ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ทะลุกรอบ |
ผู้เขียน | ดร. ป๋วย อุ่นใจ |
เผยแพร่ |
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ผมได้มีโอกาสได้รู้จักกับน้องคนหนึ่งผ่านทางช่องทางออนไลน์ หลังจากที่เราได้เริ่มคุยกันมากขึ้น ผมก็ได้เรียนรู้ว่านักวิจัยหนุ่มน้อยหน้าละอ่อนคนนี้กำลังทำงานวิจัยที่อาจจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมากมายได้ในอนาคต ไม่ใช่แค่คนไทยแต่เป็นทั้งโลก
ผมตื่นเต้นมากกับงานวิจัยของน้อง เพราะเขาและทีมอาจารย์ของเขาที่เซนส์หลุยส์สามารถที่จะเลี้ยงสเต็มเซลล์ได้ในหลอดทดลอง เพิ่มจำนวนได้มากมาย และสามารถกระตุ้นให้พวกมันแปรเปลี่ยนไปเป็นไอส์เลต (islet) ของตับอ่อนหรือที่หลายคนจะรู้จักกันในชื่อ “ไอส์เลตออฟลังเกอร์ฮันส์ (Islets of Langerhans)” ได้เป็นผลสำเร็จ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเอาไอส์เลตพวกนี้ไปปลูกถ่ายลงในหนูที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวาน หนูทดลองพวกนั้นหายป่วยจนแทบจะเป็นปลิดทิ้ง แม้จะทำในหนูทดลอง เพราะติดเรื่องการทดลองในมนุษย์
แต่ผลของน้องและทีมชี้ชัดว่า ด้วยเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ที่เขาพัฒนาขึ้นมา โรคเบาหวานนั้นน่าจะสามารถรักษาให้หายขาดได้!!!

หลังจากนั้น ผมก็หันไปสนใจเรื่องอื่น แต่แล้ววันหนึ่งผมก็ได้ยินข่าวว่าน้องตัดสินใจจะกลับมาทำงานเป็นอาจารย์ที่เมืองไทย เพื่อช่วยกันผลักดันงานวิจัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ
ผมตื่นเต้นมาก การที่นักวิจัยดาวรุ่งที่ตีพิมพ์ผลงานมากมายในวารสารระดับโลกอย่าง nature และ science จะยินดีกลับมาช่วยขับเคลื่อนงานวิจัยของประเทศถือเป็นข่าวที่ดีมากๆ ข่าวบอกว่าน้องยอมตกลงตกร่องปล่องชิ้นไปแล้วกับคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา
“เป็นอย่างไรบ้างกลับมาทำงานที่ไทยแล้ว โอเคไหม?” ผมถาม “ดีมากๆ เลยพี่” น้องตอบมาด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ในมุมของน้อง ทุกอย่างดูสวยงาม
“แต่ยังไม่ค่อยมีชั่วโมงสอน” น้องบอก
“สนใจมาบรรยายพิเศษที่คณะวิทย์มั้ย” ผมถาม “เป็นวิชาช่วยปรับพื้นของปริญญาโทและเอก ผมอยากให้น้องๆ นักศึกษาได้อัพเดตงานวิจัยใหม่ๆ ที่น่าสนใจ”
“แต่พี่ป๋วยว่าจะมีคนสนใจงานผมด้วยเหรอครับ?” น้องถามกลับมา
“มีแน่นอน งานออกจะว้าวขนาดนั้น ยังไงงานนี้ก็เป็นประโยชน์กับเด็กๆ อย่างแน่นอน” ผมตอบด้วยความมั่นใจ ในใจก็คิด ถ้าวิจัยได้ถึงขั้นจะปฏิวัติวิธีการรักษาโรคเบาหวานได้ ยังไม่น่าสนใจพอ และจะมีงานวิจัยไหนอีกที่น่าตื่นเต้น
“ถ้าอย่างนั้น ก็ลองดูได้ครับ” น้องตอบกลับมา
