หอคองคอเดีย | ความศิวิไลซ์ของสยาม ที่ได้มาจากการเสด็จประพาสชวาครั้งแรกของรัชกาลที่ 5

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จไปยังเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง โดยการเสด็จแต่ละครั้งนั้นก็มีนัยยะทางการเมือง รวมไปถึงการพัฒนาบ้านเมืองให้ “ศิวิไลซ์” หรือเป็น “อารยะ” ในช่วงระหว่างกระแสล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจจากตะวันตกอย่างน่าสนใจ

รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสเกาะชวาครั้งที่ 1 เมื่อเรือน พ.ศ.2413 หลังการเสด็จขึ้นครองราชย์เพียงไม่ถึง 2 ปีดีนัก โดยยังทรงมีฐานะเป็น “ยุวกษัตริย์” เพราะยังมีพระชนมายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคอยช่วยประคับประคอง และดูแลกิจการบ้านเมืองของประเทศสยามอยู่ด้วย

การขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงทำให้พระบารมี หรือพระราชอำนาจยังไม่เติบโตเต็มที่นัก จึงทรงต้องสั่งสมประสบการณ์ความรู้และบารมี รวมถึงการระวังระไวพระองค์จากผู้มากบารมีในขณะนั้น และจึงไม่แปลกอะไรเลยที่จะเสด็จประพาสต่างประเทศ พร้อมกับที่ทรงนำความศิวิไลซ์กลับมายังสยาม

ดังนั้น “เกาะชวา” ซึ่งตกอยู่ใต้อิทธิพลทางวัฒนธรรม และการเมืองการปกครองของฮอลันดามาอย่างยาวนาน แถมยังอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสยามมากนัก จึงเป็นสถานที่ “ดูงาน” ที่สุดแสนจะวิเศษสำหรับพระองค์เลยนะครับ

 

ในการเสด็จประพาสชวาในครั้งแรกนั้น รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเสด็จไปยัง “หอคองคอเดีย” (Concordia Club, หรือที่เอกสารเก่าบางชิ้นก็สะกดคำนี้ว่า คอนคอเดีย) ในเมืองปัตตาเวีย ซึ่งก็คือเขตเมืองเก่าในกรุงจาการ์ตา บนเกาะชวา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน (กำลังจะย้ายไปที่เมืองนูซันตารา บนเกาะบอร์เนียว)

ดังปรากฏข้อความใน “จดหมายเหตุเสด็จประพาสเกาะชวา ครั้งแรก เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.2413” ว่า

“วัน 6 ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 5…เวลาบ่าย 4 โมง เสด็จทอดพระเนตรตึกมิวเซียม ที่ไว้ของโบราณ ซึ่งมีในแผ่นดินชวาแลประเทศต่างๆ

เวลา 2 ทุ่มมีการเต้นรำในพวกขุนนางออพีเซอ (หมายถึง officer, ผู้เขียน) ฝ่ายทหาร (แต่งตัวกันต่างๆ แล้ว) มีดอกไม้ไฟต่างๆ ที่ตึกคองคอเดีย (สโมสรทหาร) แล้วเสด็จกลับ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ แต่จัดย่อหน้าใหม่เพื่อให้อ่านสะดวกมากขึ้นโดยผู้เขียน)

ส่วนการแต่งตัวต่างๆ ที่พวกขุนนางใส่เต้นรำนั้น มีรายละเอียดปรากฏอยู่ใน “หมายรับเสด็จที่เมืองเบตาเวีย” (คือเมืองปัตตาเวีย) ซึ่งรวมพิมพ์อยู่ในจดหมายเหตุเสด็จประพาสเกาะชวา ครั้งแรก เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.2413 เล่มเดิม ด้วยว่า

“เวลาค่ำจะเสด็จไปทอดพระเนตรการเต้นรำที่หอชื่อคอนคอเดีย ผู้ที่จะเต้นรำนั้น จะแต่งตัวเป็นเทวดาบ้าง แต่งตัวอย่างกษัตริย์บ้าง แต่งตัวอย่างชาวต่างประเทศบ้าง ให้เป็นการสนุก แล้วในคืนวันนั้นจะมีดอกไม้เพลิงด้วย”

