โฉมหน้าธนาคารไร้สาขา

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ธนาคารไร้สาขาในสังคมไทย ค่อยๆ เปิดโฉมหน้า พอจะเห็นภาพกว้างแล้ว

“บัดนี้ ธปท.ได้ปิดรับคำขอแล้ว โดยมีผู้ยื่นคำขอจำนวนทั้งสิ้น 5 ราย…” ถ้อยแถลงอย่างสั้นๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุด (23 กันยายน 2567) โดยไม่ระบุรายละเอียด

และย้ำว่า “ธปท.จะพิจารณาคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถที่จะประกอบธุรกิจ Virtual Bank ของผู้ขออนุญาต ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567”

ทั้งนี้ ได้กล่าวถึงไทม์ไลน์ปลายทางไว้ด้วย

“คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายในช่วงกลางปี 2568”

 

เส้นทางธนาคารไร้สาขาในไทย ค่อนข้างยาวพอสมควร นับตั้งแต่ ธปท.นำเสนอ “แนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)” เมื่อต้นปีที่แล้ว (เมื่อ 11 มกราคม 2566) แม้ได้ระบุไทม์ไลน์ไว้ค้อนข้างชัดเจน แต่ได้ยืดออกไปพอสมควร

ด้วยคาบเกี่ยวช่วงเวลาท้ายๆ รัฐบาลชุดก่อนหน้า กับการเลือกตั้งทั่วไป และการมาถึงรัฐบาลใหม่ มีนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) ผู้อยู่ในตำแหน่งไม่นาน ขณะควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย จึงเป็นผู้ลงนามประการศที่อ้างถึงข้างต้น

ว่ากันตามกระบวนการพิจารณา “ธปท.ผู้มีอำนาจและบทบาทสำคัญในการพิจารณาและนำเสนอผู้ได้รับคัดเลือก” จากนั้นจึงเสนอให้รัฐมนตรีคลังเพื่อพิจารณา ให้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอ

“…เว้นแต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร…รัฐมนตรีอาจให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาได้ ซึ่งรวมระยะเวลาพิจารณาทั้งสิ้น ต้องไม่เกิน 1 ปี” ว่ากันตามประกาศ เปิดช่องให้อำนาจทางการเมืองไว้อย่างจำกัด

ที่น่าสนใจ มีบางเรื่องราวเพิ่งเกิดขึ้น อาจดูมีความสัมพันธ์กันก็ได้ จะเป็นไปโดยบังเอิญหรือไม่ ไม่แน่ชัด

 

ในงาน สัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2567 ที่เรียกกันว่า BOT Symposium 2024 (20 กันยายน 2567) หัวข้อ “หนี้ : The Economics of Balancing Today and Tomorrow” เปิดงานโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ) คนปัจจุบัน คาดกันว่าเมื่อโฉมหน้าที่เป็นจริงของธนาคารไร้สาขามาถึง จะอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับครบวาระในการดำรงตำแหน่ง ว่ากันตามนั้น ช่วงเวลานี้เขาจึงยังคงมีบทบาทสำคัญ

สุนทรพจน์เปิดงาน BOT Symposium 2024 ของผู้ว่าการ ธปท. มีถ้อยความหลายตอน เน้นเป็นพิเศษถึง “ความอิสระของธนาคารกลาง” แม้ผู้คนส่วนใหญ่ตีความเชื่อมโยงแนวทางดูสวนทางกับรัฐบาลชุดปัจจุบันพอสมควร แต่ก็อาจมีความหมายได้กว้างกว่านั้น

ในเวลานี้ ผู้คนสนใจอย่างจริงจังว่า ในบรรดาผู้ยื่น 5 รายนั้นเป็นใคร สื่อไทยไม่ได้ทำให้ผิดหวัง ได้นำเสนอค่อนข้างพร้อมเพรียงกันหลายสำนัก แทบจะเรียกว่าเป็นต้นฉบับเดียวกันก็ว่าได้

ขณะเดียวกัน ดูจะเร็วเกินไปที่จะคาดหมายว่า ในที่สุดแล้วใครจะมา

 

ส่วนแนวทางการพิจรณาอนุญาต (อ้างจากประกาศกระทรวงการคลัง) ว่าด้วยโมเดล “ธนาคารไร้สาขา” ที่ว่า มีนิยามไว้ในประกาศอย่างกว้างๆ “ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล” ทั้งนี้ มีข้อความอาจถือได้ว่าเป็น Keyword ก็ได้ แต่ก็มีไว้อย่างกว้างๆ เช่นกัน

“การให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่หรือการให้บริการทางการเงินที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของบริการทางการเงินที่มีอยู่เดิมผ่านช่องทางดิจิทัล โดยตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ ด้วยการใช้เทคโนโลยีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และข้อมูลที่หลากหลาย” มีสาระอีกตอนหนึ่งเน้นไว้หลายครั้งในประกาศ กล่าวเจาะจงถึงกลุ่มเป้าหมายให้บริการ

“ให้ความสำคัญกับบริการทางการเงินที่ส่งเสริมการประกอบอาชีพและวินัยทางการเงินแก่กลุ่มผู้ใช้บริการรายย่อยและกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม (Underserved) หรือกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved)”

