ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
พ่อค้าอินเดียใต้ (ทมิฬ) เดินทางเสี่ยงโชคไปซื้อทองแดงจากภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์แล้วส่งขายอีกทอดหนึ่งไปทางตะวันตกถึงกรีก-โรมัน
ทองแดงและเหล็กเป็นโลหะมากพลังที่กระตุ้นให้สังคมเติบโตด้วยการค้าระยะไกลทางทะเล ตั้งแต่ 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1
แหล่งใหญ่มากของทองแดงอยู่สองฝั่งโขงบนแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ บริเวณที่ปัจจุบันเป็นภาคอีสานของไทย, ภาคใต้ของลาว และอาจรวมดินแดนบางส่วนของกัมพูชา
การค้าทองแดงกับอุษาคเนย์สร้างความมั่งคั่งอย่างยิ่ง พ่อค้านักเสี่ยงโชคจากอินเดียจึงเรียกผืนแผ่นดินใหญ่แหล่งทองแดงว่า “สุวรรณภูมิ” หมายถึง ดินแดนทองแดง (สุวรรณ หมายถึง ทองแดง, ภูมิ หมายถึง ดินแดนหรือแผ่นดิน) แล้วเรียกหมู่เกาะทางใต้ซึ่งอยู่ใกล้เคียงแผ่นดินใหญ่ว่า “สุวรรณทวีป” (ทวีป แปลว่า เกาะ)
สุวรรณภูมิเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าดินแดนทอง ซึ่งได้จากบริเวณที่มีบ้านเมืองระดับรัฐเริ่มแรกของผู้คนมากความรู้และประสบการณ์ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับทองสำริดเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ขณะเดียวกันก็มีแหล่งแร่ทองแดงและดีบุกเป็นทรัพยากรในดินตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำโขง
เอกสารอินเดีย, โรมัน และจีน ระบุในทำนองเดียวกันถึงคำว่าสุวรรณภูมิแปลว่าดินแดนทอง หมายถึงดินแดนมีทองแดง ซึ่งไม่ใช่ทองคำ และมีเทคโนโลยีก้าวหน้าในการถลุงและหล่อแร่ธาตุเรียกทองสำริด ส่งผลให้นักเดินทางเสี่ยงโชคมีความมั่งคั่งจากการค้าทองแดงและทองสำริดเหล่านั้น
เหมืองแร่ทองแดงสมัยโบราณ ในย่านเขาวงพระจันทร์ จ.ลพบุรี
(1.) เขาทับควาย อ.โคกสำโรง (2.) เขาพุคา อ.เมือง (3.) เขาพระงาม-เขาผาแดง อ.เมือง (4.) เขาพระบาทน้อย อ.เมือง (5.) เขาทรายอ่อน อ.เมือง
ในบรรดาแหล่งแร่ทองแดงแหล่งต่างๆ ในแถบพื้นที่บริเวณเขาวงพระจันทร์นั้น เขาทับควายและเขาพุคาน่าจะเป็นแหล่งสำคัญที่สุด
[ข้อมูล, แผนที่, ภาพถ่ายจาก สุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)
เครื่องทองสำริด 2,000 ปีมาแล้ว จากชุมชนบ้านดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
เหมืองแร่ทองแดงสมัยโบราณ ในย่านเขาวงพระจันทร์ จ.ลพบุรี
(1.) เขาทับควาย อ.โคกสำโรง (2.) เขาพุคา อ.เมือง (3.) เขาพระงาม-เขาผาแดง อ.เมือง (4.) เขาพระบาทน้อย อ.เมือง (5.) เขาทรายอ่อน อ.เมือง
ในบรรดาแหล่งแร่ทองแดงแหล่งต่างๆ ในแถบพื้นที่บริเวณเขาวงพระจันทร์นั้น เขาทับควายและเขาพุคาน่าจะเป็นแหล่งสำคัญที่สุด
[ข้อมูล, แผนที่, ภาพถ่ายจาก สุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)
คำว่าทอง หมายถึง ธาตุโลหะมีค่าชนิดหนึ่ง มีสีเหลือง และหลอมละลายได้ด้วยความร้อน ได้แก่ ทองคำ, ทองแดง สำหรับชื่อสุวรรณภูมิเมื่อหลายพันปีมาแล้วน่าจะหมายถึงทองแดงมากกว่าทองคำ เพราะพบแหล่งทองแดงกว้างขวางตั้งแต่ดินแดนไทยและลาว ต่อเนื่องขึ้นไปถึงมณฑลยูนนานในจีน
ส่วนทองคำพบบ้างไม่มากนักและเท่าที่พบเป็นเกล็ดผงน้อยๆ ปนกับกรวดทรายซึ่งได้จากการร่อนตามฝั่งแม่น้ำ เช่น แม่น้ำโขง เป็นต้น
ทองแดง-ต้นทางทองสำริด
มุกดาหารเป็นแหล่งผลิตกลองทองแห่งหนึ่งบริเวณสองฝั่งโขง มีหลักฐานจากนักโบราณคดี (กรมศิลปากร) ขุดพบแม่พิมพ์กลองทอง (มโหระทึก) และเศษโลหะสำริด อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว ที่บ้านโนนหนองหอ ต.นาอุดม อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร เมื่อ พ.ศ.2551-2553
“ทองแดงเป็นวัตถุดิบหลักของกลองทองสำริด ซึ่งมีเหมืองทองแดงอยู่ที่เมืองวิละบุรี ใกล้เมืองเซโปน แขวงสะหวันนะเขต ในลาว” สุรพล นาถะพินธุ ผู้เชี่ยวชาญวิชาก่อนประวัติศาสตร์ (อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) อธิบายแล้วบอกว่า “นักโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี ได้ศึกษาแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ พบทั้งก้อนทองแดง, เบ้าหลอมสำริด, ชิ้นงานสำริด และชิ้นส่วนแม่พิมพ์สำหรับหล่อกลองมโหระทึกด้วยวิธีหล่อแบบขับขี้ผึ้ง”
ชุมชนค้าทองแดง
การค้าทองแดงทำให้มีชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ มากกว่าเดิม เพราะมีคนจากภายนอกโยกย้ายหรืออพยพเข้าไปตั้งหลักแหล่งบนเส้นทางการค้าบริเวณสุวรรณภูมิ
ส่วนคนพื้นเมืองแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมอินเดีย เช่น ภาษา, อาหาร, ศาสนา ฯลฯ
ชุมชนทมิฬอินเดียใต้ มีกระจัดกระจายหลายแห่งบนพื้นที่ใกล้ทะเล เช่น เขาสามแก้ว (ชุมพร), ดอนตาเพชร (กาญจนบุรี) เป็นต้น
ชุมชนฮั่น (จีน) ไม่พบหลักฐานชัดเจน พบแต่การแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมทางภาคเหนือ เช่น แม่ปีลูกปี และภาชนะสามขา พบตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคใต้ตามแนวพรมแดนตะวันตก
ร้อยพ่อพันแม่ ประชาชนโยกย้ายจากที่ไกลๆ เช่น ลุ่มน้ำฮวงโห, ลุ่มน้ำแยงซี ไปลุ่มน้ำอื่นๆ บริเวณสุวรรณภูมิ เป็นต้น ทำให้มีการประสมประสานทางชาติพันธุ์ตั้งแต่หลายพันปีมาแล้วจนปัจจุบัน •
| สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022