา สามารถประกอบวิชาชีพได้ แม้ไม่ได้ศึกษาเพิ่มเติม ก็อาศัยแค่ประสบการณ์นานปี ก็จะติดตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง
เวลาว่าง ส่วนใหญ่จะร่วมกิจกรรม กีฬา บันเทิง และการท่องเที่ยว ตามที่บริษัทวัสดุก่อสร้างจัดให้
ในอดีต อาคารสิ่งก่อสร้าง นอกจากจะมีขนาดเล็ก การใช้สอยไม่ซับซ้อน วัสดุก่อสร้าง โครงสร้างและระบบประกอบอาคารธรรมดา สถาปนิกจึงพอจะรอบรู้ และอาศัยแค่ประสบการณ์
แต่ในปัจจุบัน อาคารสิ่งก่อสร้าง นอกจากจะใหญ่โต ยังสูงระฟ้า การใช้สอยหลากหลายและซับซ้อน เทคโนโลยีการก่อสร้างยังก้าวหน้าอย่างมาก
เมื่อมหาวิทยาลัยไม่ได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตร สถาปนิกไม่สนใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หากยกภาระความรับผิดชอบทั้งหมดไปให้วิศวกรบ้าง ผู้รับเหมาก่อสร้างบ้าง เชื่อตามคำบอกของพนักงานขาย ผู้ผลิตสินค้า หรือผู้นำเข้าเทคโนโลยีบ้าง
ขณะเดียวกัน ใช้วิธีโอ้อวดความสามารถทางวาจา ฝีมือวาดรูป หรือเก่งเอไอ เน้นเรื่องแนวคิดสร้างสรรค์ ความงามที่จับต้องไม่ได้ และที่พบเห็นทั่วไป คงเป็นผู้นำกระแสแฟชั่น จนชาวบ้านคิดว่าสิ่งก่อสร้าง เป็นเหมือนเสื้อผ้า เปลี่ยนรูปแบบรูปทรงไปตามฤดูกาล
จึงไม่แปลกที่ในอดีต อาชีพสถาปนิก ผู้สร้างอาคารที่พักอาศัย คุ้มครองชีวิตผู้คน จะได้รับการยอมรับเท่ากับอาชีพแพทย์ ผู้ใช้โอสถรักษาชีวิตพ้นจากโรคภัย
แต่ในปัจจุบัน ไม่มีใครให้ความสำคัญ เพราะ สถาปนิกไม่เคยออกมาให้ความรู้ เวลาเกิดอุบัติภัยกับอาคารสิ่งก่อสร้าง
ที่สำคัญ ไม่เคยสนใจความเป็นอยู่ของผู้คน แค่ออกแบบอาคารรูปร่างแปลก รูปทรงพิสดาร เท่านั้น •
มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022