 

ว่าด้วยการตีความสาระข้างต้น เป็นไปได้ว่า ธปท.ส่งสัญญาณว่าระบบธนาคารไทยจากนี้ ควรจะมีผู้เล่น “หน้าใหม่” บ้าง แต่เท่าที่พิจารณารายชื่อผู้ยื่นคำขอ ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกันเท่าที่ควร

โดยเฉพาะเมื่อเทียบเคียงกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นครั้งสำคัญเมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว (ช่วงปี 2547-2550) การอนุญาตให้ก่อตั้งธนาคารใหม่ ครั้งนั้นถือเป็นช่วงว่างเว้นกว่าครึ่งศตวรรษ ด้วยความพยายามขีดเส้นไม่ให้ “ร่างเงา” ธนาคารเดิมเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงปรากฏ “หน้าใหม่” หลากหลายขึ้นกว่าเดิมพอสมควร

ธนาคารใหม่ครั้งนั้น มีโครงสร้างธุรกิจ พัฒนามาจากสถาบันการเงินชั้นรอง โดยเฉพาะบริษัทเงินทุน ซึ่งสามารถผ่านมรสุมช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ขณะให้ภาพความสัมพันธ์กับเครือข่ายธุรกิจทรงอิทธิพลในเวลานั้นด้วย

มีกรณีหนึ่งเดียวเกี่ยวข้องกับธนาคารเดิม นั่นคือ ธนาคารสินเอเชีย เป็นที่รู้กันว่ามีความสัมพันธ์กับ ธนาคารกรุงเทพ แต่ในเวลาต่อมาเปลี่ยนร่างเป็นธนาคารจีน (Industrial and Commercial Bank of China Ltd. หรือ ICBC) อีกบางกรณีมีรากเหง้ามาจากธุรกิจยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นไปอย่างไม่ครึกโครม สามารถฝ่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาได้เช่นกัน กรณี ธนาคารเกียรตินาคิน และ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย กับอีกกลุ่มหนึ่งมาจากผู้คนร่วมสมัยมากขึ้น กรณี ธนาคารธนชาต (ปัจจุบัน ธนาคารทหารไทยธนชาต) ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และ ธนาคารทิสโก้

อย่างไรก็ตาม บรรดาธนาคารใหม่เหล่านั้น ดูไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา แสดงบทบาทค่อนข้างจำกัด ขณะภาพใหม่ที่น่าสนใจมากกว่า กลับไปอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในธนาคารเก่าเอง ด้วยการเปิดช่องให้ธนาคารต่างชาติเข้ามา

 

กลับมาพิจารณาดูรายชื่อผู้ยื่นขอจัดตั้งธนาคารไร้สาขา ถือว่าส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายธนาคารดั้งเดิม ด้วยมีถึง 3 ใน 5 ธนาคารเดิมกลับมีแรงจูงใจทางธุรกิจ เป็นคำถามที่น่าสนใจ เชื่อว่า ธปท.สามารถให้ความกระจ่างได้ เบื้องต้นเท่าที่เข้าใจ โมเดลธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่เดิม สามารถให้บริการทั้งผ่านช่องทางดิจิทัล และกำหนดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ที่เรียกว่า SMEs Underserved และUnserved ได้อยู่แล้ว

ส่วนพันธมิตรอีกกลุ่ม คือบรรดาธุรกิจที่มีเครือข่ายลูกค้าเป้นกลุ่มก้อนในระบบอยู่แล้ว ทั้งบริการสินค้าอื่นๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล หรือมีสาขาเชิงภูมิศาสตร์จำนวนมาก หากยึดข้อนี้เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นของการเป็นธนาคารไร้สาขา อาจสะท้อนแนวคิดหนึ่งซึ่งกระชับมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ธุรกิจเหล่านั้นมีความเชื่อมโยงอยู่ในเครือข่ายธุรกิจใหญ่เพียงไม่กี่ราย นับวันจะมีอิทธิพลมากขึ้นๆ ในสังคมไทย หลายกรณีอยู่ในโครงสร้างธุรกิจที่มีการแข่งน้อยราย และหลายกรณีมีความสัมพันธ์กับระบบสิทธิประโยชน์ หรือระบบสัมปทานจากรัฐอยู่แล้ว

มีคำถามหนึ่ง ความเป็นไปข้างต้น สอดคล้องกับแนวคิดผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน หรือไม่ อย่างไร

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กับปาฐกถาหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนแนวคิดกว้างๆ อย่างน่าสนใจ

เขาเคยกล่าวถึง “ความสมานฉันท์ในสังคมไทย” ซึ่งย้ำว่า “ดัชนีวัดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคมไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนั้น ได้บั่นทอนกลไกในการสร้าง resiliency ของระบบเศรษฐกิจไทย”

และอีกบางช่วงบางตอนในเวลาต่อมา “คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากขาดความมั่นคงในอนาคตในหลายด้าน…ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (economic insecurity)”

และปาฐกถาล่าสุด ให้ความสำคัญ “ภูมิภาค” และกล่าวถึง ภาวะกระจุกตัว ไม่มีความยั่งยืน •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com