ล้มทฤษฎี ‘ดื่มน้ำผึ้ง’ มีประโยชน์?

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

เป็นที่ทราบกันมาอย่างยาวนาน ถึง “ประโยชน์มากมาย” ของ “น้ำผึ้ง”

อย่างไรก็ดี “ประโยชน์ของน้ำผึ้ง” ขึ้นอยู่กับ “ชนิดของดอกไม้” และ “วิธีการแปรรูป”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำผึ้งดิบ” ที่ไม่ผ่าน “กระบวนการแปรรูป” ไม่ว่าจะเป็น “ความร้อน” “พาสเจอไรซ์” “กลั่น” หรือ “กรอง” จะมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า “น้ำผึ้งแปรรูป”

และเป็นที่ทราบกันดีว่า “น้ำผึ้ง” นั้นคือ “ยาฆ่าเชื้อขนานเอก”

เพราะ “น้ำผึ้ง” นั้น “ช่วยสมานบาดแผล” ได้ ไม่ว่าจะเป็นแผลสด แผลพุพอง และแผลไฟไหม้

เนื่องจาก “น้ำผึ้ง” ประกอบด้วย “กลูโคส” และ “ฟรุกโตส” มีคุณสมบัติแบบน้ำตาล ที่ดูดน้ำได้ดีมาก “น้ำผึ้ง” จึงสามารถดูดซับความชื้นจากบาดแผล ทำให้แผลแห้งเร็ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำผึ้ง” ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา

เพราะ “น้ำผึ้ง” มีสารประกอบ “ฟลาโวนอยด์” สารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อโรค ทำให้ช่วยลดการอักเสบ และต้านภูมิแพ้

อย่างไรก็ดี แม้ว่า “น้ำผึ้ง” จะมี “ดัชนีน้ำตาล” ที่น้อยกว่า “น้ำตาล” แต่ก็ยังมี “แคลอรีสูง” ที่จะทำให้ “ระดับน้ำตาลในเลือด” เพิ่มขึ้นได้

ดังนั้น จึงมีการแนะนำให้บริโภค “น้ำผึ้ง” ในปริมาณที่เหมาะสมเสมอมา

 

ตําราแพทย์โบราณ ทั้งตะวันออก (จีน) และตะวันตก (กรีก) ล้วนยกย่อง “น้ำผึ้ง” ว่าเป็น “อาหารของเทพเจ้า” (กรีก) และ “ยารักษาโรคชั้นดี” (จีน)

เพราะ “น้ำผึ้งดิบ” ประกอบไปด้วยกรดอะมิโน สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน แร่ธาตุ และน้ำตาล

แม้ “น้ำผึ้ง” จะมีปริมาณ “ฟรุกโตส” สูงกว่าน้ำตาล ทว่า “ค่าดัชนีน้ำตาล” หรือ GI (Glycemic Index) อยู่ในระดับปานกลาง

GI เป็นมาตรฐานที่วัดเป็นตัวเลขสำหรับอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต และการบริโภคอาหารดังกล่าวจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด หรือเปลี่ยนเป็น “กลูโคส” ได้อย่างรวดเร็วเพียงใด

การที่ “น้ำผึ้ง” มีค่า GI ต่ำกว่าน้ำตาล ทำให้การบริโภค “น้ำผึ้ง” ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นเร็วเท่า “น้ำตาล”

และการที่ “น้ำผึ้ง” จะมีปริมาณ “ฟรุกโตส” สูงกว่าน้ำตาล ทำให้ “น้ำผึ้ง” หวานกว่า “น้ำตาล” คุณสมบัตินี้ ทำให้เราใช้ “น้ำผึ้ง” ในปริมาณที่น้อยกว่า “น้ำตาล” ไปในตัว

อย่างไรก็ดี “น้ำผึ้ง” มี “ปริมาณแคลอรี” มากกว่า “น้ำตาล” เล็กน้อย ดังนั้น จึงควรระมัดระวังในปริมาณที่บริโภค “น้ำผึ้ง” พอสมควร

เนื่องจากมี “ความเข้าใจผิด” เป็นอย่างมาก ว่าการบริโภค “น้ำผึ้ง” ดีกว่า “น้ำตาล” โดยในบางครั้ง “น้ำผึ้ง” ถูกจัดอยู่ในอาหารประเภท “ไม่มีน้ำตาล” ด้วยซ้ำ ซึ่งผิดเป็นอย่างมาก

