ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
ในที่สุด วันที่ทุกคนเคยวิตกกังวล เคยหวั่นเกรงก็มาถึง นั่นคือวันที่ “สงครามตัวแทน” ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธที่เป็น “หนังหน้าไฟ” ของอิหร่าน ไม่ว่าจะเป็นฮามาส ในฉนวนกาซา หรือฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน ลุกลามขยายตัวกลายเป็นการทำศึกโดยตรงระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน
กลายเป็นสงครามอย่างที่ โทมัส ฟรีดแมน ผู้สื่อข่าวระดับเก๋าของนิวยอร์ก ไทม์ส เรียกว่า “มิสไซล์ วอร์” เมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
ก่อนหน้าศึกมิสไซล์จะระเบิดขึ้น มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นและถูกยึดถือว่ามีนัยสำคัญที่ส่งผลให้สถานการณ์แย่ลง ความขัดแย้งเลวร้ายลง ยกระดับความเสี่ยงที่สงครามจำกัดพื้นที่จะลุกลามกลายเป็นสงครามใหญ่ระดับภูมิภาคเกิดขึ้น
ถึงตอนนี้หลายคนเรียกเหตุการณ์เหล่านี้ว่าเป็น “ปฏิบัติการโหมโรง” ไปแล้ว
หนึ่งในเหตุโหมโรงที่ว่านี้เกิดขึ้นเมื่อ 17 กันยายนที่ผ่านมา เมื่อเพจเจอร์ อุปกรณ์สื่อสารติดตามตัวล้าสมัย เกิดระเบิดขึ้นในหลายจุดทั่วเลบานอน มีผู้เสียชีวิต 12 คน และอีกกว่า 2,000 คนได้รับบาดเจ็บ
ว่ากันว่า นี่คือปฏิบัติการเพื่อทำลาย “หัวใจ” ของเครือข่ายสื่อสารในระบบปฏิบัติการของฮิซบอลเลาะห์
18 กันยายน เกิดเหตุวิทยุติดตามตัว หรือวอล์กกี ทอล์กกี หลายร้อยหรืออาจเป็นพันเครื่องระเบิดตามมาอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกเป็น 25 คน บาดเจ็บกว่า 600 คน
19 กันยายน โยฟ กัลแลนต์ ประกาศถึง “เฟสใหม่ของสงคราม” ต่อฮิซบอลเลาะห์ ที่ถล่มจรวดใส่เมืองตอนเหนือของประเทศแทบจะเป็นรายวัน บีบให้อิสราเอลหยุดยิงในกาซา
เครื่องบินรบอิสราเอล เริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายที่เชื่อว่าเป็นของฮิซบอลเลาะห์ อย่างต่อเนื่องนับแต่นั้น
หนึ่งในปฏิบัติการทางอากาศดังกล่าว ซึ่งจำกัดเป้าอยู่เฉพาะพื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอน รวมทั้งกรุงเบรุต ประสบผลอย่างสูงในวันที่ 20 กันยายน สามารถสังหาร อิบราฮิม อาคิล ที่มีสถานะเป็นถึงผู้บัญชาการอาวุโสของฮิซบอลเลาะห์ และเป็นผู้ก่อตั้งกองกำลังรัดวาน หน่วยนักรบระดับหัวกะทิของกลุ่มขึ้นมา
พอถึง 25 กันยายน ฮิซบอลเลาะห์ยิงมิสไซล์ใส่กรุงเทลอาวีฟ เมืองหลวงด้านพาณิชย์ของอิสราเอลเป็นครั้งแรก ถือเป็นการโจมตีลึกเข้ามามากที่สุดในบรรดาการโจมตีรายวันของกลุ่ม
27 กันยายน ดัชนีชี้สภาวะสงครามทุกอย่างพุ่งสูงปรี๊ดเป็นประวัติการณ์ เมื่อปฏิบัติการ “โดยเจตนา” จำเพาะของอิสราเอล ถล่มอาคารบริเวณชานเมืองด้านใต้ของเบรุต ชนิดที่เรียกได้ว่า เหลือแต่ซาก คร่าชีวิต ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ที่ทำหน้าที่ต่อเนื่องมากว่า 30 ปี ไปพร้อมกับสมาชิกระดับสูงของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติ กองกำลังระดับ “อีลีต” ของอิหร่านอีกราย
พอถึง 1 ตุลาคม กองทัพอิสราเอลประกาศอย่างเป็นทางการว่า ได้ส่งกองกำลังรบภาคพื้นดินรุกคืบเข้าสู่พื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอน พร้อมเตือนให้พลเรือนของหมู่บ้านและเมืองขนาดเล็กในพื้นที่รวมแล้วเกือบ 30 เมืองอพยพออกไป
