ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน
Instagram : @sueching
Facebook.com/JitsupaChin
จะอยู่ได้อย่างไร
ถ้าไม่มี Digital Maps
ฉันเป็นหนึ่งในคนที่เวลาขับรถไปไหนต่อให้รู้เส้นทางอยู่แล้วก็ยังอดไม่ได้ที่จะต้องเปิด Google Maps ไปด้วย เพิ่มความอุ่นใจและได้ใช้ฟีเจอร์บอกความหนาแน่นของการจราจร เผื่อมีจุดไหนที่ติดขัด บริการแผนที่จะได้ช่วยวางแผนเส้นทางใหม่ที่ใช้เวลาน้อยลงให้ได้
พอมาย้อนนึกถึงวิวัฒนาการของแผนที่แล้วก็รู้สึกว่าเราเดินทางกันมาไกลมาก
จากเดิมที่แผนที่จะต้องอยู่ในรูปแบบกระดาษให้เรามะงุมมะงาหราหาทิศ หาตำแหน่งที่ตั้งด้วยตัวเองก็กลายมาเป็นบริการที่เพียงแค่กดจุดหมายปลายทาง แผนที่ดิจิทัลก็สามารถนำทางแบบตามเวลาจริงให้เราได้ จนแทบจะนึกไม่ออกว่าครั้งล่าสุดที่กางแผนที่กระดาษออกมาดูคือเมื่อไหร่
ประวัติศาสตร์การวาดแผนที่ของมนุษย์นั้นย้อนไปตั้งแต่สมัยภาพเขียนในถ้ำ ตามมาด้วยแผนที่โลกในยุคแห่งการสำรวจ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากกระดาษสู่พิกเซล
โดยเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์ในช่วงปีหกศูนย์ถึงเจ็ดศูนย์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้เราสามารถสร้างและดัดแปลงภาพวาดของแผนที่บนคอมพิวเตอร์ได้
เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแผนที่แบบก้าวกระโดด คือ Geographic Information Systems หรือ GIS ที่เกิดขึ้นในยุคแปดศูนย์ เป็นการรวบรวม บริหารจัดการ และวิเคราะห์ข้อมูลบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ด้านแผนที่ ทำให้เราสามารถนำข้อมูลที่สำคัญต่างๆ มาซ้อนลงบนแผนที่เพื่อทำให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น อย่างเช่น ข้อมูลการแพร่ระบาดของโรค หรือการเคลื่อนที่ของสัตว์ป่า เป็นต้น
และชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ยุค GPS ซึ่งแผนที่ดิจิทัลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากใครจำได้ เจ้าแรกๆ ที่ทำแผนที่ดิจิทัลนอกจาก Google แล้วก็จะมี MapQuest ซึ่งผู้ใช้งานสามารถสร้างแผนที่และเส้นทางการขับรถของตัวเองได้
ด้วยความที่สมัยนั้นเรายังไม่มีอุปกรณ์สื่อสารอย่างสมาร์ตโฟนติดตัวกัน การใช้งาน MapQuest เพื่อนำทางคือการใส่จุดหมายปลายทางที่ต้องการไป เว็บไซต์จะให้ทิศทางหรือไดเร็กชั่นมาแบบทีละขั้นๆ หน้าที่ของเราก็คือจะต้องปรินต์การบอกทางนั้นออกมาเป็นกระดาษ พับติดตัวไปด้วย และขับตามเส้นทางนั้นโดยที่ไม่มีอะไรคอยบอกว่าถูกหรือผิด
ได้ยินแบบนี้ในยุคนี้ก็จะต้องรู้สึกว่าช่างล้าสมัยอะไรเช่นนี้ แต่ในยุคนั้นการมี MapQuest คอยบอกเส้นทางนับเป็นอะไรที่ล้ำสุดสุด
เครื่องมืออีกอย่างที่ช่วยทำให้เราขับรถไปถึงที่หมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ GPS ที่เราซื้อไว้ติดรถ ข้อดีคือมันสามารถบอกทางเราได้ตามเวลาจริง ส่งเสียงบอกให้เราเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ได้ โดยมีผู้นำตลาดคือแบรนด์ Garmin ที่ตอนนี้บางคนอาจจะรู้จักในนามของผู้ผลิตสมาร์ตวอตช์ไปแล้ว
ส่วนข้อจำกัดของการใช้งาน GPS ติดรถยนต์ก็คือราคาที่ค่อนข้างแพง และจะใช้ไม่ได้ในที่ๆ สัญญาณดาวเทียมส่งลงมาไม่ถึง อย่างเช่น ใต้ทางด่วน ใต้สะพาน หรือภายในอาคาร
