ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
อุบัติเหตุใหญ่ที่เพิ่งเกิดขึ้นกับรถบัสนักเรียนจากโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี ระหว่างการเดินทางมาทัศนศึกษานอกพื้นที่ ซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิตของเยาวชนและครูหลายสิบชีวิต
นับเป็นปรากฏการณ์อันน่าเศร้าสลด
หากพิจารณาในภาพใหญ่สุด เราก็จะเห็นปัญหาหลักสำคัญอยู่สองประการ
ประการแรก ขณะที่รัฐไทยและผู้มีอำนาจรัฐให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความมั่นคง (ภายใน)” เป็นอย่างสูง (ดังวิวาทะกรณี “กอ.รมน.” ที่ยังกรุ่นๆ อยู่)
แต่ “ความมั่นคงของมนุษย์” ในสังคมไทยกลับมีความเปราะบางอ่อนไหวอย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อทรัพยากรมนุษย์คนแล้วคนเล่าของเรา สามารถเสียชีวิตได้โดยง่าย มิใช่เพราะอาการเจ็บป่วยหรือความผิดพลาดส่วนบุคคล แต่เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของผู้มีหน้าที่ความรับผิดชอบรายอื่นๆ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่มีคุณภาพย่ำแย่ต่ำกว่ามาตรฐาน
ประการถัดมา สิ่งที่เสียหายหนักหนาสาหัสที่สุดจากอุบัติเหตุข้างต้น ก็คือ ชีวิตที่สูญสิ้นไป และ “อนาคตของประเทศ” ที่ต้องสูญสลายไป
“อนาคต” ทั้งที่หมายถึง “เยาวชน” ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญของประเทศในภายภาคหน้า และ “ครูอาจารย์” ซึ่งมีหน้าที่ดูแล ฝึกอบรม และประคับประคองเด็กๆ ให้เจริญเติบโตงอกงามตามวิถีที่ถูกที่ควรต่อไป
ในเชิงรายละเอียดที่ลึกกว่านั้น ยังมีข้อถกเถียงซับซ้อนน่าสนใจภายหลังอุบัติเหตุ
เมื่อเกิดวิวาทะสำคัญว่า กิจกรรม “ทัศนศึกษา” ยังมีความจำเป็นหรือไม่? โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนในชั้นอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้น
บางคนมองว่า นี่คือคำถามที่ผิดฝาผิดตัวผิดประเด็น เพราะกิจกรรม “ทัศนศึกษา” มิใช่ต้นเหตุหรือปัญหาหลักของโศกนาฏกรรมที่เกิดกับนักเรียนและครูโรงเรียนวัดเขาพระยาฯ ทั้งยังเป็นรูปแบบการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ช่วยเสริมส่งศักยภาพให้แก่เยาวชนในนานาอารยประเทศ
ประเด็นที่ควรใส่ใจกันมากกว่า จึงอยู่ที่การสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง รวมทั้งการจัดรูปแบบและกำหนดระยะทางของกิจกรรมทัศนศึกษาให้มีความเหมาะสมกับผู้เรียนมากกว่า
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้คนจำนวนมาก ซึ่งกำลังตื่นตระหนกตกใจเป็นอย่างสูง ต่างพากันแสดงปฏิกิริยาอย่างฉับพลันทันทีในผลสำรวจออนไลน์ต่างๆ ว่า กิจกรรม “ทัศนศึกษา” นั้นไม่ใช่ “เรื่องจำเป็น” สำหรับบุตรหลานของพวกตน
ก็มิใช่ภาวะ “โง่เขลา” หรือการมี “จิตสำนึกที่ผิดพลาด” แบบรวมหมู่แต่อย่างใด
ตรงกันข้าม ปฏิกิริยาเช่นนั้นกลับวางพื้นฐานอยู่บนอารมณ์ความรู้สึกของ “ความไม่เชื่อมั่น” ที่สามารถทำความเข้าใจได้
เป็น “ความไม่เชื่อมั่น” ต่อมาตรการการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่ออกแบบและดำเนินการโดยภาครัฐ
เป็น “ความไม่เชื่อมั่น” ต่อการบังคับใช้กฎหมาย ว่าจะสามารถลงโทษผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายร้ายแรง ซึ่งเผาผลาญทำลายชีวิตของผู้บริสุทธิ์รายอื่นได้จริง
เป็น “ความไม่เชื่อมั่น” ต่อการบริหารจัดการการศึกษา หรือไม่แน่ใจว่ากิจกรรม “ทัศนศึกษา” จะช่วยเสริมส่งกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ยิ่งเมื่อนำไปเทียบกับภาวะ “เสี่ยงภัย” ที่ไม่พึงปรารถนาและสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การไม่ไปทัศนศึกษาเลย ก็อาจเป็นตัวเลือกที่ฟังดูคุ้มค่า-ปลอดภัยกว่า
ทั้งหมดนี้ คือ “ความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐไทย” ที่กินขอบเขตตั้งแต่เรื่องระบบการคมนาคมขนส่ง กระบวนการยุติธรรม ไปจนถึงการศึกษา
ดังนั้น นอกจากการแสดงความเศร้าสลดใจอย่างสุดซึ้ง และการเยียวยา-แก้ไขปัญหาเฉพาะกรณี
คำถามใหญ่ๆ ที่ผู้เข้าถึงอำนาจรัฐทุกภาคส่วนต้องช่วยกันตอบ ก็คือ พวกท่านจะร่วมกันฟื้นฟู “ความเชื่อมั่น” ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนได้อย่างไร?
ว่า “ลูกหลานของพวกเขา” และ “อนาคตของประเทศเรา” จะเจริญเติบโตขึ้นอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพอย่างแท้จริง ในบ้านนี้เมืองนี้ •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022