รัชกาลที่ 5 คงจะทรงประทับพระทัยหอคองคอเดีย ที่เมืองปัตตาเวียเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว ดังนั้น เมื่อเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสโมสรของทหารมหาดเล็ก ตามอย่างสโมสรทหารที่พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรชมทั้งดอกไม้เพลิง และขุนนาง เมืองปัตตาเวีย (แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นชาวดัชต์) เต้นรำกันเป็นที่สนุกสนาน ขึ้นในเขตลานชั้นนอกของพระบรมมหาราชวัง แถมยังพระราชทานนามว่า “หอคองคอเดีย” ตามอย่างชื่อของอาคารที่เมืองปัตตาเวียเลยอีกด้วย

อาคารขวามือของภาพคือหอคองคอเดีย สมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันคือ ศาลาสหทัยสมาคม

หอคองคอเดีย ที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนั้น ปัจจุบันก็คือ ศาลาสหทัยสมาคม อยู่ทางเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้านทิศตะวันตก เป็นอาคารสโมสรสำหรับให้ทหารมหาดเล็ก ใช้พบปะสังสรรค์ ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ตามสมัยนิยมภายใต้นามของความเป็นศิวิไลซ์

ว่ากันว่า ต่อมากิจการทหารมหาดเล็กขยายตัวใหญ่โตขึ้น หอคองคอเดียก็คับแคบลงไปถนัดใจ จนไม่สามารถใช้งานตามจุดประสงค์แต่ครั้งแรกสร้างได้ จึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ประกอบกิจกรรมทางด้านต่างๆ ได้

ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับเราในที่นี้ด็คือ เมื่อคราวที่รัชกาลที่ 5 ทรงฉลองพระชนมายุครบ 21 พรรษา พระองค์ทรงโปรดให้นำวัตถุต่างๆ ที่เก็บไว้ใน “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” มาจัดแสดงไว้ที่หอคองคอเดีย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา คือวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2417

พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ที่ว่านี้ เป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งใน พระอภิเนาว์นิเวศน์ หรือพระราชนิเวศน์ ภายในพระบรมมหาราชวัง ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งในบันทึกของราชทูตชาวปรัสเซีย (ส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน) ที่ชื่อ ฟรีดริช ออยเลนบูร์ก (Friedrich Eulenburg) ซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี และทำสนธิสัญญากับสยาม เมื่อเรือน พ.ศ.2405 ได้บรรยายถึงพระที่นั่งองค์นี้ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาได้มาเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 4 เป็นการส่วนพระองค์ เอาไว้ว่า

“ทางปีกด้านข้างตึกมีป้าย Royal Museum และมีข้อความว่า Protect this Museum และ Respect this Ordinance”

พูดง่ายๆ ว่า “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” นี้ก็คือ “มิวเซียมหลวง” หรือ “พิพิธภัณฑสถานในพระบรมมหาราชวัง” นั่นแหละครับ โดยยังถือกันด้วยว่า พระที่นั่งองค์นี้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศสยามเลยทีเดียว

ประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ

อันที่จริงแล้ว มีหลักฐานของอาคารที่สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวังของกรุงเทพฯ ที่ทำหน้าที่ในการเก็บรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุ รวมถึงจัดแสดงข้าวของมีค่า และเครื่องราชบรรณาการจากชาติต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงทั้งอำนาจ และเครือข่ายความสัมพันธ์กับนานาชาติอารยะในโลกที่เก่าแก่คือ พระที่นั่งองค์ราชฤดี

ดังปรากฏอยู่ในคำบอกเล่าของ เซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง (John Bowring) แต่ไม่มีหลักฐานว่ามีการเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่าเป็น พิพิธภัณฑ์ เช่นเดียวกับพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ดังนั้น จึงมักจะไม่นับกันว่า พระที่นั่งราชฤดีเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของสยาม

อย่างไรก็ตาม มักจะเชื่อกันด้วยว่า เมื่อมีการสร้างพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่แล้ว ข้าวของมีค่าทั้งที่พระที่นั่งราชฤดี ก็ถูกย้ายไปเก็บไว้ที่พระที่นั่งองค์ใหม่นี้แทน ซี่งก็น่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่ง