ไอเดียในการเอาสเต็มเซลล์มาใช้ในการรักษาโรคนั้นมีมาเนิ่นนาน
แต่จุดอ่อนอยู่ที่การหาคลังสเต็มเซลล์ ที่เดิมต้องเก็บตั้งแต่แรกคลอด เป็นสเต็มเซลล์ที่เรียกว่าสเต็มเซลล์คัพภะ หรือ embryonic stem cell ซึ่งถ้าไม่มีเก็บสำรองไว้ตั้งแต่เกิด ตอนโตก็จะไม่มีใช้
ทำให้ในตอนนั้น ธุรกิจการเก็บรักษาสเต็มเซลล์จึงเป็นธุรกิจที่น่าดึงดูดใจ
ทว่า จุดพลิกของวงการอยู่ในช่วงปี 2006 ในตอนที่ ชินยะ ยามานากะ (Shinya Yamanaka) และ คาซูโยชิ ทากาฮาชิ (Kazutoshi Takahashi) ค้นพบว่าปัจจัยยามานากะ (Yamanaka factor) ซึ่งประกอบไปด้วยโปรตีนสี่ตัว ได้แก่ Myc Oct4 Sox2 และ Klf4 สามารถเหนี่ยวนำให้เซลล์ร่างกายย้อนวัยกลับมากลายเป็นสเต็มเซลล์ได้
แต่ที่น่าตื่นเต้นที่สุด ก็คือ เซลล์ที่ได้เป็นสเต็มเซลล์ชนิดที่เรียกว่า “สเต็มเซลล์พลูริโพเทนต์ (pluripotent stem cell)” ที่สามารถเจริญและแปรเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ ในร่างกายได้เกือบทุกชนิด
พวกเขาเรียกสเต็มเซลล์พวกนี้ว่าเซลล์ iPSC หรือสเต็มเซลล์พลูริโพเทนต์ที่ถูกเหนี่ยวนำ (induced pluripotent stem cell)
และะเซลล์นี้เองที่ทีมของน้องที่เซนต์หลุยส์เอามาใช้สร้างไอส์เลตเพื่อนำไปปลูกถ่ายลงไปในไตหนู
ผมเริ่มจัดตาราง และพอได้คอนเฟิร์มวันจากน้อง ผมก็เริ่มแชร์ออกไปว่าจะมีนักวิจัยรุ่นใหม่ไฟแรงที่เพิ่งกลับมาจากเซนต์หลุยส์ หนึ่งในเทพด้านสเต็มเซลล์ จะมาเล่างานวิจัยของเขาให้ฟัง
เท่านั้น รีเควสต์ขอฟังออนไลน์ก็มาจากทั่วทุกสารทิศ
เพื่อให้เป็นประโยชน์กับทุกคน ผมตัดสินใจเปิดห้อง zoom ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาลงทะเบียนรับลิงก์เข้ามาร่วมฟังได้
แม้จะมีคนลงทะเบียนนับร้อย แต่ส่วนตัว ผมไม่คาดหวังว่าจะมีคนเข้ามาเยอะขนาดนั้น เพราะคิดว่าบางคนอาจจะแค่ลงทะเบียนไว้แค่ขำๆ เผื่อว่าง แต่อาจจะไม่ได้เข้ามาฟังจริงๆ จังๆ ก็ได้
ปรากฏว่าผมคิดผิด ในวันนั้น มีนักวิจัยสนใจมาเข้าร่วมฟังจากทั่วประเทศนับร้อยจากหลายมหาวิทยาลัย เยอะกว่านักศึกษาและคณาจารย์ที่เข้าฟังในห้องจริงเสียอีก
มีคนสนใจทอล์กของน้องมาก ถึงขนาดว่าลงทะเบียนไม่ทัน ยังเมสเสจมาขอลิงก์ตอนก่อนเริ่มบรรยายเลยก็มี
น้องเริ่มเล่างานวิจัยให้ฟังตั้งแต่คอนเซ็ปต์ของสเต็มเซลล์ ไปจนถึงการเพาะเลี้ยงในสเกลใหญ่ ต่อไปจนถึงการเหนี่ยวนำให้เป็นไอส์เลต และสุดท้ายเอาไปปลูกถ่ายในสัตว์เพื่อดูผล
กราฟตรงหน้าในการบรรยายของน้อง ทำให้ผมใจฟู นี่คือความหวังของคนไข้ แม้ว่าจะเป็นการทดลองในหนู แต่กราฟนั้นแสดงให้เห็นชัดเหลือเกินว่าโรคเบาหวานที่เป็นโรคเรื้อรังร้ายแรงนั้นสามารถรักษาให้หายได้โดยการปลูกถ่ายไอส์เลตที่เลี้ยงขึ้นมาจากสเต็มเซลล์ iPSC
