ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ก่อสร้างและที่ดิน |
เผยแพร่ |
ปี 2567 ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เคลื่อนผ่านไปแล้ว 3 ไตรมาสอย่างเหนื่อยล้าเสียยิ่งกว่าช่วงเวลาโควิด-19 แพร่ระบาดปี 2563-2564
เพราะช่วงโควิดปี 2563-2564 ยอดขายกระทบเพราะผู้ซื้อเดินทางมาเยี่ยมชมโครงการไม่สะดวก บางช่วงถูก “ล็อกดาวน์” ห้ามออกจากที่พักอาศัย แต่ความต้องการและกำลังซื้อที่อยู่อาศัย บ้าน คอนโดฯ ยังมี
ซ้ำเรื่องร้ายยังกลายเป็นผลบวกเมื่อผู้สูงวัยบางส่วนเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลทางจิตวิทยาให้เศรษฐีเงินเก็บทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด ควักเงินออกมาซื้อที่อยู่อาศัยและใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านมาสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเอง ทำให้บ้านระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปมียอดขายสูงขึ้นอย่างไม่มีการคาดการณ์มาก่อนทั่วประเทศ สวนกระแสแพร่ระบาดโควิดในเวลานั้น
แต่ในปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่ทุกคนคาดว่าเศรษฐกิจธุรกิจเข้าสู่ “ทางเรียบ” แล้ว ต่างเตรียม “เหยียบคันเร่ง” ขยายธุรกิจ แต่ผลปรากฏว่า กำลังซื้อไม่ตอบสนอง ยอดจองยอดขายหดหายไปเสียอย่างงั้น
เดือนมีนาคมซึ่งปกติทุกปีจะเป็นเดือนที่อสังหาฯ บ้าน คอนโดฯ คึกคักที่สุด มีการเปิดตัวโครงการแนวสูงแนวราบ การเปิดแคมเปญรณรงค์การขายกันเต็มที่ แต่ปี 2567 กลับไม่ใช่ กลายเป็นความงุนงงและชะงักงัน
หลังจากนั้นก็วุ่นวายกับการปรับแผนการตลาดของบริษัทอสังหาฯ จะเปิดหรือไม่เปิดโครงการใหม่ จะทำหรือไม่ทำแคมเปญการตลาด
จนถึงช่วงกลางๆ ปีถึงได้นิ่ง นิ่งคือผู้บริหารธุรกิจส่วนใหญ่ตระหนักว่าเศรษฐกิจชะลอตัวแล้วอย่างแรง กำลังซื้อสินค้าและบริการต่างๆ หดหายทุกประเภท โดยเฉพาะสินค้าราคาสูงมาก เช่น บ้านกับรถยนต์ ผลกระทบก็จะมากหน่อย
ที่ตามมาในไตรมาส 3 จึงเป็นการปรับลดจำนวนโครงการเปิดตัวใหม่ หันมาเน้นการขายโครงการที่สร้างเสร็จ การลดงบประมาณค่าใช้จ่ายการตลาดต่อโครงการลงให้สอดคล้องกับคาดการณ์ยอดขายใหม่
เกิดอะไรขึ้นกับกำลังซื้อบ้าน คอนโดฯ ปี 2567
หากย้อนกลับไปดูข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคของประเทศก็จะพบว่า อัตราเติบโตเศรษฐกิจ (GDP) ประเทศเติบโตต่ำมากต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี หมายถึงรายได้เฉลี่ยของคนในประเทศไม่เติบโต แต่การที่ผู้คนยังสามารถจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าต่างๆ รวมทั้งเฉพาะบ้าน รถยนต์ ได้ตามต้องการกำลังซื้อมาจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ
ยิ่งช่วงตั้งแต่โควิดระบาดปี 2563 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน จะพบว่า personal loan หรือหนี้ส่วนบุคคลพุ่งพรวดขึ้นมาสูงมากและต่อเนื่องจนปัจจุบัน
ผลรวมของหนี้ครัวเรือนประเทศจึงสูงขึ้นมากถึง 91% ของ GDP หมายถึงครัวเรือนและบุคคลธรรมดาทั้งหลายมีหนี้สินสูงมากเกือบท่วมถึงรายได้ ซึ่งบางกลุ่มคนอาจท่วมไปแล้ว
สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อประเภทต่างๆ “กลัว” จึงเข้มงวดการปล่อย จนถึงไม่กล้าปล่อย ตัวอย่างที่เห็นได้คือการปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทสูงถึง 70-80%
สรุปได้ว่า กำลังซื้อที่หายไปในปี 2567 เกิดขึ้นเนื่องจากหนี้สูงจนสถาบันการเงินวิตก จนปฏิเสธการปล่อยกู้สูง ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยกู้ไม่ได้ กำลังซื้อจึงไม่มี ด้วยประการฉะนี้
ไตรมาส 4 ของปีนี้ เริ่มมีการกระตุ้นกำลังซื้อ “เงินดิจิทัล 10,000 บาท”, กองทุนวายุภักษ์ระดมทุนเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ดัชนีและบรรยากาศเริ่มเงยหัวบ้าง และโครงการต่อๆ ไปของรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” ที่จะผลักดันออกมา
และถ้าการลดอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาอย่างแรงถึง 0.5% ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงด้วย
ก็ต้องลุ้นกันว่า กำลังซื้อจะกลับมาได้มากน้อยเพียงใด •
ก่อสร้างและที่ดิน | นาย ต.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022