อิสราเอลระบุว่า การบุกครั้งนี้ เป็น “ปฏิบัติการแบบจำกัด, จำกัดพื้นที่และเจาะจงเป้าหมาย” ในขณะเดียวกันก็มีคำสั่งระดมกองกำลังสำรองเข้าประจำการอีก 4 กองพล
คืนวันเดียวกัน อิหร่านยิง “บอลลิสติก มิสไซล์” รวมแล้วราว 180 ลูก เข้าใส่เป้าหมายในอิสราเอล ระบุชัดเจนว่า เป็นการตอบโต้การสังหารนัสรัลเลาะห์และผู้บัญชาการระดับสูงของอิหร่านก่อนหน้านี้
กองทัพอิหร่านแถลงว่า เป้าหมายของการโจมตีครั้งนี้คือฐานทัพ 3 แห่งของอิสราเอล ประกอบด้วย เนวาทิท, แฮทเซอริม และ เทล นอฟ อีกเป้าหมายคือ อาคารบัญชาการ มอสสาด บริเวณชานกรุงเทลอาวีฟ
ระบบเตือนภัยล่วงหน้าด้วยข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือของอิสราเอล เตือนประชาชนในหลายพื้นที่ให้เข้าสู่ที่หลบภัย จนกว่าจะมีการแจ้งเปลี่ยนแปลง
ในขณะที่ระบบป้องกันการโจมตีด้วยมิสไซล์ก็ทำหน้าที่สกัดกั้นการโจมตีเกือบทั้งหมดไว้ได้ ทำให้เกิดความเสียหายไม่มากนัก ผู้เสียชีวิตรายเดียวที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการคือ แรงงานชาวปาเลสไตน์ ในเขตเวสต์แบงก์ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ที่เจอเศษชิ้นส่วนมิสไซล์ตกใส่ตัว
เบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศในเวลาต่อมาว่า อิหร่านต้อง “ชดใช้” ต่อปฏิบัติการ “ก้าวร้าวรุกราน” ครั้งนี้
คําถามก็คือ อิสราเอลจะตอบโต้อย่างไร
นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงและอดีตนายทหารหลายคน ระบุว่า อิสราเอลมี “อิสระ” ในการเลือกเป้าเพื่อตอบโต้อิหร่านในครั้งนี้ได้มากกว่าเมื่อคราวเดือนเมษายนต้นปีนี้
การโจมตีจากอิหร่านเมื่อเดือนเมษายน ถูกตอบโต้ในเชิง “สัญลักษณ์” ด้วยการถล่มที่ตั้งระบบเตือนภัยทางอากาศในอิหร่านเท่านั้น
ทั่วโลกอาจเรียกร้องให้หลีกเลี่ยงการลุกลามของสถานการณ์สงครามให้มากที่สุด แต่สำหรับอิสราเอลแล้ว สิ่งที่ต้องตัดสินไม่ใช่เรื่องของการตอบโต้หรือไม่ แต่เป็นว่าจะตอบโต้ให้รุนแรงทรงพลังมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง
ยาคอฟ อามิดเรอร์ อดีตนายพลกองทัพอิสราเอล ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของเนทันยาฮู บอกว่า ความท้าทายในเวลานี้ ก็คือ ใครจะก่ออันตรายให้ใครได้มากกว่ากัน
เขาเชื่อด้วยซ้ำไปว่า แหล่งนิวเคลียร์ทั้งหลายของอิหร่าน ก็อาจตกเป็นเป้าเพื่อการตอบโต้ครั้งนี้ได้เช่นกัน
นาฟตาลี เบนเนท อดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล แสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย ระบุว่า นี่คือ “โอกาสใหญ่ที่สุด” ของอิสราเอลในรอบปี ที่จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของตะวันออกกลางทั้งหมดได้
“เราจำเป็นต้องทำในนาทีนี้ เพื่อทำลายโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แหล่งพลังงานสำคัญของอิหร่าน เพื่อสร้างความเสียหายให้กับระบอบก่อการร้ายนี้ให้มากที่สุด”
คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ ปฏิบัติการเช่นนี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์ใด อิหร่านจะโต้กลับอีกหรือไม่
หรือในที่สุด สงครามเต็มรูปแบบในตะวันออกกลางไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แล้ว?
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022