หลังจากที่ฟังทอล์กจบ ผมตื่นเต้นมาก ผมเชียร์สุดตัวให้น้องเดินหน้าเต็มที่เพื่อผลักดันเทคโนโลยีนี้ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ในมนุษย์
นี่อาจจะเป็นแสงไฟแห่งความหวังอันริบหรี่ที่จะทำให้คนไข้เบาหวานกลับมามีชีวิตปกติได้
นี่คือเทคโนโลยีที่จะสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง
“เอามารักษายังติดเรื่อง regulation (กฎระเบียบ) อยู่นะ ตอนนี้ทำได้แค่เอามาทำเป็นแบบจำลองเพื่อทดสอบยา ทดสอบโรคแค่นั้น” คำตอบของน้องผลักให้ผมกลับมาสู่ความเป็นจริง “และที่สำคัญ เทคโนโลยีนี้ แพงมากกกกก” น้องย้ำ
บางทีเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ยากจะผ่านการอนุมัติ…คงต้องมีการศึกษาเพื่อประเมินความเสี่ยงอย่างถี่ถ้วน ยิ่งต้นทุนแพงๆ ด้วยแล้ว ทีมวิจัยที่จ่ายไหวก็ยิ่งน้อย โอกาสจะพัฒนาไปจนถึงระยะสุกงอมพร้อมใช้ในระยะเวลาอันสั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย ขนาดองค์การอาหารและยาของสหรัฐเองก็ยังไม่อนุมัติให้ทดลองใช้ในมนุษย์ สำหรับองค์การอาหารและยาของไทย เดาว่าก็น่าจะต้องรอกันอีกยาวนาน
แต่ก็ยังลุ้นอยากเห็นงานวิจัยในมนุษย์ เพราะนี่อาจจะเป็นเทคโนโลยีพลิกเกมที่ปฏิวัติวิถีแห่งการแพทย์ยุคปัจจุบันในการรักษาโรคเบาหวานไปเลยก็เป็นได้
ในปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากกว่าห้าร้อยล้านคน ซึ่งโรคนี้จะแบ่งออกเป็นสองประเภท
ประเภทแรก จะเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของตัวเองเข้าทำลายไอส์เลตภายในตับอ่อน ทำให้ผู้ป่วยไม่มีไอส์เลตที่จะสร้างฮอร์โมนอินซูลินขึ้นมาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายได้
ในขณะที่โรคเบาหวานประเภทที่สอง เกิดจากร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้มากเพียงพอ หรือร่างกายไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมน ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้การฉีดอินซูลินเพิ่มเติมเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย
ถ้าเทคโนโลยีสำเร็จ นี่จะเป็นคุณูปการอย่างสูงต่อมวลมนุษยชาติ ทว่า ทุกอย่างก็คงต้องมีเวลาของมัน…ผลไม้ที่หอมหวานยังต้องใช้เวลารอเนิ่นนานกว่าจะถึงหน้าสุกงอม เทคโนโลยีก็คงไม่ต่าง
แต่แล้วในขณะที่ผมกำลังส่องเว็บอ่านโน่นอ่านนี่ไปเรื่อย สายตาของผมก็เหลือบไปเห็นพาดหัวข่าวในวารสาร nature ที่ทำให้ผมขนลุก
“Stem cells reverse woman’s diabetes – a world first (สเต็มเซลล์ย้อนรักษาเบาหวานในสตรี รายแรกของโลก)”
ผมคาดคะเนผิดอีกครั้ง เทคโนโลยีที่น่าจะใช้เวลายาวนานในการพิสูจน์ถึงหลักการเพื่อให้ทางการยอมรับ เพื่อเอามาใช้ในมนุษย์ มันอาจไม่จำเป็นต้องใช้เวลายาวนานอย่างที่คิด ถ้าทางการเห็นความสำคัญของมันและเข้าใจถึงความเร่งด่วนของเทคโนโลยี
