ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การศึกษา |
เผยแพร่ |
คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ เป็นอีกหนึ่งโจทย์หิน ที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาเชิงโครงสร้าง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่หมักหมมยาวนาน ไม่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงโลกที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันของทุกคน ปัญหาการเมือง ความยากจน ที่ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำขยายตัวมากขึ้น ฯลฯ…
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยเฉพาะอนาคตเด็กไทย ซึ่งหมายถึงอนาคตของประเทศ
นักวิชาการ สะท้อนมุมมอง คุณภาพการศึกษาไทย และแนวทางแก้ไขปัญหา โดยนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า คุณภาพการศึกษาของไทย อยู่ในระดับที่น่ากังวล โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ยังมีปัญหาทั้งเรื่องการคิด วิเคราะห์ การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษที่ใช้ในการสื่อสารอยู่ในระดับ ไม่น่าพอใจ
เห็นได้จากคะแนนประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือปิซ่า ที่นักเรียนไทยได้คะแนนต่ำในทุกรายวิชา
ทั้งนี้ เมื่อการเรียนการสอนขาดคุณภาพตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ก็มีผลกระทบไปถึงการเรียนในระดับที่สูงขึ้น ทั้งอาชีวศึกษา อุดมศึกษา โดยเฉพาะระดับอาชีวะ ที่มีปัญเรื่องคุณภาพ หลักสูตรล้าสมัย เป็นหลักสูตรเก่าที่ใช้มานานกว่า 10 ปี รวมถึงยังมีปัญหาขาดแคลนครู ในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ
“ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอเข้ามามีบทบาท ในการเรียนการสอนอย่างมาก แต่เด็กไทยยังไม่สามารถเข้าถึงเรื่องเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเพราะครูขาดทักษะ ไม่สามารถแนะนำเด็กให้เรียนรู้การใช้เอไอได้ โดยเอไอเป็นเทคโนโลยีที่รวบรวมฐานข้อมูลไว้เยอะมากหากสามารถนำมาใช้ในการหาข้อมูลไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าข้อมูลในการเรียนการสอน การวิจัย ก็จะมีประโยชน์กับการเรียนมากยิ่งขึ้น” นายเอกชัยกล่าว
การจะยกระดับคุณภาพการศึกษาในปัจจุบันจะต้องเริ่มจากการมีความรู้ และนำความรู้มาทำซ้ำจนเกิดเป็นทักษะพัฒนาไปสู่ความสามารถที่เหนือกว่าทักษะ กลายเป็นสมรรถนะ
ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลในระดับอาชีวะและระดับอุดมศึกษาคือเรื่องของธุรกิจ เพราะบุคลากรที่ผลิตออกไปสู่ตลาดแรงงานยังมีทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด
เช่น วิศวกรที่มีความสามารถในการทำงานแต่ขาดในเรื่องของการสื่อสารภาษาอังกฤษ เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้การศึกษาไทยล้าหลัง
ฉะนั้น ตอนนี้อาจจะถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยน ให้การเรียนการสอนในระดับมัธยมขึ้นไปใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการเรียนการสอนหลักเหมือนกับสาธารณรัฐสิงคโปร์ที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด
ขณะที่ระดับอุดมศึกษาประเทศไทยกำลังประสบปัญหากับหลักสูตรวิชาที่ไม่ได้พัฒนาขึ้นมาใหม่ตามยุคของโลก เพราะอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ปัจจุบันยังยึดหลักสูตรที่ตัวเองเรียนมานำมาสอนต่อให้นักศึกษา ซึ่งอาจารย์เหล่านี้ควรจะใช้ทักษะความรู้เดิมที่มีมาพัฒนาหลักสูตรให้เข้ากับโลกยุคปัจจุบัน
ขณะที่ นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่สามารถขับเคลื่อนให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นได้และยังมีแนวโน้มต่ำลงไป สาเหตุหลัก ดังนี้
1.นโยบายทางการศึกษาไม่ตอบโจทย์ปัญหาการศึกษาที่มีอยู่ ช่วง 10 ปีทุกรัฐบาลพูดคุยเรื่องการปฏิรูปการศึกษาแต่ไม่มีการผลักดันอย่างจริงจัง
2. คะแนนการทำสอบต่างๆ ของนักเรียนตกต่ำ ทั้งการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต และโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ที่คะแนนที่ออกมาไม่ถึงร้อยละ 50 อีกทั้งยังมีเรื่องของเด็กออกกลางคันสะท้อนระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์นักเรียนทุกคน เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เด็กไม่อยากจะเรียน
3. ไม่ได้มีการปรับหลักสูตรมาตั้งแต่ปี 2551 มาจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เด็กกำลังเรียนอยู่เป็นเรื่องวิทยาการในอดีตทั้ง ล้าสมัยและนำมาใช้ประโยชน์ในโลกปัจจุบันแทบไม่ได้ ส่งผลให้ไม่สามารถตามทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและเกิดพัฒนาการที่ช้ากว่าประเทศอื่นๆ
และ 4. การวัดและประเมินผล ข้อสอบไม่มีมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบครู ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้การศึกษามีคุณภาพที่ไม่ดี
“ถ้าคุณภาพการศึกษายังเป็นเช่นนี้ จะทำให้ ศธ.ล้มละลายทางความน่าเชื่อถือ ผมอยากให้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ทำการปฏิวัติการศึกษาทันที เพราะถือว่าตอนนี้คุณภาพอยู่ในระดับวิกฤต ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ถอนรากถอนโคลนระบบการศึกษาเก่าๆ ที่ฉุดรั้งไม่ให้เกิดการพัฒนาใหม่ๆ
โดยเรื่องที่จะต้องเร่งปฏิรูป คือ การเปลี่ยนกรอบความคิดของคนที่ทำงานใน ศธ. ว่า การศึกษาไม่ใช่เรื่องของการไปโรงเรียน ไม่ใช่เรื่องของการถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง
แต่จะต้องมองให้เป็นการเรียนรู้ที่ปัจจุบันมุ่งเน้นในเรื่องการเรียนรายบุคคล เป็นการเรียนรู้ที่จะต้องออกแบบระหว่างผู้สอนและผู้เรียนตอบโจทย์ความสนใจและปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กนักเรียนมีสิทธิในการศึกษาเรียนรู้ได้ในสิ่งที่สนใจและถนัด” นายสมพงษ์กล่าว
รองจากเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ ที่รอให้รัฐบาลช่วยเหลือ ปัญหาการศึกษาไทยตกต่ำ เป็นอีกเรื่องสำคัญที่เข้าสู่ภาวะวิกฤต รอมาตรการเยียวยาอย่างเร่งด่วนเช่นเดียวกัน… •
| การศึกษา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022