เป็นอันตราย หากเข้าใจผิดคิดเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้ป่วยเบาหวาน” หรือ “ผู้ที่ต้องมีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด” เพราะ “น้ำผึ้ง” ส่งผลต่อระดับ “น้ำตาลในเลือด” เช่นเดียวกับ “น้ำตาล”

นอกจากนี้ เด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 12 เดือน ไม่ควรรับประทาน “น้ำผึ้ง” เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรค “โบทูลิซึ่ม” เพราะ “น้ำผึ้ง” อาจมีสปอร์พิษ Botulinum ของเชื้อโรค ที่อาจทำให้เป็นโรค “โบทูลิซึ่ม” ได้

 

กล่าวอีกนัยหนึ่ง แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่จะบอกต่อๆ กันถึง “ประโยชน์ของน้ำผึ้ง” ทว่า “น้ำผึ้ง” ก็ไม่ใช่อาหารที่ปลอดภัย 100% สำหรับทุกคน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความเข้าใจผิด” ที่คิดว่า “น้ำผึ้ง” เป็นอาหารที่ให้ความหวานตามธรรมชาติ ใช้ทดแทน และดีกว่า “น้ำตาล” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำตาลทรายขาว” ที่หาซื้อง่ายๆ กันได้ทั่วไปตามท้องตลาด

แต่ในความเป็นจริงแล้ว “น้ำผึ้ง” ถือว่าเป็น “น้ำตาล” ในทางเคมี “น้ำผึ้ง” มีสารประกอบหลักเหมือนกันกับ “น้ำตาล” คือ “กลูโคส” และ “ฟรุกโตส”

ต่างกันตรงที่ “น้ำตาล” มี “โมเลกุลคู่” ขณะที่ “น้ำผึ้ง” เป็น “น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว” ที่ร่างกายมนุษย์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที

ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือ “น้ำผึ้ง” มีแคลอรีสูงกว่า “น้ำตาล” เพราะ “น้ำผึ้ง” 1 ช้อนชา ให้พลังงานประมาณ 22 แคลอรี ส่วน “น้ำตาลทรายขาว” 1 ช้อนชา จะให้พลังงานประมาณ 16 แคลอรีเท่านั้น

แต่ด้วยความที่ “น้ำผึ้ง” ในปริมาณเท่ากัน ให้ความหวานมากกว่า “น้ำตาล” เราก็เลยใช้ปริมาณ “น้ำผึ้ง” ในการประกอบอาหารต่างๆ น้อยกว่า “น้ำตาล” นั่นเอง

 

มีคำถามมากว่า ควรรับประทาน “น้ำผึ้ง” ในปริมาณเท่าไรต่อวันจึงจะเหมาะสม คำตอบก็คือ ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ หรือวิถีการดำเนินชีวิต และพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของแต่ละคน

แต่หากจะให้แนะนำ ว่ากิน “น้ำผึ้ง” ได้เท่าไรจึงจะปลอดภัย ก็ตอบได้ว่า ประมาณ 6 ช้อนชา หรือ 2 ช้อนโต๊ะ และไม่ควรเกิน 10 ช้อนชา

เนื่องจากว่าในแต่ละวัน เราจะได้รับ “น้ำตาล” อื่นๆ จากอาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม และขนมต่างๆ มากอยู่แล้ว

“ข้อห้าม” และ “ข้อควรระวัง” ในการบริโภค “น้ำผึ้ง”

1. ผู้ป่วยเบาหวานควรระวัง “น้ำผึ้ง” ให้ดี และบางครั้งถึงขั้น “ห้ามกิน” เลยทีเดียว เนื่องจาก “น้ำผึ้ง” มีปริมาณ “กลูโคส” และ “ฟรุกโทส” ที่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทันที ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

2. ผู้ป่วยท้องเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากถ่ายเหลว ไม่ควรกิน “น้ำผึ้ง” เพราะจะทำให้ถ่ายมากขึ้น เนื่องจากน้ำผึ้งมีคุณสมบัติดูดน้ำที่ดี ทำให้ขับอุจจาระมากขึ้น

3. ผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียน หรือเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ไม่ควรบริโภค “น้ำผึ้ง” เนื่องจากจะเกิดภาวะความชื้นตกค้าง

4. ไม่ควรกิน “น้ำผึ้ง” ร่วมกับ “เต้าหู้” เนื่องจากเต้าหู้มีคุณสมบัติเย็น มีสรรพคุณขับร้อน กระจายเลือด เมื่อกินร่วมกัน จะทำให้ท้องเสียง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เอนไซม์” ใน “น้ำผึ้ง” จะทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุ โปรตีน และสารอินทรีย์ของ “เต้าหู้” ทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลง

5. ไม่ควรกิน “น้ำผึ้ง” พร้อมกับ “กุยช่าย” เพราะ “กุยช่าย” มี “วิตามินซี” มาก ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุในน้ำผึ้งคือ “ธาตุเหล็ก” ทำให้เกิดอ็อกซิเดชั่น ลดคุณค่าของอาหารให้ด้อยลง อีกเหตุผลหนึ่ง “น้ำผึ้ง” เป็นระบายอ่อนๆ เมื่อมารวมกับ “กุ้ยช่าย” ที่มี “ไฟเบอร์” มาก จะทำให้ท้องเสียง่าย

6. ไม่ควรกิน “น้ำผึ้ง” ร่วมกับ “หัวหอม” และ “กระเทียม” จะทำให้ฤทธิ์ของ “น้ำผึ้ง” ด้อยลง

7. ไม่ควรผสม “น้ำร้อน” กับ “น้ำผึ้ง” เพราะจะทำลายคุณค่าของเอนไซม์ วิตามิน และกรดอะมิโน และห้ามบริโภค “น้ำผึ้ง” ในปริมาณมาก โดยเฉลี่ยไม่ควรเกินวันละ 2 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 20 กรัม และไม่ควรบริโภคเกิน 50 กรัม/วัน

 

วิธีกิน “น้ำผึ้ง” ให้อร่อย และได้ประโยชน์จากคุณค่าทางโภชนาการของ “น้ำผึ้ง”

1. ผสมกับน้ำอุ่นดื่ม 4 เวลา ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนเข้านอน

2. กินเหมือนเป็นสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น ใส่ลงไปในชา กาแฟ น้ำผลไม้ หรือทานบนขนมปังแทนแยม เป็นต้น

หากบริโภค “น้ำผึ้ง” มาก จะมีโทษดังนี้

1. อาจเกิดอาการท้องอืด หรืออาการท้องเสียได้ เนื่องจาก “น้ำผึ้ง” มี “ฟรุกโตส” มาก ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการดูดซึมในลำไส้

2. “น้ำผึ้ง” ไม่เหมาะกับ “ผู้ป่วยโรคเบาหวาน” อย่างแน่นอนครับ

3. ไม่ควรให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ขวบ และสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรดื่ม “น้ำผึ้ง” เพราะ “น้ำผึ้ง” อาจมีสปอร์ของเชื้อโรค ที่อาจทำให้เป็นโรค “โบทูลิซึ่ม” หรือโรคผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นเฉียบพลันจากการรับพิษ Botulinum ได้

4. ส่งผลให้อ้วนขึ้น หากรับประทานในปริมาณมากๆ และติดต่อกันเป็นเวลานาน

 

วิธีการตรวจสอบ “น้ำผึ้งแท้”

1. หยดบนกระดาษทิชชู่ ถ้าเป็น “น้ำผึ้งปลอม” จะมีน้ำซึมออกมา

2. นำ “น้ำผึ้ง” ไปละลายน้ำ ถ้า “ละลายน้ำยาก” เป็น “น้ำผึ้งแท้”

นอกจากนี้ “น้ำผึ้ง” ไม่นับเป็น “อาหารมังสวิรัติ” เนื่องจากกระบวนการเก็บรวบรวม “น้ำผึ้ง” ถูกมองว่าเป็นการ “ทำร้ายผึ้ง” ที่ทำงานหนักเพื่อเอาชีวิตรอดในฤดูหนาว และเก็บสะสมน้ำผึ้งไว้ใช้ในยามขาดแคลนนั่นเอง