การผ่อนปรนกฎระเบียบในเรื่องการทดลองสเต็มเซลล์ในมนุษย์ในประเทศจีนทำให้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสเต็มเซลล์บำบัดในจีนนั้นพุ่งทะยานไปได้ไวกว่ามหาอำนาจอย่างสหรัฐ
ในกรณีนี้ ห้องปฏิบัติการที่จีนสองแห่งได้ใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกันกับที่น้องทำที่เซนต์หลุยส์ สร้างสเต็มเซลล์ iPSC ของมนุษย์ขึ้นมา เพาะเลี้ยงให้ได้มากๆ กระตุ้นให้ก่อตัวเป็นไอส์เลต และเอาไปปลูกถ่ายเข้าไปร่างกายของผู้ป่วย
ที่ห้องแล็บที่เซี่ยงไฮ้ การทดลองในตำนานเกิดขึ้นกับผู้ป่วยชายวัย 59 ปีที่จำต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการเบาหวานขั้นสุดท้าย ถึงขนาดต้องเปลี่ยนไตไปในปี 2017 และสูญสิ้นความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลไปอย่างสิ้นเชิงในปี 2019
จากประวัติ เขาป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่สองมายาวนานกว่า 25 ปี เขาตัดสินใจยินยอมเข้าร่วมในการทดลองปลูกถ่ายไอส์เลตที่เพาะเลี้ยงมาจากเซลล์ของตัวเขาเองในห้องทดลอง
การผ่าตัดครั้งนี้ไม่ใช่แค่การผ่าตัดเปลี่ยนชีวิต แต่เป็นการผ่าตัดเพื่อยื้อชีวิต
ทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ไม่มีเนื้องอก ไม่มีการต้านเนื้อเยื่อใดๆ ไอส์เลตทำงานได้ดี และผลการรักษาที่ได้ต้องบอกเลยว่าช็อกโลก เพราะแค่ในสัปดาห์ที่สองหลังการปลูกถ่าย ร่างกายของเขาก็เริ่มที่จะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้อีกครั้ง
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานมานานกว่าสองทศวรรษ การผ่าตัดนี้ถือเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนชีวิต หลังการผ่าตัด อาการของเขาเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถงดอินซูลินได้ในสัปดาห์ที่สิบเอ็ด ในส่วนของยาเบาหวานที่ต้องกินก็ค่อยๆ ลดลงเช่นกัน และในสัปดาห์ที่ 56 เขาก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาเบาหวานอีกต่อไป
ราวๆ สองเดือนครึ่งหลังจากการปลูกถ่ายไอส์เลตเพาะเลี้ยง ผู้ป่วยที่เคยต้องพึ่งพาการฉีดอินซูลินเกือบทุกวัน ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุขได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้อินซูลินอีก อย่างน้อยก็สองปีที่นักวิจัยเฝ้าติดตาม และนั่นหมายความว่าเบาหวานประเภทที่สอง น่าจะรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายไอส์เลต