จนกระทั่งทุกวันนี้ แผนที่ดิจิทัลบนสมาร์ตโฟนได้ทดแทนทุกอย่างไปแล้วเป็นที่เรียบร้อยสำหรับชีวิตผู้ใช้งานโดยทั่วไป แผนที่และการนำทางถูกผนวกเข้ากับรถยนต์ทำให้เราสามารถดูการนำทางได้ผ่านหน้าจอของรถ หรือแม้กระทั่ง Head-up Display ที่ฉายลงไปบนกระจกหน้ารถได้เลย
รถยนต์บางคันมีฟีเจอร์ที่ไฮเทคกว่านั้นคือการใช้ Augmented Reality หรือ AR ซ้อนลูกศรบอกทางไปบนภาพถนนที่ถ่ายมาด้วยกล้องหน้ารถแล้วฉายบนจอ คล้ายๆ กับมีคนวาดลูกศรบอกทางใหญ่ๆ ให้เราเห็นบนถนนได้เลย ช่วยให้ไม่เลี้ยวผิด ไม่หลงทางแน่นอน
คล้ายๆ กับบริการ Google Maps ในบางประเทศที่คนเดินเท้าสามารถเปิดกล้องหลังของโทรศัพท์ให้เห็นถนนที่เดินอยู่ตรงหน้า แล้วจะมีลูกศรชี้บอกทางแบบ AR ซ้อนทับลงไป
ทุกวันนี้เราจึงแทบไม่เหลือความกังวลว่าเราจะเดินทางไม่ถูกอีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยวิธีไหน ขับรถยนต์ส่วนตัว นั่งรถสาธารณะ หรือเดินเท้า เราก็จะมีแผนที่ดิจิทัลคอยบอกเส้นทางให้อย่างละเอียด
บริการแผนที่ดิจิทัลที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้วก็คงหนีไม่พ้น Google Maps แต่ในบางประเทศ Google Maps ก็ใช้งานไม่ได้ อย่างเช่นในจีน หรือเกาหลีใต้ ซึ่งจะมีบริการแผนที่ของตัวเอง
บางคนถนัดใช้ Apple Maps มากกว่าเพราะรู้สึกว่านำทางได้ดีกว่าหรือมีข้อมูลที่ตรงกับความต้องการมากกว่า ในขณะที่ผู้ใช้งานบางประเทศก็จะนิยมแอพพ์อื่น เช่น Waze ที่คนทั่วไปสามารถช่วยกันใส่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ อย่างเช่น ข้อมูลเรื่องจุดที่เกิดอุบัติเหตุ ทำถนน หรือข้อมูลจุดที่ตำรวจตั้งด่านตรวจ ซึ่งผู้ใช้รถใช้ถนนในประเทศนั้นๆ จะช่วยกันป้อนข้อมูลอย่างขยันขันแข็งสุดสุด
ทุกวันนี้แผนที่ดิจิทัลนอกจากจะทำหน้าที่ในการช่วยนำทางและวางแผนในการเดินทางที่ดีที่สุดให้ผู้ใช้งานแล้ว ตัวมันเองก็ยังได้รับหน้าที่ที่สำคัญยิ่งยวดอีกหนึ่งอย่าง
นั่นคือการเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ของธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ให้ลูกค้ารู้ว่าร้านค้าตั้งอยู่ตรงไหนและเดินทางไปหาได้ถูก แถมยังมีข้อมูลอย่างเบอร์โทรศัพท์ เวลาเปิด-ปิด ช่วงเวลาลูกค้าเยอะ ไปจนถึงรีวิวอีกด้วย
ถ้าปราศจากแผนที่ดิจิทัลอย่างทุกวันนี้ ธุรกิจต่างๆ ก็จะสื่อสารกับลูกค้ายากกว่านี้มาก
ส่วนแผนที่กระดาษก็ไม่ได้สูญหายไปไหนแต่มันก็ได้เปลี่ยนหน้าที่ของตัวเองไปบ้างเหมือนกัน เรายังได้ใช้งานแผนที่กระดาษในสถานที่บางแห่ง อย่างเช่น สวนสนุก สวนสัตว์ หรือพิพิธภัณฑ์ โดยจุดแข็งของมันที่แผนที่ดิจิทัลสู้ไม่ได้คือการที่เราสามารถใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา แบบไม่ต้องมีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ไม่ต้องมีอุปกรณ์ใดๆ พับเก็บใส่กระเป๋าได้ง่าย น้ำหนักเบา
หรือใครมีแผนที่กระดาษสวยๆ ซึ่งเป็นแผนที่ของสถานที่แห่งความทรงจำ แทนที่จะปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ เราสามารถแปลงให้มันกลายเป็นงานศิลปะที่น่าเก็บสะสม เอาไปเข้ากรอบสวยๆ แล้วแขวนไว้บนผนังเพื่อตกแต่งบ้านได้อย่างมีสไตล์ด้วย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022