ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ภายหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12-13 กันยายน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จึงได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ
โดยโฉมหน้าของ “ครม.อิ๊งค์ 1” ส่วนใหญ่ล้วนแล้วเคยเป็นรัฐมนตรีชุดเดิมจากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มาก่อน ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากทุกสายตาพุ่งเป้ามาจับจ้องและโฟกัส “นายกฯ อิ๊งค์” บุตรสาวคนเล็กของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
แต่ทว่า ยังไม่ทันที่นายกฯ จะเริ่มทำงาน กลับถูกบางฝ่ายปรามาสว่าการที่ “นายกฯ อิ๊งค์” ผงาดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงจังหวะเวลานี้ ยังมีความไม่เหมาะสม เพราะอายุเพียง 38 ปี อ่อนด้อยประสบการณ์ โดยเฉพาะงานทางการเมือง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยรับหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ก่อนที่จะขยับบทบาทเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) แบบเต็มตัวก็ตาม
ขณะที่บางฝ่ายกลับเห็นแย้ง โดยมองว่า แม้ น.ส.แพทองธารจะอายุน้อย แต่การันตีว่าไม่อ่อนประสบการณ์แน่นอน เนื่องจากผ่านการบริหารงานบริษัทชั้นนำของประเทศและประสบความสำเร็จมาแล้วหลายแห่ง เป็นผู้นำที่มีจุดเด่นในการตัดสินใจ การบริหาร และประสานความร่วมมือ
เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือนเศษ “นายกฯ อิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร สามารถออกสตาร์ตในฐานะบทบาทการเป็นผู้นำประเทศได้ดีเลยทีเดียว
ไม่ว่าจะเป็นบุคลิก การวางตัว การให้เกียรติผู้ใหญ่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.)
รวมทั้งการเร่งผลักดันผลงานต่างๆ ที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้
โดยเฉพาะผลงานที่ต่อยอดมาจากนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2567 แจกเงิน 10,000 บาท เข้าบัญชีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรผู้พิการ ตั้งแต่วันที่ 25-30 กันยายนที่ผ่านมา จำนวน 14.4 ล้านคน ซึ่งดำเนินการเป็นเฟสแรก ส่วนเฟสที่ 2 กำลังจะตามมาในอนาคต
อีกหนึ่งข่าวดี เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดทำเนียบต้อนรับ นางรูธ โพรัท (Ruth Porat) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัท Alphabet และ Google เนื่องในโอกาสเยือนประเทศไทย เพื่อหารือความคืบหน้าของโครงการการลงทุนของบริษัทในไทย และความร่วมมือเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ภายใต้แนวคิด Leave No Thai Behind
พร้อมกันนี้ ทางกูเกิลได้ประกาศการลงทุนจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 35,000 ล้านบาทในไทยเพื่อสร้าง Data Center และ Cloud Region ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างงานกว่า 14,000 ตำแหน่ง ช่วงปี 2568-2572 และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 140,000 ล้านบาทภายในปี 2572
นับว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของรัฐบาล โดยต้องยกเครดิตให้กับนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งสมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รับบทบาทเป็นเซลส์แมน เดินสายไปยังประเทศต่างๆ พบผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เจรจาเปิดดีลชวนนักธุรกิจชั้นนำให้เข้ามาลงทุนภายในประเทศไทย
จนกระทั่งมาประสบความสำเร็จในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ออกมาเปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 3/2567” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16-23 กันยายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง
จากการสำรวจประชาชนเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 31.35 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีความเป็นผู้นำ และมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณพร้อมย้ำว่า “ผลโพลครั้งนี้เป็นกำลังใจในการทำงานของทุกคนในรัฐบาล ช่วงเวลานี้เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของการพิสูจน์ตนเอง แม้ผลโพลจะดีขึ้นเป็นเครื่องชี้วัดอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนยอมรับการทำงานของนายกรัฐมนตรีและนโยบายรัฐบาลก็ตาม แต่รัฐบาลก็ยังจะต้องมุ่งมั่นที่จะทำงานหนัก เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย และแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลไกของรัฐที่ต้องทำงานหนักขึ้นในรัฐบาลชุดนี้เพื่อนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักความยากจน”
“และนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศชั้นนำของโลกให้ได้”
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของนโยบายการบริหารประเทศ และเรตติ้งของตัวผู้นำประเทศ กำลังเป็นไปในทิศทางบวก ได้รับการยอมรับจากประชาชนเพิ่มขึ้นมาก
แต่ทว่า ประเด็นทางการเมือง นายกรัฐมนตรีกลับถูกกลุ่มนักร้องเรียน โดยเฉพาะนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องผ่านหน่วยงานองค์กรอิสระให้ตรวจสอบคุณสมบัติและมาตรฐานจริยธรรม หลาย 10 เรื่อง
อาทิ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีเป็นกรรมการบริษัทเอกชน 20 แห่ง และกรณียินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ครอบครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
กระทั่งล่าสุด เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบ กรณีเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ต คลับ จำกัด ตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567 จนถึงวันที่ 3 กันยายน 2567 ว่าเข้าข่ายไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160(4) หรือไม่ เข้าข่ายฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170(4) ประกอบมาตรา 160(4) และ (5)
โดยคำร้องล่าสุด นายเรืองไกรระบุว่า “มั่นใจพยานหลักฐาน เชื่อว่านายกฯ ต้องใช้ทีมกฎหมายจำนวนมากในการแก้ข้อกล่าวหาเรื่องนี้ น่าจะเหนื่อย เพราะน้ำหนักที่ให้กับเรื่องนี้ถึง 90%”
อีกทั้งยังมีสัญญาณที่ส่งผ่านจาก “สนธิ ลิ้มทองกุล” อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะระดมมวลชนลงถนนอีกครั้งเพื่อขับไล่รัฐบาล หากบริหารประเทศไปในทางที่ไม่ถูกต้อง
ซึ่งได้แย้มไทม์ไลน์เอาไว้ล่วงหน้าว่า อาจจะอยู่ห้วงต้นปี 2568
ประกอบกับล่าสุด “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมาพูดทำนองชวนจับตา หลังอ้างว่าทราบข้อมูลจาก “แหล่งข่าว” ที่น่าเชื่อได้ว่า วันที่ 10 ตุลาคม 2567 นี้เป็นต้นไป จะเกิดจุดเริ่มต้นของปัญหาใหญ่มากของพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจจะไปถึงบทจบของพรรคนี้ กระทบกับสถานะรัฐบาล
พร้อมย้ำว่า เตรียมรับแรงกระแทกไว้ให้ดี เพราะจะมีผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ถ้ารับมือไม่ดีก็อาจจะถึงขั้นล่มสลายได้
ฉะนั้น หลังจากนี้คงต้องรอติดตามกันว่า รัฐบาลนำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรค สามารถบริหารประเทศได้จนครบเทอมตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่?
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022