ในขณะเดียวกัน ที่โรงพยาบาลกลางแห่งแรกในเมืองเทียนจิน (Tianjin First Central Hospital) ทีมวิจัยของฉู่เชิน หวัง (Shushen Wang) และจงหยาง เชิน (Zhongyang Shen) ได้ทำการทดลองกับผู้ป่วยอีกคนหนึ่ง รายนี้เป็นหญิงสาววัยยี่สิบสี่จากเมืองเทียนจิน (Tianjin) ที่ป่วยหนักจากโรคเบาหวานประเภทที่ 1
ชีวิตของเธอต้องทุกข์ทรมานมาเนิ่นนานจากโรคเบาหวานที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของเธอเอง หลังการปลูกถ่ายไอส์เลต เธอเริ่มอาการดีขึ้น และภายในเวลาแค่สองเดือนครึ่ง เธอก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการฉีดอินซูลินอีกต่อไป
“ตอนนี้ฉันสามารถกินน้ำตาลได้แล้ว ฉันเอ็นจอยกับการกินทุกสิ่งทุกอย่าง”
สาวน้อยจากเทียนจินให้สัมภาษณ์กับวารสาร nature ด้วยความตื่นเต้น
ผมทักน้องไปถามว่าเห็นเปเปอร์สองเปเปอร์นี้หรือยัง
น้องตอบมาด้วยความตื่นเต้น “เห็นแล้ว” น้องยอมรับว่างานนี้น่าสนใจ และเล่าให้ผมฟังถึงประเด็นคำถามอีกหลายอย่างที่ยังไม่มีคำตอบในสองงานนี้ ทั้งในเรื่องของยากดภูมิที่ผู้ป่วยใช้ ก็ยังน่าสงสัยอยู่ว่าถ้างดยา ไอส์เลตที่ปลูกถ่ายเข้าไปใหม่จะอยู่รอดได้นานแค่ไหน และภูมิคุ้มกันของคนไข้จะยังมุ่งเป้าเข้าทำลายไอส์เลตหรือไม่
ไปจนถึงยีนและโปรตีนที่ไอส์เลตสร้างขึ้นมานั้นเหมือนกันหรือไม่ในไอส์เลตที่ปลูกถ่ายถ้าเทียบกับของจริง
ไปจนถึงเรื่องราวแห่งอนาคตที่ว่าเราจะสร้างไอส์เลตแบบยูนิเวอร์ซัลที่สามารถเอาไปใช้ปลูกถ่ายให้กับทุกคนได้อย่างไร
การคุยกับน้องทำให้ผมได้เห็นถึงความเฉียบคม ไฟแห่งความหวัง ความปรารถนา และความตื่นเต้นในการทำวิจัยเพื่อมวลมนุษยชาติ น้องยังอยากสานงานต่อ แต่ตอนนี้รอลุ้นว่าจะขับเคลื่อนไปได้ไกลและไวแค่ไหน
ที่จริง ถ้ามองให้ดี เรามีนักวิจัยระดับเทพหลายคนที่ยินดีกลับเข้ามาทำงานในประเทศจากเวทีระดับโลก
นักวิจัยพวกนี้หลายคนคือนักวิจัยที่เน้นทำงานวิจัยแนวหน้าแบบของจริง ไม่ใช่งานฉาบฉวยที่ปิดจบได้แค่ในปีสองปี
งานที่สร้างอิทธิพลจริงๆ มักจะต้องมาจากการสั่งสมประสบการณ์มายาวนาน ทำมาจนเชี่ยวชาญช่ำชอง อีกทั้งยังต้องมีทีมเวิร์กที่รู้ใจ และพร้อมลุยไปด้วยกัน และที่สำคัญ ระบบนิเวศต้องเอื้ออำนวย เพราะถ้าระบบบีบจนนักวิจัยแคระแกร็นขาสั้น อยากจะให้สปีดไปข้างหน้าให้ไว ให้นำใครเขาได้ คงทำได้ยาก
ในยุคที่ตลาดนั้นขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี จะดีแค่ไหน ถ้าภาครัฐและผู้มีอำนาจจะเริ่มทำความเข้าใจและสนับสนุนให้นักวิจัยผู้คิดค้นเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและกำลังคนด้านเทคโนโลยีในประเทศให้ทัดเทียมกับนานาอารยะ
เพราะงานวิจัยที่แท้จริง ไม่ได้อยู่แค่ในกระดาษ ไม่ได้ทำเพื่อเพิ่มแรงกิ้ง แต่ทำเพื่อสร้างองค์ความรู้ และคุณภาพชีวิต…!!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022