แน่นอนว่า รัชกาลที่ 5 ย่อมทรงคุ้นเคยกับพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งพระราชบิดาของพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น (และน่าจะทรงเป็นผู้พระราชทานชื่อของพระที่นั่งแห่งนี้ รวมถึงผูกศัพท์คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ขึ้นด้วยพระองค์เอง) และข้าวของมีค่าทั้งหลายที่เก็บอยู่ในพระที่นั่งองค์นี้ เนื่องเพราะทรงเจริญพระชันษาขึ้นในพระบรมมหาราชวังนี้เอง

การที่พระองค์ทรงย้ายเอาข้าวของจากพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ มาจัดแสดงไว้ที่หอคองคอเดีย จึงอาจจะดูไม่ต่างอะไรนักกับการที่พระราชบิดาของพระองค์ทรงเคยย้ายข้าวของมีค่าเหล่านี้จากพระที่นั่งราชฤดี ไปเก็บไว้ในพระที่นั่งที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ภายในหมู่พระที่นั่งที่แสดงความศิวิไลซ์ ด้วยการสร้างเป็นตึกฝรั่ง อย่างหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์

แต่สิ่งที่แตกต่างกันเป็นมากก็คือ การย้ายของมีค่าเหล่านี้จากพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งไพร่ฟ้าทั่วไปเข้าไปไม่ได้ (ดังนั้น จะมีก็แต่ราชทูตจากชาติมหาอำนาจอย่างออยเลนบูร์ก เท่านั้นที่จะได้ชมของเหล่านั้น) มาจัดแสดงเอาไว้ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ที่หอคองคอเดีย

ซ้ำยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมอีกด้วยนะครับ (ไม่ว่าในความเป็นจริงแล้ว จะมีใครได้เข้าชมกี่มากน้อยนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

 

ข้าวของที่แสดงให้เห็นถึงทั้งอำนาจ และเครือข่ายความสัมพันธ์กับนานาชาติอารยะในโลกเหล่านี้ จึงกลายสภาพจากของที่ใช้แสดงอำนาจบารมี หรือความเก่าแก่ยาวนานของรัฐ ให้แก่ชาติอื่นๆ ชม มากลายเป็นให้ประชาชนได้รับทราบถึงอำนาจบารมีความยิ่งใหญ่ของรัฐ (และแน่นอนว่า ย่อมรวมไปถึงผู้ครองรัฐ) ไปด้วยพร้อมๆ กัน

และก็ดูเหมือนจะเป็นเหตุบังเอิญอย่างน่าสนใจที่ก่อนหน้าที่รัชกาลที่ 5 จะได้เสด็จไปทอดพระเนตรงานเต้นรำที่หอคองคอเดีย ในเมืองปัตตาเวียนั้น พระองค์ก็ทรงเข้าชมตึกมิวเซียม เมืองปัตตาเวีย ที่จัดแสดงของโบราณจากเกาะชวา อันเป็นสิ่งที่พวกฝรั่งวิลันดาสร้างขึ้นเพื่ออวดโอ่ความยิ่งใหญ่ของรัฐโบราณ ในดินแดนที่พวกเขาพิชิตลงได้ ในบ่ายวันเดียวกันนั้นเอง

รัชกาลที่ 5 ทรงเรียกการจัดแสดงที่หอคองคอเดียด้วยคำทับศัพท์ว่า “เอกษบิชั่น” (exhibition) ซึ่งตรงกับคำไทยในปัจจุบันว่า “นิทรรศการ” และทรงเรียกห้องที่จัดแสดงเอกษบิชั่น ในหอคองคอเดียนั้นว่า “ห้องมิวเซียม” หรือ “หอมิวเซียม”

แน่นอนว่า ก็คือ “มิวเซียม” ในความหมายเดียวกันกับทั้งบนแผ่นป้าย “Royal Museum” หน้าพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ และ “ตึกมิวเซียม” ที่ไว้ของโบราณ ในเมืองปัตตาเวีย ที่ได้เคยเสด็จไปทอดพระเนตร

ความศิวิไลซ์ที่รัชกาลที่ 5 ทรงได้มาจากการเสด็จประพาสชวาครั้งแรกนั้น จึงค่อยๆ เกลื่อนกลาย “หอคองคอเดีย” จากสโมสรทหารมหาดเล็กที่สุดแสนจะแสดงเป็นอารยชน ให้เป็นมิวเซียมที่แสดงความมีอารยะมาอย่างสืบเนื่องยาวนานของรัฐสยาม ไปพร้อมๆ กับการเจริญพระชันษาของพระองค์ในพร้อมกันนั้นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